เมษายน 25, 2024

    MOTHERHOOD & RIVERHOOD ลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความเป็นแม่น้ำ (Riverhood) อยู่ตรงไหนบนเรื่องนี้

    Share

    เรื่อง: ปภาวิน พุทธวรรณะ

    ปรากฏการณ์การลงทุนข้ามพรมแดนอย่าง เขื่อนลาวสัญชาติไทย การศึกษาตัวเลขที่เหมาะสมของกระแสไฟฟ้าสำรองอยู่ร้อยละ 15 แต่ช่วงขวบปีที่ผ่านว่าพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นในระบบมากถึงร้อย ๕๐ ซึ่งนับว่ามากกว่าค่าเดิมถึง 3 เท่า ไม่วายภาครัฐอัพราคาจากที่ซื้อมาจากเขื่อน 2 แห่งใน สปป.ลาว เฉลี่ยที่ 2 บาท/หน่วย เป็น 2.56 บาท/หน่วย 

    ทุนข้ามชาติ ปัญหาร่วมพรมแดน 

    เมื่อทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำไหลผ่านตามภูมิประเทศ หลายกฏหมาย หลากกฏเกณฑ์ สัญชาติ การจัดการทรัพยาร่วมอย่างแม่น้ำบนม่านหมอกของเสรีนิยมสมัยใหม่จะเป็นอย่างไร

    Even before the advent of neoliberalism, the capitalist economy had thrived on people believing that being afflicted by the structural problems of an exploitative system – poverty, joblessness, poor health, lack of fulfillment – was in fact a personal deficiency.
    ก่อนการปรากฏตัวของลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่จะมาถึง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้พวกเราหลงเชื่อว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง การถูกขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบที่มาในนามของความยากจน การตกงาน ปัญหาสุขภาวะ และสภาวะไร้ความสุข มันคือความไม่สมบูรณ์เพียบพร้อมเชิงบุคคล

    ว่าด้วยเสรีนิยมใหม่

    เสรีนิยมใหม่ (Neoliberlism) มีรากฐานมาจากแนวคิดที่ว่า รัฐควรแบกรับภาระให้น้อยลง โดยรัฐต้องลดสวสัดิการที่พึ่งให้ประชาชน และเป็นแนวคิดเดียวกันกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือปล่อยให้กลไกตลาดไหลเข้ามาจัดสรรชีวิตคน กระตุ้นและสนับสนุนการตลาดเสรี ซึ่งอิทธิพลของแนวคิดนี้แพร่ขยายไปทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

    นิยามที่แปะป้ายต่อคำว่า เสรีนิยมสมัยใหม่ นั้นไหลลื่น บ้างก็บอกว่า ยัดเสรีนิยมใหม่ใส่ลงไปในไหนก็ได้ที่เราไม่ชอบ  ผูกโยงถึงทุน ฝ่ายขวา ขวาใหม่  จริง ๆ แล้วมันเป็นยังไง มิเชลล์ ฟูโกต์ – Michel Foucault มองว่า ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันถึงบทบาทของรัฐเชิงเศรษฐกิจ แยกนักคิดสายเสรีนิยมใหม่เป็น 2 สาย ดังนี้

    ภาพ: CraTaCapital 

    เสรีนิยมใหม่ตามระเบียบ (Ordoliberlism)  คือการยกหลักนิติรัฐมาใช้กับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การจัดการทรัพยากรโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)  แนวคิดในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ของบรรษัทและกิจการธุรกิจ การตื่นตัวเรื่อง “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” รวมถึงเพิ่มมาตรการการกำกับ การลงทุนข้ามแดน และบรรษัทข้ามชาติต้องทำ (ความกังวลของนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก คิดว่าสุดท้ายหลักการและแนวปฏิบัติการอาจจะเป็นเพียงกลไก “สมัครใจ” “ขอความร่วมมือ” ที่บริษัทจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เพราะไม่มีกฏหมายบังคับให้ทำ, สฤณี – 2022) ให้ความสำคัญต่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ระบบนิเวศ ความเป็นธรรมต่อวิถีชุมชน

    อีกสายที่เป็นมีชื่อเสียงเรียงนามมากในโลกปัจจุบันคือ เสรีนิยมใหม่สายอเมริกา (Neoliberlism)   ตามแนวคิดของ Gary Becker 

    หนังสือ Human Capital ที่ Gary S. Becker เขียน ช่วง ๑๙๖๕-๑๙๗๐ ทุนมนุษย์เป็นทรัพยากรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม

    การหลอมรวมความเป็นมนุษย์ให้แปรสภาพเป็นวัตถุหายใจได้ทางเศรษฐกิจ (homo economicus) ที่แผ่ลามขยายไปทั่วโลกประหนึ่งโรคระบาด  ชูตลาดเสรี  ลดกฎเกณฑ์กำกับที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน  การตัดลดงบประมาณภาครัฐในการส่งเสริมสวัสดิการสังคม บริการสาธารณะให้เป็นของเอกชน (privatization) หรือที่ฝ่ายซ้ายมองว่า เสรีนิยมสมัยใหม่สายนี้ คือโจรในคราบทุนนิยมแบบอัพสกิลทองคำ มีกลไกออกแบบกดขี่ ขูดรีดมนุษย์อย่างแยบยล

    ในสถานการณ์แม่น้ำโขง ความยาวตลอดสายรวม 4,909 กิโลเมตร ผ่าน จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ที่ทางรัฐบาลจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 โครงการ (เสร็จไปแล้ว 11) ไม่รวมอีก 5 โครงการเขื่อนที่อยู่ในแผน และอีก 4 โครงการเขื่อนที่ผลักดันให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม สุดท้ายอีก 2 เขื่อนที่ถูกชะลอโครงการ (ได้แก่ เขื่อนสะตรึงเตร็ง เขื่อนซำบอในประเทศกัมพูชา) อย่างน้อยร่วม 60 โครงการ ทั้งบนแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขา เกิดผลกระทบเชิงซ้อนหลายมิติอย่างเช่น การแปรปรวนของระดับแม่น้ำโขง ระบบนิเวศ พืชพันธ์ุ และสิ่งมีชีวิตผิดรูปร่าง หลายความหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารที่คนริมฝั่งโขงพึ่งพาอาศัย

    สถานการณ์ในจีน ภายใน 20 ปีที่ผ่านมีการอพยพประชาชนอย่างน้อย 100,000 คน เนื่องจากผล กระทบการสร้างเขื่อน และส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า – ชาติพันธุ์ (ข้อมูลจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต) เป็นเหตุการณ์สะท้อนถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชน

    มีโครงการระเบิดแก่งเพื่อเอื้ออำนวยต่อเรือพาณิชย์บรรทุกสินค้า 500 ตัน (ปัจจุบันยุติโครงการแล้วจากเสียงคัดค้านและต่อสู้ของภาคประชาชน) 

    ระบบนิเวศลุ่มน้ำแหลกสลาย ล้มพังระเนระนาด สัตว์สูญพันธุ์ สีน้ำโขงฟ้าใส ไร้ตะกอน

    สาละวิน – ชีวิตผู้คน ชาติพันธุ์  เรื่องราวสองฝากฝั่งน้ำ กับความเป็นมนุษย์ 

    ช่วงปลายเดือนมีนาคม ความกดอากาศเริ่มต่ำ พร้อมกับลมของฤดูร้อนมาเยือน หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ผู็เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ติดกับสายน้ำสาละวินริมและ กองทัพพม่ากับ KNLA ที่บริเวณฐานด๊ากวิน เด็กที่นี้ถูกสอนให้เรียนรู้วิธีหลบหนีและเอาตัวรอดผ่านความไม่สงบจากสงครามระหว่างพม่าและรัฐกะเหรี่ยง คุณครูจากโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เด็กที่นี้นอกจากต้องเรียนรู้วิธีหาข้าวปลาอาหาร ไปโรงเรียน และมีชีวิตปกติสามัญธรรมกา  การฝึกให้รับมือกับเรื่องดังกล่าวก็จำเป็นมากเหมือนกัน

    เยาวชนแห่งบ้านท่าตาฝั่ง กล่าวกับผู้เขียนว่า รัฐจะมีโครงการร่วมกับทุนข้ามชาติ ทำโครงการผันน้ำสาละวินและแม่น้ำโขง ไปสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำใช้ในการเพาะปลูก และเพิ่มพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าในเขื่อนภูมิพล พร้อมกับเล่าตำนานว่า เมื่อใดก็ตามที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินไหลมารวมกัน เมื่อนั้นสีแม่น้ำจะกลายเป็นสีเลือด  และบ้านเมืองจะเกิดอาเพศ ตามตำนวนเล่าขนานถึงเรื่องราวของสองพี่น้องแม่น้ำโขงและสาละวิน

    พะตี๋ผู้นำพิธีกรรมขอขมาแม่น้ำสาละวิน ณ หมู่บ้านสบเมย 

    นี่เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราไม่อาจเห็นได้ หากมองแม่น้ำเป็นแค่วัตถุไร้ซึ่งจิตวิญญาณที่เอาไว้ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ 

    นักเสรีนิยมใหม่ไม่มีปัญหาในการจับมือกับรัฐบาลเผด็จการและอำนาจนิยม เพื่อทำให้ตลาดเสรีดำเนินการต่อไปได้โดยไม่สะดุด ( ปิยะนันท์, 2022) 

    “แม่น้ำโขงตายแล้วครึ่งซีก…” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว โฮงเฮียนแม่น้ำของ กล่าวถึงสภาวการณ์แม่น้ำโขงในประเทศไทย – ลาว 

    นิวัตน์ ร้อยแก้ว นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มอนุรักษ์เชียงของ  และผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนกม่น้ำของ/ Jiraporn Kuhahan/BBC Thai 
    14 มีนาคม ของทุกปี คือวันหยุดเขื่อนโลก ที่จัดขึ้น ณ บ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

    ความไหลลื่นเสรีนิยมใหม่สายนี้ เกิดกระแสการปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ผูกรวมรัฐและแปลงทุน ทั้งทุนธรรมชาติ และทุนมนุษย์ไปตามกลไกทางตลาด จนเกิด “การปกครองสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช้อำนาจรัฐแต่อาศัยพลังขับเคลื่อนของตลาด (Non – State Market – Driven : NSMD) อย่างแนวคิดการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Credit) สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่ดันเรื่องการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมผ่านกลไก REDD+ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาลจากสถาบันทางการเงินระดับโลก จนเกิดข้อกังวล การอนุรักษ์แนวเสรีนิยมอาจช่วยบรรเทาสถานการณ์การทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ แต่ความกังวลเกี่ยวกับ ทุนและการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่น่ากังวลในอนาคต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแนวคิดที่สนับสนุนเสรีนิยมสมัยใหม่ให้แผ่กระจายสยายปีกได้อย่างแยบยลและมั่นคงมาจากแนวคิดที่เชิดชูและรวมศูนย์มนุษย์ไว้ตรงใจกลางทุกอย่างมากเกินไปอย่างกระบวนทัศน์ทางกฎหมายที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง 

    Anthropocentric Legal Paradigm : กระบวนทัศน์ทางกฎหมายที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง 

    กระบวนทัศน์ทางกฎหมายที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กลายเป็นกระบวนทัศน์ทางกฎหมายสายหลักในโลกปัจจุบัน ก่อตัวขึ้นหลังยุคปฏิวัติการเกษตร อุตสาหกรรม ถูกพัฒนาขึ้นในโลกตะวันตกก่อนแผ่ขยายผ่านหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งที่ได้รับอิทธิพล งานวิจัยเสนอว่ากระบวนทัศน์ทางกฎหมายแบบมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตระบบนิเวศ เนื่องจากกระบวนทัศน์ไม่รับยอมความมีอยู่จริงของสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Right) หรือกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) จึงส่งผลให้บทบัญญัติของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กระบวนทัศน์นี้ไม่ให้การรับรอง “สิทธิของธรรมชาติ (Rights of Nature)” เลยแม้แต่น้อย และเมื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาไทยก็จะพบว่า เมื่อธรรมชาติไม่มีตัวตน “สิทธิ” หรือ “สถานะทางกฎหมาย” การละเมิดประโยชน์สุขของสรรพสิ่งในธรรมชาติก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ดังจะเห็นได้ในกรณี การล่มสลายของระบบนิเวศและโครงการอพยพสัตว์ป่ากว่า 300 ชนิด 1,364 ตัว หลังจากก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน พ.ศ. 2529 ในอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง พื้นที่ป่าจำนวนแสนกว่าไร่จมอยู่ใต้ทะเลสาบลึกกว่า 100 เมตร ภายหลังเขื่อนเชี่ยวหลาน ถูกพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” ที่หมายถึง  แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร

    ภายใต้กระบวนทัศน์นี้ ไม่เพียงแค่ผลักธรรมชาติกลายเป็นอื่น และไม่มีสถานะทางกฎหมาย แม้แต่มนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติก็ยังถูกแยกออก มองไม่เห็น หรือลืมไปชั่วขณะว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติเช่นกัน  ภาพยนตร์แนวเหนือจริง นามว่า Akira Kurosawa’s Dreams (1990) ความฝันสุดท้ายของอาคิระ ณ หมู่บ้านกลางหุบเขา “Village of the Watermills” ชายชรากล่าวกับชายหนุ่มผู้มาเยือนว่า ‘people have forgetten, they’re apart of nature too’ เมื่อมนุษย์ละเมิดสิทธิของธรรมชาติก็เท่ากับว่ามนุษย์ก็ละเมิดสิทธิของมนุษย์ด้วยกันเอง

    สิทธิที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี การหายใจคุณภาพอากาศที่ดี การล่มสลายของระบบนิเวศในแม่น้ำหลังการสร้างเขื่อนก็เท่ากับละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย นี้เป็นปัญหาทั้งเชิงประเด็นและเชิงโครงสร้างที่มะรุมมะตุ้มภายใต้ลูกบอลเดียวกัน 

    อิทธิพลจากแนวคิด กระบวนทัศน์ทางกฎหมายที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง – (Anthropocentric Legal Paradigm)  ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญถึงข้อบัญญัติและกฎหมายที่ถูกตราขึ้นเพื่อคุ้มครอง “สิทธิ” ที่เกี่ยวข้องกับ ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 3 ประการดังนี้ 

    1.ธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุแห่งสิทธิ กระบวนทัศน์นี้ทำให้มนุษย์มองธรรมชาติเป็นอื่น มองธรรมชาติเป็นทาสทางอารมณ์ มีไว้เพื่อถูกครอบครองและควานหาผลประโยชน์เท่านั้น จากคำกล่าว “สิ่งใดมีสิทธิสิ่งนั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง” เมื่อกฎหมายไม่เคยรับรองสิทธิให้แก่ธรรมชาติ ธรรมชาติจึงไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง

    2.ธรรมชาติไม่มีสถานะทางกฏหมาย สถานะทางกฏหมายหากเปรียเปรยง่าย ๆ นั้นหมายถึง การที่ “อะไรสักอย่าง” จะถูกรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายต้องถูกกฎหมายรับรองว่ามีสถานะของบุคคลเสียก่อน ซึ่งกระบวนทัศน์ทางกฎหมายที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางให้ความสำคัญแก่มนุษย์เป็นผู้ทรงสิทธิ กฎหมายหลายตัว ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติแม้มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองธรรมชาติ แต่ผู้ทรงสิทธิกับมิใช่ตัวธรรมชาติเอง 

    สิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิที่รับรองแค่มนุษย์เท่านั้น  มาลองไล่เรียงดูกฎหมายแต่ละตัว สิทธิของธรรมชาติ/สิทธิของแม้น้ำ ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุแห่งสิทธิ แทนที่สิทธิของธรรมชาติจะต้องถูกทำให้เป็นเอกเทศ เฉกเข่นสิทธิมนุษยชน และมีสถานะทางกฎหมายในฐานะ ประธานแห่งสิทธิ (Subject Of Law) 

    ดังนั้น เมื่อธรรมชาติไม่ใช่ “ผู้ทรงสิทธิ” แม้จะมีการกระทำที่ถือได้ละเมิดสิทธิของธรรมชาติย่อมส่งผลกระทบต่อการปกป้องคุ้มครองธรรมชาติอันถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องของกฎหมายสาย Anthropocentrism

    คืนสิทธิแม่น้ำให้มีสถานะทางกฏหมาย แล้วใครกันจะมาพูดแทนแม่น้ำ เรื่องการใช้สิทธิแทนธรรมชาติ และขอบเขต How far can we go 

    “หากมีการรับรองสิทธิทางธรรมชาติ ขอบเขตของการรับรองสิทธิคืออะไร”

    จุฬาพัฒน์ กีรติภูมิธรรม ตั้งประเด็นคำถามต่องานวิจัย โดยพบว่า ประชากรสัมภาษณ์ในประเทศไทย ยังไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย 

    จุฬาพัฒน์กล่าวว่า ก่อนจะบัญญัติรับรองสิทธิใด การกำหนดขอบเขตแห่งสิทธิทางธรรมชาติ เป็นกลไกสำคัญต่อเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณี ค.ศ. 2010 ได้บัญญัติว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติทั้งหมดมีขอบเขตของสิทธิทั้งหมด 12 ข้อ ผู้เขียนจะขอหยิบมายกตัวอย่างแค่ 2 ข้อ  ดังนี้

    ข้อ 3 ธรรมชาติมีสิทธิดำเนินวงจรชีวิตและกระบวนการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกขัดขวางจากมนุษย์

    เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงดั่งคำที่กล่าวอ้างว่าธรรมชาติ และแม่น้ำมีสิทธิดำเนินวงจรชีวิตโดยไม่ถูกขัดขวางจากมนุษย์ จะเห็นได้แล้วจากสภาวการณ์แม่น้ำโขงที่ถูกกระทำชำเราจากโครงการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำที่รัฐและบรรษัทข้ามชาติร่วมกันจัดสรร แม้พลังงานไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยจะมีเพียงพอเกิน 15 % แล้วก็ตาม ในกรณีนี้ แม่น้ำมีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 

    Re-operating dams in the Mekong by Yadu Pokhrel & Amar Deep Tiwari

    ข้อ 8  มีสิทธิที่จะปลอดจากการปนเปื้อน มลพิษ และสารพิษ หรือขยะที่มีสารกัมมันตรังสี 

    มีข่าวเมื่อปี 64 รายงานว่า แม่น้ำเมย อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีปลาใหญ่จำนวนมากน็อคตาย จากฤดู “แม่น้ำแดง” ที่สายฝนเทชะล้างสารเคมี และยาฆ่าแมลงในไร่ข้าวโพดบริเวณที่ราบลุ่มน้ำตอนบน เหตุการณ์นี้ไม่สามารถกล่าวโทษชุมชนที่ปลูกข้าวโพด หรือชุมชนที่ใช้สารเคมีในการทำเกษตรได้ หากแต่ในสเกลระดับใหญ่ มันคือผลพวงจากการผลิตพืชทางเศรษฐกิจระดับประเทศเพื่อการส่งออก นำไปสู่มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนร้ายแรง 

    ที่มา : ห้องข่าวภาคเที่ยง https://www.thairath.co.th/news/local/north/2057839

    การใช้สิทธิแทนธรรมชาติ (Legal Representation) 

    เนื่องจากแม่น้ำไม่ใช่มนุษย์ เราไม่สามารถเข้าใจภาษาแม่น้ำ ดั่งที่เราสามารถเข้าใจภาษาไทย สเปน เยอรมัน การมี “ผู้ใช้สิทธิแทน” ที่เป็นมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีเพื่อให้แม่น้ำมีสถานะเป็น “บุคคลตามกฎหมาย” ในปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนนิยามความหมายของคำว่า “ผู้ใช้สิทธิแทน” แบบเฉพาะ แต่ตามความหมายที่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของแม่ธรณี ค.ศ. 2010 ให้ความหมายว่า “เป็นความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคนที่ต้องให้ความเคารพและดำรงชีวิตในความกลมกลืนกับแม่ธรณีทุกคน ทุกรัฐ….” นั้นหมายความว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือทำอะไรอยู่ อยู่ห่างไกลจากแม่น้ำมากน้อยเพียงใด แต่เราทุกคนมีความสามารถเป็นผู้ใช้สิทธิแทนแม่น้ำได้ โดยทั้งนี้ต้องปฏิบัติ และบังคับใช้สิทธิตามที่รับรองไว้ในปฏิญญา ในกรณีของนิวซีแลนด์ ได้บัญญัติแต่งตั้งตัวแทนของแม่น้ำวังกานุยว่า  เทปู ตูปูอา – Te Pou Tupua หมายถึง “มนุษย์ที่เป็นตัวแทนแม่น้ำ” โดยตัวแทนมาจากทั้งภาครัฐและชนเผ่าไอวี่ (Iwi)

    Te Pou Tupua Turama Hawira (left) and Dame Tariana Turia with Whanganui iwi leader Gerrard Albert/ WHANGANUI Chronicle

    การรับรองสิทธิทางธรรมชาติในรัฐธรรมนูญ 60

    “สิทธิของธรรมชาติ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ..” 

    สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมถูกบัญญัติไว้นับตั้งแต่ ฉบับ 2540 เป็นสิทธิพื้นฐานที่กล่าวถึงเรื่องการใช้อำนาจจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  ที่ท้ายสุดธรรมชาติเองก็กลายเป็นเพียงวัตถุแห่งสิทธิ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมายังไม่มีบทบัญญํติที่กล่าวถึงสิทธิทางธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ข้อค้นพบที่นำไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นบทบัญญัติต้นแบบที่มีการรับรองสิทธิของธรรมชาติในระดับกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

    โดยเสนอให้แก้ไขและปรับปรุงหมวดเพิ่มเติมตามนี้ 

    หมวดที่ 1 บททั่วไป เสนอเพิ่มเป็นมาตรา 4/1 ให้ขยายคุ้มครองสิทธิของธรรมชาติหรือสิทธิแม่ธรณี ดังเช่นการคุ้มครองสิทธิของมนุษย์

    หมวดที่ 3 นอกเหนือจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ก็ควรแก้ไขให้มีหมวด 3/1 ที่พูดถึงเรื่องสิทธิทางธรรมชาติด้วย 

    หมวด 4 ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของปวงชนชาวไทย บทวิจัยชิ้นนี้เสนอให้เพิ่มเติมหมวด 4/1 ที่พูดถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและมนุษย์ทุกคนต่อธรรมชาติ 

    และหมวดสุดท้ายคือหมวดที่ 5 เป็นหมวดที่บัญญัติหน้าที่ของรัฐ ก็ควรเพิ่มหมวด 5/1 ที่พูดถึงหมวดหน้าที่ของรัฐต่อธรรมชาติ เช่นกัน 

    นี้เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุงเรื่องสิทธิของธรรมชาติ ที่ผู้เขียนหยิบยกตัวอย่างมากจากงานวิจัยชื่อว่า “FRAMEWORK LAW FOR THE PROTECTION OF THE RIGHTS OF NATURE OR THE RIGHTS OF MOTHER EARTH” เพื่อศึกษาดูเพิ่มเติมถึงร่างรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิทางธรรมชาติ 

    คลื่นกระแสทางการเมือง และเสรีนิยมสมัยใหม่ มีเฟื่องฟูและจืดจาง แต่คลื่นในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนเห็นเป็นชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่สร้างความวิตกกังวลให้มวลมนุษยชาติในทุกภาคพื้นทวีปคือ ปัญหาวิกฤตระบบนิเวศล่มสลาย ที่เป็นโซ่คล้องตัวเดียวกันกับกลไกทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้เขียนตัวเล็กเกินกว่าจะเขียนปิดจบบทความนี้ด้วยคำที่ฉลาด เพราะตัวผู้เขียนก็บอกตามตรงว่า ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่แน่พรุ่งนี้ผู้เขียนอาจจะตายเพราะสูดอากาศพิษก็ได้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่า การคืนสถานะทางกฎหมาย คืนสิทธิทางธรรมชาติให้ธรรมชาติเป็นผู้ทรงสิทธิอาจเป็นกุญแจสำคัญให้เราชะลอภาวะกัดกินของลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ หากประเทศไทยจะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องมีระบบการเมืองที่มั่นคง และรัฐบาล ผู้นำประเทศที่ฉลาด ที่เห็นความสำคัญของธรรมชาติควรมีสถานะทางบุคคลที่ควรได้รับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย


    ข้อมูลอ้างอิง 

    จุฬาพัฒน์ กีรติภูมิธรรม. 2561. “กรอบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของธรรมชาติหรือสิทธิของแม่ธรณี.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

    นิตยา ภู่แสนธนาสาร. (2548). “กฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental regulations).”กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

    ปิยนันท์ จินา. (2022). “What is Neoliberalism?‘เสรีนิยมใหม่’ บนความหมายที่เลื่อนไหล”. https://waymagazine.org/what-is-neoliberalism/

    Monbiot. (2016). Neoliberalism – the ideology at the root of all our problems. https://www.theguardian.com/books/2016/apr/15/neoliberalism-ideology-problem-george-monbiot


    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    ปภาวิน พุทธวรรณะ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...