มีนาคม 29, 2024

    ระเบิด-พื้นที่-กิจกรรม-ปฏิวัติ Crew bar multitude

    Share

    เรื่องและภาพ: ณัฎฐณิชา พลศรี, วรรณพร หุตะโกวิท


    ในสถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่นไปด้วยไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงและการเรียกร้อง แน่นอนว่าบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนคงไม่พ้นกลุ่มคนที่เราเรียกว่านักกิจกรรมทางสังคม ที่ก้าวออกมาเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือผู้คนนั้นล้วนสัมพันธ์กับสถานที่ นักกิจกรรมก็เช่นกัน ถ้าจะมีสถานที่ที่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ พัฒนาความคิด เติมพลังให้กันและกัน ก็คงจะดีไม่น้อย

    ลัดเลาะเข้าไปในซอยย่านวัดร่ำเปิงหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Crew bar multitude ซุกซ่อนแอบแฝงอยู่ในนั้น จากร้านก๋วยเตี๋ยวในสวนตอนนี้ถูกแปลงกายเป็นพื้นที่พบปะของเหล่านักกิจกรรม ในบรรยากาศคลุกเคล้าเสียงดนตรีกลิ่นกาแฟและกองหนังสือ ตอนนี้พื้นที่ของนักกิจกรรมแห่งใหม่ได้จุติขึ้นแล้ว

    เราพบกับ เปรม – อภิบาล สมหวัง ที่ Crew bar multitude เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีพื้นที่แบบนี้ เปรมเองก็หนึ่งในสมาชิกร่วมก่อตั้ง Crew bar multitude เราตั้งประเด็นพูดคุยง่าย ๆ ถึงที่มาความคิดในการก่อร่างสร้างพื้นที่ของนักกิจกรรม ว่าทำไมต้องมี เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งพื้นที่ของนักกิจกรรมจะเกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัดซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นได้อย่างที่คิดตอนไหน

    อะไรคือจุดเปลี่ยนให้มาเคลื่อนไหวทางการเมือง


    พ่อแม่เป็นเสื้อแดง เราเติบโตมากับวิทยุเสื้อแดง ยูทูปแบบคลิปลับลุงสนามหลวง ลุงสมชายป้าสมจิตร โรงงานปลากระป๋อง มีโค้ดเนม โค้ดชื่อที่ยุคนั้นมันยังพูดบางเรื่องได้ไม่มากนัก โตมาในเนื้อหาแบบนี้เลย ตอนนั้น เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจริงมากน้อยยังไง แต่มันก็เป็นชุดข้อมูลนึงที่มี คู่ขนานไปกับชุดข้อมูลที่รัฐให้ เรื่องระบบการศึกษา เรื่องข่าวสองทุ่มมันก็คู่ขนานกันไป พอครอบครัวเราเป็นเสื้อแดง เราก็จะได้รับชุดข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบ  เราก็ยังไม่รู้ว่ามันจริงขนาดไหน ตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น พอเข้า ม.ปลาย ก็เริ่มเล่นโทรศัพท์มีเทคโนโลยีเข้ามา ยิ่งรู้มากขึ้นไปอีก

    แล้วตอนนี้เปรมทำอะไรอยู่บ้าง

    มี 2 ส่วนหลัก ๆ หนึ่งคือทำพื้นที่ Crew bar multitude สองคืองานประสานงานทำงานขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย ลงพูดคุยกับเพื่อน ๆ นักกิจกรรมในภาคเหนือ ทำพื้นที่ก็พยายามทำเพื่อรองรับเพื่อน ๆ  ช่วงแรกอาจจะหนักไปทางพื้นที่กินเหล้า เมา เฮฮา เสียงดัง คนในชุมชนร้องเรียนมาประจำ พอมันมีการพูดคุย แลกเปลี่ยน มีปัญหาก็เริ่มปรับมาเป็นบาร์กาแฟอย่างที่เห็น เป็นพื้นที่กลางวัน มีคนเข้ามาใช้กลางวันมากขึ้น ก็เริ่มมีกลุ่มศึกษางานวิชาการ วงอ่านหนังสือ ทฤษฎีการเมืองต่าง ๆ ด้วย

    แล้ว Crew bar multitude มันเริ่มต้นมาได้ยังไง

    มันเริ่มจากบ้านก่อน เริ่มจากบ้านที่เพื่อนจากกรุงเทพฯ มาแล้วก็มาเช่าอยู่ 2-3 คน ชื่อว่าบ้านสวนดอก แล้วพออยู่ได้ไปสักระยะ เพื่อนก็มาเยี่ยม จากอีสานบ้าง กรุงเทพฯ บ้าง แล้วมันเริ่มไม่ใช่บ้านของ 2-3 คนแล้ว อยู่ 4 คนแล้ว มันเริ่มกลายเป็นบ้านที่คนเข้ามาเรื่อย ๆ ตลอด ๆ ซึ่งมันเล็กมากหลังเก่า มันเลยต้องขยับขยาย พอจะขยับขยายมันก็ต้องมีพื้นที่กว้างขึ้น ซึ่งก็ต้องผนวกไปกับค่าจัดการ ค่าเช่าที่แพงขึ้น มันก็เลยเป็นแค่บ้านไม่ได้ มันก็ต้องหารายได้  ก็เลยพยายามคิดโมเดลทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะมีรายได้ มาทำให้บ้านมันมีรายได้ แล้วก็ support คนที่มันจะเข้ามาเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วมันก็ทำไปเพื่อที่จะทำให้พื้นที่มันยืนระยะได้ มันเลยกลายเป็น “ครูวบาร์มัลติจูด” จริง ๆ มันก็มาจากครูบา (ครูบาศรีวิชัย) อะเนอะ มันจะกวนส้นตีนครูบาศรีวิชัย มันจะกวนส้นตีนแต่ว่าก็นั่นแหละ จะกวนส้นตีนนั่นแหละ ไม่มีอะไร มันไม่มี concept หรอก แค่นั่งคิดชื่อว่าจะชื่ออะไรดี เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ที่ย่านวัดสวนดอกแล้ว มันย้ายมาอยู่หลังวัดร่ำเปิงแล้ว แต่ว่าก็พยายามหาชื่อร้านไรงี้ ชื่อพื้นที่ว่าจะชื่ออะไรดี ก็คิดเล่น ๆ ว่าจะเออครูบาแต่ว่าครูบาก็ไม่อยากใช้ภาษาอังกฤษว่า Teacher Bar หรือว่า Cool Bar Crew กับ Multitude มันมีความหมายคล้าย ๆ กัน มันคือ ฝูงชน มวลชน อะไรเงี้ย Crew มันคือฝูงชนที่แม่งสับสนวุ่นวายมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน Multitude มันคือกลุ่มหน่วยที่แม่งมีความหมายคล้าย ๆ กัน หมายถึงว่ามันก็ไปเพื่อ support กัน การเคลื่อนไหวกระบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย

    บทบาทของ Crew bar multitude คืออะไร

    เป็น 2 หน้าที่หลัก ๆ

    1.เป็นพื้นที่ให้ชีวิตของนักกิจกรรมมันได้ยืนระยะต่อไปหรือเข้ามากินเหล้าแลกเปลี่ยนความเห็น วันดีคืนดีแม่งก็นำเสนอไอเดีย เป็นชุมชนเป็นพื้นที่ให้คนมันมีเป้าหมายคล้ายกันมารวม สุมหัวกัน

    2. support event หรือกิจกรรมทางการเมืองหรือว่าก็คอยประสานงานพี่ ๆ ยืมของ ลำโพง ไมค์ เก้าอี้ รถขนของไรงี้ support กิจกรรมที่มันจะเกิดขึ้นในเชียงใหม่

    จริง ๆ ตอนนี้คนที่ support กิจกรรมหลัก ๆ ไม่ได้อยู่ที่ Crew Bar แล้ว มันเป็นเครือข่ายมากกว่า หมายถึงว่าเราจะคอยชวนเพื่อน ๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้นอนที่นี่ก็ได้ แต่ว่าแวะเข้ามาที่นี่ไรงี้ คอยชวนไปขนของบ้าง ไปไฮปาร์คบ้าง ไปยกของ ไปขับรถไรงี้ จะมีแก๊ง จริง ๆ อยากจะเปลี่ยนชื่อเหมือนกัน ชื่อมันเป็นกลุ่มแชทเครือข่ายบ้านสวนดอก ก็คือคนที่มันเข้ามาที่นี่บ่อย ๆ แล้วก็ได้จัดกิจกรรมมร่วมกันบ่อย ๆ พอมีกิจกรรมไรมันก็จะยกโขยงกันไปก็แล้วแต่กิจกรรมนะ วันดีคืนดีหมายถึงว่าพื้นฐานก็จะอยู่ที่นี่เนอะ แต่มันก็จะมีมาเรื่อย ๆ แหละ คนที่มาจากกรุงเทพบ้าง มาจากอีสานบ้าง มาจากตะวันออกบ้างงี้

    ในกิจกรรมนึงน่าจะ 15-20 คนได้มั้ง หมายถึงว่าไม่ใช่ที่ Crew Bar ที่เดียว มันมีจังหวะพี่น้องจากพื้นที่อื่น ๆ มันเข้ามาชวนทำ หมายถึงมันก็ขอไม่ยากเพราะมันก็ทำมาจากที่อื่นอยู่แล้ว มาถึงมันก็ทำเลย จัดม็อบที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว จัดม็อบที่อีสานอยู่แล้ว รู้มือกันอยู่แล้ว


    แล้วมันสำคัญยังไงไอ้การมี space ของนักเคลื่อนไหว

    สำคัญนะ มันทำให้คนที่เคลื่อนไหวสักระยะนึงแล้วมันยังมีชีวิตอยู่ หมายถึงว่าชีวิตทางความคิด ชีวิตของคนที่มันมาเห็นเพื่อนมีมันมีความคิดเดียวกัน ถ้าเกิดมันไม่มีอะไรแบบนั้นเลย มันก็จะใช้ชีวิตรอแล้วก็รอที่จะ action รอที่จะเคลื่อนไหว เวลาระหว่างนั้นมันจะโดดเดี่ยวมากเพราะว่าเวลามันออกไปกินก๋วยเตี๋ยว เวลามันออกไปเรียนหนังสือมันไม่ได้เจอคนประเภทเดียวกัน ถ้ามันมีพื้นที่แบบนี้ที่มันตั้งตลอดเวลา มันก็จะทำให้สามารถกลับมาหาคนที่แนวคิดเดียวกันได้ตลอด มันจะรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ถึงแม้มันจะไปกินก๋วยเตี๋ยวก็จะรู้สึกว่ามันไปพักใจตรงนี้ได้ ส่วนคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ก็จะได้เห็นชุมชน หรือการใช้ชีวิตของพวกนักกิจกรรมมันก็จะทำให้เห็นโลกอีกแบบหนึ่งที่มันไม่ใช่โลกของกิจกรรมแบบมหาลัย กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมแบบอะไรที่มันเพื่อตัวเอง เพื่อคณะ เพื่อมหาลัย มันเป็นกิจกรรมที่มันต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อน มวลรวมของประเทศ ไม่ใช่แค่เด็กมหาลัย

    อย่างช่วงรัฐประหารปี 57 ช่วงนั้นมันเป็นช่วงรณรงค์ปล่อยเพื่อนเรา ตอนนั้นเป็น 14 นักศึกษา มันจะมีกลุ่มชื่อว่าสมัชชาเสรีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก็มีบ้าน ชื่อบ้านเรา มีพื้นที่คล้าย ๆ แบบนี้เลย หมายถึงว่ามีพื้นที่ที่รวมนักกิจกรรม เราก็เข้าผ่านชมรมประชาธิปไตยตอนนั้นยังเรียนมช. อยู่ พูดง่าย ๆ ก็เห็นความสำคัญของการมีพื้นที่มานานแล้ว เอองั้นขอชวนเพื่อนอีกคนมาพูดหน่อยนะเรื่อง space

    โบ้ – กิตติ พันธภาค เลยขอเข้ามาแจมในประเด็นนี้ด้วยว่าเป็นพื้นที่ที่สำคัญมากต่อการเคลื่อนไหวเพราะเวลาเราพูดถึงพื้นที่กลางที่เพิ่มการมีส่วนร่วมและเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์เพิ่มการคิดร่วมกันเพิ่มการแชร์ร่วมกัน อันนี้คือพื้นที่ของการรวมหมู่ ด้านนึงมันอาจจะลดความเป็นปัจเจกลงมันให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันมากขึ้นเพราะมันไม่ใช่ทางกายภาพอย่างเดียวมันเป็นพื้นที่ของด้านความคิดด้วยหรือพื้นที่อื่น ๆ ที่เราสามารถมาคิดร่วมกันหรือทำอะไรร่วมกันได้เช่นเรามาอ่านหนังสือ สำหรับขบวนมันจะส่งผลให้ขบวนของเราแข็งแรงขึ้นแล้วมาออกแบบความคิดร่วมกัน วางแผนร่วมกันถ้าไม่มี space มันก็จะต่างคนต่างอยู่พอมันต่างคนต่างอยู่มันก็จะไม่มีการเรียนรู้ร่วมกันนี่คือสิ่งสำคัญของการมีสเปคกลางพอมันมี space ร่วมกันมันก็จะเห็นความเป็นมนุษย์ร่วมกัน การเข้าใจกันมากขึ้นภาพใหญ่ก็คือรัฐควรจะให้พื้นที่ที่มันเป็นกลางหรือพื้นที่สาธารณะมากขึ้นโดยมาทำอะไรด้วยกันโดยที่มันไม่ผิดกฎหมายหรือไม่มีกฏหมายมาควบคุม”

    คิดยังไงกับกระแสม็อบในปัจจุบันที่อาจจะแผ่วลง

    ก็เข้าใจ พอถึงจุดหนึ่งแล้วมันก็เข้าใจว่า คือม็อบที่มันเกิดขึ้นมาช่วงปี 63-64 มันเป็นม็อบที่มาจากการระเบิดขึ้น การโวยวายข้างในจิตใจของวัยรุ่น หมายถึงว่าพอมันระเบิดเนี่ยจังหวะลงมันก็ต้องหายเป็นเรื่องธรรมดา แน่นอนเราไม่สามารถไปพูดคุยหรือว่าทำให้เขายืนระยะได้ทุกคนที่เราเห็น มันก็จะมีส่วนใหญ่ที่หายไปเพราะมีส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาแล้วก็เรา หมายถึงว่ามันก็เป็นจังหวะที่คนมันระเบิดทางอารมณ์ เหตุผลมันทำงานไปก่อนหน้านี้แล้วแหละว่ามันไม่ยุติธรรมอยู่แล้วกับรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์ ในขณะเดียวกันเราก็เห็นคนที่ออกมาทำงานขับเคลื่อนมากขึ้น ภาคเหนือไรงี้มันก็ไปจังหวัดโน่นจังหวัดนี้มันก็เห็นคนทำงานได้ อาจจะไม่เยอะแต่ก็เห็น

    อยากบอกอะไรกับคนที่กำลังหรือที่จะเข้ามาเป็นนักเคลื่อนไหว


    ผมคิดว่าหลัก ๆ พอถึงระยะเวลาที่มันเคลื่อนไหวแล้วมันต้องใจเย็นลงกับสถานกการณ์ที่มันกำลังจะเกิดขึ้นเพราะว่านั่นแหละมันต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านแต่ละครั้ง หมายถึงว่าใจเย็นเพื่อให้มันยืนระยะได้แล้วมันจะสามารถทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เพราะถ้าเกิดเราไม่ยืนระยะหรือไม่สามารถยืนระยะได้เนี่ย มันจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วเนี่ยอย่างตั้งแต่ปี 59 มาถึงปัจจุบัน ผมเห็นพัฒนาการหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ๆ หมายถึงว่าเราเห็นว่ามันขยับ แต่ถ้าเกิดคุณอยู่ในช่วงเวลานึงเนี่ยมันจะมีเวลาให้พิจารณากับความเปลี่ยนแปลงน้อยมากจนแทบจะไม่เห็นมันเลยและเราจะเหนื่อยกับมันมาก พอคุณยืนระยะได้คุณก็จะมองย้อนกลับไปว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง เช่น จำนวนคนทำงานมากขึ้น ข้อเสนอที่มันถูกพูดถึงได้ไกลขึ้น ไกลขึ้นมากอะ ไม่ใช่แค่ไกลขึ้น ไกลขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถ้าเกิดคุณอยู่ในช่วงเวลาของการโวยวายเรื่องสถาบันกษัตริย์ใช่มั้ย คุณจะไม่เห็นว่าเมื่อก่อนแม่งไม่ถูก มันไม่ถูกพูดถึงเลย ไม่สามารถพูดได้เลย คุณก็จะจมอยู่แค่ว่าทำไมถึงยังไม่สามารถ ทำไมคุณถึงยังไม่ชนะสักทีในประเด็นนี้ แต่เอาเข้าจริงๆมันมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว เยอะมาก เห็นคนเยอะขึ้น พอคุณระเบิดในช่วงเวลานึง คุณก็เห็นคนที่โตมาพร้อมกันใช่มั้ย แต่คุณไม่มีเวลานั่งคิดกับคนที่มันระเบิดพร้อมกัน ถ้าเกิดคุณยืนระยะไปได้อีกนิดนึงมันจะมีเวลานั่งคิดว่าไอคนที่มันเกิดขึ้นมาพร้อมเรา มันเกิดขึ้นมามากน้อยแค่ไหน ระหว่างนั้นมันหายไปไหนหรือว่าตอนนี้เขาเข้มแข็งมากน้อยขนาดไหนแล้ว ทำงานไปขนาดไหนแล้ว ยืนระยะให้ได้ เหนื่อยก็พัก ผมก็เคยหลบไปพัก ปีสองปี พักได้ไม่เสียหายอะไร        

    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    ณัฎฐณิชา พลศรี และ วรรณพร หุตะโกวิท โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ JBB

    Related

    ‘ครรภ์ใต้บงการ’ ในเงาสะท้อนรัฐเจริญพันธุ์

    เรียบเรียง: ธันยชนก อินทะรังษี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงาน...

    อยู่ระหว่างเหนือล่าง ‘เซ็นทรัลนครสวรรค์’ เมื่อ “ห้างใหญ่มีชื่อ” กลายเป็นมาตรวัดการพัฒนา

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนครสวรรค์ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและตื่นตัวแกบรรดาผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์รวมถึงผู้คนในจังหวัดรอบข้างอย่างมาก ประกอบกับการโปรโมทห้างเซ็นทรัลนครสวรรค์ที่เราจะพบเห็นได้ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ...

    ต่า โอะ มู วิถีชีวิตปกาเกอะญอ

    เรียบเรียง: กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย, อิทธิเดช วางฐานภาพ: จิราเจต จันทร์คำ,...