ช่องว่างทางนโยบาย-ข้อเสนอ ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทย

เสวนาทางวิชาการ “นโยบายด้านความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” ณ โรงแรมเดอะพาร์ค จังหวัดพิษณุโลก เป็นการนำเสนองานวิจัยภาคสนามปีที่ 2 ของโครงการวิจัยเรื่อง “ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” ภายใต้การสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย 5) บทความ ได้แก่ 1) “ไปได้ดีกว่า ไปได้ไกลขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับหลุดพ้นความยากจน: วิเคราะห์ช่องว่างของนโยบายการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น” โดย ฐานิดา บุญวรรโณ 2) “นโยบายด้านการเกษตรกับการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น: คำถามจากคนแถวหน้าและคำตอบจากคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” โดย ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ 3) “ทัศนะและมุมมองที่หลากหลายของต่อ “มรดกความจน” ผลพวงจากนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 กับการยัดเยียดความเป็นอื่น และการหยิบยื่นความยากจนข้ามรุ่น” โดย ธวัช มณีผ่อง 4) “ความยากจนข้ามรุ่นผลกระทบจากนโยบายเหมืองหินอุตสาหกรรม สภาวะที่ไม่ถูกนับรวมในตัวชี้ความจน” โดย กิตติมา ขุนทอง และ 5) “นโยบายต่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและมาตรการด้านการจัดการกัดเซาะชายฝั่ง: การคุกคามและสร้างการดำรงอยู่ของความยากจนข้ามรุ่นในชุมชนประมงขนาดเล็ก โดย อลิสา หาสะเมาะ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่านให้ความเห็นต่อบทความ ได้แก่ 1) รองศาสตราจารย์ ดร. พัชรินทร์ สิรสุนทร อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 2) รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ 3) รองศาสตราจารย์ ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความซับซ้อนของปัญหาความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทย

กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าโครงการวิจัยได้เปิดประเด็นข้อถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความคิดเรื่องนโยบายการลดความยากจนในสังคมไทย เพื่อเปิดพื้นที่ต่อมุมมองใหม่ๆ ให้กว้างออกไปที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และพยายามชี้ให้เห็นว่า ความจนข้ามรุ่นมีหลายลักษณะและทับซ้อนกันในหลายระนาบ อาทิ ความยากจนที่ส่งต่อกันในครัวเรือน และแบบสาธารณะ ซึ่งจะเห็นว่านโยบายของรัฐตามไม่ทันต่อบริบททางสังคมของผู้คน และผลการดำเนินงานกลับเต็มไปด้วยความผิดหวัง ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญของนโยบายคือการให้ความสำคัญกับกลุ่มครัวเรือนยากจนและบุคคลที่เป็นคนจนข้ามรุ่นทั้งระดับการส่งผ่านความยากจนแบบส่วนตัวในครัวเรือนและการส่งผ่านความจนระดับสาธารณะให้มากขึ้น 

ฐานิดา บุญวรรโณ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้หยิบยกตัวอย่างจากข้อมูลภาคสนาม 3 ครัวเรือนในจังหวัดพิษณุโลกเพื่อชี้ให้เห็นว่า ระดับการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ครัวเรือนหลุดพ้นความยากจนได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของครัวเรือนยากจนไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงทางรายได้ของผู้ปกครอง หนี้สินนอกระบบ หรือการมีสภาวะพึ่งพิงในครัวเรือนยังเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งให้เด็กรุ่นใหม่มิอาจหลุดพ้นจากความยากจนได้ และยังไม่มีนโยบายใดๆ   ที่รับประกันความรู้ และวุฒิการศึกษา 

จากกรณีศึกษาวิจัยภาคสนาม พบว่าการจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) หรือการมรีโอกาสเรียนในระดับชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.6) ไม่เพียงพอต่อการสร้างและสะสมทุนทุนมนุษย์และทุนทางการเงินที่มากพอต่อการยกระดับชีวิตของคนในครัวเรือนยากจน การไปได้ดีกว่า (มีระดับการศึกษาที่สูงกว่าพ่อแม่) และไปได้ไกลขึ้น (ประกอบอาชีพที่มีรายได้มากกว่ารุ่นพ่อแม่) แต่ยังไม่หลุดพ้นจากความยากจนนั้น มิใช่ขาดโอกาสทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนด้วย

ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิเคราะห์นโยบายประชานิยมด้านการเกษตร เห็นว่านโยบายด้านการเกษตรมีลักษณะที่ไม่จริงใจต่อประชาชน หากเป็นเกษตรกรที่เป็นครัวเรือนยากจน เงินที่ได้รับกลับสวนทางกับเกษตรกรที่พอมีพอกิน เพราะเกษตรกรยากจนมีที่ดินจำนวนน้อยและทำให้เงินที่ได้รับน้อยลงตาม แต่คนที่พอมีพอกินบางครั้งก็ไม่ได้เดือนร้อนมากนัก อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการทุจริต   ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำภายใต้ปัญหาความยากจน โดยในการงานได้ทำการสัมภาษณ์เกษตรกรยากจน ชี้ว่าปัญหาในการทำเกษตรกรของไทย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างถือเป็นสิ่งสำคัญของเกษตรกร หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ ข้าราชการไม่เปลี่ยนแปลง เกษตรกรก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ การที่เกษตรกรจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐบาลก่อน

ธวัช มณีผ่อง อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้วิเคราะห์ด้านมิติประวัติศาสตร์ในประเด็นเรื่องการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่พื้นที่ป่าดงบังอี่ช่วงสงครามเย็นที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยนโยบาย “จับให้เรียบ ฆ่าให้เรียบ เผาให้เรียบ” (เน้นโดยผู้เขียน) ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้ไร้ที่ดินขาดความไม่มั่นคงในกรรมสิทธิ์และการถือครอง ทำให้ประชาชนขาดโอกาศในการพัฒนาที่ดิน ผลพวงภายหลังยุคสงครามเย็น ความยากจนข้ามรุ่นในพื้นที่นี้เป็นผลมาจากการส่งผ่านความยากจนระดับสาธารณะหรือระดับโครงสร้างปรากฏผ่านนโยบาย ในระดับอุดมการณ์และระดับวัตถุ (ที่ดินและทรัพยากร) ก่อให้เกิดลูกหลานของคนในพื้นที่นี้กลายเป็นคนไร้ที่ดิน

กิตติมา ขุนทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร วิเคราะห์ผลกระทบจากการแย่งยึดทรัพยากรเหมืองหินในพื้นที่หนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาความยากจนข้ามรุ่นผ่านเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ชีวิตครอบครัวที่พยายามดิ้นรนให้พ้นจากความยากจนข้ามรุ่น มีการส่งต่อความยากจนสองทางคือ 1) การส่งต่อผ่านพื้นที่ครอบครัวจากรุ่นก่อนหน้าถึงรุ่นลูกหลาน 2) ส่งผ่านพื้นที่สาธารณะ คือ พื้นที่ชุมชนและตลาด การส่งผ่านความยากจนในสองทางนี้ พบว่าปัญหาความยากจนมีความซับซ้อนในหลายมิติ การที่รุ่นพ่อแม่ไม่สามารถโอนทรัพยากรธรรมชาติไปสู่รุ่นลูกได้นั้น ได้กระทบต่อโอกาสที่จะหลุดพ้นความยากจนในรุ่นลูกได้ โดยเฉพาะครัวเรือนที่เรียกร้องทวงคืนภูผาฮวก พวกเขาต้องเสียสละตนเอง โดยเฉพาะด้านการเงิน และเวลาในการเรียกร้องทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นทุนร่วมกันทั้งชุมชนคืนมา และประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมเหมืองหินซึ่งเป็นกระบวนการแย่งยึดทรัพยากรนั้นไม่ถูกนับรวมในเงื่อนไขหรือตัวชี้วัดความยากจน แม้กระทั่งระดับท้องถิ่นและอำเภอ แม้ตำบลที่ติดอันดับความยากจนสูงสุดก็มิได้มีมาตรการหรือแนวทางที่เฉพาะเจาะจงลงมาในพื้นที่

อลิสา หาสะเมาะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิเคราะห์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดปัตตานี โดยชี้ให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจ้างแรงงานลดลง กระแสเงินลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีจำนวนครั้งในความไม่สงบสูง จะมีปัญหามากกว่าที่อื่น และความเปลี่ยนแปลงของชุมชนหลังจากการกัดเซาะในพื้นที่ป่าสงวน พบว่าจากที่เคยมีทรัพยากรที่สมบูรณ์กลับกลายมาเป็นความขาดแคลน อันเป็นผลมาจากวิถีการประมงในประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการถือกำเนิดขึ้นของของประมงในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมประมง”   ความยากจนข้ามรุ่นของปัญหาการเปลี่ยนผ่านนี้ก็คือ ปัจจัยการไม่มีทรัพย์สินที่ดิน เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รายได้ที่มาจากการทำงานในภาคประมงน้อย เนื่องจากปัญหาทรัพยากรทางทะเลอยู่ในสภาวะวิกฤติและไม่มีชายหาด ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากการใช้เครื่องมือประมงแบบดั้งเดิมมาสู่การใช้เครื่องมือประมงสมัยใหม่ กอปรกับชาวประมงยากจนต้องเจียดเงินไปซื้อเครื่องมือประมง ปัจจัยด้านการศึกษา แม้จะมีนโยบายด้านการศึกษาในยุคนี้ที่มีการเรียนฟรี แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกมาก อาทิ ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน ทำให้ลูกหลานชาวประมงขาดเรียนอยู่บ่อยครั้ง

ความยากจนที่ส่งต่อในพื้นที่สาธารณะ คือการขาดแคลนทุนด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ได้แก่ ชายหาดด้านทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการประมงขนาดเล็ก นอกจากนี้ ประเด็นเชิงโครงสร้างอย่างประเด็นเรื่องศาสนา การที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่า “การที่ได้ปลาในแต่ละวันคือสิ่งที่พระเจ้าประทานให้” (เน้นโดยผู้เขียน) และเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเลี่ยนแปลงปรับตัวของชุมชนประมงเนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอาชีพหรือหาอาชีพเสริมได้ 

วิเคราะห์ช่องว่างทางนโยบายและข้อเสนอความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทย 

ฐานิดา บุญวรรโณ เสนอว่า รัฐมีนโยบายในลักษณะความช่วยเหลือทางสังคมประเภทเงินโดยตรงเป็นหลัก เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีโครงการในลักษณะที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มยากจนที่สุดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ช่องว่างของข้อมูลที่สำคัญก็คือ แรงงานนอกระบบซึ่งส่วนมากแล้วจะมีสัดส่วนความยากจนอยู่ในนั้น จากข้อสรุปจึงมีข้อเสนอสามประการที่สำคัญ ดังนี้ ประการแรก ไม่มีเงินออม ข้อเสนอเชิงนโยบายคือ นโยบายลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินออมเพิ่มสมบทของรัฐ เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่การเป็นสมาชิกกองทุนมากขึ้น

ประการที่สอง การศึกษาต่ำ ข้อเสนอเชิงนโยบายคือ ยกระดับการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้น และปรับหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับมีความรู้และทักษะที่มีคุณภาพมากพอต่อการเป็นแรงงานที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และประการสุดท้าย อัตราการพึ่งพิงสูง ปรับเงินอุดหนุนและเบี้ยยังชีพต่าง ๆ ตามตามดัชนีราคาผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นอาจจะต้องคำนึงถึงความท้าทายอื่นๆ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาทั้งสามประการนี้ด้วย แต่ยังมีปัญหาแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเหนี่ยวรั้งกันอีกมากมาย เช่น ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และการใช้แรงงานเด็กโดยผู้ปกครองซึ่งจะสัมพันธ์กับการเป็นภาระพึ่งพิงกันภายในครัวเรือนจนไม่มีใครสามารถพาตัวเองก้าวพ้นจากความยากจนได้

ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรสามประการคือ ประการแรก ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรยากจนเข้าถึงนโยบายของรัฐ และต้องเป็นนโยบายที่ตรงกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น และนโยบายด้านการเกษตรควรเป็นการสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข ประการที่สอง การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ควรส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยการจ่ายหนี้ไม่ใช่การพักหนี้ ซึ่งทำให้ยอดหนี้สินยังคงอยู่และทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นวังวนของหนี้สินได้ ประการสุดท้าย การส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ ควรวางรากฐานการศึกษาปรับระบบคิดตั้งแต่รุ่นลูก ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติตั้งแต่โรงเรียน เพื่อให้เข้าใจรากฐานการทำเกษตรจนกลายเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ดี และส่งเสริมด้านเทคโนโลยีเพื่อสามารถต่อยอดด้านการเกษตร ท้ายที่สุด ควรปรับระบบความรู้ในโรงเรียนใหม่ เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดและต่อยอดนวัตกรรมทางการเกษตรได้

ธวัช มณีผ่อง การวิจัยภาคสนามพบว่า คนที่ทำงานเกี่ยวข้องมีความมุ่งหมายในการพัฒนาความเปลี่ยนแปลงให้หลุดพ้นจากความยากจน ข้อเสนอเชิงนโยบายคือ 1) นโยบายต้องมาจากฐานราก ลดนโยบายที่สั่งจากส่วนกลาง และพุ่งเป้าการตอบสนองต่อชีวิตของผู้คน 2) นโยบายต้องขจัดวัฒนธรรมการทำงานและการคิดแบบแยกส่วน และ3) นโยบายที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งประชาชนและข้าราชการของรัฐ

กิตติมา ขุนทอง ได้เสนอระบบคิดและนโยบายต่อภาครัฐในกรณีการแย่งยึดทรัพยากรของอุสาหกรรมเหมืองหินคือ รัฐต้องรื้อถอนมายาคติที่มองว่าทรัพยากรมิใช่ทรัพย์สินของรัฐ รัฐใช้คำว่าทวงคืนซึ่งแปลว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งแปลว่าสิทธิพึงมีพึงได้ ดังนั้น พอรัฐใช้คำว่า ทวงคืนผืนป่า มันชัดเจนเลยว่ารัฐมองว่าป่าไม้เป็นทรัพย์สินของรัฐ หากรัฐไม่รื้อถอนความคิดนี้ มันจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ (อ้างถึงใน กฤติมา คลังมนตรี, 2567) ส่วนทุนทรัพยากร/สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการดำรงชีพ หากถูกทำลายหรือถูกแย่งยึดจะกลายเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งและอุปสรรคของความยากจนข้ามรุ่น

ในแง่นโยบาย กำหนดแผนและเยียวยาและฟื้นฟูของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อำนาจในกระบวนการตัดสินใจ-การกระจายผลประโยชน์ เป็นการเร่งด่วน ต้องแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายที่ซ้ำเติมความยากจนของครัวเรือน โดยเฉพาะ พ.ร.บ. แร่แห่งชาติ พ.ศ. 2560 กล่าคือ 1) กำหนดระยะห่างจากชุมชนในรัศมีที่ไม่ส่งผลกระทบ 2) ให้พิจารณาเขตแร่ใหม่ โดยกันเขตออกจากชุมชน พื้นที่ป่าหรือทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและการดำรงชีพของชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเขตแหล่งแร่ดังกล่าว และ 3) เพิ่มมิติด้านเศรษฐกิจ ความยากจนในกรอบการทำรายงานผลกระทบ โดยครอบคลุมครัวเรือนในพื้นที่/ที่พึ่งพิงทรัพยากรตั้งแต่ในระยะสั้นถึงระยะยาว ท้ายที่สุด หากภาครัฐนับรวมต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความยากจนจะนำไปสู่การทบทวนสถานการณ์ที่เป็นจริงและเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ และจะนำไปสู่การอุดช่องว่างทางนโยบายของปัญหาความยากจนข้ามรุ่นในพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองหิน

อลิสา หาสะเมาะ ได้เสนอช่องว่างเชิงนโยบายว่า โอกาสที่จะทำการประมงขนาดเล็กตามชายฝั่งหรือออกเรือมีข้อจำกัด เนื่องจากฐานทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ขั้นวิกฤติ เมื่อชายฝั่งหายไปและมีช่องว่างทางนโยบายที่ไม่เชื่อมโยงกับการพัฒนาตามลักษณะเฉพาะ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายคือ เงินบำนาญชาวประมงขนาดเล็กสำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวประมงขนาดเล็ก (เช่น ทอดแห วางอวน ใช้เบ็ด ใช้เหล็ก หาปูใส่ชายเลน หรือเป็นลูกเจ้าของชาวประมง ไม่จำเป็นต้องมีเรือ) และต้องให้เรียนฟรีจริง โดยรัฐต้องสนับสนุนค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายทางการศึกษา โดยไม่ต้องเสียค่าบำรุงการศึกษา และหลักสูตรต้องออกแบบให้เหมาะสมกับชุมชนประมงขนาดเล็ก มีหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องประมงขนาดเล็กอย่างครบถ้วน ให้ช่องทางพิเศษสำหรับชาวประมงที่มีสภาวะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้เงินทุนการศึกษาในการประกอบอาชีพเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเบี้ยคนพิการขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท เบี้ยผู้สูงอายุขั้นต่ำเดือนละ 3,000 บาท ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ อย่างน้อยตำบลละ 1 ศูนย์  เพื่อลดภาระการพึ่งพิงของสมาชิกวัยแรงงาน งดเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนประมงพื้นบ้านจัดประกันภัย  และภัยพิบัติให้กับชาวประมงพื้นบ้าน                                                                                                  

กล่าวในภาพรวมก็คือ งานวิจัยทั้ง 5) ชิ้นมีจุดร่วมกันประการหนึ่งก็คือ ความจนมิได้มาจากปัจเจกบุคคล แต่มาจากการออกแบบนโยบายของรัฐที่ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้นก็พยายามสะท้อนชีวิตผู้คนจากการทำงานภาคสนามผ่านการเล่าเรื่อง เพื่อนำเสนอนโยบายให้สอดคล้องกับชีวิตของประชาชน

อ้างอิง

  • การสัมมนาเรื่อง “นโยบายความยากจนในสังคมไทยกับโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดพิษณุโลก.กฤติมา คลังมนตรี. “กิตติมา ขุนทอง 
  • มรดกบาปของคสช. การทวงคืนผืนป่าที่สร้างปัญหาต่อความยากจนข้ามรุ่น.” The Isaan record. https://theisaanrecord.co/2024/03/28/kamlai-wild/. เข้าถึงเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567. 
  • เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “นโยบายความยากจนในสังคมไทยกับโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ” ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2565.
พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง