สำรวจความเป็นไปทางเศรษฐกิจในพื้นที่พิเศษ “บทบาทของเงินในชายแดน เงินไร้พรมแดนลุ่มน้ำโขง”

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดงามสัมมนาทางวิชาการอาเซียนศึกษา ในหัวข้อ “บทบาทของเงินในชายแดน เงินไร้พรมแดนลุ่มน้ำโขง” โดยมี วิทวัส ภมรบุตร ผู้อํานวยการศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย สํานักงาน ป.ป.ส., ดร.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สืบสกุล กิจนุกร ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สํานักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผศ.ปฐมพงศ์ มโนหาญ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมบรรยาย



‘ทุกทิศทุกทาง’ สถานการณ์ยาเสพติดครึ่งปีแรก 2566 ในลุ่มน้ำโขง

วิทวัสชี้ว่าการปลูกฝิ่นนั้นปราบปรามได้ง่ายกว่าการปราบปรามจากสารเคมีมาก เนื่องจากต้องมีการใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ภายนอกมากขึ้น โดยส่วนมากมาจากรัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทั้งมีการผลิตเองและเปิดให้ผู้คนภายนอกเข้าไปลงทุน รวมถึงยังเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มอิทธิพล กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังมีแหล่งผลิตยาเสพติดอื่นๆ ที่ วิทวัส ยกตัวอย่าง อย่างเช่นในมณฑลกวางตุ้งของจีน รวมไปถึงฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจากการปราบปรามของรัฐบาลจีน ก็ทำให้กลุ่มผลิตยาเสพติดในพื้นที่ดังกล่าวเคลื่อนไหวเข้ามาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ที่มีการผลิตยาเสพติดโดยคนในพื้นที่อยู่บ้างแล้ว

วิทวัส เผยว่าในแต่ละปี ยาเสพติดที่ถูกผลิตในลุ่มน้ำโขงมีถึง 3,000 – 6,000 ล้านเม็ด ซึ่งถูกสกัดไว้ได้เพียง 20% โดยตัวเลขดังกล่าวนำไปสู่การคาดการณ์ว่าในปีหนึ่งจะต้องมีสารเคมีสำคัญในการผลิตยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ลุ่มน้ำโขงกว่า 9,000 – 10,000 ตัน โดยมีเมืองชายแดนอย่างท่าขี้เหล็ก เป็นประตูเข้า-ออกหลักของผลผลิตไปสู่พื้นที่อื่นๆ


ภาพ : BBC Thai

“ถ้าเป็นพวกไอซ์ เฮโรอีน ยาบ้าด้วยนะครับ ก็จะเข้าไปอยู่ในยูนานสัก 50% แล้วก็จะกระจายไปที่อื่นทุกทิศทุกทาง”

วิทวัส ยกข้อมูลการจับกุมยาเสพติดในช่วงปี 2565 – 2566 ทำให้เห็นว่าภาคเหนือของไทยเป็นพื้นที่ที่มีการจับกุมและสกัดกั้นยาเสพติดได้มากที่สุด และภาคอีสานรองลงมา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการจับกุมยาไอซ์ ที่เกิดขึ้นมากที่สุดในพื้นที่เมียนมา

การจับกุมเฮโรอีนในช่วงปี 2564 พบว่ามีการจับกุมได้กว่า 7 ตัน ทั้งในและนอกลุ่มน้ำโขง แต่กลับเหลือแค่ 1.2 ตันในปี 2565 โดยตั้งเฮโรอีนและไอซ์ มีพื้นที่การจับกุมหลักอยู่ในเมียนมา ซึ่งเกิดข้อสังเกตุขึ้นว่าเหตุการณ์ทางการณ์เมืองในเมียนมาจะส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือไม่ ซึ่ง วิทวัส เผยว่าเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานหนัก และไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในพื้นที่จะส่งผลต่อการทำการปราบปรามยาเสพติดในเมียนมา

วิทวัส ชี้ว่าอีกหนึ่งปัญหา คือการควบคุมสารเคมีในประเทศต่างๆ ซึ่งสารเคมีหลายรายการถูกใช้เป็นสารผลิตยาเสพติด ยังถูกใช้ในเป้าหมายอื่นๆ ที่ยังถูกกฎหมายอยู่ โดยมีการนำเข้ามาจากจีนและเกาหลีเป็นส่วนใหญ่

สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่ามีการค้ายาบ้าเพิ่มขึ้น ไอซ์เพิ่มขึ้น 62% รวมถึงการกลับมาของเฮโรอีนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยการกลับมาของยาเสพติดนี้ก็มาพร้อมกับการคลี่คลายลงของสถานการณ์โควิดพร้อมๆ กับความเป็นไปอื่นๆ ของโลก

‘พื้นที่ยกเว้น’ ลุ่มน้ำโขง: จากคาสิโนถึงคอลเซ็นเตอร์ 


ภาพ : https://baanrajdamnern.com/รีสอร์ตคาสิโนเมียนมาร์/

ดร.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์ กล่าวถึงแนวคิด “พื้นที่ยกเว้น” (Space of Exception) โดย Carl Schmitt ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงพื้นที่ที่กฎหมายปกติถูกระงับใช้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ โดยเป็นแนวคิดที่มองว่าสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เอื้อให้เกิด “สภาวะยกเว้น” จนทำให้ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจได้โดยปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมาย


ดร.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์

โดยในบริบทของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง สามารถพบพื้นที่ตามแนวคิดดังกล่าวได้ 2 ลักษณะ นั่นคือพื้นที่ยกเว้นทางการเมืองการปกครอง และพื้นที่ยกเว้นทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ดร.ณัฐกรณ์ ได้ยกเขตปกครองพิเศษของเมียนมา ที่ซึ่งชนกลุ่มน้อยยอมอยู่ใต้การปกครอง แต่แลกกับการมีอำนาจในการดูแลปกครองตัวเองในพื้นที่ทั้งหมด 6 เขต

ดร.ณัฐกรณ์ ย้อนกลับไปบอกเล่าถึงจุดกำเนิดของธุรกิจคาสิโน ที่ต้องย้อนไปไกลถึงช่วงปี 1990 ที่เกิดข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อย จนทำให้กลายเป็นพื้นที่ “เขตพิเศษ” ตามแนวชายแดน และกลายมาเป็น “เขตปกครองพิเศษ” ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008



การเกิดขึ้นของเขตปกครองพิเศษในเมียนมา ทำให้นักลงทุนชาวจีนเริ่มเข้ามาเปิดธุรกิจคาสิโนขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจคาสิโนเป็นธุรกิจที่ถูกแบนไม่ให้มีอยู่ในแผ่นดินจีน ผนวกกับแรงกดดันจากนานาประเทศที่ทำให้พืชเศรษฐกิจอย่างฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จนทำให้ธุรกิจคาสิโนกลายเป็นแหล่งอาชีพที่ช่วยค้ำจุนเศษรฐกิจในเขตชายแดนของเมียนมาไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลจีนก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อการที่ประชาชนของตัวเองเดินทางมาเล่นพนันในต่างแดน โดยรัฐบาลจีนได้ตอบโต้ด้วยนโยบายต่างๆ เช่นนโยบายที่บังคับไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนนำเงินออกนอกประเทศเกิน 5,000 หยวน หรือแม้แต่การปิดด่านข้ามชายแดน ต่อเนื่องมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ธุรกิจคาสิโนแบบดั้งเดิมมีลูกค้าน้อยลง จนทำให้นักลงทุนต้องหันไปหารายได้จากธุรกิจการพนันออนไลน์

ในส่วนของแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น ดร.ณัฐกรณ์ กล่าวว่ามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 ในประเทศใต้หวันก่อนจะเข้ามาปฏิบัติการในประเทศจีน ก่อนจะถูกกวาดล้างอย่างหนักจนกระจายไปทั่วเอเชียรวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งปรากฎขึ้นครั้งแรกประมาณในปี 2007 โดยข้อมูลก่อนที่ COVID-19 จะเกิดการแพร่ระบาด แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะใช้ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมาเป็นฐานปฏิบัติการ และหลังจากการแพร่ระบาด ก็ยังพบว่ากลลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ได้พัฒนาขึ้น และยังมีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่พิเศษต่างๆ โดยเฉพาะเขตเศษรฐกิจพิเศษ

นอกจากนั้น ข้อมูลจากผลการศึกษาของ ดร.ณัฐกรณ์ ยังพบความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย และแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อกับปัญหานี้ รวมถึงกฎหมายฉบับล่าสุดอย่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 แต่การที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่เป็นอาชญากรข้ามชาติที่ปฏิบัติงานอยู่ตามพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่ชายแดนนอกฝั่งประเทศไทยก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้อำนาจของรัฐบาลไทยไม่สามารถถูกใช้ได้อย่างเต็มที่

ดร.ณัฐกรณ์ มองว่าปัจจัยที่เอื้อต่อปัญหานี้ คือนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างการให้สัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มทั้งในลาวและเมียนมา หรือการก่อรัฐประหารในเมียนมา ที่ทำให้เกิดการตกลงผลประโยชน์กันระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อย ทุนจีนสีเทา และรัฐบาลทหาร

แรงงานไทยข้ามแดนหลากกลุ่มกับเหยื่อค้ามนุษย์ในอาณาบริเวณชายแดน

สืบสกุล เสนอมุมมองอีกมุมมองที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเหยื่ออาชญากรรมค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติ โดย สืบสกุล ยกตัวอย่างที่ตนได้เจอในฐานะคนทำงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ พร้อมชวนตั้งคำถามว่าการที่แรงงานเข้าไปทำงานในรูปแบบที่ถูกหลอกลวงไปทำงานผิดกฎหมาย แต่มีชีวิตที่สุขสบายและตัดสินใจจะไม่ออกมาจากกระบวนการดังกล่าว จะถือได้ว่าแรงงานดังกล่าวถือเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ ?

โดย สืบสกุล ไม่ได้เห็นด้วยกับกระบวนการค้ามนุษย์แต่อย่างใด แต่มองว่าการมองประเด็นดังกล่าวด้วยมุมมองเพียงมุมมองเดียวนั้น อาจจะไม่เพียงพอ


สืบสกุล กิจนุกร

อีกหนึ่งประเด็นที่ สืบสกุล ยกขึ้นกล่าวคือพรมแดนที่สามารถถูกลบออกไปจากชายแดนได้ โดยเสนอมุมมองที่ว่าพรมแดนสามารถถูกมองได้ในหลายฐานะ ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวะ ด้านภูมิศาสตร์ หรือเศษรฐศาสตร์ โดยการทับซ้อนกันนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและความลักลั่นในการจัดการพื้นที่ได้ โดยยกตัวอย่างแม่น้ำโขง ที่มีพรมแดนในตัวเองอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนรัฐศาสตร์ที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือพรมแดนวัฒนธรรมเมื่องที่มีความพยายามในการสร้างเขื่อน

สืบสกุล ยกประเด็นในส่วนของแรงงาน ที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นเมือง โดยกล่าวว่าแรงงานคือสิ่งที่เมืองต้องการ โดยเฉพาะแรงงานบริการ สำหรับ สืบสกุล แล้วนี่เป็นตลาดแรงงานแบบใหม่ โดยหนึ่งในแรงงานบริการคือแรงงาน ‘เด็กเอ็น’ หรือ Sex workers ซึ่งเป็นแรงงานข้ามแดนที่ สืบสกุล มีโอกาสได้ศึกษา ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ สืบสกุล ชี้ว่ายังไม่ถูกศึกษาหรือมีงานศึกษาออกมามากนัก เนื่องมาจากมุมมองเพียงด้านเดียวว่านี่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

สืบสกุล ชี้ว่านี่เป็นผลของความเปลี่ยนแปลงของชายแดน โดยถ้ามองในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ‘เด็กเอ็น’ เหล่านี้ก็ถือเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่งที่สร้างเงินได้ในพื้นที่ชายแดน ทั้งฝั่งในและนอกประเทศไทย ซึ่งมีภูมิทัศน์การจ้างงานแบบใหม่

สุดท้าย สืบสกุล ชวนตั้งคำถามถึงการจัดการแรงงานข้ามแดนแบบใหม่นี้อย่างไร และจะวาง ‘เด็กเอ็น’ ข้ามแดนนี้ไว้ในตำแหน่งใด ?

ผลกระทบของชุมชนชายแดนจากอิทธิพลของเศรษฐกิจหลากสี


ภาพ : https://news1live.com/photo-gallery/9650000063179

ผศ.ปฐมพงศ์ เสนอมุมมองที่ใช้มองชายแดนโดยมีสีสันต่างๆ มาอธิบายผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ที่ถูกใช้หาประโยชน์นี้ พร้อมชวนสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยรัฐไทย ผ่านพระราชกิจจานุเบกษาที่ผ่านมา โดยเป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงถึงอำนาจรัฐที่ควบคุมชายแดนอยู่

ปฐมพงศ์ กล่าวถึงชายแดน ‘สีหม่น’ ที่ถูกมองโดยคนภายนอก โดยยกงานเขียนของ คำพูน บุญทวี ‘ลูกลำน้ำโขง’ และ ‘นักเลงริมฝั่งโขง’ ที่ใช้อธิบายชายแดนเป็นเขตในอดีต ที่คนภายนอกมองชายแดนไทยพื้นที่แม่น้ำโขงว่าเป็นพื้นที่เฝ้าระวังภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ หรือการค้ายาเสพติด


ผศ.ปฐมพงศ์ มโนหาญ

อีกหนึ่งสื่อที่ ปฐมพงศ์ ยกตัวอย่างที่ถูกใช้อธิบายมุมมองต่อพื้นที่ชายแดนแม่น้ำโขง คือภาพยนตร์ ‘Operation Maekong’ ที่เป็นจินตนาการของจีนต่อพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ที่เป็นพื้นที่ที่สะสมความขัดแข้งกันอยู่ภายใต้พื้นที่ที่รัฐไทย ลาว และพม่าไม่สามารถใช้อำนาจของรัฐได้อย่างเต็มที่

โดยตัวอย่างนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงถึงชายแดนที่ถูกแต้มสีหม่นลงไปโดยบุคคลภายนอกพื้นที่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสีเทาต่างๆ กลายเป็นความดำมืดติดตัว และก่อเป็นความอคติต่อบุคคลภายนอกพื้นที่ที่มีต่อพื้นที่ชายแดนแม่โขง

ปฐมพงศ์ เสนออีกหนึ่งมุมมอง ที่มองชายแดนแม่โขงเป็นชายแดน ‘สีสด’ ที่จะหลุดพ้นจากพื้นที่สีเทา ไปสู่พื้นที่แห่งโอกาสและพัฒนา โดย ปฐมพงศ์ ตีความว่าการพังทลายเขตแดนแบบเดิมเป็นไปได้ภายใต้การกำกับของรัฐ โดยการวางโครงข่าย ‘ระเบียงเศษรฐกิจ’ เหนือ-ใต้ และ ออก-ตก

หลักฐานของความพยายามดังกล่าว คือกฎหมายด้านการทหารและสินค้าที่ถูกบังคับใช้เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่ดังกล่าว หรือเขตเศษรฐกิจพิเศษ ที่มีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวบนเส้นทาง R3A เพื่อพัฒนาเศษรฐกิจที่พื้นที่ชายแดน เป็นความพยายามในการแต่งเติมสีสันให้กับชายแดนสีหม่นนี้ในยุครัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ

แม้ว่าการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นหลักฐานของการทำงานของแนวคิดเสรีนิยม ระบบเศษรฐกิจที่ควรจะไหลเวียนและก่อให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่น ในความเป็นจริงแล้วยังมีอำนาจใต้ดินในพื้นที่ที่คอยถ่วงดุลอำนาจของรัฐและการพัฒนาเศรษฐในพื้นที่พิเศษนี้อยู่ อีกทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กระทบกับราคาที่ดิน และรายได้ของคนท้องถิ่น ปฐมพงศ์ ชี้ว่าชายแดน ‘สีสด’ นี้ไม่ได้ถูกเข้าถึงคนในท้องถิ่นได้โดยง่ายดายนัก

“สภาวะสังคมนี้น่าหดหู่มากเลยนะครับ ที่คนจะหลุดพ้นจากความยากจนได้จากการขายที่ดิน ไม่ก็ถูกหวย”

ปฐมพงศ์ เสนออีกหนึ่งมุมมอง เป็นเฉดสีที่คนในพื้นที่อย่างแต่งเติมเข้าไป โดย ปฐมพงศ์ ยกงานเขียน ‘เรือน’ ของ เครือเดือน ตุงคำ ว่าเป็นความพยายามของคนในพื้นที่บ้า่นหินแตก หรือ เทิดไทย ที่เป็นชื่อที่รัฐไทยตั้ง พยายามนำเสนอประวัติศาสตร์พื้นที่ในมุมมองของคนบ้านหินแตก โดยไม่ได้มองขุนส่าเป็นราชายาเสพติดตามที่คนภายนอกพื้นที่มอง แต่มองขุนส่าเป็นเสมือนผู้อุปภัมถ์ เป็นบุคคลสำคัญของบ้านหินแตก

ปฐมพงศ์ ชี้ว่านี่เป็นความพยายามในการแต่งแต้มเฉดสีลงไปในชายแดนที่ถูกเติมสีหม่นลงไปโดยมุมมองของคนนอกพื้นที่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง