เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หรือ TDRI เผยแพร่บทความ ปัญหาฝุ่น PM2.5: แนวทางป้องกัน-ลดเผาในที่โล่ง และร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 ที่เผยร่างงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในปี 2567/68 จำนวน 17,529.98 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้รับในการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้รับงบประมาณ 15,639.64 ล้านบาท คิดเป็น 89.2% ของงบประมาณในการจัดการ PM2.5 ทั้งหมด เพิ่มขึ้น 15.1% จากปี 2566/67 TDRI ยังเผยอีกว่า แนวคิดของรัฐบาลชุดนี้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นเป็น ปัญหาสาธารณภัย ซึ่งในข้อเท็จจริงเป็น “ปัญหาโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ-สังคม-ธรรมาภิบาล” ที่สลับซับซ้อน
นอกจากประเด็นการเพิ่มของงบประมาณในการแก้ไข PM2.5 ที่มองว่าเป็นเพียงเรื่องปัญหาสาธารณภัยนั้น TDRI ยังเผยอีกว่า ร่างงบประมาณในการแก้ไข PM2.5 ในปี 2567 เกือบทั้งหมด 96.2% อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการส่วนกลาง ซึ่งจังหวัดที่รับผลกระทบจาก PM 2.5 โดยตรง (11 จังหวัดและ 2 กลุ่มจังหวัด) ได้รับงบประมาณเพียง 217.92 ล้านบาท คิดเป็น 1.24% เพียงเท่านั้น TRDI ได้วิเคราะห์เหตุผลใหญ่ของการแบ่งสัดส่วนของงบประมาณดังกล่าวว่า ระบบบริหารราชการไทยเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ กรมต่าง ๆ มีรัฐมนตรีเป็นผู้เจรจาของบประมาณกับสำนักงบประมาณโดยตรง แต่จังหวัดไม่มีเจ้าภาพทำหน้าที่เจรจา ผล คือ งบประมาณจะตกกับกรมหรือกระทรวงที่รัฐมนตรีมีอำนาจ
TDRI มองว่าปัญหาในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือนั้นเป็นการจัดการตามฤดูฝุ่น สืบเนื่องจากแนวคิดที่ว่า PM2.5 = สาธารณภัยจากไฟป่า จึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วยปลายปีก่อนการเกิดของฤดูฝุ่น PM2.5 และเลิกราในเดือนพฤษภาคมในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 หมด และยังมีเรื่องการทำงานที่ ‘แยกส่วน’ ของหน่วยงานต่าง ๆ ‘ขาดความจำสถาบัน’ ที่จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5 อาทิ รูปแบบ พฤติกรรมการเผา ตลอดจนการนำประสบการณ์ดับไฟและการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่าง ๆ มาประมวลผลในปีต่อไป จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ใช้ข้อมูลจุดความร้อนในแต่ละช่วงเวลา เมื่อจุดความร้อนลดลงหรือหายไปก็ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ TDRI ยังเผยอีกว่า รัฐไทยไม่เคยมี หน่วยงาน ‘มืออาชีพและบุคลากรมืออาชีพ’ เป็นแกนหลักในการรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว
TDRI ได้สรุปร่างงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2567 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหมอกควัน PM2.5 ทั้งหมด 17,529,985,600 บาท แบ่งให้ 6 กระทรวง รวมเป็นเงินกว่า 16,869,420,600 บาท ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 15,639,643,000 บาท ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา 9,962,600 บวกกับ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน และลำพูน) 67,429,800 บาท รวมทั้งหมดเพียง 77,392,400 บาท
สามารถอ่านบทความทั้งหมด ได้ที่ ปัญหาฝุ่น PM2.5: แนวทางป้องกัน-ลดเผาในที่โล่ง และร่างพ.ร.บ.งบฯ 67
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...