เมษายน 30, 2024

    8,000 ชีวิตหนีตาย หลังการสู้รบระหว่าง KNU พร้อม PDF กับกองทัพพม่าเปิดฉากขึ้น ย้ำยังมีข้อกังวลด้านการส่งตัวกลับไปพม่า

    Share

    เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยพม่ามากกว่า 5,000 ชีวิต (ปัจจุบัน 7 เมษายน 2566 ทางการไทยรายงานว่ามีผู้ลี้ภัยมากกว่า 8,236 คน อยู่ในพักพิง 13 จุด) ได้หนีข้ามแม่น้ำเมยข้ามมาเขตอำเภอแม่ระมาดไปจนถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังการสู้รบเปิดฉากขึ้นเมื่อ กองกำลังผสมภายใต้ KNU (The Karen National Union) รวมถึง PDF (People’s Defence Front) ร่วมกันเข้าโจมตีพื้นที่คาสิโนเขตทุนจีนสีเทาหรือมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ฐานอาชญากรรมข้ามชาติ ทางตอนเหนือของเมืองเมียวดี หลังจากเหตุการณ์นี้กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Forces) ภายใต้ของกองทัพพม่าตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดรอบโครงการเมืองใหม่ของจีน “ฉ่วยก๊กโก่” ทำให้มีผู้ลี้ภัยหนีตายข้ามมาฝั่งไทยกว่า 10 จุด ทางการไทยได้เข้าไปควบคุมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว

    ภาพ: มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

    มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนรายงานว่า ตลอดทั้งวัน ผู้ลี้ภัยจากจ.ดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง จำนวนมากกว่า 5,000 คน ทะยอยหนีข้ามแม่น้ำเม เข้ามาพักกระจัดกระจายจากริมเขต อำเภอแม่ระมาดไปจนถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ร่วม 10 จุด

    การสู้รบเปิดฉากขึ้นแต่เช้าเมื่อกองกำลังผสมภายใต้ KNU รวมถึง PDF (People’s Defence Front) ร่วมกันโจมตีพื้นที่ “คาสิโน” หรือเขตทุนจีนเทาทางตอนเหนือของเมียวดี

    ภาพ: CJ

    พื้นที่ดังกล่าว เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งอาชญากรรม นับแต่การค้ามนุษย์เพื่อบังคับให้เข้าร่วมในธุรกิจล่อลวงออนไลน์และการบริการทางเพศ โดยมีเหยื่อที่หลบหนีหรือร้องขอความช่วยเหลือมาจากนานับประเทศ นับจากไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย เคนยา กัมพูชา เวียดนาม ตลอดจนคนไทย เหยื่อบางคนหลบหนีโดยตรงมาถึงฝั่งไทย และบางรายได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก KNU

    กองทัพพม่าตอบโต้การโจมตีพื้นที่ผลประโยชน์ดังกล่าวด้วยการส่งเครื่องบินรบเวียนมาทิ้งระเบิดบริเวณรอบ “ฉ่วยก๊กโก่” หรือโครงการเมืองจีนใหม่ และเสริมกำลังพลเข้ามาเรื่อย ๆ

    ภาพ: CJ

    ซึ่งทางการไทยเข้าควบคุมพื้นที่พักพิงทั้ง 10 จุดซึ่งบางแห่งเป็นคอกสัตว์ (วัว) และบางแห่งก็เป็นท่าเรือส่งสินค้าของเอกชน กิ่งกาชาดแม่สอดเปิดรับบริจาคเฉพาะน้ำดื่ม (เพจระดมความช่วยเหลือด้านอาหารลบโพสต์ไปแล้ว) คนท้องถิ่นส่วนหนึ่งพยายามระดมสิ่งของจำเป็นกับอาหารไปช่วยเพื่อนมนุษย์ได้บางจุด ขณะที่บางจุดก็เข้าถึงได้ยากลำบาก

    ล่าสุดวันนี้ (7 เมษายน 2566) มีผู้ลี้ภัยเข้ามาในพื้นที่อำเภอแม่ระมาดและอำเภอแม่สอดเพิ่มขึ้นกว่า 8,236 คน อยู่ในพักพิง 13 จุด มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนรายงานว่า เย็นวันที่ 6 เมษายน ทางการไทยรายงานจำนวนผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำเมย อ.แม่ระมาดและแม่สอด จ.ตากในที่พักพิง 13 จุดเพิ่มขึ้นรวมเป็น 8,236 คน กระจายอยู่ในแม่สอดกว่าห้าพันคน และแม่ระมาดอีกกว่าสองพันคน

    ชาวบ้านชายแดนตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือกับภาวะฉุกเฉินของหน่วยงานความมั่นคงชายแดนคราวนี้ดูจะเป็นไปราบรื่นกว่าที่เคยเป็นมา เจ้าหน้าที่เปิดทางให้คนหนีภัยได้ข้ามพรมแดนมาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งหลายแห่งเป็นท่าส่งสินค้าเอกชนที่ผู้ประกอบการเจ้าของท่าลุกขึ้นมาจัดการระดมความช่วยเหลือด้วยตัวเอง ส่วนในเขตแม่ระมาด หน่วยงานรัฐอย่างสาธารณสุขก็ ลงพื้นที่เข้าดูแลผู้คนร่วมกับชุมชนและคริสตจักรท้องถิ่น แม้ข้อจำกัดเดิม ๆ ตามแนวคิดเดิม ๆ เช่น ไม่ต้องการให้มีผู้ถ่ายรูปออกไปเผยแพร่เป็นข่าว จะยังคงอยู่ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองก็ทราบว่า การพยายามซุกซ่อนคนจำนวนหลายพันคนไม่ให้พบเห็นเป็นข่าวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังเป็น “งานที่ไม่จำเป็น” ท่ามกลางหลายสิ่งที่ต้องจัดการอยู่ในขณะนี้

    ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งให้ข้อคิดเห็นว่า “เราคิดว่าเรื่องนี้จะไม่จบลงง่าย ๆ ได้ยินข่าวว่าตอนนี้ฝ่ายที่บุกเข้ามาจะโจมตีฉ่วยก๊กโก่ถอยหลังแล้ว แต่ทางกองทัพพม่าเพิ่มกำลังคนขึ้นมาที่ชายแดนเยอะมาก ๆ BGF ก็ไม่ยอมเสียพื้นที่ตัวเองแน่เพราะเขามีอำนาจมาก สั่งอะไรก็ได้ในพื้นที่เรา ผู้ใหญ่บ้านใครก็ต้องก้มหัวให้เขา มาถึงตอนนี้แล้วคงจบไม่ได้”

    มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้เพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้ลี้ภัยต้องได้รับความช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภคถูกสุขลักษณะและปลอดภัยและเสริมให้ทางการทางการไทยจะต้องไม่รีบร้อนที่จะกดดันผู้ลี้ภัยกว่า 8,236 ชีวิตในการผลักดันให้กลับไปยังพื้นที่ขัดแย้งว่า

    ด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กับสถานการณ์ที่แม้เสียงปืนจะเงียบลงได้ในวันหนึ่ง ก็จะเป็นความเงียบเพียงชั่วคราว เราจึงต้องการนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือการอพยพลี้ภัยพื้นที่พักพิงชั่วคราวย่อมเหมาะสมกับการพักชั่วคราว

    ภาพ: เอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด

    หากในระยะเกินกว่า 2-3 วัน มนุษย์ย่อมต้องการที่พักที่มีสาธารณูปโภคถูกสุขลักษณะและปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้หญิงที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันกับคนไม่รู้จักจำนวนมาก รวมถึงการจัดการด้านอาหารและความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่เป็นระบบมากกว่านี้  การเปิดให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และองค์กรมนุษยธรรมหลากหลายที่มีประสบการณ์กับผู้ลี้ภัยมายาวนานเข้ามามีส่วนร่วม “อย่างเป็นทางการ” จึงมีความสำคัญยิ่ง

    ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเกินระยะ 2-3 วันนี้แล้ว รัฐไทยจะต้องไม่รีบร้อน “กดดัน” ให้ชาวบ้านรู้สึกไม่กล้าอยู่และจำเป็นต้องรีบกลับไปเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ริมน้ำหรือในไร่ในป่าอีก ความมั่นคงชายแดนย่อมรวมถึงความสัมพันธ์อันดีของผู้คนสองฟากฝั่งพรมแดน และเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ลี้ภัย ผู้ให้ความช่วยเหลือ และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการท้องถิ่น ลำบากไปมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว

    ความกังวลต่อการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย

    นอกจากสถานการณ์ความกังวลด้านสาธารณูปโภคถูกสุขลักษณะและปลอดภัยของผู้ลี้ภัยแล้ว ยังมีข้อกังวลเรื่องนโยบายการจัดการผู้ลี้ภัยของทางการไทยที่ไม่มีความชัดเจนทั้งไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในการปฎิบัติต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งถ้าหากย้อนไปใน วันที่ 1 เมษายน 2566 มีการจับกุมทหาร PDF 3 คน หลังได้ข้ามเข้ามารักษาตัวในอำเภอแม่สอด ข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งทางการไทยได้ส่งตัวทั้ง 3 กลับไปยังทางการพม่า

    มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนรายงาน จำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาลที่ไหลบ่าเข้ามาในเพียงวันเดียว คือการยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่สมควรและไม่สามารถปล่อยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมและจัดการกันไปตามยถากรรม โดยไม่เปิดรับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่พร้อมและมีประสบการณ์มากกว่า

    นโยบายการจัดการผู้ลี้ภัยทั้งในสถานการณ์ภัยสงครามหรือภัยการไล่ล่าจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง กับนโยบายการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านที่ผู้ปกครองเข้าข่ายอาชญากรสงคราม จำเป็นจะต้องฟันธงโดยมองภาพระยะยาวถึงอนาคตลูกหลาน ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ปัจจุบัน และมิใช่การปล่อยปละละเลยให้ท้องถิ่นปฏิบัติกันไปตามยถากรรม

    ล่าสุด รายงานจากสำนักข่าว Myanmar Pressphoto Agency (5/04/66) ระบุว่า ทหาร PDF (People’s Defence Front) จำนวน 3 คนที่เข้ามารับการรักษาตัวใน อ. แม่สอด และถูกจับกุมในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายไปเมื่อวันเสาร์ที่ 1 เม.ย. 2566 ได้ถูกส่งกลับเข้าสู่มือทางการพม่าแล้ว

    ภาพ: มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

    การเจรจาขอให้ยับยั้งการส่งกลับบุคคลทั้งสามในวันจันทร์ที่ 3 เม.ย. ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ต.ม.ว่าให้กลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น แต่แล้วในวันที่ 4 เม.ย. คนทั้งหมดกลับถูกส่งตัวไปให้กับกองทหาร BGF ภายใต้อาณัติกองทัพพม่า โดยระหว่างพยายามหลบหนี รายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต อีกสองรายบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าหากไม่เสียชีวิตไปแล้วก็ต้องกำลังถูกคุมขังซ้อมทรมานอยู่ที่เมาะลำไย

    รัฐไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550  มาตรา 13 ของพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.​2565 ก็ระบุชัดว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”

    น่าเสียดาย พ.ร.บ.ดังกล่าวควรจะมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ 22 ก.พ. 2566 แล้ว หากไม่ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติตัดตอน ขอเลื่อนเวลาโดยอ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่

    PDF คือกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกไล่ล่าปราบปรามจนหันมาจับอาวุธขึ้นสู้  แน่นอนว่า หลักสากลในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยนั้นต้องยึดถือแนวทางมนุษยธรรมและความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ สถานะการเป็นผู้ถืออาวุธจึงทำให้บุคคลทั้งสามไม่อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัย

    ทว่า ตามคู่มือแนวปฏิบัติของ UNHCR ก็ชี้ชัด สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ว่า ด้วยหลักความเป็นกลางของรัฐ ผู้ถืออาวุธที่ถูกจับกุมจะต้องอยู่ในที่คุมขังไปจนกว่าสงครามความขัดแย้งนั้นจะยุติ หรือ จนกว่าพวกเขาจะถอนตัวจากการเป็นนักรบและขอลี้ภัย โดยรัฐที่เป็นกลางจะต้องไม่ส่งกลับพวกเขาไปอยู่ในมือฝ่ายคู่สงคราม 

    ทั้งหมดทั้งปวงนี้ จะคาดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรับรู้และปฏิบัติตามอย่างแม่นยำ โดยปราศจากนโยบายและมาตรการชัดเจนจากรัฐส่วนกลางก็ย่อมเป็นไปได้ยาก นโยบายการจัดการคนข้ามแดนในระยะยาวที่ตอบทั้งโจทย์ด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ จึงต้องเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคที่กำลังเดินหน้าหาเสียงสำหรับการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นี้

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...