ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก ชานชาลาพญาไท ในเขตราชเทวีแห่งนี้ หากเงยหน้ามองเพียงตึกสูงใหญ่ระฟ้าในกรุงเทพมหานคร  คงไม่อาจเห็นชีวิตผู้คนตัวเล็กริมทาง ที่ถูกผลักไสให้ใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อนในหลืบเมือง อย่าง ชุมชนบ้านบุญร่มไทร

(ภาพ : โยษิตา สินบัว)

ชุมชนริมทางรถไฟเขตพญาไท  มีผู้คนอาศัยกว่า 300 ครัวเรือน ประกอบไปด้วย ชุมชนบุญร่มไทร 150 ครัวเรือน ชุมชนแดงบุหงา 120 ครัวเรือน และชุมชนหลังทางหลวง 30 ครัวเรือน   ที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อขอสิทธิในที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ภายใต้เครือข่ายคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) ต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ อย่าง  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 เพื่อต่อขยายความยาว 2 ช่วง จากสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังอู่ตะเภา ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 224,544  ล้านบาท  หนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อยกระดับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corrdidor : EEC) เชื่อมต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจระดับโลก อย่าง จีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เส้นทางสู่ความเจริญของประเทศไทยที่ดูเหมือนจะสวนทางกับคุณภาพชีวิตของคนจนเมืองที่ต่ำลงไปทุกวัน

(ภาพ : โยษิตา สินบัว)

คนจนเมืองรวมถึงผู้ที่มีรายได้น้อยเหล่านี้มีความยากลำบากเป็นอย่างมากในการเลื่อนขึ้นสถานะทางสังคม สถานการณ์ความเป็นเมืองของประเทศไทยและความท้าทายที่เผชิญจากรายงาน URBANIZATION การขยายตัวของเมืองในภูมิภาค รายงานว่า 24% ของคนอาศัยในเมืองมีทางเลือกจำกัดด้านที่อยู่อาศัย เข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐาน ถูกกีดกันออกจากเมืองที่เติบโต ไร้สิทธิไร้เสียงในการสร้างอำนาจการต่อรองหรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง หรือสิทธิที่จะอยู่ในเมือง ถูกเบียดขับที่อยู่อาศัยจากแผนพัฒนาฯ ด้วยการไล่รื้อ และมองไม่เห็นความมีอยู่ อัตราความยากจนในเมืองที่ลดช้ากว่ามากในเขตชนบท 

ตัวแทนของเครือข่ายคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟ ได้กล่าวว่า ภายหลังที่มีมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยุค คสช. เห็นชอบต่อโครงการฯ ปี 61 ทาง รฟท. ก็เริ่มติดป้ายประกาศตามบ้านเรือนให้ย้ายออก และรื้อถอน ภายใน 6 เดือน พร้อมกับการถูกพฤติกรรมคุกคามจากเจ้าหน้าที่การรถไฟ และตำรวจรถไฟ อย่างการขอบัตรประชาชนที่แจ้งว่าจะทำการหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวใหม่ให้ แต่กลับมาพร้อมเอกสารฟ้องคดีว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินกับชาวบ้านกว่า 16 ราย ไม่หนำซ้ำยังเรียกร้องค่าเสียหายที่ทางชุมชนบุกเบิกพื้นที่อยู่อาศัยย้อนหลัง ไม่นับรวมค่าไฟที่คิดเพิ่มขึ้น 2 เท่าอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากทางชุมชนต้องต่อไฟมาจากอาคาร หรือบ้านเรือนที่จดทะเบียนเลขที่บ้านตามกฏหมาย แม้ปัจจุบัน การต่อสู้ของชุมชนได้ถูกรับฟังจากสำนักเลขาฯ ครม. แล้ว และมีแนวทางแก้ไข หาทางชดเชยเยียวยาชุมชนบุญร่มไทร และชุมชนริมทางรถไฟอื่น ๆ ต่อไป แต่ความขัดแย้งภายในชุมชน และความรู้สึกไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตที่ชุมชนต้องแบกรับ และหาหนทางออกด้วยตัวเองซะส่วนใหญ่ เสียงสะท้อนจากคนในชุมชนยังคงหวาดกลัวต่อความไม่มั่นคงในชีวิต แม้บ้านบางหลังที่ตัดสินใจยินยอมรื้อถอนและได้รับค่าชดเชย หรือภาครัฐเสนอหาพื้นที่และงบประมาณในการสร้างบ้านพักชั่วคราวจากสถาบันพัฒนาองค์ชุมชนทั้งสิ้น 270,000 บาท คิดเป็นเพียงรายละ 16,875 บาทเท่านั้น ต่างกันลิบลับจากงบประมาณการพัฒนา ที่กล่าวไปข้างต้นโดยสิ้นเชิง 

ภายหลังจากที่ นิรุฒ มณีพันธุ์ อดีต ผู้ว่า รฟท. ได้กล่าวทิ้งท้ายหมดวาระ 4 ปีตามกำหนดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาว่า “หากจะหาผู้นำสักคนเข้ามาสำหรับองค์กรนี้ต้องหาคนที่กล้าในการตัดสินใจและคมในเรื่องการใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองพร้อมเรียนรู้ให้จริง หากไม่กล้าและไม่คมจะทำให้ตัดสินใจในแบบที่ผิด จะส่งผลกระทบต่อองค์กร ถ้าคิดที่จะทำตามเพียงนโยบายหรือคิดแค่ว่าทำตามสิ่งที่นำเสนอขึ้นมาโดยที่ไม่ได้อาศัยความแม่นยำจากภาครัฐทั้งด้านกฎหมายและระเบียบ ตลอดจนประโยชน์สูงสุดขององค์กร เชื่อว่าไม่ด้านใดด้านหนึ่งย่อมได้รับความเสียหาย” ซึ่งคำกล่าวทิ้งท้ายก่อนหมดวาระเหล่านี้ ยังคงเป็นอนาคตที่น่ากังวลต่อพี่น้องชุมชมคนจนเมืองริมทางรถไฟ ว่าพวกเขาถูกมองเห็นมากน้อยเพียงใดท่ามกลางวิสัยทัศน์ของกลุ่มทุน และผู้บริหารเหล่านี้ 

(ภาพ : โยษิตา สินบัว)

โครงการบ้านมั่นคง พร้อมหนี้สินระยะยาวกว่า 30 ปี ที่ไม่มั่นคง เป็นระยะเวลานานร่วม 10 กว่าปีที่พี่น้องเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายคนจนเมือง และชุมชนบ้านร่มไทรได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะอยู่ในเมือง ณ ปัจจุบันแม้การดำเนินคดีและการขับไล่ได้ดำเนินไปแล้วบางส่วน  พร้อมกับการจัดหาที่พักอาศัยใหม่ให้กับชุมชนร่วมกับโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยของเคหะแห่งชาติ ขนาดห้องเพียง 30 – 40 ตารางเมตร และอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ไม่เกินครอบครัวละ 4 คน พร้อมกับสัญญาเช่าระยะยาว กว่า 20 ปี หักลบจากความช่วยเหลือของรัฐบาลวงเงิน 160,000 บาท เท่ากับว่า 1 ครอบครัวต้องหาเงินรายเดือนเพื่อชำระค่าที่อยู่อาศัย 2500 – 3000 บาท ในขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ไม่แน่นอน และไม่ได้มีรายได้ประจำรายเดือน ชุมชนหลายคนประกอบอาชีพแม่ค้า วินมอเตอร์ไซต์ พนักงานเสิร์ฟ รับจ้าง ค้าขายทั่วไป ที่เป็นความเสี่ยงอย่างมากในการผ่อนชำระด้วยสัญญาระยะยาวกว่า 20 กว่าปี  ยังไม่รับรวมดอกเบี้ยไหว 

ชุมชนบุญร่มไทรไม่ได้เป็นเพียงชุมชนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภาครัฐ หากแต่มีชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศกว่า 35 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 346 ชุมชน หรือ 27,056 หลังคาเรือน ที่แต่ในละภูมิภาคพื้นที่ยังอยู่ในกระบวนการกำหนดทิศทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้คนที่ถูกทำให้เข้าไม่ถึงความเจริญเหล่านี้ 

ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว และถ้าหากไม่ลุกขึ้นมาบอกกล่าว ตึกสูงใหญ่เฉียดฟ้าคงกลืนบ้านของเราหายไปในสักวัน…

บ้านคืออาชีพและชีวิต คนจนขอมีสิทธิที่จะอยู่อย่างคน 

อ้างอิง
  • บทความวิชาการเรื่อง ‘สิทธิที่จะมีอยู่อาศัยในเมือง’ ตีพิพม์ใน วารสารนิติสังคมศาสตร์ ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) 
  • บุญเลิศ วิเศษปรีชา. สิทธิในเมือง สิทธิในที่อยู่อาศํย (2021) สืบค้นจาก https://waymagazine.org/land-and-right-housing-14/ 

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง