‘กะเบอะดินแมแฮแบ’ เรื่องราวของคนเล็กกับการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่เพื่อยับยั้งเหมืองถ่านหินอมก๋อย

เรื่อง: นันท์นภัส ปิ่นไชย, ศุภนุช สีแดงน้อย, พรชิตา ฟ้าประทานไพร

“กะเบอะดินแมแฮแบ”

ถ้อยคำนี้ดังกึกก้องขึ้นในพิธีกรรมบวชป่าจิตวิญญาณ เมื่อช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นเสียงที่สะท้อนถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ที่ร่วมกันประกาศจุดยืนว่า “กะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่”  เสียงนี้ไม่ใช่เพียงการปฏิเสธโครงการเหมืองถ่านหินที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เป็นเสียงสะท้อนแห่งฉันทามติร่วมกันของชุมชน ที่ยืนยันถึงสิทธิ์ในการรักษาผืนดินถิ่นฐานซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่บรรพชน และความตั้งใจที่จะส่งมอบดินแดนนี้ให้กับคนรุ่นถัดไปด้วยโลกในแบบที่พวกเขาปรารถนา..

‘กะเบอะดิน’ ดินแดนมหัศจรรย์

กะเบอะดิน’ หมู่บ้านเล็กๆ ที่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์และความมหัศจรรย์ ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนป่าเบญจพรรณเขียวขจีบนภูมิศาสตร์สูงชันในตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ (โผล่ว) ที่มีประชากรราว 483 คน ใน 168 ครัวเรือน ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน ในผืนแผ่นดินที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ดินแดนมหัศจรรย์’ ชาวบ้านที่นี่ใช้ชีวิตโดยอาศัยและเคารพธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญ ก่อให้เกิดประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างคนและผืนป่า 

ชื่อของหมู่บ้านกะเบอะดินมีที่มาจากภาษาปกาเกอะญอ โดยคำว่า ‘กะเบอะ’ หมายถึง ดินเหนียวชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้สำหรับทำเครื่องปั้นภาชนะดินเผาหรือหม้อดิน แต่เดิมนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปั้นหม้อดินจากดินชนิดนี้และนำไปขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ชื่อ ‘กะเบอะดิน’ จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันชุมชนกะเบอะดินไม่ได้เน้นการปั้นหม้อดินเป็นอาชีพหลักอีกต่อไป เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักแทน โดยมีมะเขือเทศ ฟักทอง และกะหล่ำปลี เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งออกไปยังตลาดค้าส่งทั่วภาคเหนือ นอกจากนี้ กะเบอะดินยังมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ‘การเป็นพื้นที่เดียวที่สามารถเพาะปลูกมะเขือเทศในช่วงหน้าแล้งได้’ ซึ่งสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำในท้องถิ่นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืชเหล่านี้

กะเบอะดินแหล่งมะเขือเทศหน้าแล้ง

หน้าแล้งไม่มีมะเขือเทศที่ไหน มีแค่กะเบอะดินที่เดียว

คำพูดของ พิชัย โกมุทผดุง ผู้รับซื้อมะเขือเทศเจ้าดังที่เข้ามาเหมาสวนมะเขือเทศในกะเบอะดินจากหนังสือ ‘จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์’ ตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ ‘หมู่บ้านกะเบอะดิน’ ในฐานะ ‘แหล่งผลิตมะเขือเทศ’ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หากเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตมะเขือเทศภายในภาคเหนือ ที่แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกมะเขือเทศมากถึง 10,000 ไร่ แต่ปริมาณผลผลิตของมะเขือเทศโดยรวมกลับมีเพียงแค่ 5,000 ตันต่อปีเท่านั้น ในขณะเดียวกัน แม้ว่าชุมชนกะเบอะดินจะมีพื้นที่เพาะปลูกมะเขือเทศในจำนวนน้อยนิดเพียงแค่ 5 ไร่ แต่ก็กลับสามารถผลิตมะเขือเทศได้ถึง 1 ตันต่อปี ซึ่งหมายความว่า อัตราผลผลิตของกะเบอะดินสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคเหนือถึง 2.5 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากอัตราผลผลิตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปในภาคเหนือแล้ว มะเขือเทศจากกะเบอะดินยังโดดเด่นด้วยคุณภาพจากการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และการมีผลผลิตในหน้าแล้ง ส่งผลให้ราคาขายสูงกว่ามะเขือเทศทั่วไปถึง 2 เท่า ทำให้มะเขือเทศกลายมาเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของชุมชนกะเบอะดิน

ขณะเดียวกัน ‘มะเขือเทศ’ ยังถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากในการเพาะปลูก ดังนั้น การปลูกมะเขือเทศของที่นี่จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติภายในชุมชนได้อย่างชัดเจนมายาวนานมากกว่า 20 ปี โดยมี ‘น้ำสะอาด’ จากแหล่งน้ำห้วยแม่อ่างขางและห้วยผาขาวเป็นหัวใจสำคัญในการหล่อเลี้ยงผลผลิต

แต่ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์นี้ เหตุใดรัฐจึงอนุญาตให้มี ‘เหมืองถ่านหิน’ ในผืนป่าของชุมชน รวมถึงในเขตห้วยมะขามและห้วยผาขาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตและวิถีเกษตรของกะเบอะดิน?

จุดเริ่มต้นโครงการ ‘เหมืองถ่านหินอมก๋อย’

ถ่านหินซับบิทูมินัส (sub-bituminous coal) ที่พบในหมู่บ้านกะเบอะดิน เป็นถ่านหินที่มีความโดดเด่นในการเผาไหม้ได้ดีและมีปริมาณมาก ด้วยคุณสมบัติที่ว่านี้ ทำให้มันกลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งดึงดูดความสนใจจากหลายบริษัทที่ต้องการเข้าครอบครองพื้นที่เหล่านี้ นำไปสู่การเกิดโครงการ ‘เหมืองถ่านหินอมก๋อย’ โดยเริ่มต้นจากการดำเนินการกว้านซื้อที่ดินในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2530

ปี 2530 ชาวบ้านกะเบอะดินได้รับการติดต่อจากตัวแทนของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อขอซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านกะเบอะดิน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปเพียงแค่ 1 กิโลเมตร โดยมีการเสนอซื้อที่ดินจำนวนหลายไร่ จากคำบอกเล่า ชาวบ้านบางส่วนต้องตัดสินใจขายที่ดินให้กับบริษัท เนื่องจากมีการข่มขู่ว่าหากไม่ขาย จะถูกยึดที่ดินในอนาคตและอาจไม่ได้รับการชดเชยใดๆ การเลือกที่จะขายที่ดินจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดูเหมือนจะดีกว่าในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้

ต่อมาในปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเลขที่ 1/2543 ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน หมู่ที่ 12 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมเนื้อที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา และมีระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี โดยมีชุมชน 2 แห่ง ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากพื้นที่เหมือง คือ บ้านกะเบอะดิน และบ้านขุน

รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) โดยบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ในเดือนตุลาคม ปี 2554 ระบุว่า ภายในพื้นที่กะเบอะดินมีถ่านหินประมาณ 720,000 ตัน ซึ่งถ่านหินที่ได้จากเหมืองจะถูกส่งไปยังจังหวัดลำปาง เพื่อใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ต่อไป

การเริ่มต้นของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนและคัดค้านโครงการที่พวกเขากังวลว่าจะทำลาย ‘ชีวิต’ และ ‘บ้านเกิด’ ของพวกเขาได้

EIA ที่ไม่ชอบมาพากล

ภาพ: thecitizen.plus

ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ถือเป็นเอกสารสำคัญสำหรับการขอประทานบัตรโครงการต่างๆ รวมถึง ‘โครงการเหมืองแร่’ ที่ต้องมีการจัดทำรายงาน EIA เพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยกลับพบข้อพิรุธมากมายในรายงาน EIA ที่จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กังวลและตัดสินใจลุกขึ้นมาคัดค้าน

แม้จะมีการสำรวจแหล่งแร่ในปี 2543 และจัดทำรายงาน EIA เสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม ปี 2554 แต่กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนกลับขาดหายไป โดยชาวบ้านในกะเบอะดินไม่ได้รับทราบขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้น ชาวบ้านต่างตั้งข้อสงสัยต่อการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของโครงการ รวมถึงเรื่องรายชื่อของชาวบ้านที่ยินยอมให้ทำเหมืองถ่านหินไม่ตรงกับลายเซ็นในเอกสารที่นำเสนอ บางส่วนเป็นรายชื่อของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านกะเบอะดินเป็นชาวปกากะญอ ซึ่งบางรายไม่สามารถพูดหรือเขียนภาษาไทยได้ แต่กลับพบชื่อของพวกเขาในรายชื่อที่ยินยอมให้ดำเนินโครงการนี้อย่างผิดปกติ

ปี 2553 มีการศึกษาและจัดทำประชาคมเพื่อใช้ประกอบรายงาน EIA แต่กลับไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมือง ทั้งต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน มีเพียงการประชาสัมพันธ์ว่า “หมู่บ้านจะเจริญ จะมีไฟฟ้าและถนน” ซึ่งทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าการสื่อสารจากโครงการขาดความโปร่งใสและจริงใจ

ขณะเดียวกัน รายงาน EIA ยังมีการกล่าวอ้างถึงพื้นที่ป่าในแปลงโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยว่าเป็น ‘ป่าเสื่อมโทรม’ หรือการมีต้นไม้แคระแกร็นจากการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งไม่ตรงกับความจริงในพื้นที่ ที่ชาวบ้านได้มีการจัดการนิเวศอย่างมีระบบ มีการแบ่งโซนพื้นที่ทำกินอย่างชัดเจน รวมถึงการทำเกษตรในรูปแบบนาขั้นบันไดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและได้รับการพิสูจน์ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี 2495

นอกจากนี้ การประเมินแหล่งน้ำในรายงาน EIA ก็ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยไม่ได้ทำการสำรวจแหล่งน้ำอย่างทั่วถึงตามรัศมีที่ควร แต่กลับเลือกสำรวจเฉพาะบางจุดเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้กล่าวถึงสัตว์ป่าคุ้มครองและพืชท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งยังจำกัดขอบเขตพื้นที่ผลกระทบไว้เพียงรัศมี 3 กิโลเมตร ซึ่งแคบเกินไป ซึ่งไม่สามารถสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อหมู่บ้านกะเบอะดินที่เป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนได้

4 ปีแห่งการต่อสู้ ‘กะเบอะดินแมแฮแบ’ กะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

จากเหตุการณ์และข้อพิรุธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ชุมชนกะเบอะดินและชาวอมก๋อยได้ตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

โดยในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น ชาวบ้านได้รวมตัวกันยื่นจดหมายเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินถึงนายอำเภอ โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศและการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะน้ำทิ้งจากเหมืองที่มีสภาพเป็นกรด (Acid Mine Drainage: AMD) ซึ่งส่งผลต่อการทำลายระบบนิเวศและลดความหลากหลายทางชีวภาพ

การรวมตัวของชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ในอำเภออมก๋อยได้สร้างการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 28 กันยายน 2562 เมื่อมีชาวอมก๋อยและภาคีเครือข่ายมากกว่า 2,000 คนแสดงพลังคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน โดยเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อไปได้

4 เมษายน 2565 ชาวบ้านจากชุมชนกะเบอะดินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จำนวน 50 คน จาก 6 หมู่บ้าน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอนรายงาน EIA ของเหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ซึ่งเป็นคดีหมายเลขดำ ส.1/2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนรายงาน EIA ของเหมืองถ่านหินอมก๋อย เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่าโครงการเหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา

18 พฤษภาคม 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องในคดี ซึ่งถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ‘คดีแรก’ ของศาลปกครองเชียงใหม่ในปี 2565 หลังจากนั้น ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 กันยายน 2565 ให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีการทำเหมืองถ่านหินอมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทเจ้าของโครงการไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่งนับเป็น ‘ชัยชนะครั้งแรก’ ของชาวกะเบอะดินที่ต่อสู้คัดค้านมานาน 3 ปี

การฟ้องในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการคัดค้านความถูกต้องของรายงาน EIA ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้มีการจัดทำ EIA ใหม่ที่มีส่วนร่วมจากผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง โดยชาวบ้านเห็นว่ารายงาน EIA ฉบับก่อนหน้านี้จัดทำขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนและมีข้อมูลที่มีข้อสงสัยหลายประการ

หากโครงการยังคงเดินหน้าต่อไป จะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะ ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ของชุมชนที่ได้สืบทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนมาอย่างยาวนาน การต่อสู้ครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องอนาคตของชุมชนกะเบอะดินเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัดเพื่อความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมเ่ช่นกัน

สิทธิชุมชนชาติพันธ์ุในมิติกฎหมายและพันธกรณีสากล

‘ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในพื้นที่ของตน ซึ่งได้รับการคุ้มครองและรับรองสิทธิในระดับสากลตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples: UNDRIP) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 โดยเจตนารมณ์สำคัญของ UNDRIP คือการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาจเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสูญเสียที่ดินและ ทรัพยากร รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ท่ามกลางการต่อรองของชุมชนที่สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหว พวกเขาเรียกร้องสิ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพื้นที่อยู่อาศัย การได้รับการรับรองสิทธิในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ตามกฎหมายไทยและพันธกรณีสากลถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 ได้ระบุถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย” 

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสอมภาคทางสังคม ข้อ 4.3.5 ยังได้มีการสนับสนุนการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้บริบทของสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความตระหนักในสิทธิมนุษยชน สร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาของกลุ่มชน สร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น สร้างความเข้าใจและจุดร่วมบนความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์

อีกทั้งประเทศไทยได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง ที่สหประชาชาติ (UN) ในปี 2550 โดยมีสาระสำคัญระบุว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครองและเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อน รัฐจักต้องทำให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมาย” 

นอกจากนี้ รัฐไทยยังได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยื่น (Sustainable Development Goal: SDGs) ในฐานะวาระการพัฒนาแห่งสหประชาชาติภายหลังปี ค.ศ. 2015 ซึ่งหัวใจของเป้าหมาย SDGs คือ ‘เน้นการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง’ ไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ปัญหาในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความรู้ในระดับชุมชน การที่กระบวนการมีส่วนร่วมเริ่มต้นขึ้นโดยไม่มีความชัดเจนและขาดการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ส่งผลให้ชุมชนขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา

ดังนั้น การต่อสู้ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดินจึงไม่ได้เป็นเพียงการปกป้องที่ดิน ทรัพยากร หรือบ้านเกิด แต่ยังเป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม การมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา และการสร้างอนาคตที่พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ในบ้านเกิดของตนได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

เปิด 4 เล่มหนังสือบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

เล่มที่ 1 ‘กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ หรือ CHIA: Community-led Impact Assessment’ เป็นเล่มหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปัจจุบันหนังสือ CHIA ถูกนำมาประกอบเป็นข้อมูลในการฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จัดทำโดย ชุมชนกะเบอะดินและภาคีเครือข่าย สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/publication/23142/climate-coal-omkoi-community-report/

เล่มที่ 2 ‘หนังสือวารสารผู้ไถ่ เมื่อ “กะเบอะดิน” ถูกสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ “เหมืองแร่” และ “อุโมงค์ผันน้ำ”เข้ามาทำลาย?! เยาวชนจึงลุกขึ้นคัดค้านด้วยจิตวิญญาณกะเหรี่ยงโปว์’ ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวกะเบอะดิน โดยใช้การสัมภาษณ์เยาวชนและตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเล่าเรื่องความกังวลใจหากเกิดโครงการเหมืองแร่ถ่านหินขึ้น รวมทั้งเหตุผลที่ต้องลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนลงวารสาร เขียนโดย องอาจ เดชา ฉบับที่ 119 พ.ค.-ส.ค.2565 อ่านต่อได้ที่ https://online.anyflip.com/ooxwq/suxb/mobile/index.html?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR32eZIlqhRJLt3z5ywKP7uDd5NkHNcOpMaC8sWSTjmu-Um-SmZQEEA6U_o_aem_LdoVuBc-daIDn_PmcMiOXQ#google_vignette

เล่มที่ 3 ‘โลกที่เปลี่ยนไปของชาวบ้านกะเบอะดิน: การปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร เหมืองแร่ถ่านหิน ความมั่นคงทางอาหาร และการดำรงอยู่ของทุนทางสังคม’ เป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากงานวิจัยเรื่องทุนทางสังคมกับการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ผู้เขียนต้องการวิวาทะกับโครงการพัฒนาบนพื้นที่สูงหลายโครงการ เช่น โครงการเหมืองถ่านหิน โครงการผันน้ำ โครงการสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่จะส่งผลกระทบต่อชนเผ่าบนพื้นที่สูงที่มีชีวิตอยู่กับวิถีเกษตรพื้นที่สูงมาช้านาน เนื้อหาของหนังสือแสดงให้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนแห่งนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ เขียนโดย อ.จิรวัฒน์ รักชาติ

เล่มที่ 4 ‘สารคดี (Sarakadee Magazine) แกะรอยแผนที่’ ผู้เขียนได้อธิบายการทำแผนที่เดินดิน ชื่อว่า “ที๊งคูเท๊ะฌี้” ซึ่งแปลว่า ต้นน้ำดีที่อมก๋อย เป็นแผนที่ที่อธิบายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแหล่งน้ำ และเพื่ออธิบายอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนทั้งในแง่สุขภาพ ที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ การทำแผนที่เป็นหมุดหมายหนึ่งของการต่อสู้และก้าวย่างของคนอมก๋อยหลังจากชุมชนได้รับทราบเรื่องราวโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน เขียนโดย ฐิติพันธ์ พัฒนามงคล หน้า 127-131 ปี 40 ฉบับที่ 474 กันยายน 2567 สั่งซื้อได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/QVSFFDFSZV4cUnMf/

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสำรวจข้อมูลประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ  ดิน น้ำ สัตว์ในลำห้วย  และงานวิจัยประเด็นการมีส่วนร่วมในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชน เพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมของฝ่ายบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างความเข้าใจการขอสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ 

การเก็บรวบรวมข้อมูลถือเป็นกระบวนการต่อสู้หนึ่งที่ชุมชนสามารถโต้แต้งเพื่อยุติโครงการ และเป็นการเปิดข้อเท็จจริงในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ เรียกร้อง  และสามารถเป็นหลักฐานประกอบ สิทธิที่ชุมชนควรจะได้รับโดยใช้ชุดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ   

ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง