พฤษภาคม 7, 2024

    ‘ลำพูนปลดแอก’ จี้ 6 องค์กรประชาสังคม แสดงจุดยืนค้าน ‘โรงไฟฟ้าขยะ’

    Share

    วันที่ 2 กันยายน 2565

    ‘ลำพูนปลดแอก’ จี้ 6 องค์กรภาคประชาสังคม แสดงจุดยืนค้านโรงไฟฟ้าขยะ ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ชี้ เพื่อเป็นตามเจตนารมณ์ขององค์กรด้านคุ้มครอง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนลำพูน หลัง อบจ. จัดประชาพิจารณ์ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา
    2 ก.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊ก ‘ลำพูนปลดแอก’ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้องค์กรภาคประชาสังคม 6 องค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ดูแล และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนลำพูน ร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ชี้ เป็นโครงการที่มีข้อห่วงกังวลหลายประการ


    สำหรับองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมดที่ลำพูนปลดแอกกล่าวถึง ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ จ.ลำพูน สภาคุ้มครองผู้บริโภค จ.ลำพูน สภาพลเมือง จ.ลำพูน สภาลมหายใจ จ.ลำพูน สภาเด็กและเยาวชน จ.ลำพูน และสภาองค์กรชุมชน จ.ลำพูน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพของประชาชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการพัฒนาลำพูนในระดับท้องถิ่น ด้านการป้องกันและแก้ปัญหาฝั่นควันไฟป่า ด้านเด็กและเยาวชน และงานด้านการขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชน ตามลำดับ


    “เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้เลย ที่ท่านจะมองข้ามโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังมีความพยายามจะทำให้เกิดขึ้น อย่างโครงการโรงไฟฟ้าขยะลำพูน ซึ่งเล็งเห็นข้อกังขาได้อย่างชัดเจนในหลายประเด็นสำคัญ ตั้งแต่เริ่ม เราจึงคาดหวังที่จะเห็นการแสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ กล้าหาญ ตามปณิธานและความมุ่งหมายขององค์กร”

    ลำพูนปลดแอกกล่าว


    ย้อนกลับไปเมื่อวันที่วันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายคนลำพูนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ รวมตัวกันบริเวณหน้าห้องประชุม องค์การบริหารส่วน จ.ลำพูน (อบจ.ลำพูน) ประมาณ 200 คน เพื่อคัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้า ชาวบ้านบางกลุ่มเรียกร้องให้ นายก อบจ.ลำพูน ออกมารับฟังเสียงของประชาชน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าประตูทางเข้าห้องประชุมได้ออกมาเจรจากับตัวแทนเครือข่าย โดยประชาชนที่มาร่วมยืนยันที่จะนั่งรอเพื่อเข้าไปฟังนโยบายและยื่นหนังสือให้กับนายก อบจ.ลำพูน ซึ่งทางนายก อบจ.ลำพูน ได้ออกมาพูดคุยและเจรจากับตัวแทนของเครือข่าย โดยตัวแทนยืนยันว่าให้ยุติการดำเนินการเวทีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้


    ภายหลังจากเจรจากับตัวแทนเครือข่าย นายก อบจ.ลำพูน รับหนังสือกับตัวแทนชาวบ้าน โดยมีข้อเรียกร้องว่า เวทีที่เกิดขึ้นวันที่ 29 ส.ค. 2565 เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่เวทีประชาพิจารณ์และไม่ได้เป็นหนึ่งใน 11 ขั้นตอนในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หลังจากได้รับคำยืนยันจาก นายก อบจ.ลำพูน แล้วว่าเวทีวันนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการชาวบ้านจึงทยอยเข้าไปในเวทีรับนโยบายและรับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ขึ้นชี้แจงวัตถุประสงค์ในการชุมนุมในครั้งนี้และยื่นหนังสืออีกครั้ง โดยให้ นายก อบจ.ลำพูน รองนายก อบจ.ลำพูน และ นายกเทศบาลศรีบัวบาน ได้ลงนามเป็นสักขีพยาน


    โดยตัวแทนภาครัฐได้กล่าวถึงข้อมูลของนโยบายในครั้งนี้ แต่เนื่องจากชาวบ้านทราบถึงข้อมูลของนโยบายดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านจึงได้ทยอยออกจากหอประชุม หลังจากนั้นตัวแทนได้ออกมาชี้แจงข้อสรุป 4 ข้อของการชุมนุมในวันนี้บริเวณหน้าหอประชุม ดังนี้
    1. เวทีที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น
    2. การยกมือใดๆ ในวันนี้ไม่ใช่การรับฟังและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
    3. เวทีวันนี้ไม่อยู่ใน 11 ขั้นตอนในการดำเนินโครงการ
    4. ถ้าจะมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ ต้องจัดที่หมู่บ้านศรีบัวบานเท่านั้น
    ทั้งนี้มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดป้ายประท้วงของเครือข่าย ก่อนจะมีการชุมนุม


    โครงการโรงไฟฟ้าขยะลำพูนนั้นมีที่มาจากคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย จ.ลำพูน ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์ราชการ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ จำนวน 164 ไร่ สำหรับดำเนินการระบบจัดการขยะ ซึ่งเครือข่ายคนลำพูนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ เห็นว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ในการกันเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการเอกชน อีกทั้งการที่ อบจ.ลำพูน เป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ บริเวณหลังศูนย์ราชการ ใกล้พื้นที่ต้นน้ำเพื่อการเกษตรบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจำค่า ม.1 หมู่บ้านศรีบัวบาน ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ทับกับที่ดินเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ และ ขัดต่อระเบียบการตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยขยะ พ.ศ. 2565


    นอกจากนั้นเครือข่ายคนลำพูนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะยังเห็นว่า โครงการฯ ดังกล่าวมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะด้านมลพิษจากขยะที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคมของรถขนส่งขยะ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ รวมทั้งกระทบกับสภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านศรีบัวบาน

    Related

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...

    โทษทีพี่ ‘ติด’ งาน

    เรื่อง: การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์*  คุณติดโซเชียลมีเดียหรือไม่ หากคำถามนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เฟซบุ๊กนำปุ่มกดถูกใจมาใช้งาน คนส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ หรือไม่ก็บอกว่าตัวเองก็แค่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ถึงกับขั้น “เสพติด”...

    ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรหลังบ้านอีอีซี

    เรื่อง: กัมปนาท เบ็ญจนาวี เกษตรกรหลังบ้านอีอีซีส่วนใหญ่ถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจหลังการปิดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการขาดการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีเงื่อนไขที่จำกัดในการคาดเดาและกำหนดอนาคตของตนเอง จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกต่างทางสังคม มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม...