บทบรรณาธิการ: ‘นักข่าวผี’ ของสังคมไทย

5 มีนาคม ‘วันนักข่าว’ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ไม่รู้หรอกว่ามันจะมีความสำคัญที่ต้องระลึกถึงมันในฐานะไหน สำหรับผมมันกลับเต็มไปด้วยเรื่องจุกอก กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่หลายเรื่อง กับเรื่องที่เกี่ยวกับเรา ที่เรียกตัวเองว่า ‘สื่อมวลชน’ ในประเทศ (ชาติ) ที่ไร้ซึ่งอำนาจ ยิ่งเวลาที่เราพูดถึงสถานะของความเป็นกระแสหลัก กระแสรอง อาณาบริเวณของความเล็กใหญ่ น้ำยาของสื่อมีมากแค่ไหน? ที่สำคัญ เรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงมันอยู่ในปี 2567 ซึ่งผ่านมาเพียง 2 เดือนเท่านั้น

31 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี “ล้มล้างการปกครอง” ของพรรคก้าวไกล โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล จากการหาเสียงนโยบายแก้ไข มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการทางกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

สำหรับผม คำตัดสินที่ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองนั้นไม่มีเหตุผลมากกว่าความพยายามในการรักษาเรื่องบางเรื่องให้ดำรงอยู่โดยพูดไม่ได้ อธิบายไม่เป็น ถูกลดทอนความสนใจลงไปพร้อม ๆ กับความเบื่อหน่ายทางการเมือง ในขณะเดียวกัน หน้าที่ของสื่อในฐานะผู้เชื่อมประสานกลับไม่ได้มีพื้นที่มากพอในการอธิบายที่มากพอที่จะชวนให้ทั้งสังคมได้คิดต่อกับเรื่องที่เกิดขึ้น ราวกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

12 กุมภาพันธ์ เพื่อนนักข่าว-ช่างภาพอิสระ ถูกจับเพียงเพราะทำข่าว ในหมายจับระบุว่ากระทำผิดฐาน ‘เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ’ โดยหมายจับนี้สืบเนื่องมาจากการทำข่าวที่มีประชาชนได้พ่นสีข้อความไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์อนาคิสต์” บนกำแพงวัดพระแก้วตรงข้ามสนามหลวง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ทำให้มีประชาชนจำนวน 2 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักข่าว-ช่างภาพอิสระทันที พร้อมทั้งการประณามเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการในลักษณะยัดเหยียดความผิด โดยไม่สนถึงคุณค่าของการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมของสื่อมวลชน ทั้ง 2 คน ถูกคุมขัง 1 คืน (โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด) ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกัน Journalism is not a crime การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม! นี่คงเป็นเรื่องใหญ่ในความไม่สนการนำเสนอความจริง เพราะแม้แต่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่คาดหวังว่าคงจะเป็นกลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาแสดงท่าทีกลับเหตุที่เกิด กลับเป็นกลุ่มก้อนไร้พลังที่เชื่องช้าอ่อนนุ่ม ที่ไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึงการกระทำโดยรัฐอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับเป็นคุณครูผู้พร่ำบอกให้บรรณาธิการดูแลนักข่าวให้ทำงานตามจริยธรรม ทุกอย่างล้วนผิดฝาผิดตัว อำนาจของประชาชนกำลังโรยริน สื่อมวลชนเองก็ยอมสยบ เหมือนฝันไปว่า 14 พฤษภาคม 2566 คือวันเลือกตั้ง โมงยามที่กำลังเดินไปถึงประชาธิปไตยกลับตื่นขึ้นบนความใหม่ซ้ำเดิม

ไม่นานมานี้เอง ผมได้อ่าน 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม นิยายภาพอิงประวัติศาสตร์ รังสรรค์ผลงานโดย สะอาด ผมขอไม่พูดถึงการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง และคณะราษฎรมากนัก แต่ ‘นิภา’ หรือ ‘นักเขียนผี’ เป็นสิ่งที่เราต้องพูดถึงในฐานะของสื่อมวลชนผู้กล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้นิภาจะเป็นตัวละครสมมติ ไม่ใช่คนที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่โดยอาชีพเธอคือสื่อมวลชน เป็นฝ่ายพิสูจน์อักษรที่เป็นผู้หญิงแห่งหนังสือพิมพ์บางกอกนิวส์ ผู้ไม่อาจปล่อยให้ความไม่จริงเล็ดลอดออกสู่ราษฎรไปได้ และเบื้องหลังนักเขียนผีแห่งหนังสือพิมพ์บางกอกนิวส์เช่นเดียวกัน สิ่งที่นิภาต้องทำอยู่เสมอคือการอธิบายความจริงให้ปรากฏโดยไม่แสร้งซุกไว้ใต้พรม ผมจะไม่เล่ามากไปกว่านี้ เพียงสาระสำคัญที่อยากจะบอกคือ ความจริงที่จะดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของราษฎร หาใช่อำนาจนำใด

กลับมาที่วันนี้ 5 มีนาคม ‘วันนักข่าว’ แลมองไปในสังคม มองเพื่อนนักข่าวหลายคน ในหลายสำนักที่พยายามช่วยกันดึงความจริงออกมาสู่สายตาของสาธารณะ พวกเราคือผีใช่หรือไม่? ถ้าใช่ จะเป็นเรื่องที่หดหู่มากกว่าจะปิติ เพราะถ้าอยู่ภายใต้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแล้วเรายังคงต้องระแวงว่าจะถูกปิดปากเมื่อไหร่ อำนาจของเราก็ยิ่งดูเหมือนจะถูกลดทอนลงไปอีกเมื่อนั้น หรือถ้าเป็นผีก็ขอเป็นผีที่กระตุกจิตกระชากความจริงในสังคมที่ดูเหมือนจะหวงแหนความจริงมุมเดียว

ย้ำกันอีกสักครั้ง Lanner คือสำนักข่าวท้องถิ่นภาคเหนือ ที่เคยเกือบจะโดนเอาผิด ม.116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพียงเพราะการไปทำข่าว ‘กิจกรรมแห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ถกประเด็นกระจายอำนาจ’ เมื่อปีที่ผ่านมา และเชื่อเสียเหลือเกินว่ายังมีเพื่อน ๆ นักข่าวในอีกหลายพื้นที่ที่ต้องการนำเสนอประเด็นปัญหาของประชาชนและขับเคลื่อนสังคมให้มีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น แต่นั่นก็น่าจะเป็นการถูกตีตราว่าเป็นผีในสายตาของรัฐไทยที่สมควรถูกปราบ เป็นผีที่คอยตามหลอกหลอนถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้น เป็นผีที่ไม่อาจสยบสยอมต่อความไม่ถูกต้อง และผีตนนี้ก็คือผีที่ไม่อาจถูกทำให้หายไป แม้จะถูกคุกคาม ถูกจับกุม หรือถูกทำให้หายไป และนั่นก็ไม่อาจทำให้แป้นพิมพ์และการทำงานของชัตเตอร์หยุดลงไปได้

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง