พฤษภาคม 10, 2024

    Forestกรรม กรรมของป่า หรือกรรมของใคร?

    Share

    เรื่อง: นันทัชพร ศรีจันทร์

    “บ้านบนดอย บ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปา บ่มีโรงหนัง…
    …บ่มีเนื้อสันผัดน้ำมันหอย คนบนดอยชอบกิ๋นข้าวจี่…”

    กว่า 40 ปีที่ผ่านมา จรัล มโนเพชรศิลปินโฟร์คซองคำเมืองชื่อดังได้รังสรรค์ขับกล่อมท่อนฮิตติดหูอย่างเพลง ‘บ้านบนดอย’ ขึ้นมา
    แต่กาลเวลาผ่านล่วงเลยไป จรัล จะรู้ไหมว่าบ้านบนดอยที่เขาเคยขับกล่อมเมื่อ 40 ปีก่อนก็ยังคง บ่มีแสงสี บ่มีทีวี บ่มีน้ำประปาเหมือนเดิม ถนนก็บ่มี เปิ้นชอบกิ๋นข้าวจี่ หรือเพราะว่าจิ้นส้ามันบ่มีกั๋นหา?

    ภาพภูเขาถูกฉายให้เห็นถึงสีเขียวขจี สีแห่งความสงบร่มเย็น สีแห่งการธรรมชาติบำบัด ขายตั๋วขายบัตรเส้นทางศึกษาธรรมชาติทุกปลายฝนยาวไปจนหนาว สุดจะโรแมนติก ขณะที่อีกหุบหนึ่งของฝากเขา มีคนอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐ แต่ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ ไม่มีถนน
    ไม่โรแมนติก

    “ชาวเขาเผาป่า”

    “ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า”

    “ไร่เลื่อนลอย”

    วาทกรรมผลิตซ้ำที่ผ่านหูผ่านตาคน ‘ไทย’ มานานนับหลายทศวรรษ ต่างเบียดขับ เหยียดหยาม ชี้นิ้ว “พวกเขา” ให้อยู่ไกลออกไปเป็นผู้กระทำผิดเพียงเพราะชีวิตของพวกเขาอยู่ในพื้นที่ป่า

    “เรื่องยาเสพติดกับชาติพันธุ์ มันมีกระบวนการทำให้เห็นว่า เขา(ชาติพันธุ์) เป็นเหมือนตัวการในการสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นจึงชอบธรรมอย่างมากที่รัฐจะปฏิบัติกับพี่น้องชาติพันธุ์เหมือนเป็นสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์ และรัฐจะกระทำอะไรก็ได้อย่างง่ายดาย กระบวนการนี้ยังส่งต่อความเข้าใจให้สังคมเชื่อว่าพี่น้องชาติพันธุ์เป็นตัวการเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งทำให้สังคมสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อชาติพันธุ์ในการปราบปรามยาเสพติด”

    นเรศ สงเคราะห์สุข นักพัฒนาอิสระ ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นมายาคติด้านลบของคนไทยต่อเหล่าชาติพันธุ์ในวงเสวนา “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากชาวเขาสู่ชนพื้นเมือง” ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เนื่องในวัน สากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ไว้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์มักจะถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดผิดกฎหมาย ภาพจำเหล่านี้เป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็นของรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ประกาศบังคับใช้กฎหมายให้ฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยฉับพลันเมื่อปี พ.ศ. 2501 หลังจากประเทศไทยถูกองค์การสหประชาชาติเรียกร้องกดดันให้จัดการกับพื้นที่ปลูกฝิ่นที่สำคัญอย่างบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายอย่างฉับพลัน ส่งผลทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายโดยที่พวกเขาไม่ทันตั้งตัว ทั้งๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น

    ‘เรื่องหลังเขา’ กลุ่มคนที่มีไฟในใจ อยากให้คนเข้าใจเรื่องไฟ(ใน)ป่า ทั้งข้อมูล ทั้งตัวเลขกฎหมายทั้งหลาย จำนวนมากมายทำยังไงให้ผู้คนเข้าใจง่ายขึ้น สนุกขึ้น ตลกขึ้น และเห็นบริบทของประวัติศาสตร์ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น จากความอัดอั้นตันใจของเนื้อหาที่ไม่มีในแบบเรียน มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ปภาวิน พุทธวรรณะ, นันทัชพร ศรีจันทร์, กัญญ์วรา หมื่นแก้ว และจินตนา ประลองผล 

    จุดเริ่มต้นของ ‘เรื่องหลังเขา’ มาจากการรวบรวมอุดมการณ์จากคนที่ทำงานภาคประชาสังคม และมีความสนใจในประเด็นป่าไม้ ที่ดิน ความเป็นคนหรือชาติพันธุ์ รวมถึงสมาชิกในเรื่องหลังเขาก็มีชาติพันธุ์ตามที่รัฐไทยนิยาม ทำให้สัมผัสย้อนคิดถึงเหตุการณ์ วาทกรรมต่างๆ ที่แบ่งแยกความเป็นคนออกจากความเป็น “ไทย” ทั้งชาวเขา ไร่เลื่อนลอย ชาวเขาเผาป่า หรือแม้แต่วาทกรรมยาเสพติด กลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการตั้งคำถามกับแบบเรียนที่ไม่รู้เลยว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้ ประวัติศาสตร์ที่กดไว้ใต้อยู่ใต้พรมโดยมีตัวละครหลัก คือผลประโยชน์เรื่องทรัพยากรกับความเป็นการเมืองนี้บรรจุอยู่ในแบบเรียนวิชาไหน การเกิดขึ้นของกลุ่ม ‘เรื่องหลังเขา’ โดยมีกลุ่มเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องบอร์ดเกมเข้ามาช่วยเกลาในเรื่องกลไกของเกม เพราะในดินแดนเอเชียอาคเนย์ หรือแม้แต่เรื่องทรัพยากรทั้งโลกนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน

    แรงผลักดันอีกอย่างของการก่อตั้งกลุ่ม ‘เรื่องหลังเขา’ คือปัจจุบันจะถือยุคสมัยของบอร์ดเกม (ซาวด์แบบวันพีซ) ก็ไม่ผิดนัก ล้อเล่น (หัวเราะ) ภายในทีมเรื่องหลังเขายังไม่ใช่คนเซียนบอร์ดเกมแต่ด้วยความที่อยากจะทำเรื่องยากๆ ออกมาสื่อสารผ่านเครื่องมือง่ายๆ ให้ทันกับยุคสมัย ซึ่งในตอนแรกออกมาแนวเกมเศรษฐี แต่ทางกลุ่มได้ทดลองเล่นบอร์ดเกมอื่นๆ จึงมีความรู้สึกว่ามันเปิดมิติในการสื่อสารของกลุ่มไป และไม่ได้จมอยู่กับวิธีการทำงานของภาคประชาสังคมแบบเดิมที่มีกองข้อมูลหนาเตอะ หรือหนังสือเล่มเท่าหมอนแบบนั้น จึงเลือกที่จะย่อยข้อมูลเหล่านั้น ออกมาผ่านรูปแบบบอร์ดเกม

    ความคาดหวังของกลุ่ม ‘เรื่องหลังเขา’ ตามชื่อของบอร์ดเกม (Forestกรรม) ที่อยากให้คนได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันมันเป็นกรรมของป่า หรือกรรมของใคร ทางกลุ่มเคยเอาไปลองเล่นกับเพื่อนชาติพันธุ์ และได้คำตอบแบบยังไม่ทันเล่นว่า “น่าจะกรรมของผมครับ” มันยิ่งจี้ใจให้เห็นเข้าไปอีกว่าประวัติศาสตร์ชุดนี้ถูกเขียนขึ้นโดยใคร บอร์ดเกมนี้จะทำให้คุณลุ้นอยู่ทุกขณะกับการจะลงมือปลูกต้นไม้ซักต้น ในผืนดินซักที่ เพราะต้องการสื่อสารถึงความไม่มั่นคงในที่ดิน 

    ทรัพยากรอยู่ในวิชาไหนนะ วิทยาศาสตร์? เทือกเขา ผืนดินแต่ละที่ อยู่ไหนวิชาไหนนะ ภูมิศาสตร์? สังคมศาสตร์? หากพลิกดูโฉมหน้าประวัติศาสตร์แต่ละชุดแล้ว แต่ละชุดคงจะกล่าวไม่ต่างกันว่าเมืองไทยเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งดิน น้ำ ป่า ทางทีมผู้ผลิตจึงเห็นตรงกันว่าทรัพยากรกับการเมืองนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกหนีไม่ได้

    Forestกรรมจะพาคุณเปิดถุงปุ๋ย (Packaging ของบอร์ดเกม) สวมบทบาทเป็นนายทุน กลุ่มชาติพันธุ์ และคนทั่วไป โดยจินตนาการถึงการใช้ผืนดินร่วมกันในแผนที่ภาคเหนือของไทย ซึ่งมีทั้งที่สูง และที่ราบ โดยผู้เล่นแต่ละคนจะลงมือปลูกต้นไม้ และบำรุงดินให้สมบูรณ์ที่สุด สร้างความมั่นคงในพื้นที่ โดยใช้ไอเทม เกลือ(แทนปุ๋ย), น้ำ, ไฟ และไอเทมปกป้องต้นไม้อยากไอเทมบวชป่า โดยใช้การ์ดการกระทำซื้อ-ขาย-เติบโต

    โดยเรียงลำดับการปลูกต้นไม้จากสีเขียวอ่อน – เขียวเข้ม – สีชมพู ซึ่งทีมผู้ออกแบบต้องการสื่อสารว่าในยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ทรัพยากรไทยในยุคการค้าไม้มีการตั้งมูลค่าล่าค่าหัวต้นไม้แต่ละประเภท ซึ่งการปลูกนั้นจะเรียงความระทึกตามแต่ละการ์ดสถานการรณ์ ยุคการสั่นคลอนตามประวัติศาสตร์ทางทรัพยากรของไทยเริ่มตั้งแต่การมีกฎหมายบังคับการใช้ประโยชน์ของป่าไม้ฉบับแรก, ยุคสัมปทานป่าไม้, ยุคคอมมิวนิสต์, ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และยุคหลังการรัฐประหารปี 2557 นำโดย พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ที่มีคำสั่ง 64/57 เพื่อทวงคืนผืนป่า เป็นต้น

     20 สถานการณ์จริงกับความลุ้นระทึกว่าจะปลูกต้นไม้ หรือรักษาความมั่นคงในที่ดินได้มากเพียงใดตามเงื่อนไขของเกม โดยอ้างอิงมาจากสถานการณ์จริง!

    เปิดประวัติศาสตร์ป่าไม้ที่ดินใน Forestกรรม 

    ในยุคหนึ่งป่าถูกตีมูลค่าตามชนิดของของไม้ ส่งขายจนป่าเกลี้ยง ป่าแสนบริสุทธิ์ มีมนุษย์ต้องหยุดไล่ ให้หายหนี ป่าเท่ากับต้นไม้ ต้นไม้เท่ากับเงิน หรือ..ป่าไม้เท่ากับเงิน ป่าเลยต้อง ‘ปลอดคน’ ไล่ไปตั้งแต่

    เริ่มจาก สนธิสัญญาเบาว์ริง หรือชื่อในทางการ หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามและสหราชอาณาจักร ที่ลงนามเมื่อ วันที่ 18 เมษายน 2398 และบังคับใช้ 6 เมษายน 2399 ที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ รวมไปถึงการอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครรวมไปถึงการรับประกัน สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยาม ซึ่งเป็นการเปิดเส้นทางให้ต่างชาติเข้ามาเปิดบริษัทค้าไม้ในไทยอย่างล้นหลาม

    ต่อมาในปี 2439 สยามได้ขอความร่วมมือไปยังสหราชอาณาจักร ให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการป่าไม้ มิสเตอร์สเลด (Mr.H. A. Slade) ทำให้เกิด กรมป่าไม้ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้เกิด พ.ร.บ.เกี่ยวกับป่าไม้ที่ดินอีกหลายฉบับหลังจากนั้น

    ต่อมาในปี 2484 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่นิยามคำว่า ป่า หมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ที่จะนิยามว่าที่ดินที่ไร้เอกสารสิทธิ์จะเป็นป่าตามกฏหมาย ส่งผลให้คนที่อยู่กับป่าโดยไร้เอกสารสิทธิ์กลายเป็นคนบุกรุกป่าทันที

    ยุคคอมมิวนิสต์

    มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่จำกัดให้ ‘ป่า’ ที่อยู่ในเขตอุทยานเกิดการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษาทรัพยากร ให้คงอยู่ในสภาพเดิม เขตอุทยานจะไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยบุคคลใด ซึ่งมีข้อห้ามหลักๆ คือ ห้ามบุคคลใดยึดถือครอง ห้ามก่อสร้าง แผ้วถ่าง เผา ห้ามเก็บหรือนำทรัพยากรออกจากอุทยานฯ ห้ามล่าสัตว์ ก็เป็นอีกหนึ่ง พ.ร.บ. ที่พยายามให้คนที่อาศัยอยู่กับป่าก่อนการเกิดขึ้นของอุทยานถูกผลักออกจากบ้านของตน ในห้วงยามของการะปะทะกันระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยและโลกสังคมนิยมหรือที่เรียกว่า “สงครามเย็น”

    ยุครัฐธรรมนูญ 40 

    รัฐธรรมนูญ 40 ที่ถูกประกาศใช้วันที่ 11 ตุลาคม 2540 ซึ่งเป็นธรรมนูญฉบับที่ 16 ของไทย ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ข้อมูลจาก ส.ส.ร. หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญไทย พบว่ามีประชาชนเข้ามามีเข้ามามีส่วนร่วมมากถึง 800,000 คน นอกจากการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นมาตรฐานในการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรวมไปถึงเสรีภาพในเรื่อง สิทธิชุมชน โดยมาตรา 46 ระบุไว้ว่า “บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีต ประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เป็นการคืนวิถีชีวิตให้คนได้อยู่กับป่าอีกครั้ง

    แต่กระนั้นเอง ในวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหารขึ้นโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประชาธิปไตยได้ถอยหลังลงคลองอีกครั้ง รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่าก็ถอยหลังตาม ซึ่งในปี 2550 จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ 50 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 และจัดให้มีการเลือกตั้งในปีเดียวกันนั้นเอง 

    ซึ่งหลังจากปี 2550 ก็ยังมีเหตุการณ์สำคัญในปี 2554 ที่รัฐบาลไทยได้เสนอให้พื้นที่แก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ (UNESCO World Heritage Nature Site) ได้เกิดการอพยพชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานมาที่บ้านบางกลอยบน โดยมีการทำลายข้าวของและเผาบ้าน 30 ครัวเรือนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงเดียวกันกับการที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารตก 3 ลำ และมีผู้เสียชีวิต 17 นาย ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมีชีวิตในพื้นที่ที่รัฐจัดให้อย่างยากลำบาก ไม่สามารถทำการเกษตรตามวิถีชีวิตเดิม ทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและกลับไปอยู่บ้าน โดยมี พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นแกนนำในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ฟ้องร้องในชั้นศาล ซึ่งการต่อสู้ในครั้งนี้ส่งผลให้ บิลลี่ แกนนำในการต่อสู้ซึ่งเป็นพยานปากเอกในคดีกลับหายตัวไปอย่างลึกลับ

    รัฐประหาร 57

    ช่วงปี 2550-2557 สถานการณ์ป่าไม้ที่ดินของไทยนั้นนิ่งงัน แต่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประชาธิปไตยและสถานการณ์ป่าไม้ที่ดินก็ถอยหลังลงคลองอีกครั้งหลังเกิดการรัฐประหารขึ้น โดยมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร 

    ซึ่งหลังจากการรัฐประหาร รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกนโยบายทวงคืนผืนป่าและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้

    ในปี 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ตุลาคม 2557 เสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้การแก้ไขปัญหา ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยมี ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งต่อมาได้ออกเป็น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย

    ในปี 2562 นั้นยังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อสมควรส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

    และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานอุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่มีบทบัญญัติที่ให้รายละเอียดมากกว่า พ.ร.บ.ฉบับปี 2504 เริ่มต้นระบุถึงเรื่องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้การอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติเกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน การจำกัดเสรีภาพ เช่น เรื่องการจับกุมคุมขังที่กระทบต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย,เรื่องการเข้าค้นสถานที่ที่กระทบต่อเสรีภาพในเคหสถานหรือเรื่องการเวนคืนที่ดินที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สิน และมีการนิยามศัพท์อย่างละเอียดกว่าพ.ร.บ.ฉบับเก่าแต่ยังคงขาดนิยามที่สำคัญเช่น ชุมชน หรือชุมชนดั้งเดิม รวมทั้งคำว่า ของป่า อีกด้วย สาระสำคัญของการปรับปรุง พ.ร.บ.อุทยานฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบันและข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ การให้พื้นที่แก่ประชาชนในการให้ความคิดเห็นในขั้นตอนต่างๆ และการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น

    ยุคฟอกเขียว BCG / neutral carbon policy คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดให้บริษัทสามารถปล่อยได้ต่อปี หากปล่อยมลภาวะน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่เราเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้เป็นแรงจูงใจและเป็นส่วนหนึ่งของกลไกลตลาดเพื่อโน้มน้าวให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิตรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

    Learn ลอง เล่น 

    “รู้สึกตื่นเต้น สนุก เพราะกว่ามันจะทำออกมาเป็นเกมได้ ยิ่งคนทำงานอย่างพวกเรา(ภาคประชาสังคม) ก็ไม่ค่อยมีคนทำเครื่องมือในการเรียนรู้แบบนี้ ซึ่งสิ่งที่เราพบเจอปกติเรารับรู้ข้อมูลเหล่านี้จากการประชุม หรือวงคุย การฝึกอบรม ซึ่งมันใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจ เราเองอาจจะเคยทำประเด็นเรื่องเขื่อน(แก่งเสือเต้น) เด็ก  เยาวชนและประชาธิปไตยก็จริง แต่ข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์ป่าไม้ก็ไม่ได้มีความเข้าใจ หรือความเชี่ยวชาญมากนัก โดยการหาเวทีอบรม หรือหาคนบรรยายก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก พอมีคนทำบอร์ดเกมเรื่องป่าไม้ที่ดินเราก็เลยสนใจ อีกทั้งทางภาคเหนือพี่น้องชาติพันธุ์เยอะ น่าจะทำบอร์ดเกมในเรื่องอื่นๆ อีก พอเล่นแล้วก็เข้าใจเรื่องป่าไม้ที่ดินเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ในแผนที่พื้นที่สูงทำไมจึงไม่ใช้ไอเทมน้ำบำรุงดิน ผู้นำเกมก็อธิบายว่าเป็นพื้นที่อุ้มน้ำธรรมชาติ ซึ่งพอเทียบกับความเป็นจริงพี่น้องชาติพันธุ์ก็ไม่ได้ใช้น้ำประปานะ เขาใช้น้ำฝน และพื้นที่เขาก็อุดมสมบูรณ์อยู่ บอร์ดเกมนี้เลยชี้ให้เห็นความจริงที่สังคมไม่เคยรู้ รวมถึงประเด็นมูลค่าของที่ดินด้วย” ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ เล่าให้ฟังหลังจากได้ทดลองเล่นบอร์ดเกมดังกล่าว

    ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

    ลิขิต พิมานพนา ชาติพันธุ์จากกลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก ได้ทดลองเล่นบอร์ดเกมดังกล่าว เล่าให้ฟังว่า “เครื่องมือนี้ทำให้เห็นประวัติศาสตร์ร่วมของชาติพันธุ์บางส่วนในเรื่องป่าไม้ที่ดิน ซึ่งเยาวชนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ก็ไม่ได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ชุดนี้ร่วมกัน ซึ่งจะแล้วแต่กลุ่ม ถ้ากลุ่มที่มีความสัมพันธ์เรื่องป่าไม้ ที่ดินก็จะเห็นภาพเหล่านี้ แต่ถ้ากลุ่มที่ไม่ได้สัมพันธ์ปัญหาป่าไม้ที่ดินก็อาจจะมองไม่เห็นภาพเท่าไหร่ ซึ่งบอร์ดเกมนี้ช่วยในเรื่องการเห็นประวัติศาสตร์ร่วมกันได้ดี

    พอเล่นแล้วได้เห็นประเด็นหลักๆ อยู่สองประเด็น ได้แก่ หนึ่ง ปัญหาที่ชาติพันธ์เผชิญอยู่ มันได้เห็นว่าปัญหาที่เผชิญอยู่มันไม่ได้ลอยมา มันถูกออกแบบมาแล้ว ถูกกระทำซ้ำผ่านประวัติศาสตร์มาแล้ว โดยรัฐใช้พ.ร.บ., กฎหมายเป็นเครื่องมือ

    สอง เห็นเครื่องมือพิเศษ และอำนาจต่างๆ ในการกดขี่พี่น้องชาติพันธุ์ ผ่านตัวละคร ตัวการ์ดพิเศษ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงรัฐอย่างเดียว แต่มันเอื้อให้ตัวละครที่มีอำนาจสูงกว่าสามารถที่จะมีตัวตน หรือเติบโตได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีต้นทุน อย่างเช่นตัวละครกลุ่มทุน ยิ่งรัฐเอื้อเครื่องมือให้อีกก็เติบโต(เช่น การปลูกต้นไม้ในบอร์ดเกม)ได้ง่ายกว่า

    มันน่าเล่นมาก มันทำให้เราเห็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ว่าปัญหามันไม่ได้ลอยมา” 

    ลิขิต พิมานพนา – กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก

    เรื่องหลังรัฐบาลใหม่ 

    แม้จะมีการขับเคลื่อนประเด็นทางทรัพยากรมากมาย แต่รัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาการทำงานและการดำเนินนโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่กลับไม่ได้มองเรื่องนี้อยู่ในแผนการดำเนินงานเท่าที่ควร พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า ตัดสินใจจากส่วนกลางกลับสวนทางกัน โดยรัฐบาลของ เศรษฐา เลือกจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน และการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นนโยบาย นโยบายของรัฐบาลประยุทธ์และพรรคพวกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เอื้อกลุ่มทุน ละเมิดสิทธิคนจน ท่ามกลางความพยายามเดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม 

    “นโยบายด้านที่ดินป่าไม้ทั้งหมดหลังจากนี้จะเดินหน้าไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ต่างจากยุคทวงคืนผืนป่า ยุค คจก. แผนแม่บทป่าไม้ฯ แต่เพิ่มเติมตัวละครให้เห็นชัดขึ้นคือป่าพวกนี้กำลังจะกลายเป็นถังขยะขนาดมหึมาดูดซับของเสียของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ให้ชุบตัวจาก ‘คนบาป’ กลายเป็น ‘นักบุญ’ โดยมีผืนดิน ผืนป่าที่พวกเราดูแลกันมาด้วยหัวใจ และชีวิตของลูกหลานเราเป็นเดิมพัน คือมหกรรมการแย่งยึดที่ดินป่าไม้อย่างมูมมามที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย”

    พชร ได้เล่าต่ออีกว่า การจะไปสู่เป้าหมาย Net Zero รัฐบาลประยุทธ์เคยแถลงต่อเวทีประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกมากถึง 120 ล้านตัน ซึ่งรัฐไทยได้ขายฝันว่าภาคที่ดินและป่าไม้ของไทยมีศักยภาพมากพอในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลดังกล่าว และทำให้เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของไทยพุ่งสูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ

    “สาเหตุหนึ่งที่กลไกคาร์บอนเครดิต นโยบาย Net Zero ถูกคัดค้าน เกิดจากความพยายามต่อสู้ตอบโต้กับวาทกรรม ‘สีเขียว’ หรือ ‘Green’ ที่ถูกสร้างเป็นภาพลักษณ์ที่ดูดีขึ้นมา มองความเขียวเป็นเทรนด์โลก เราต้องช่วยกันรักษ์โลก ใครเขียวก็เป็นเทพีรักษ์โลก แต่แท้ที่จริงแล้วความเขียวที่สอดไส้มาในระบบเสรีนิยมใหม่นั้นกำลังทำให้เราหลงลืมว่าในความเขียว เรายังเผชิญวิกฤตทางชนชั้นอยู่ในสังคมนี้ จะมีคนได้ และจะมีคนเสีย จะมีคนถูกเอาเปรียบ จะมีคนถูกกดขี่ ซึ่งจากตัวเลขการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามภาพนี้ก็ประจักษ์เค้าลางชัดแจ้งว่าหายนะจะเกิดแก่ใคร”

    การแบ่งเขาแบ่งเราไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไหนๆ การกระทำของรัฐที่ผลิตซ้ำวาทกรรมที่ส่งต่อความเป็นอื่นให้แก่คนกลุ่มนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากวาทกรรมที่ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลายเป็นอื่นแล้ว การออกแบบนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นหากเรามองคนเท่ากัน เพราะฉะนั้น ‘เรื่องหลังเขา’ จึงเป็นเรื่องของเราทุกคน 

    สามารถติดตามความมันส์ของ Forestกรรม กรรมของป่า หรือกรรมของใคร ได้ที่ เพจ Facebook : เรื่องหลังเขา และ IG : Be_hidden_them 

    อ้างอิง

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...