เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์กร Citizen+ มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชน ร่วมจัดประชุมสรุปโครงการ “Journalism that Builds Bridges: วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน เสียงของคนชายขอบเพื่อเชื่อมสัมพันธ์สื่อนอกกระแส” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 5 สำนักข่าวจาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ สำนักข่าวลานเนอร์ ประชาไท เดอะอีสานเรคคอร์ด ลาวเดอร์ และวาร์ตานี โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของนักข่าวพลเมืองรุ่นใหม่จำนวน 50 คนจากทั่วประเทศ ในการผลิตเนื้อหาและนำเสนอประเด็นปัญหาสังคมและวัฒนธรรม การเมือง กฎหมาย สิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาสื่อกระแสหลักและสื่อในส่วนกลาง เป็นการให้คนชายขอบได้สะท้อนปัญหาของตัวเองสู่สังคมต่อไป
โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักข่าวพลเมืองที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น
นอกจากนี้ยังมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและความปลอดภัยของนักข่าว” โดยมี โจ ฮิโรนากะ (Jo Hironaka) หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารและสารสนเทศ Unesco ประจำกรุงเทพฯ, เรอโน เมเยอร์ (Renaud Meyer) ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย, มิก้า โทมิ (Miika Tomi) รองหัวหน้าคณะผู้แทน สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ กรุงเทพฯ และโจนาธาน คิงส์ (Jonathan Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ร่วมขึ้นกล่าวปาฐกถา
โจ ฮิโรนากะ กล่าวในส่วนหนึ่งว่า ยูเนสโกได้ออกรายงานเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวทั่วโลก ซึ่งผู้สื่อข่าวเป็นแนวหน้าของการทำงานและมีโอกาสในการโดนโจมตีทั้งในประเทศที่มีและไม่มีความขัดแย้ง โดยพบว่า 2 ใน 3 ของผู้สื่อข่าวที่ถูกทำร้ายอยู่ในเอเชียและสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยข้อมูลดังกล่าวเก็บรวบรวมมาจากการเลือกตั้ง 89 ครั้งที่มีขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2019-2022 พบว่ามีนักข่าวเกือบ 700 คนที่ถูกทำร้าย
“ยูเนสโกยังมีการรายงานว่า มีการคุกคามนักข่าวผู้หญิง โดยเป็นการข่มขู่คุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผู้หญิงเหล่านั้นทำหน้าที่รายงานข่าวด้านการเมือง การเลือกตั้ง และ 42% เป็นการถูกคุกคามมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกิดปัญหาดังกล่าว แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ลงนามในสัตยาบรรณด้านสิทธิมนุษยชนก่อนประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ แต่ก็ยังมีปัญหาอย่างมาก ในด้านสิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เนื่องมาจากการขาดการบังคับใช้กฎหมายด้านการปกป้องและคุ้มครองการแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชน”
เรอโน เมเยอร์ (Renaud Meyer) กล่าวว่า ผู้ร่วมอบรมในโครงการนี้ส่วนใหญ่ผลิตเนื้อหาเรื่องสิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์ เพื่อให้คนได้ยอมรับในอัตลักษณ์ของตัวเอง ส่วนตัวทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนมานาน เมื่อเดินทางไปประเทศที่กำลังพัฒนาได้ทำงานกับผู้สื่อข่าวจากหลายประเทศ สังเกตว่านักข่าวเป็นกระบอกเสียงกับรัฐบาลมากกว่า ประเทศไทยก็ไม่ได้รับการยกเว้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในการยืนหยัดว่า มีความรับผิดชอบที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านศิลปะการเล่าเรื่อง ผ่านบทความ ภาพ กลอน ดนตรี หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ อย่างไร ซึ่งทำให้องค์กรยูเอ็นดีพี ยูเนสโก สถานทูตต่างๆ อยากจะร่วมมือกับนักข่าวเพื่อพัฒนาการทำข่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรอโนยังบอกอีกว่า ล่าสุดได้ทำงานกับสื่อสาธารณะแห่งหนึ่ง โดยจัดให้นักข่าวได้เจอกับคนพิการเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ทั้งนี้หวังว่า พันธมิตรต่างๆ จะร่วมกันทำงานแบบกระจายอำนาจ ในฐานะที่ตนทำงานในประเทศไทยมา 4 ปี คิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ชื่นชอบมากที่สุดและน่าจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาต่อไปได้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดประชาธิปไตยแบบเต็มรูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่มีสิทธิหรือเสียง เพียงแต่ว่าไม่มีคนเล่าเรื่องราวของพวกเขามากกว่า ถ้าเราเริ่มเข้าหาพวกเขาประเด็นต่างๆ ก็จะถูกถ่ายถอดและนำเสนอออกมาได้
มิก้า โทมิ (Miika Tomi) กล่าวว่า วงการสื่อเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้สื่อข่าวพบเจออุปสรรคที่นักข่าวรุ่นก่อนๆ ไม่เคยเจอมาก่อน สื่อจากสำนักข่าวหลายแห่งก็เปลี่ยนมาเสนอข่าวแบบดิจิตอลมากขึ้น การนำเสนอข้อมูลผ่านหนังสือพิมพ์ที่ผ่านมาก็จะเสนอเรื่องราวจากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายในหนึ่งหน้ากระดาษ แต่ปัจจุบันการนำเสนอข่าวบนแฟลตฟอร์มดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะให้พื้นที่กับแหล่งที่ตัวเองอยากได้ยินเท่านั้น หรือแหล่งข่าวที่ชื่นชอบแต่ฝ่ายเดียว นั่นก็กระทบผู้สื่อข่าวด้วย ปัจจุบันยอดไลค์ถือเป็นปัจจัยสำคัญของรายได้ อัลกอริทึมในสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้เสพข่าวและรัฐบาลก็มีอำนาจในการกำหนดว่า ข่าวแบบไหนควรจะเข้าถึงประชาชน
มิก้า กล่าวต่อว่า นักข่าวกำลังเผชิญหน้าความกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ผู้หญิงอายุน้อยส่วนใหญ่มีอำนาจในการตัดสินใจ รัฐบาลก่อนหน้านี้มี 5 พรรคการเมือง ทั้ง 5 พรรคมีผู้หญิงเป็นผู้นำ ประเทศฟินแลนด์มีผู้หญิงเป็นผู้นำเป็นหลัก และนำประเทศฝ่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดมาได้
“เมื่อ 25 ปีก่อนฟินแลนด์มีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงคนแรกและได้ทำหน้าที่นานถึง 12 ปี ผมได้ยินเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถามแม่ว่า ผู้ชายเป็นประธานาธิบดีได้ไหม ผมหวังว่า สักวันประเทศไทยจะเป็นอย่างนั้น เป็นวันที่เด็กออกมาถามว่า ผู้ชายแท้ในกรุงเทพฯ จะเป็นนักข่าวได้ไหม ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น” มิก้า กล่าว
โจนาธาน คิงส์ (Jonathan Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อสิ่งสำคัญของประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยและยังเป็นพื้นฐานของประเทศที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย นิวซีแลนด์มีสิทธิเสรีภาพของสื่อที่มีความหลากหลาย ซึ่งวันนี้ผมอยากจะกล่าวถึงกลุ่มคนชายขอบที่ยังไม่ได้มีพื้นที่ในสังคม กลุ่มเหล่านี้อยากจะมีสิทธิมีเสียงมีอยากมีสื่อเป็นของตัวเองในภาษาของตัวเอง และนักข่าวรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้มันเกิดขึ้น ในนิวซีแลนด์กำลังทำแบบเดียวกันที่กำลังเปลี่ยนจากการทำแบบจากกระแสหลักเป็นสื่อที่มุ่งเน้นชุมชนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อเจาะประเด็นทางสังคมที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น ในรายการข่าวของกลุ่ม LGBT ก็มีการนำเสนอเรื่องสมรสเท่าเทียม ในชนเผ่าเมารีมีสื่อเป็นภาษาของตัวเอง ก็ถือเป็นการสร้างพื้นที่ให้ชนเผ่านี้ถูกได้ยินมากขึ้น
โจนาธาน กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักให้เป็นการรายงานข่าวที่อิงกับชุมชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องปกป้องผู้สื่อข่าวด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักข่าว ทั้งนี้นักข่าวก็ต้องเจอกับอุปสรรคทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ทั้งจากข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่ส่งผลให้ความไว้วางใจนักข่าวน้อยลง รวมถึงการใช้กฎหมายอาญาเพื่อปิดปากนักข่าวไม่ให้รายงานข่าวได้อย่างอิสระ บริษัทเอกชนที่มีอำนาจก็นิ่งเฉยและไม่ได้ช่วยให้การรายงานของนักข่าวง่ายขึ้น รวมทั้งเรื่องการหารายได้ให้กับสำนักข่าวก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน
“นักข่าวหญิงและ LGBT+ ยังต้องการเจอภัยคุกคามทางร่างกายและโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งโลกออนไลน์ที่เปิดกว้างมากขึ้นก็เป็นดาบสองคนที่โจมตีนักข่าวได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องร่วมมือกันปกป้องนักข่าวจากการถูกคุกคามและให้ความรู้กับองค์กรต่างๆ เพื่อกำจัดข่าวปลอม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่นักข่าวที่ต้องการรายงานข่าวที่มีความสำคัญต่อสังคม” โจนาธาน กล่าว
ผู้ได้รับรางวัล JBB Award ครั้งที่ 1 จากสำนักข่าวลานเนอร์
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง KAREN MAN : ธุรกิจเดลิเวอรี่เชื้อชาติกะเหรี่ยงที่หวังไกลต้องไปถึง โดย ปาณิสรา วุฒินันท์
- รางวัลชมเชย เรื่อง อยู่รอดปอดพัง: เสียงจากแคมป์คนไทใหญ่ในเชียงใหม่ต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดย นันทัชพร ศรีจันทร์ ส่วน
ผู้ได้รับรางวัลจากสำนักข่าวประชาไท
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง เปิดปมศาลไม่ให้ประกัน ‘ทะลุแก๊ส’ เมื่อความรุนแรง-การเมือง เป็นเรื่องเดียวกัน โดย โยษิตา สินบัว และวรัญชัย เจริญโชติ
- รางวัลชมเชย เรื่อง ความลักลั่นของคำ สั่งประกันตัวคดี มาตรา 112 ในปี 2565 โดย ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์
ส่วนสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง เมื่อชุดนักเรียนกลายเป็นยูนิฟอร์มขายนมเปรี้ยว แหล่งรายได้บนความสงสาร โดย วิภาวี จุลสำรวล
- รางวัลชมเชย เรื่อง ดอกจานที่ไม่อาจผลิบานในบ้านเกิด การหลบซ่อนตัวของผีน้อยชาวอีสานในเกาหลีใต้ โดย กฤติมา คลังมนตรี
สำนักข่าวลาวเดอร์
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง สี่แยกไฟแดง มีนักเรียนขายนมเปรี้ยว โดย ปิยราชรัตน์ พรรณขาม
- รางวัลชมเชย เรื่อง จากการนำเสนอเรื่องยุคสมัยเปลี่ยน ทัศนคติเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่ไม่อายที่จะบอกว่า พวกเขาฟังหมอลำ โดย ศิริลักษณ์ คำทา และ วีรภัทรา เสียงเย็น
สำนักสื่อวาร์ตานี
- รางวัลชนะเลิศ เรื่อง การรวมตัวของเยาวชนในชุดอัตลักษณ์มลายูหลายหมื่นคน โดย วาลิด ฮามิดง
- รางวัลชมเชย เรื่อง เมื่อสื่อและนักกิจกรรมถูกผลักเข้าไปอยู่ใยู่ นพื้นที่ส่วส่ นหน้าของความขัดแย้ง โดย ฟิตรียาวาตี อาแด
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...