พฤษภาคม 3, 2024

    Fast & Fashion ความเร็วที่ฝากวิกฤตเจ็บปวดไม่ตามเทรนด์

    Share

    เรื่อง: ณัฎฐณิชา พลศรี

    ภาพ: Martin Bernetti/AFP

    ในยุคที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับโซเชียลมีเดียที่พร้อมจะล่อตาล่อใจผู้คนอยู่เสมอ ยุคที่เราเรียกกันว่า ‘บริโภคนิยม’ ต้องตามเทรนด์ให้ทันอยู่เสมอและมีทุกอย่างที่เป็นกระแสรวมไว้ในครอบครอง รวมไปถึงแฟชั่นด้วย ในปัจจุบัน เทรนด์แฟชั่นมีความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็วนั้นส่งผลกระทบมากมายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมไม่ว่าเป็นการกดขี่แรงงาน มลพิษที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมจากโรงงานสิ่งทอ ขยะเสื้อผ้ามากมายจนกลายเป็นภูเขาจากเทรนด์ที่ล้าหลังซึ่งส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่รวมไปถึงโลกทั้งใบ

    การแต่งตัวตามสมัยนิยมนั้นเป็นความสวยงามในรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ‘แฟชั่น’ นั้น มีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เนื่องจากการเข้าถึงเสื้อผ้าที่ทำได้ง่าย ไม่ว่าจะผ่านอินเตอร์เน็ตและราคาที่ไม่สูงมาก กระแสและวัฒนธรรม ‘ฟาสต์แฟชั่น’ จึงเกิดขึ้นในสังคม 

    อะไรคือฟาสต์แฟชั่น ? ทำไมถึงเร็วอะไรปานนั้น

    ภาพ: อณัฐิกา พรหมเงิน

    ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) ความหมายตามตัวก็คือแฟชั่นที่มาไวไปไว  เป็นสินค้าที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว แต่มีคุณภาพการใช้งานที่ใช้ได้น้อยครั้ง ต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากความต้องการขายสินค้าในราคาที่ถูก จากการบริโภคและการผลิตสินค้าแฟชั่นที่มากเกินความจำเป็น ทำให้เกิดขยะจากสินค้าเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นจากทางผู้บริโภคหรือว่าทางด้านผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าออกมามากจนเกินไปตามอุปสงค์และอุปทาน ณ ช่วงเวลานั้น ๆ 

    ข้อมูลรายงานของกรีนพีซ ‘ฟอกเขียวต่อไม่รอแล้วนะ’ เสื้อผ้ามือสองที่ส่งออกจากประเทศซีกโลกเหนือไปสู่ประเทศซีกโลกใต้เพิ่มสูงมากขึ้นในปี 2562 ประเทศเคนยาได้นำเข้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 185,000 ตัน ซึ่งมีสิ่งทอถึง 55,500 ถึง 74,000 ตันที่กลายเป็นขยะ หรือ 150-200 ตันต่อวัน ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านี้ใช้เวลานานกว่าร้อยปีในการย่อยสลาย หมายความว่ายังมีเสื้อผ้าอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกสวมใส่หรือสวมใส่ได้น้อยครั้งก็กลายเป็นขยะไปเสียแล้ว

    นอกจากนี้ยังมีการฟอกเขียวของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น ผ่านการออกมาบริจาคเงินให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานกับกลุ่มแรงงานงานขยะสิ่งทอในประเทศกานา ซึ่งแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นผลิตสินค้าออกมาให้มีราคาที่ถูก อายุการใช้งานที่สั้น คุณภาพที่ต่ำ การใส่ซ้ำที่น้อยครั้ง ทำให้เกิดขยะจากเสื้อผ้ามากมายและการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทิ้งไว้ตามหลุมขยะ ทิ้งตามแม่น้ำ หรือใช้วิธีการเผาเพราะเป็นวิธีกำจัดขยะที่ใช้ต้นทุนน้อย น้อยกว่าต้นทุนที่ใช้ผลิตเสียด้วยซ้ำ

    เมื่อกล่าวถึงแฟชั่น ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่บริโภคสินค้าแฟชั่น แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเบื้องหลังการผลิตและอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นเป็นอย่างไร สำนักข่าว BBC ได้ตีแผ่ประเด็นของชาวอุยกูร์ในซินเจียง ที่ถูกบังคับให้ทำงานในโรงงานสิ่งทอ โดยโรงงานสิ่งนี้ได้จัดจ้างคนงานภายใต้การเกณฑ์คนและการจัดการของรัฐบาล มีชาวอุยกูร์ที่ครอบครัวของเขาถูกโอนย้ายไปที่โรงงานทอผ้า เขาได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว BBC ไว้ว่า

    “พวกเขาพาพี่สาวของผมไปเมืองอากซู ไปที่โรงงานทอผ้า” เขาบอกกับผม “เธอพักอยู่ที่โรงงานนั้น 3 เดือน แล้วก็ไม่ได้เงินเลย”

    “ในหน้าหนาว แม่ของผมเก็บฝ้ายให้เจ้าหน้าที่ทางการของรัฐบาล พวกเขาบอกว่า พวกเขาต้องการคน 5-10% ของหมู่บ้าน พวกเขาไปหาทุกครอบครัวถึงประตูบ้าน”

    “ผู้คนพากันไปเพราะพวกเขากลัวว่าจะถูกขังคุก หรือถูกพาตัวไปที่อื่น”

    เหตุผลที่ครอบครัวของเขาถูกโอนย้ายไปที่โรงงานทอผ้านั้น เพียงเพราะว่าเขาเคยเดินทางออกไปต่างประเทศ และไม่สามารถเดินทางกลับซินเจียงได้เพราะมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่จะต้องเข้าค่ายกักกันตัวทำให้เขานั้นมีคววามเสี่ยงสูงในการติดต่อกับครอบครัว

    การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศและการเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจากอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า รวมไปถึงการใช้แรงงานการผลิตอย่างไม่เป็นธรรม ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แทบจะตลอดเวลา ในขณะที่โลกของแฟชั่นกำลังเหวี่ยงไปมาอย่างรวดเร็ว จนพลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว

    ความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่ผู้บริโภคแต่เพียงผู้เดียว

    “เราต้องกดดันให้แบรนด์ต่าง ๆ มีความรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานและสิ่งแวดล้อม ถ้าบอกว่าฟาสต์แฟชั่นไม่ควรจะมีก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะฟาสต์แฟชั่นมันเกิดขึ้นมาบนโลกแล้ว เพียงแค่เราต้องรณรงค์ให้เจ้าของแบรนด์ใส่ใจสวัสดิภาพของแรงงานเพราะว่าแบรนด์แฟชั่นหลาย ๆ แบรนด์มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศโลกที่สาม แรงงานส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานที่ไม่มีที่ไปและได้ค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงที่สมควรจะได้รับ เราจึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้นายทุนที่ทำธุรกิจข้ามชาติมามองเรื่องสวัสดิการแรงงาน และเรื่องของสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่เสื้อผ้าที่ผลิตออกมานั้นถูกออกแบบให้ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วก็ทิ้งอย่างตั้งใจ เสื้อผ้าที่ถูกผลิตขึ้นมาบนโลกปีละประมาณ 150,000 ล้านชิ้น  แล้วคนบนโลกมีอยู่ประมาณ 790 ล้านคน แปลว่ามันถูกผลิตขึ้นมาเยอะเกินจำนวนประชากรไปมาก ทรัพยากรที่ถูกใช้ตั้งแต่ฝ้าย น้ำที่ใช้ พลังงานการขนส่ง มันเกินขอบเขตของโลกไปเยอะมาก การรณงค์ให้ซัพพอร์ตเหล่านี้น้อยลงแล้วเอาเงินที่มีไปซัพพอร์ตคนที่พยายามคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นเรื่องที่พึงจะทำได้ดีกว่า ฟาสต์แฟชั่นมันอันดับต้น ๆ ของโลกเลยในด้านการใช้พลังงานกับน้ำมันในการผลิต”

    อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand

    อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งเสริมความเข้าใจของแฟชั่น รวมไปถึงกระบวนการผลิต และการบริโภค ที่เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวสำคัญที่พูดถึงประเด็นฟาสต์แฟชั่นอย่างต่อเนื่อง

    กมลนาถได้พูดถึงผลกระทบที่ตามมากับกระแสของฟาสต์แฟชั่นไว้โดยที่ไม่ได้ตัดสินความรับผิดชอบไว้ที่ผู้บริโภค แต่แบรนด์ผู้ผลิตก็คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบถึงผลกระทบในเรื่องนี้โดยตรง ทั้งนี้การรณรงค์เรื่องฟาสต์แฟชั่นนั้นก็คงเป็นเรื่องที่มีความยากถ้าหากให้ผู้บริโภคแสดงออกผ่านการรณรงค์อยู่แค่ฝ่ายเดียว

    “อย่างน้อยเราควรได้รับรู้ว่าขั้นตอนการผลิตนั้นโปร่งใสแค่ไหน มีความเป็นธรรมต่อแรงงานไหมและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการกลับมาตั้งคำถามต่อแบรนด์ผู้เป็นต้นทางของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที”

    ทั้งนี้ประเทศโลกที่หนึ่งหลายประเทศมักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตขยะออกสู่นอกประเทศ ในความเป็นจริงแล้วประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้ผลิตไปซะทีเดียว แต่ส่วนหนึ่งเกิดมาจากระบบที่เป็นการบริจาค เช่นประเทศอเมริกา ที่มีการตลาดอย่าง “Black Friday, Sales” ที่ทำให้เกิดการซื้อเยอะขึ้น นำไปสู่การบริจาค เพื่อที่จะให้คนด้อยโอกาสในประเทศห่างไกลได้ใช้งาน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริจาคไม่รู้ คือปริมาณที่เยอะเกินไป ด้วยจำนวนกว่า 80 % ของเสื้อผ้าที่ถูกขาย กลายเป็นความเดือดร้อนของประเทศโลกที่สาม แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในดินแดนห่างไกล

    “อีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นจะต้องยกขึ้นมาพูดถึง คือการที่กลุ่มทุนนิยมฟอกเขียว มักจะทำการตลาดด้วยวิธีการที่บอกว่าตัวเองเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม อาจจะด้วยการโฆษณาวัสดุที่เป็นมิตรกับโลก หรือแคมเปญที่ยึดโยงกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เราอาจจะคิดไปได้ว่าเราก็เป็นผู้บริโภคแฟชั่นยั่งยืนได้นะ เราจะต้องซื้อใหม่ ซื้อเสื้อที่ดี เสื้อที่มันดูมินิมอลคลีน หรือว่าผ้าม่อฮ่อม ผ้าคราฟต์ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ทางที่ดีที่สุดคือการยืดอายุใช้ซ้ำที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแบบไหนก็ได้”

    Fast Production & Fast Consumption

    เมื่อพูดถึงฟาสต์แฟชั่น กมลนาถชวนให้แยกออกมาเป็น 2 ประเด็น คือ 1.Fast Production หรือด้านการผลิต 2.Fast Consumption หรือด้านการบริโภค

    “โดยทั่วไปแล้ว เราอาจจะพูดถึงฟาส์ตแฟชั่นโดยรวม แต่ถ้าเราแบ่งออกเป็นสองมิติ อย่างมิติการผลิตที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล และการกดค่าแรงเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด และมิติการบริโภค ที่เกิดขึ้นโดยผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เมื่อกระแสแฟชั่นเปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่สั้นเหลือเกิน

    จุดนี้เองที่ทำให้เราจำเป็นต้องกลับมาสำรวจวิธีการบริโภคของเรา ว่าเป็นฟาสต์ตามแฟชั่นด้วยไหม ในยุคที่เทรนด์แฟชั่นเปลี่ยนไปเร็วแบบนี้ การที่เราได้เจอกับเสื้อผ้าราคาถูกอาจจะเป็นส่วนช่วยให้เราตัดสินใจซื้อได้ง่ายและ “บ่อย” ขึ้น โดยที่เราอาจจะยังไม่เห็นคุณค่าของมัน ทั้งที่การใช้เสื้อผ้าเก่าๆ นอกจากจะช่วยให้เสื้อผ้าไม่หงอยเหงา รอการหยิบไปใช้จากเราอย่างอ้างว้างอยู่ในตู้เสื้อผ้า มันยังช่วยให้เสื้อผ้าไปถึงกระบวนการกำจัดหรือรีไซเคิลแสนยุ่งยากได้ช้าลงอีกด้วย” 

    ตัวอย่างของวิถีปฏิบัติแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในกิจกรรม Clothes Swap ที่เครือข่าย Fashion Revolution ในหลายประเทศจัดเป็นกิจกรรมที่นำเสนอ ‘ทางเลือก’ ที่นอกเหนือไปจากการไปช๊อปปิ้งเสื้อผ้าและแฟชั่นตามสมัยนิยม คือการนำเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาแลกกัน นอกจากจะเป็นทางออกให้กับการจัดระเบียบตู้เสื้อ ก็ยังเป็นการพบปะกับผู้คนที่มีความสนใจและรสนิยมคล้ายกัน ตั้งแต่เรื่องแฟชั่น ความยั่งยืน หรือแม้แต่ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม

    “กิจกรรม Clothes Swap เราสามารถนำเสื้อผ้าไปปรับเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ หรือส่งให้เพื่อน ๆ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เราส่งต่อเสื้อผ้าเหล่านั้นไปที่ถังขยะ ถ้าเราทำได้แบบนั้นเราจะแบบเหมือนสร้างสรรค์ขึ้นกับการใช้ ทำให้ได้เรียนรู้ตัวเองไปด้วย นั่นก็อาจจะช่วยให้การบริโภคให้น้อยลง”

    ขยะจากสินค้าฟาสต์แฟชั่น = วิกฤตสิ่งแวดล้อม

    ภาพ: Martin Bernetti/AFP

    ตัวอย่างสำคัญของประเด็นที่สินค้าฟาสต์แฟชั่นกลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศโลกที่สาม ก็คือเหตุการณ์ Landfill ในประเทศชิลี ที่กลายเป็นภูเขาขยะจากเสื้อผ้าใช้แล้ว ซึ่งเสื้อผ้าที่ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 500 ปี ประกอบไปด้วยพลาสติกที่เป็นเส้นใยผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ส่งผลให้ดินในพื้นที่ที่ควรจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ กลายเป็นบ่อขยะที่ถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังส่งผลต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะกลายเป็นภาพที่ไม่น่ามอง เป็นบ่อเกิดของมลพิษทางอากาศจากการนำไปเผา หนำซ้ำการเผาขยะยังใช้พลังงานมหาศาล บวกกับก๊าซที่ออกมาจากการเผาวัสดุต่าง ๆ ในเสื้อผ้าไม่ว่าจะกระดุมที่เป็นพลาสติก ซิปที่เป็นโลหะ หรือแม้แต่ตัวผ้าที่เป็นพลาสติก ทำให้ผลลัพธ์ของการเผาวัสดุเหล่านี้ในปริมาณมากกลายเป็นมลพิษทางอากาศจำนวนมหาศาลที่ไม่อาจเลี่ยงได้

    อีกหนึ่งตัวอย่างของประเด็นนี้ คือเหตุการณ์ Dead white man’s clothes หรือ “เสื้อคนขาวที่ตายแล้ว” ซึ่งมาจากการที่ประเทศกาน่าในสมัยก่อนเป็นเมืองเล็ก ผู้คนส่วนมากประกอบอาชีพเป็นช่างฝีมือ คนเย็บเสื้อแบรนด์ท้องถิ่น จนทำให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโตและนำไปสู่การขยายตลาดไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง นั่นทำให้มีเสื้อผ้าจำนวนมากจากประเทศโลกที่หนึ่งถูกส่งกลับมายังประเทศกาน่า และด้วยจำนวนเสื้อผ้าที่มากมายมหาศาล ผู้คนในประเทศกาน่าไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมคนที่ยังไม่ตายจะมาเสื้อผ้าได้มากมายขนาดนี้ ทำให้หลงเข้าใจไปว่านี่เป็นเสื้อผ้าของคนตาย ทั้งที่ความจริงแล้วนี่เป็นผลผลิตของกระแสบริโภคนิยมในยุคสมัยฟาสต์แฟชั่น กองภูเขาเสื้อผ้าใช้แล้วกลายเป็นเป้าหมายของผู้คนในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปขุดค้น หาเสื้อผ้ามาสวมใส่ หรือแม้แต่ในไปขายต่อ ทำให้งานของช่างตัดเสื้อในพื้นที่ลดลงไป ร้านตัดเสื้อในพื้นที่ค่อย ๆ ปิดตัวลง กลายเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เกิดผลกระทบทางวัฒนธรรมจากการที่ผู้คนนำเสื้อผ้าใช้แล้วจากประเทศโลกที่หนึ่งมาสวมใส่และค้าขายกัน

    เสื้อผ้ามือสองในฐานะเสื้อผ้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

    ภาพ: อณัฐิกา พรหมเงิน

    จากประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นบทเรียนสำคัญว่าสินค้าฟาสต์แฟชั่นก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากวิกฤตการณ์อื่น ๆ และดูเหมือนว่า ’ความยั่นยืน’ จะเป็นทางออก แต่เมื่อพูดถึงความยั่งยืน คำถามที่ว่าถ้าฉันไม่ซื้อฟาสต์แฟชั่น แล้วฉันใส่อะไรได้บ้าง? เป็นเหมือนคำถามแรกที่มักถูกยกขึ้นมาตั้งคำถาม กมลนาถได้ยกประเด็นออกมาว่าการใช้ซ้ำหรือการบริโภคเสื้อผ้ามือสองก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

    “หนึ่งคือเราไม่ได้มีเงินใช้จ่ายมากพอที่จะซื้อเสื้อผ้าคุณภาพได้ตลอดเวลา แต่ว่าในขณะเดียวกัน ‘การใช้ซ้ำ’ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ นำมา Mix & Match ใช้ซ้ำเรื่อย ๆ ยิ่งจำนวนการซื้อเสื้อผ้าตามเทรนด์แฟชั่นที่ผ่านมาของเราเยอะมากแค่ไหน ก็ยิ่งจับคู่เสื้อผ้ากันได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

    สองคือการใช้เสื้อผ้ามือสองหรือเสื้อผ้าที่เพื่อนให้มา ต่อจากแม่ ไปงานแลกเสื้อผ้าหรือซื้อมาก็ตามที่เป็นเสื้อผ้าที่มีอยู่แล้วบนโลก ข้อนี้ก็คือการเข้าถึงเสื้อผ้าได้ง่าย มีราคาถูก และยังดีต่อโลกของเรา”

    นี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้คนที่มีรายได้หรือว่ามีทรัพยากรที่จำกัด สามารถเข้าถึงเทรนด์แฟชั่นได้ในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านการซื้อเสื้อผ้ามือสอง

    ทั้งนี้กมลนาถยังหยิบยกความหมายของ ‘Flow’ หรือความลื่นไหลของการแต่งตัวตามแฟชั่น ว่าความเป็นจริงแล้ว ความ Flow ที่ว่าอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องซื้อเพียงแค่ของใหม่ แต่ยังสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการกลับมามองสิ่งใกล้ตัว ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ออกมานอกจากจะยืดอายุเสื้อผ้าแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเสื้อผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อีกด้วย

    การที่ผู้คนหันมาสนใจบริโภคเสื้อผ้ามือสองกันมากขึ้นทำให้เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่แล้วนั้นไม่กลายเป็นขยะไปอย่างรวดเร็ว แต่เสื้อผ้ามือสองพวกนี้ก็เอาจจะเป็นฟาสต์แฟชั่นได้อีกเหมือนกันถ้าหากผู้บริโภคยังเลือกที่จะใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้ง การลดฟาสต์แฟชั่นนั้นไม่ใช่แค่บริโภคเสื้อผ้ามือสองหรือซื้อสินค้าแต่เป็นการใส่ซ้ำโดยลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุดและไม่จำเป็นจะต้องใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป ในเรื่องของการรณรงค์ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะต้องใส่ใจแต่ผู้ผลิต จะต้องตระหนักด้วยว่าโมเดลธุรกิจของตนนั้นส่งผลกระทบทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแแค่ไหน


    อ้างอิง

    ‘ฟอกเขียวต่อไม่รอแล้วนะ’ เมื่อแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น Shein ยังไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

    ประเทศในซีกโลกใต้กำลังเจอปัญหา ‘ขยะสิ่งทอ’ ผลกระทบจากอุตสาหกรรม Fast Fashion

    อุยกูร์ : ฝ้าย “ที่แปดเปื้อน” ของซินเจียง หลักฐานใหม่ชี้มีการบังคับใช้แรงงานในใจกลางอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก


    เกี่ยวกับผู้เขียน  

    ณัฎฐณิชา พลศรี โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

    Related

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...