พฤษภาคม 17, 2024

    คนเหนือเดือนตุลา: “ฤาตอนนั้นเราไร้เดียงสาเกินไป” ย้อนรอยความรุนแรงในภาคเหนือของไทยก่อน 6 ตุลา 19

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    ครบรอบ 47 ปี 6 ตุลา 19 ภาพจำที่ฝังลึกแต่ก็ถูกทำให้หลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อปกปิดอำพรางความโหดร้ายที่รัฐพันลึกเปิดทางให้ประชาชนได้เข่นฆ่าประชาชนด้วยกันอย่างบ้าคลั่ง โดยการใส่ร้ายป้ายสีกล่าวหาความเป็นปีศาจกับเหล่านักศึกษาและประชาชนผู้รักความยุติธรรม จาก 14 ตุลาคม 2516 และปิดฉากลงในเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ปิดตายประวัติศาสตร์ที่ประชาชนเป็นคนเขียนลาขาดในความเงียบงัน

    แม้จะมีความพยายามลบเลือนไปมากแค่ไหน ลมหายใจของผู้คนที่ผ่านยุคผ่านสมัยยังคงมีใบหน้า พร้อมที่จะบันทึกเศษเสี้ยวความทรงจำคืนสู่หน้าประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือความรุนแรงไม่ได้เกิดแค่ในวันที่ 6 ตุลาคม แต่สั่งสมส่อเค้ามาร่วมแรมปี และไม่ได้มีเพียงแค่ในกรุงเทพฯ

    Lanner ชวนขยายเส้นเรื่องที่ไม่หยุดนิ่งตลอดช่วงเวลาของเดือนตุลาคม ตั้งแต่ปี 2516 จนมาถึง 2519 กับความทุ่มเทในการอุทิศตัวตนเพื่อสังคมของนักศึกษาในห้วงยามของการแสวงหา ก้าวเข้าสู่บรรยากาศของประชาธิปไตย พร้อมกับการเคลื่อนไหวเคียงบ่าไหล่ร่วมกับชาวนาในภาคเหนือ จนไปถึงความรุนแรงที่ต้องเผชิญในขณะนั้น กับ 3 ผู้อยู่ร่วมในเส้นเรื่องที่รัฐไทยไม่อยากให้เรารู้ ชีรชัย มฤคพิทักษ์ เลขาธิการศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ (2516-2517) และรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2517-2518), ชาตรี หุตานุวัตร นักศึกษาแพทย์ผู้เคลื่อนไหวเคียงข้างชาวนาภาคเหนือ, ภานุพงศ์ ไชยวรรณ ลูกหลานชาวนา ที่ออกมาเคลื่อนไหวกับนักศึกษาและชาวนา

    วลัญชทัศ หน่ออ่อนการเคลื่อนไหว ก่อน 14 ตุลา

    ชีรชัย เล่าว่าก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 สถานการณ์โลกในขณะนั้นเป็นช่วงของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาไล่ถล่ม กัมพูชาและเวียดนาม เครื่องบินออกจากอู่ตะเภา ตาคลีและอุดรธานีไปทิ้งระเบิดที่ 2 ประเทศนี้อย่างรุนแรง

    ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ต่อต้านอเมริกา ที่เรียกว่ากลุ่ม วลัญชทัศน์ ที่ถือกำเนิดในปี 2513-2514 เป็นกลุ่มที่ได้ปลูกจิตสำนึกของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในขอบเขตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวในแบบที่ล้ำหน้ามวลชน รวมไปถึง นักศึกษาทั่ว ๆ ไป มีความเป็น ‘สายลมแสงแดด’ ทำกิจกรรม คือการจัดงานบอล งานเต้นรำ สังสรรค์และทานข้าว เป็นแบบนี้ทั้งมหาวิทยาลัย มีความสุขกับการรื่นเริงบันเทิง รวมไปถึงมีการสร้างกระแสปลุกผีคอมมิวนิสต์ จึงทำให้มีการกล่าวกลุ่ม วลัญชทัศน์ เป็นตัวแทนของกลุ่มซ้ายจัด เป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์

    กลุ่มวลัญชทัศน์ มีการเชื่อมกับกลุ่มหัวเชื้อต่าง ๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหมดเลย ทั้ง กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสภากาแฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่ม Sotus ใหม่จุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งกลุ่มทั้งหลายเหล่าเป็นกลุ่มที่เป็นตัวขับเคลื่อนจุดประกายให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าสู่ความสำนึกทางการเมือง 

    การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวลัญชทัศน์ มีการกลุ่มเผาธงชาติอเมริกา และจัดทำนิทรรศการต่อต้านอเมริกา ซึ่งนักศึกษาเวลานั้นไม่มีสำนึกในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายจัดนิทรรศการได้แค่วันเดียว วันรุ่งขึ้นของอีกวันนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นขวาจัดได้เดินขบวนจากคณะเกษตรศาสตร์ ไปเผานิทรรศการที่มีการจัดขึ้นที่ศาลาอ่างแก้ว ซึ่งในวันนั้นมีการเชิญนักการเมืองและผู้อาวุโสมาบรรยายด้วยในงานนิทรรศการด้วย


    (ชีรชัย มฤคพิทักษ์)

    ถึงแม้กลุ่มวลัญชทัศน์ จะมีพฤติกรรมที่อาจจะมองได้ว่ามีความหัวรุนแรงในขณะนั้นแต่ตำรวจกับเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำอะไร เนื่องจากในขณะนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่ถึง 10 ปี นักศึกษาจึงถูกยกสถานะเป็นอภิสิทธิ์ชนถ้าเทียบกับนักศึกษาทุกวันนี้ถือว่าเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไป แต่ในตอนนั้นนักศึกษามีเครดิตมันสูงมาก เป็นชนชั้นปัญญาที่ตำรวจมักไม่ค่อยมายุ่ง

    เนื่องจากกลุ่มวลัญชทัศน์ถูกมองว่าเป็นกลุ่มซ้ายจัด มีความคิดล้ำหน้ามวลชน และไม่ได้รับการยอมรับจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผนวกกับในช่วงนั้นมีบรรยากาศของการเมืองที่นักศึกษาตื่นตัว มีการเข้าสู่ตัวแทนนักศึกษาในรูปแบบสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสโมสรนักศึกษาในคณะต่าง ๆ ภายหลังมีการสู้กันระหว่างพรรคนักศึกษาฝ่ายจารีตและพรรคฝ่ายก้าวหน้า กลุ่มวลัญชทัศน์จึงเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว เป็นการตั้งพรรคนักศึกษาในชื่อ ‘พรรคประชาธรรม’ มีการส่งนักศึกษาในกลุ่มในพรรคไปสมัครเป็นนายกสโมสรในทุกคณะของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวจึงได้รับการยอมรับจากนักศึกษามากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

    ชาตรี เสริมว่า กลุ่มวลัญชทัศน์ และกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่  ไม่ใช่กลุ่มเปิดเผย เป็นกลุ่มใต้ดิน ไม่มีสังกัดชัดเจน ไม่มีใครรู้ว่ามีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มวลัญชทัศน์ ซึ่งวลัญชทัศน์ได้มีการส่งคนไปอยู่ในองค์กรที่ทางการในมหาวิทยาลัย เช่น ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมชาวพุทธ ชมรมอาสาพัฒนา รวมไปถึงการเข้ายึดสโมสรนักศึกษาและตั้งพรรคประชาธรรม


    (ชาตรี หุตานุวัตร)

    ซึ่งการทำงานหรือการหารือกันของกลุ่มวลัญชทัศน์ จะมีการทำงานตอนกลางคืน มีการแอบออกไปประชุมนอกมหาวิทยาลัย จุดตะเกียงกลม ๆ นั่งในที่มืด ๆ แล้วประชุมกัน มีการอ่านหนังสือต้องห้าม หนังสือฝ่ายซ้าย และพูดคุยถกเถียงไปพร้อม ๆ กับการตั้งคำถามถึงสังคมไทยภายใต้เผด็จการทหาร

    สถานการณ์ของประเทศในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี เป็นประชาธิปไตยแบบหลอก ๆ มีความเหลื่อมล้ำชัดเจน ข้าราชการและนายทุนสามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องสนกฎหมายและไม่เคยเห็นหัวประชาชน ปัญหาเหล่านี้จึงค่อย ๆ ก่อตัวสั่งสมความไม่พอใจในทุกแห่งหน นักศึกษาที่มองเห็นปัญหาแล้วอยากจะเคลื่อนไหวเองก็สั่งสมของความโกรธและก้าวออกมารณรงค์เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่นการสู้กับภัยเหลือง (ต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น) การต่อต้านการล่าสัตว์ใหญ่นเรศวร ก่อนจะมีการเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลจอมพลถนอมได้จับกุมประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง หรือที่เรียกว่า “13 ขบถรัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 6 ตุลาคม จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องของบรรดานักศึกษาก่อนจะกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ของประชาชนในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และนำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516

    ชีรชัย เล่าว่า ก่อน 14 ตุลา 16 มีองค์กรนักศึกษาที่รวบรวมมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เรียกว่า ‘ศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ’ ซึ่งกลุ่มที่เป็นกำลังหลักของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ ก็คือกลุ่มวลัญชทัศน์ ที่กลายมาเป็นกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีที่มาที่ไปจากการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ โดยศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือเป็นแกนนำหลักในการต่อสู้ที่สำคัญของภาคเหนือ

    การชุมนุมที่เชียงใหม่เริ่มขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ลาน Union (ลานกิจกรรมหน้าอาคารกิจกรรมนักศึกษา หรือ อ.มช.ในปัจจุบัน) และมีการเคลื่อนย้ายจากลาน Union ไปยังประตูท่าแพ มันมีการต่อเนื่องกันเป็นลูกคลื่นที่กระเพื่อมพร้อมกัน วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ในปัจจุบัน) วิทยาลัยครู (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในปัจจุบัน) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็ได้รวมชุมนุมนักศึกษา รวมจำนวนคนชุมนมในตอนนั้นประมาณหลักหมื่น พอคนมาขึ้นจึงมีการย้ายไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน)

    “กรุงเทพฯ เคลื่อนไหวยังไง เชียงใหม่ก็เคลื่อนควบคู่กันไป ยกระดับไปด้วยกัน”

    นอกจากบทบาทนักศึกษาที่มีความแข็งแรงในขณะนั้นกลุ่มกำลังที่คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวในภาคเหนือก็คือกลุ่ม ‘นักเรียน’ ภานุพงศ์ เล่าว่าตอนนั้นตนยังเป็นนักเรียนอยู่ ซึ่งนักเรียนในขณะนั้นกลุ่มที่มีปฏิกิริยาตั้งเริ่มคำถามกับสังคม จะมีอยู่ทุกโรงเรียน แต่ละโรงเรียนจะระดมเงิน เก็บคนละบาท แล้วก็ไปให้นักศึกษาในตอนที่เริ่มชุมนุมใหญ่กัน ทางนักเรียนจังหวัดลำพูนก็มา เพราะเกิดความศรัทธาต่อนักศึกษาและกระบวนการเปลี่ยนแปลงตรงนั้นสูง ตอนนั้นนักศึกษาเป็นฮีโร่ที่พวกเราศรัทธาและนับถือมาก


    (ภานุพงศ์ ไชยวรรณ )

    ชัยชนะแสนสั้น หลัง 14 ตุลา

    “การยอมรับขบวนนักศึกษาถือว่าเครดิตสูงมาก ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ได้เงินบริจาคเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ชาวบ้าน กรรมกร ชาวนา ล้วนอยู่ในสภาพที่ถูกรัดเอาเปรียบ ในโรงงานก็ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ที่จ่ายค่าแรงน้อยแต่ใช้งานเยอะ มันมาครุกรุ่นขึ้นมาเลย ประชาชนเริ่มตั้งคำถามเริ่มลุกขึ้นสู้”

    ชีรชัย อธิบายถึงช่วงเวลาของความรุ่งโรจน์ที่ประชาชนทุกหนแห่งต่างกล้าที่จะลุกขึ้นมาจากการถูกกดขี่ ในตอนนั้นชาวนาจากหลายอำเภอในภาคเหนือ รวมไปถึงภูมิภาคอื่น ๆ ที่ถูกอัดรัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดินเริ่มเข้ามาหานักศึกษา มาฟ้องว่าตัวเองถูกขูดรีดค่าเช่านา นักศึกษากลายที่พึ่งของชาวนา

    เป็นที่มาที่ไปของกระแสที่นักศึกษาจะต้องเข้าไปตามหมู่บ้าน ไปประชุมปรึกษาหารรือรวบรวมปัญหา นักศึกษาลงสู่ลงสู่ปัญหาของชาวนา รวมทั้งกรรมกรในภาคอุตสาหกรรม มันเลยเกิดคำว่า “สามประสาน” อันประกอบไปด้วยนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ตอนนั้นนักศึกษาได้รับการยอมรับในทุกระดับ เป็นค่านิยมที่ศรัทธาในตัวนักศึกษา

    “ตอนแรกนักศึกษาก็ไม่รู้ว่ามันมีการเอารัดเอาเปรียบ จนกระทั่งในปี 2517 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่บ้านม่วงคำ (ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)  เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ที่เป็นเจ้าของที่ดินประกาศให้เอาค่าเช่านาครึ่งหนึ่งไปรวมกับค่าเช่านาปีอีกครึ่งหนึ่ง เพราะทำนาได้ 2 ครั้ง แต่ถ้าทำนาปี ชาวนาม่วงคำจะไม่ได้กินข้าวแม้แต่เม็ดเดียวต้องยกข้าวให้เจ้าหมด


    (ชีรชัย มฤคพิทักษ์)

    จนกระทั่งเกิดโครงงานชาวนาของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือขึ้น พร้อมกันกับการเกิดขึ้นของ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 พร้อมคำขวัญที่ว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” มีการขับเคลื่อนเพื่อที่จะเรียกร้อง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา 2517 ให้ประกาศใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ  พร้อมย้ำให้เจ้าของที่ดินต้องปฏิบัติตาม และนำมาสู่การประกาศใช้ครอบคลุมทุกทิศทั่วไทยในช่วงปี 2518 ซึ่งถือเป็นชัยชนะสำคัญที่นักศึกษากับชาวนาร่วมกันต่อสู้ หลังจากที่ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาทุกข์ยากไม่มีวันจบ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ที่ไม่ครอบคลุมถึงภาคเหนือ นี่คืออีกย่างก้าวสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่าเป็นชัยชนะที่นักศึกษาและชาวนามีประวัติศาสตร์ร่วมกัน

    “ผลผลิตทั้งหมดจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ชาวนาจะได้ 2 ส่วน เจ้าของที่ดินจะได้ 1 ส่วน เลยเรียกร้องให้ได้ พ.ร.บ. นี้มา ส่วนกรรมกรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจะมีการขับเคลื่อนที่เชียงใหม่อาร์ต (โรงงานเครื่องเงินแกะสลัก)”

    ความตื่นตัวของขบวนนักศึกษาที่เป็นไปอย่างมีพลังและขยายตัวเร็ว มีทั้งหมด 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือการต่อสู้ที่สะสมชัยชนะของแต่ละวิกฤต ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม กรณีต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นมา หลัก ๆ จะอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วมันก็มีผลกระทบมาที่เชียงใหม่ เมื่อนักศึกษาไปเข้าต่อสู้เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตแต่ละครั้ง มันจึงมีชัยชนะเป็นขั้น ๆ 

    “ยิ่งต่อสู้ ยิ่งสะสมชัยชนะ ยิ่งปลุกความเชื่อมั่นหรือปลูกจิตสำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปประสานกับชาวนาและช่วยชาวนาแก้ไขปัญหา จนเกิด พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา ขึ้นมา”

    ‘เผชิญหน้าปีศาจ’ ความรุนแรงคืบคลานดินแดนหัวขวาน

    “การเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัดที่ต้องการกำราบนักศึกษามันแรงมาก แรงไม่แรงมันเป็นสัดส่วนของการตื่นตัวมากน้อยแค่ไหน ทางภาคเหนือการต่อสู้ของชาวนากับกรรมกรที่มีผู้นำเป็นนักศึกษา มันมีพลังมาก มันมีความน่ากลัวมาก สำหรับเจ้าของที่ดินสำหรับนายทุน จึงเป็นผลทำให้ชาวนาถูกสั่งฆ่าเป็นใบไม้ร่วง ซึ่งภาคอื่น ๆ ไม่ได้เผชิญแบบนี้ เพราะมันไม่มีการจัดตั้งของขบวนนักศึกษาที่ทำงานได้มีความเข้มแข็งเท่ากับที่เชียงใหม่”

    ชาตรี เล่าว่าความต้องการกำราบนักศึกษาของฝ่ายขวารุนแรงจนทำให้เขาถูกจับในเดือนสิงหาคม 2518



    “เช้าวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ในปี 2518 ผมถูกแจ้งข้อหาการจับกุมหลายข้อหา เช่น เป็นกบฏก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ กักขังหน่วงเหนียวเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น จากนั้นนำผมกลับไปคันห้องพักเพื่อหาหลักฐาน แล้วนำตัวผมไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน ผมจึงทราบว่ามีผู้นำชาวนาอีก 8 คนถูกกวาดจับพร้อมกันในวันนั้น”



    ผู้นำชาวนาอีก 8 คน คือ บุญมา อารีย์ ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จังหวัดลำพูน, อินคำ สินทรธง รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จังหวัดลำพูน, อินถา ศรีวงศ์วรรณ เหรัญญิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จังหวัดลำพูน, เบี้ยว ดามัน, ขาน ดามัน, หล้า มีชัย, แสงชู คำเส้า, อุ่นเรือน ไชยศักดิ์ สมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่

    ชาตรี เล่าว่าตนและพวกถูกคุมขังที่สถานีตำรวจระยะหนึ่งแล้วก็นำคุมขังต่อที่เรือนจำจังหวัดลำพูน มีเพื่อน ๆ และพี่น้องมาเยี่ยมที่สถานีตำรวจและที่เรือนจำทุกวัน ซึ่งสถานการณ์ภายนอกเรือนจำมีการหยุดเรียนเพื่อชุมนุมประท้วงในหลายสถาบันการศึกษา ยืดเยื้อประมาณ 2 อาทิตย์ ทำให้ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมปล่อยตัว อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 



    “เมื่อออกจากเรือนจำแล้ว ผมกับกลุ่มผู้นำชาวนาที่ถูกจับด้วยกันก็เดินทางไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวขอบคุณผู้ชุมนุมประท้วงช่วยให้พวกเราได้รับการปล่อยตัวแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปกล่าวขอบคุณตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ได้หยุดเรียนชุมประท้วง ช่วยให้พวกเราได้รับอิสรภาพ”

    ซึ่งหลังจากถูกปล่อยตัว ชาตรี กลับไปเรียนต่อตามปกติ แต่เพื่อน ๆ ของชาตรี มีความเห็นว่า ถ้าหากไปเรียนตามปกตินั้นอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ จึงต้องการให้ชาตรีเดินทางเข้าป่าเพื่อหนีเงื้อมมือของความรุนแรง

    “เพราะเมื่อรัฐใช้อำนาจทางกฎหมายไม่สำเร็จ ชนชั้นปกครอง คงต้องใช้อำนาจมืด เหมือนกับที่ผู้นำชาวนาโดนมาแล้วคือถูกยิงตายไปสิบกว่าคนแล้วในตอนนั้น” 

    ซึ่งหลักจากที่ตัดสินใจว่าจะเข้าป่า ชาตรี ได้กลับบ้านไปหาครอบครัวเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงสถานการณ์ที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และหลบซ่อนตามบ้านเพื่อนมิตรหลายคน ก่อนจะเดินทางเข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่ในขณะนั้น ชาตรี ไม่เคยรู้จักมาก่อน

    ข้อมูลจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ มีจำนวนชาวนาชาวไร่ ระบุว่าในปี 2518 ชาวนาที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ (ภาคเหนือ) ถูกลอบสังหารเป็นจำนวน 8 คน ในเวลาไล่เลี่ยกันคือ

    1.นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่อำเภอห้างฉัตร ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2518
    2.นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงรายถูกสังหาร เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
    3.นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518
    4.นายบุญทา โยธา ถูกยิงเสียชีวิตที่ลำพูน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518
    5.นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2518
    6.นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ผู้นำชาวนาดอยสะเก็ด ถูกยิงเสียชีวิตขณะกลับจากงานศพนายอินถา ศรีบุญเรือง 4 สิงหาคม 2518
    7.นายพุฒ ทรายดำ ชาวนาตำบลแม่บอน อำเภอฝาง ถูกจ่อยิงเสียชีวิตในห้องคนไข้ ที่สถานีอนามัยอำเภอฝาง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518
    8.นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนาอำเภอสารภี ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต ขณะเดินอยู่บนถนน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2518 

    นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ความรุนแรงยังปรากฎกายออกมาในรูปแบบอื่น ๆ อีกมาก อาทิ การดักทำร้าย และการลอบวางระเบิดที่พักอาศัย


    (หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ฉบับวันที่ 1-4 สิงหาคม 2518)

    ภานุพงศ์ เล่าถึงเค้าลางความรุนแรงว่ามันดำรงอยู่ตั้งแต่การที่นักศึกษาเข้ามาทำงานกับชาวนาแล้ว เพราะเมื่อใดที่ต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม มันมีศัตรูแน่นอน การสูญเสียผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน โดยเฉพาะนายทุนเจ้าของที่ดิน จากการเคลื่อนไหวของชาวนาที่เข้มแข็ง และมีความต่อเนื่องรวดเร็วในการพัฒนาเป็นขบวนการ จึงมีการจ้างวานกลุ่มอันธพาลในท้องถิ่น เพื่อลอบสังหารผู้นำชาวนา  ซึ่งกลไกของรัฐแทนที่จะเข้าไปดูแลจัดการ ก็กลับรู้เห็นเป็นใจ รัฐเลยมีทิศทางที่จะกำราบนักศึกษาให้ได้

    อินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ  หนึ่งในผู้นำคนสำคัญที่ถูกสังหาร ในเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 ที่บ้านที่เป็นร้านขายของชำภายในชุมชนใกล้วัดร้องดอนชัย ต.ป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นี่คืออีกหนึ่งจังหวะที่สร้างความหวั่นวิตกให้ทั้งชาวนาและเหล่านักศึกษาว่าความตายกำลังใกล้เข้ามาทุกที

    ระหว่างนั้นการรุกคืบฝ่ายขวาก็คือการจัดตั้งกลุ่มประชาชนโดยการปลูกฝังว่านักศึกษา ชาวนา และกรรมกร ที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นพวกนิยมชมชอบลัทธิคอมมิวนิสต์ จะมาเปลี่ยนประเทศ ล้มสถาบันของชาติ ยึดที่ดิน และจับทุกคนไปทำนา โดยก่อเกิดกลุ่มกระทิงแดงที่เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาและนักเรียนขึ้นมา พร้อม ๆ กับกลุ่มนวพล ที่เป็นการรวมตัวของเหล่าผู้นำในระดับท้องถิ่นและตำรวจ ทั้งสองกลุ่มก็เริ่มไล่ล่านักศึกษาและชาวนา กลุ่มนวพลเริ่มไล่ล่ากลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ชนบท กลุ่มกระทิงแดงก็ไล่ล่ากลุ่มนักศึกษาที่อยู่ในเมือง ส่วนความรุนแรงในชนบทจะผ่านกลุ่มนวพลกับผู้นำท้องถิ่น โดยตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านหรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นผู้ช่วยตำรวจ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในการไล่ล่านักศึกษา ในทุกวิทยาลัยจะมีกลุ่มต่อต้านนักศึกษา ภายใต้การร่วมมือของรัฐด้วย


    (หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ฉบับวันที่ 1-4 สิงหาคม 2518)

    ช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2518 เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นภายใต้ความเงียบสงัดของเมืองเชียงใหม่ เกิดเหตุระเบิดบ้านเช่าบริเวณวัดสวนดอก และมีนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพเสียชีวิต 2 คน ซึ่งเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันกับภานุพงศ์ รวมไปถึงบริเวณที่เกิดการระเบิดก็เป็นที่นอนของภานุพงศ์ เพียงแต่ว่าวันนั้นเขาไม่อยู่ที่นั่น

    ภานุพงศ์ เล่าว่าในขณะที่เกิดการเหตุการณ์ระเบิดนั้นตนรอดมาได้ เนื่องจากในขณะนั้นตนได้ลงพื้นที่ไปกับโครงงานชาวนาที่หมู่บ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตนได้ขับรถและเกิดอุบัติเหตุชนเป็ดชาวบ้านในชุมชนตาย ซึ่งชาวบ้านต้องการที่จะปรับเงิน 80 บาท แต่ภานุพงศ์ ไม่มีเงินในการจ่าย ตนจึงต้องรอให้เพื่อนอีกคนนำเงินมาจ่ายให้ ทำให้ภานุพงศ์ต้องนอนในหมู่บ้านนั้น ซึ่งคืนนั้นเป็นคืนเดียวกันกับที่นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพถูกวางระเบิดเสียชีวิต

    “คือถ้าผมไม่พลาดเนี่ยนะ ผมก็ตายไปแล้ว”

    หลังจากนั้น นักศึกษา ชาวนา ที่คาดว่าตนจะเป็นเหยื่อความรุนแรงก็ค่อย ๆ หลบซ่อนตัวและเดินทางเข้าป่าเพื่อความปลอดภัย ภานุพงศ์ ก็ได้เดินทางเข้าป่าในช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกัน

    “หลายคนในภาคเหนือไม่รู้เรื่อง 6 ตุลาเท่าไหร่หรอก เพราะหนีเข้าป่ากันหมดแล้ว บางคนถ้าอยู่อาจถึงตาย”

    6 ตุลา เชียงใหม่ที่ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่ต้องเข้าป่าหนีตาย

    19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยมซึ่งสร้างความไม่พอใจให้นักศึกษาและประชาชนเป็นอย่างมาก จนเกิดการรณรงค์แสดงจุดยืนและเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการติดโปสเตอร์ หลายคนถูกลอบทำร้าย จนในวันที่ 24 กันยายน วิชัย เกตุศรีพงศา กับชุมพร ทุมไมย นายช่างตรีสังกัดการไฟฟ้า เขตนครปฐม ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปแขวนคอไว้หน้าประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง จนนำมาสู่การประท้วงใหญ่ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน สนามหลวง ก่อนย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ และในวันที่ 4 ตุลาคม ชมรมศิลปการแสดงธรรมศาสตร์ แสดงละครรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามจะตีข่าวว่านักศึกษาที่แสดงเป็นเหยื่อมีมีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จนนำไปสู่การปลุกปั่นว่านักศึกษาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และทำลายชาติไทย และนำไปสู่ความรุนแรงในการปราบปรามในวันที่ 6 ตุลาคม ที่ธรรมศาตร์

    ชีรชัย ได้เล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ว่า เหตุการณ์การชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่มีผลมาจากกรุงเทพฯ มีการจัดเวทีคู่ขนานตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2519 ที่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนที่เป็นกำลังหลักสำคัญอยู่บนเวทีปราศรัย 3 คน ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, นเรศ สุมาลี และตัวเขาเอง มีการประเมินว่าสถานการณ์ตอนนั้นมันใกล้จุดวิกฤติมาก อาจจะมีการปราบและนำมาสู่การรัฐประหาร ช่วงที่ผ่านมานั้นชาวนาที่ร่วมเคลื่อนไหวกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือนั้นถูกลอบสังหารล้มตายไปเยอะมาก นักศึกษาก็โดนลอบวางระเบิด การต่อสู้เข้าสู่สภาวะของความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จากกระแสความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้มาร่วมชุมนุมมีจำนวนไม่มากนัก

    ทั้งนี้ความรุนแรงที่อาจจะคล้ายกับที่ธรรมศาสตร์ก็มีอันเกือบจะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ภายหลังจากมีการรายงานข่าวการประท้วงของนักศึกษาบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2519 ผ่านทางสถานีวิทยุของรัฐ  ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 กลุ่มฝ่ายชาตินิยมขวาจัดนับพันคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านก็ออกมาชุมนุมที่วัดเจดีย์หลวง ไม่ห่างจากสถานที่ชุมนุมประมาณ 350 เมตร ซึ่งถือเป็นระยะในการเผชิญหน้าที่เสี่ยงเกิดความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง

    ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อความหวาดกลัวแก่ นักศึกษา ประชาชนและชาวนาที่ชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก และท้ายที่สุดกลุ่มฝ่ายชาตินิยมขวาจัดที่รวมตัวกันที่วัดเจดีย์หลวงพร้อมประกาศว่าจะใช้วิธีการขั้นเด็ดขาดในการสลายการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

    จนกระทั้งในเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 10.00 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านส่งตัวแทน 10 คนมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยขีดเส้นตายให้เวลาต้องยุติการชุมนุมก่อน 12.00 น. ถ้าไม่ทำทำตามที่บอกก็จะเข้าสลายการชุมนุมด้วยกำลังที่มี ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นกลุ่มผู้นำนักศึกษาก็เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ จาตุรนต์ ฉายแสง 1 ใน 3 แกนนำปราศรัยในขณะนั้นจึงตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 10.45 น. 

    ซึ่งหลังการยุติการชุมนุม ชีรชัย ได้เคลื่อนย้ายตัวเองไปหลบซ่อนตามจุดต่าง ๆ เพื่อหลบหลีกการไล่ล่าของฝ่ายขวา และเข้าป่าไปที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ในวันที่ 19 ตุลาคม 2519

    เป็นการปิดฉากความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนที่ธรรมศาสตร์ โดยหลังจากยุติการชุมนุมในวันนั้นเอง นักศึกษาและชาวนาหลายคนต้องหลบหนีเข้าเขตป่าเขาไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะเกรงว่าภยันตรายจะย่างกรายมาถึง ก่อนที่ในช่วงค่ำ 18.00 น. คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จะทำการรัฐประหาร โดยอ้างว่าไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้

    ชาตรี พูดว่า “จริง ๆ แล้วฝ่ายเผด็จการผลักไสเราเข้าป่า คนส่วนใหญ่ที่เข้าป่าเข้าใจเรื่องคอมมิวนิสต์น้อยมาก มีส่วนน้อยที่เข้าใจจริง ๆ อย่างผมอ่านสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงครบทุกเล่มก็ยังไม่เข้าใจมันเท่าไหร่”

    แนวคิดหลักของกระบวนนักศึกษาคือกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในมิติทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวนา กรรมกรที่เราได้เห็น ได้สัมผัส เรารู้สึกว่าความมั่นคั่งและทรัพยากรของชาติ มันไปอยู่ในกำมือคนไม่กี่คน ขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบและอยู่ในความยากจน ความคิดที่โน้มเอียงไปทางสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์มันจะสูง เราไม่เข้าใจระบบของมัน จนวันนี้ยังไม่รู้ว่าเราเข้าใจมันดีหรือเปล่า วันนี้ความเหลื่อมล้ำที่เคยเป็นอยู่มันหนักกว่าเดิมอีก เพียงแต่ว่าโดยพื้นฐานมันดีขึ้น แต่ความมั่นคั่งและทรัพยากรของชาติ 90% มันไปอยู่ในกำมือคน 10% ความคิดที่จะจัดสรรทรัพยากรและความมั่นคั่งของสังคมให้มันลดความเหลื่อมล้ำนี่คือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าระบบอะไรที่ทำให้เป็นจริงขึ้นมา ผมคิดว่าเราควรสนับสนุน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

    47 ปีที่ความรุนแรงยังคงดำรงซ้อนรูปอยู่

    ชาตรี ทิ้งท้ายว่าหลังจากที่ทุกคนผ่านการต่อสู้เรื่อยมาจนวันนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงเป็นอย่างแรกคือการเมือง

    “มันต้องเริ่มต้นจากการเมือง เราเคยคิดถึงการยึดอำนาจและการปฏิวัติ แต่วันนี้ไม่มีการปฏิวัติแล้ว แต่โครงสร้างในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองยังเหมือนเดิม โครงสร้างทางการเมืองมันดีขึ้นแต่มันยังไม่ได้ดีอย่างที่วาดหวังไว้  วันนั้นเราอาจจะไร้เดียงสากันเกินไป คิดว่าจะชนะแล้ว แต่ไม่ใช่ มันสั้นมาก ตอนนี้ต้องเหลียวหลังแต่ต้องแลหน้า จะทำให้สังคมดีขึ้น มีความสุขขึ้น เจริญขึ้นมันต้องแก้ที่การเมืองก่อนถึงจะไปได้ ถึงจะทำได้สำเร็จ”

    ในส่วนของการรับรู้ในด้านข้อมูลข่าวสาร ภานุพงศ์ มองว่าในตอนนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารค่อนข้างยาก ไม่แปลกที่คนเราจะสามารถฆ่ากันได้ง่าย ๆ รวมไปถึงย้อนความทรงจำบางส่วนครั้งที่ออกเดินทางสู่สู่เขตป่าเขา


    (ชาตรี หุตานุวัตร ,ชีรชัย มฤคพิทักษ์ ,ภานุพงศ์ ไชยวรรณ)

    “ปัจจุบันมันต่างกันเยอะ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้เรื่องราว มันรวดเร็วมาก  พอเราฝันอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ตอนนั้นเราก็คิดว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์จะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ เราก็เข้าป่าไปร่วมเพื่อที่จะยึดอำนาจและเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองใหม่ แต่พอมันไม่สำเร็จตรงนั้น ประกอบกับนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักความเป็นธรรม รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เลิกสนับสนุน มันเลยเป็นแรงผลักให้กระบวนการทั้งชาวนา กรรมกร และนักศึกษาออกจากป่า”

    “เราเห็นว่าหลังจากออกจากป่ากันมา เพื่อนพี่น้องบางส่วนอยากจะเห็นการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงก็ไปทำงานการเมือง บางคนก็วางมือบอกลากันไป ปรับตัวเข้ากับกระแสสังคม สร้างเนื้อสร้างตัวบ้าง และหลายคนก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและเฝ้ามองว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงกันต่อไป”

    ก่อนที่จะจบบทสนทนา ชีรชัย บอกกับเราว่าการต่อสู้ในปัจจุบันกับในอดีตเหมือนกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้ ศัตรูก็ยังคงเป้นระบบโครงการสังคมที่คอยกดหัวประชาชนอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สิ่งที่ต่างกันออกไปคือ ภาพของเผด็จการแจ่มชัดมากขึ้น

    “ความรุนแรงอาจจะไม่ถึงแก่ชีวิต แต่มันเป็นความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ เหมือนที่อานนท์ นำภา และอีกหลายคนต้องติดคุกเพราะคดีการเมือง”

    “กว่า 50 ปีที่แล้ว เป้าหมายการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายคือการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สู้กับเผด็จการ ฝ่ายก้าวหน้ามีความเป็นเอกภาพสูงมาก เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันมันมีเป้าหมายที่มากไปกว่านั้นแล้ว เอกภาพแบบเดิมมันไม่มี มันมีแต่เป้าหมายที่ขยับเพดานสูงขึ้นเรื่อย ๆ มันมีการศึกษาค้นคว้าว่าต้นเหตุสำคัญของบ้านเมืองที่มันมีปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร นี่เป็นเรื่องที่ตอนนั้นเรายังไปกันไม่ถึง”

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...