“เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้” เพราะท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้เองได้ 

“เราเป็นคนเชียงดาว เราอยากทำอะไรบ้างอย่างให้เกิดขึ้นในอำเภอเชียงดาว ที่ไม่ใช่แค่เทศกาลเพื่อความสนุกเฮฮาและความต้องการ แต่มันน่าจะมีเทศกาลอื่นๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ บ้าง ซึ่งเราอยู่เชียงดาวตั้งแต่เกิด เราก็คิดว่าพื้นที่มันพร้อมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้หรือจัดเทศกาลที่จะทำให้เห็นภาพใหม่ ๆ ภาพลักษณ์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้ของเชียงดาว”

เวลาย้อนมองมาที่บ้าน ที่นี่ ‘เชียงดาว’ ถิ่นเกิดที่วันนี้ฮิตติดลมบนในสายตานักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ด้วยบรรยากาศที่ดี สงบ ผู้คนเป็นกันเอง บวกเข้ากับธรรมชาติที่ห้อมล้อมเชียงดาวเอาไว้ พร้อมกับดอยหลวงเชียงดาวที่ยึดโยงหัวใจของคนเชียงดาว และผูกหัวใจของนักท่องเที่ยวเอาไว้ให้ยากที่จะลืมไปว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาเยือนที่นี่

แต่นอกจากแค่สถานที่ท่องเที่ยวแล้ว เชียงดาวยังมีความพยายามเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของคนในเชียงดาวที่อยากสร้างสรรค์การเรียนรู้ของตัวเอง เพื่อดึงศักยภาพของคนในเชียงดาวออกมา รวมไปถึงการขยายพื้นที่เรียนรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่อีกด้วย เลยเกิดเป็นกิจกรรม “ตุลามาแอ่ว” เทศกาลเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ฤดูหนาว ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา (2566)

ประกายดาว คันธะวงศ์ ผู้ประสานงานเทศกาลเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน

พวกเราสภาเด็กและเยาวชน องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว ได้พูดคุยกับ “พี่ดาว” ประกายดาว คันธะวงศ์ ผู้ประสานงานเทศกาลเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ “มะขามป้อม” เพื่อมาถามถึงว่าทำไมถึงจัดเทศกาลในครั้งนี้

คุณค่าและความสำคัญก็คือ “การเรียนรู้ทุกช่วงวัย” เด็กเรียนได้ ผู้ใหญ่เล่นเป็น ผู้สูงอายุก็ทำได้ ตุลามาแอ่วนั้นเกิดขึ้นได้เพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีเทศกาล “เมษามาม่วน” และหลายคนสนใจมาก เพราะมันสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลาย และการเรียนรู้เองก็ไม่ได้จำกัดช่วงวัย และส่วนใหญ่มาจากผู้คนในเชียงดาวแทบจะทั้งหมด แต่ตอนนั้นมันมีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ทำให้การจัดกิจกรรมกลางแจ้งเป็นไปได้อย่างทุลักทุเล มาเดือนตุลาที่เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวอากาศดี จังหวะก็ดีที่น่าจะต่อยอดและลุยกันต่อ

เพจ: เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ “Chiangdao Learning City

ส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างสรรค์ให้เชียงดาวกลายเป็นเมืองการเรียนรู้นั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่มันอยู่ในตัวของท้องถิ่นเองที่จะผลักให้ และเป็นต้นทุนสำคัญคือ กลไกของท้องถิ่น โรงเรียน ผู้ประกอบการ กลุ่มเพื่อสังคม รวมไปถึงหน่วยระดับหมู่บเานและครอบครัว

พวกเราเองก็ตื่นเต้นไม่น้อยที่มีเทศกาลนี้จัดขึ้น และพอได้ดูโปรแกรมต่าง ๆ ตลอดทั้งเดือนตุลาคม ก็ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ แถมยังมี Learning Passport ที่ให้เราสะสมร่องรอยการเรียนรู้ด้วย มันเหมือนกับว่าเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ที่โรงเรียนเลย พวกเราเลยชอบมาก ๆ โปรแกรมที่มีก็เช่น เรียนชงชามัทฉะแบบญี่ปุ่น, วิชาห้องเรียนสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การทำพริกลาบแบบเชียงดาวก็มี

อย่างการเรียนรู้ที่น่าสนใจของเทศกาลครั้งนี้ก็มี ‘ช็อคโกแลตพาเพลิน’เป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก เพราะช็อคโกแลตเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ อย่างพวกเราชื่นชอบหรือผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองว่าสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้

ซึ่งพี่แนน เกษตรอินดี้ Organic Farm เจ้าของของห้องการเรียนรู้นี้ได้บอกกับพวกเราว่า พี่แนนต้องการจะนำความรู้ที่สั่งสมประสบการณ์มาสร้างธุรกิจเพื่อให้เกษตกรมีทางเลือกมากขึ้น และฉายภาพให้เห็นโอกาสใหม่ ๆ อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้คือการปลูกโกโก้นั่นเอง

การเรียนรู้ของห้องเรียนนี้ก็จะมีทั้งการพาไปดูต้นโกโก้ ว่ามันมีหน้าตาเป้นยังไง ปลูกยากไหม ต้องดูแลแบบไหน ก่อนที่จะชวนสัมผัสผ่านการหยิบจับ การดม และได้ลองลิ้มรส ก่อนจะได้มีการทดลองทำขนมจากโกโก้อีกด้วย

อีกหนึ่งห้องเรียนที่พวกเรามีโอกาสได้ไปคือ ห้องเรียนบ้านหัวทุ่งเป็นห้องเรียนที่เกี่ยวธรรมชาติโดยคนที่เปิดห้องเรียนคือ “พี่มล” จิราวรรณ คำซาว เป็นคนชุมชนบ้านหัวทุ่งและเป็นคนที่เปิด Workshop เดินป่าและเรียนรู้เรื่อวราวต่าง ๆ ของบ้านหัวทุ่ง ให้เราได้เข้าใจระบบนิเวศใต้เงาดอยหลวง เช่น การเก็บสีจากก้อนหินและสีจากธรรมชาติศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้คนที่ชอบเรียนนอกห้องเรียนหรือคนที่สนใจในเรื่องธรรมชาติได้ความรู้เกี่ยวกับหินที่ให้สีและสามารถนำไปทำเป็นสีน้ำได้ และยังมีกิจกรรมการเก็บสีดอกไม้กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าต้นไม้ไม่ได้มีแค่สีเขียวยังมีหลากหลายสีได้รู้ว่าดอกไม้ดอกนี้ได้สีอะไรและได้รู้จักดอกไม้ในป่ามากขึ้น รวมไปถึงการเข้าใจความเชื่อเรื่องของภูติผีที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติที่ปกปักรักษาพื้นที่ไปพร้อมกับคนในชุมชน

บ้านหัวทุ่ง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว เป็นหมู่บ้านมีทั้งหมด 153 ครัวเรือน อาชีพหลักทำเกษตร ทำนาปี ปลูกลำไย มะม่วง ส่วนอาชีพเสริมของชุมชนคือการสานก๋วยเพื่อทำตะกร้า และความน่าสนใจก็คือที่บ้านหัวทุ่ง คือคนในชุมชนได้ช่วยกันออกแบบการจัดการในเรื่องของการท่องเที่ยวในชุมชนที่อิงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นเขตสงวนชีวมณฑลเมื่อปี 2564

ฉะนั้นเวลาที่เราออกสำรวจ ออกเดินป่า มันเลยเป็นเหมือนกันการพาไปเชื่อมโยงกับชุมชนไปด้วย ได้รู้จักชุมชน และผู้คนมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราเองก็อยู่ห่างกันแค่นี้ แต่ไม่รู้จักกันเลย กระบวนการเรียนรู้ที่ออกแบบมามันเลยทำให้ เรารู้และเข้าใจชุมชนมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เข้าห้องเรียนรู้ทั้งหมด แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ขยายกว้างมากขึ้น เราเลยถามพี่ดาวต่อว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงของเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไรกัน?

 พี่ดาวตอบว่าอยากให้มันกลายเป็นเทศกาลประจำปี ที่มันไม่จำเป็นต้องถูกจัดโดยมะขามป้อม แต่ต้องถูกจัดโดยหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่นต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิด ช่วงนี้เลยเป็นเหมือนช่วงที่เราจะมาร่วมพัฒนาความเป็นไปได้กันก่อน

“ปีนี้อาจจะเป็นมะขามป้อมจัด แต่ปีหน้าอาจจะเป็นอำเภอหรือส่วนของเทศบาลตำบลหวังให้เป็นเทศกาลประจำปีของเชียงดาวตลอดไป และมีคนอาสาเข้ามาลงแรง มีจุดที่น่าสนใจหลากหลาย ถ้าคิดถึงการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ต้องมานึกถึงเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ต้องมาที่เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้”

ก่อนจะจบกันไป พวกเราเองก็มานั่งคุยกันว่า แล้วจะดีไหมถ้าต่อไปเชียงดาวท้องถิ่นบ้านเกิดของเราจะสามารถเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จริง ๆ แน่นอนว่าเราต่างตอบเป็นเสียงไปว่า “ดี” ที่ว่าดีเพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักเชียงดาวอีกด้านหนึ่ง ว่าเชียงดาวไม่ได้เป็นแค่เมืองท่องเที่ยวเท่านั้นแต่ก็ยังเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อีกด้วย

“ดีมากถ้าเชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จะได้มีประโยชน์ มีการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชน และยังสามารถดึงดูดคนนอกพื้นที่มาเรียนรู้ในเชียงดาว มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แถมยังเป็นการศึกษานอกห้องเรียนที่สนุกมาก”


งานชิ้นนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Youth Teller ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

สุวรรณ ยาจิง
ณัฐกร อิจิโร่ กีโต้
ภาคภูมิ ชัยรังษี
สิรพัชญ์ ภักดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง