พฤษภาคม 15, 2024

    มนุษย์ ความเชื่อ ถิ่นที่อยู่ เมื่อสาละวินไม่ใช่แค่แม่น้ำแต่คือจิตวิญญาณของเรา

    Share

    เรื่อง: ณัฎฐณิชา พลศรี

    “สาละวินมันเป็นมากกว่าแม่น้ำเฉยๆ เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนแม่ของเราที่น้ำนมหยดแรกที่เราดื่มมาจากแม่ของเรา แต่น้ำหยดที่สองที่เราดื่มของน้ำสาละวิน”

    – ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่งริมแม่น้ำสาละวิน –

    ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบันมนุษย์ก็ยังคงมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่มองไม่เห็นว่ามีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นเทวดา ผี หรือเทพเจ้า เช่น การเข้าทรงที่สามารถเห็นได้ทั่วโลก เป็นการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือวิญญาณมาเข้าร่างของร่างทรงเพื่อที่จะติดต่อกับมนุษย์บนโลกซึ่งเป็นการเชื่อมโลกมนุษย์และโลกวิญญาณเข้าด้วยกันผ่านตัวกลางที่เรียกว่าร่างทรง ผู้ที่จะมาเข้าร่างของร่างทรงอาจจะเป็นญาติของใครสักคนหรือเทพตนใดตนหนึ่งก็ได้

    บางสังคมมองว่าป่าและแม่น้ำคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอผูกติดอยู่กับธรรมชาติ ป่าสะดือของชาวปกาเกอะญอที่นำสายสะดือของเด็กแต่ละคนไปใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นไม้ โดยมีเชื่อว่าหากต้นสะดือของใครถูกตัดจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย  พิธีสืบชะตาแม่น้ำก็คล้ายกัน การสืบชะตาแม่น้ำเป็นการขอให้แม่น้ำอยู่ต่อไปไม่ให้แห้งเหือด ให้ชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

    พิธีสืบชะตาแม่น้ำคืออะไร?

    ซ้าย ลุงกอเด ขวา ลุงบุญโสง ผู้ทำพิธีสืบชะตา

    พิธีสืบชะตาแม่น้ำ คือ การขออนุญาตใช้น้ำและขอขมาแม่น้ำ โดยดั้งเดิมพิธีสืบชะตามีการทำพิธีแค่ศาสนาเดียว คือ ศาสนาท้องถิ่น ในปัจจุบันที่บ้านสบเมยมีการทำพิธีอยู่ 3 ศาสนา พิธีกรรมทางพุทธ คริสต์ และศาสนาท้องถิ่นหรือศาสนาผี  จะทำพิธีโดยรวมทั้งสามศาสนานี้ด้วยกัน เป็นพิธีที่ต้องทำทุกปีเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ แต่ในปี 2566 ได้ทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำเพียงศาสนาเดียว นั่นก็คือศาสนาท้องถิ่นการสืบชะตาแม่น้ำของชาวปกาเกอะญอจะมีเครื่องเซ่นไหว้  บุญโสงและกอเด เป็นผู้ทำพิธีสืบชะตาที่บ้านสบเมยซึ่งทั้งสองทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำมามากว่าสิบปีแล้ว บุญโสงได้เล่าขั้นตอนการทำพิธีกับเราว่า 

    “ชาวบ้านจะฆ่าไก่และนำไปแกง โดยใช้ส่วนหัวและขาไปวางไว้ที่แท่นพิธี แล้วก็เตรียมเหล้าขาว ข้าวหุงสุก และกุหมิ (ขนมพื้นเมือง) หลังจากเตรียมของเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ก็จะไปทำพิธีกรรม โดยในปี 2566 จะเป็นพิธีกรรมของศาสนาดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ เนื่องจากเวลาว่างที่ไม่ตรงกันของผู้ทำพิธีของแต่ละศาสนา”

    พิธีสืบชะตา ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    โดยผู้ทำพิธีจะสวดทำพิธี หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านก็จะนำของเซ่นไหว้มานั่งกินด้วยกัน เราได้ถามคุณลุงทั้งสองท่านต่อด้วยว่าถ้าหากไม่ทำพิธีสืบชะตาจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งคุณลุงทั้งสองบอกกับเราว่า “ถ้าไม่ทำพิธีสืบชะตาลุ่มน้ำสาละวินก็จะเกิดอาเพศและอาจจะเกิดการสร้างเขื่อนขึ้นได้”

    ทำไมต้องเป็นพิธีสืบชะตา

    พิธีสืบชะตาเป็นความเชื่อที่ชาวบ้านลุ่มแม่น้ำสาละวินเชื่อว่า น้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การขอขมาแม่น้ำจึงถือว่าเป็นการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกรณีที่ล่วงเกินหรือทำอะไรไม่ดีโดยที่ไม่รู้ตัว อีกจุดประสงค์หนึ่งคือขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลแม่น้ำปกป้องรักษาแม่น้ำต่อไปไม่ให้มีคนมาทำลาย ปกป้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำให้และปกป้องคนที่สัญจรผ่านไปมาไม่ให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ 

    หนังสือมนุษย์กับวัฒนธรรมกล่าวว่า “ศาสนามีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนามีอิธิพลแทรกซึมเข้าสู่ทุกปริมณฑลของสังคม วัฒนธรรม และประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์” ยกตัวอย่างที่นักมานุษยวิทยาบางท่านเสนอว่า ความเชื่อแม่มดและหมอผีเป็นรูปแบบหนึ่งของมาตรการควบคุมทางสังคมเพื่อให้สมาชิกในสังคมทุกคนระมัดระวังความประพฤติของตน ศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นที่มาของ ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐานทางสังคมและประเพณี ปัจจุบันพิธีสืบชะตาจึงเป็นอีกกุศโลบายที่ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้ต้านการสร้างเขื่อน 

    โครงการสร้างเขื่อนถือว่าเป็นอาเพศอย่างไร?

    มีผลกระทบจากหลายด้านเมื่อดูจากการสรุปโครงการสร้างเขื่อนของเครือข่ายสาละวิน วอช กล่าวว่า โครงการเขื่อนฮัตจีตั้งอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนไทย-เมียนมา 47 กิโลเมตร ถูกลงทุนโดย บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับบริษัทจากประเทศจีน โดยโครงการเขื่อนถูกขัดค้านจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด เนื่องจากความกังวลต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา การประมง และอ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่อาจท่วมมาถึงพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของหลายหมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน 

    ปี 2552 มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและติดตามผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีรายงานของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังเมียนมาและ DKBA ในบริเวณที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น บริเวณที่ก่อสร้างเขื่อนฮัตจี  และประชาชนที่อพยพจากพื้นที่ความขัดแย้ง ต่อมาปี 2554 มีการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นที่ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  คณะอนุกรรมการได้มีการเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ทำการศึกษาผลกระทบ ต่อมาได้จ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากโครงการเขื่อนฮัตจี สุดท้ายในปี 2556 หลังจากศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีรายงานของศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉบับเดือนธันวาคม ระบุว่าครัวเรือนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีเพียงแค่ครัวเรือนเดียว ที่บ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้นมีความเสี่ยงระดับปานกลางไปถึงต่ำ ทว่ากฟผ.และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการประชุมการมีส่วนร่วมย่อยที่อำเภอแม่สะเรียงเมื่อปลายเดือนธันวาคม เครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่จึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากรายงานไม่มีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบและจัดระดับความเสี่ยงของครัวเรือนได้สามารถยอมรับได้ เนื่องจากไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและทรัพยากร 

    ‘ความเชื่อ’ เครื่องมือในการต่อสู้เพื่อ ‘ปกป้องทรัพยากร’

    ในวันที่ 14 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันหยุดเขื่อนโลก” ซึ่งในปี 2566 ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำสาละวินได้จัด “พิธีสืบชะตาแม่น้ำ” ขึ้น  ที่บ้านสบเมย จุดประสงค์ของพิธีสืบชะตาแม่น้ำนอกจากจะเป็นการขออนุญาตใช้น้ำแล้วยังเป็นกุศโลบายในการต่อต้านการสร้างเขื่อนอีกด้วย เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา มีโครงการสร้างเขื่อนลุ่มแม่น้ำสาละวิน ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างเขื่อนฮัตจีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากโครงการสร้างเขื่อนในกรณีนั้นผิดหลักสิทธิมนุษยชน

    ภาพบรรยากาศระหว่างทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำและต่อต้านการสร้างเขื่อนไปพร้อมกัน ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    จากรายงานของ พนม ทะโน ได้เขียนไว้ว่า ชายวัย 40 ปีจากเมืองปูหลง ที่อพยพมาที่ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ครอบครัวของตนเพิ่งมาถึงในปี 2556 เนื่องจากถูกทหารเมียนมาบังคับใช้แรงงาน แบกของให้แก่ทหาร มีหลายครั้งที่ชาวบ้านเกือบเหยียบกับระเบิด

    “ไปเป็นแรงงาน (ให้ทหารเมียนมา) บางครั้งต้องไป 10 วัน ต้องเอาข้าวไปเอง งานของตัวเองไม่ได้ทำ ต้องไปแบกของหนักๆ บางครั้งเกือบเดินไม่ไหว”

    ประธานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน ได้เผยว่า “การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเนื่องจากการศึกษาระบบนิเวศที่ไม่ครอบคลุมและส่งผลต่อชาวบ้านและผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวินจากการสู้รบในประเทศเมียนมา ทางเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวินจึงไม่สามารถยอมรับการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯได้ ถึงอย่างไรก็ตามแม้เขื่อนฮัตจีจะยังไม่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ก็มีการพูดถึงอยู่เรื่อยๆ ในปัจจุบัน การทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนจึงไม่ได้หายไป”

    แล้วทำไมจึงคัดค้านการสร้างเขื่อน

    การสร้างเขื่อนช่วยให้ลดปัญหาน้ำท่วมฉับพลันได้จากการชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากและช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้บริโภค อุปโภคในชีวิตประจำวันและการเกษตร  น้ำที่ถูกกักไว้จะถูกปล่อยให้ใช้ในช่วงที่น้ำแล้ง และผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยที่เขื่อนจะเก็บน้ำเอาไว้ เมื่อปล่อยน้ำออกจากเขื่อนพลังน้ำก็จะไปหมุนกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

    แม้ว่าการสร้างเขื่อนจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้ แต่การสร้างเขื่อนมีความเสี่ยงอย่างมากสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวิน ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำที่เลี้ยงชีพชาวปกาเกอะญอในด้านการเกษตร ประมง บริโภค และการแลกเปลี่ยนซื้อขาย หากมีการสร้างเขื่อนขึ้นจริงๆ ระบบนิเวศแม่น้ำจะพัง จากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ก็จะกลายเป็นแม่น้ำที่ไม่มีอะไรเลย  ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นอาจจะต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมหายไป และยังอาจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่อยู่อาศัยใหม่ สำหรับชาวปกาเกาะญอที่เชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเชื่อว่าธรรมชาติมีเจ้าของนั้น หากพวกเขาย้ายถิ่นฐานไป ก็จะไม่มีป่าสะดือ พิธีบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ อันซึ่งเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างหนึ่งของชาวปกาเกอะญอที่ทำให้ธรรมชาตินั้นยังอุดมสมบูรณ์อยู่ถึงแม้จะอยู่ร่วมกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ไม่มีอะไรทำให้มั่นใจได้เลยว่าการสร้างเขื่อนจะไม่ทำลายสิ่งที่ชาวปกาเกอะญออนุรักษ์ไว้มาอย่างช้านาน นอกจากวัฒนธรรมแล้วก็ยังมีป่าไม้ที่อุดสมบูรณ์ที่จะถูกทำลายด้วยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่งเพราะต้องการจะสร้างเขื่อนแต่ไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมา ถึงแม้การสร้างเขื่อนจะถูกชะงักไว้เนื่องจากเหตุการณ์การคัดค้านการสร้างเขื่อน มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และ กองกำลังฝ่ายรัฐบาลเมียนมา การสร้างเขื่อนจึงถูกชะงักไว้จนถึงปัจจุบัน

    ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่งริมแม่น้ำสาละวิน ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    ในมุมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำสาละวิน เราได้สัมภาษณ์ ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่งริมแม่น้ำสาละวินเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวสาละวินและผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อน ลาหมึทอได้บอกกับเราว่า “ทุกวันนี้เขื่อนฮัตจียังไม่ได้สร้างขึ้นมายังมีผลกระทบขนาดนี้ จำได้ว่าเมื่อสองสามปีที่แล้วที่เรากลับมาทำวิจัยที่บ้านของเรา ปรากฎว่าระดับน้ำที่ขึ้นมันขึ้นผิดปกติ สูงกว่าปกติ ทำให้บ้านของชาวบ้านถูกน้ำท่วม แล้วก็สวน ไร่ของชาวบ้านก็ถูกน้ำท่วมได้รับผลกระทบ ถ้ามีเขื่อนฮัตจีหรือเขื่อนใดๆที่เกิดขึ้นบนแม่น้ำ ไม่ต้องเหลือทรัพยากร เขาถึงว่าป่าสาละวินเป็นป่าผืนสุดท้ายของแหล่งทรัพยากรของประเทศไทย ถ้าคุณคิดจะสร้างคุณเตรียมสละทรัพยากร มรดกชิ้นดีของคุณได้เลย ทุกวันนี้เขายังไม่เห็นของดีของผืนป่าที่พวกเราอาศัยอยู่ ผืนป่าที่เป็นแหล่งสีเขียวสุดท้าย มีนักวิจัยและนักวิชาการหลายคนที่เข้าไปในพื้นที่แล้วรู้สึกว่านี่เป็นผืนป่าผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ไม้สักทองก็ยังมีอยู่ เรารู้สึกว่าเขายังไม่เห็นความสำคัญของตรงนั้น เขากลับหาผลประโยชน์ เงินทุนบางอย่างที่มาจากข้างนอกแต่เขาไม่ได้คิดถึงระยะยาว เขาคิดถึงแค่ระยะสั้นของสิ่งที่เขาจะได้มา 

    ยิ่งกว่าการได้รับผลกระทบและการสูญเสีย คือ “จิตวิญญาณ” มันมีตำนานเล่าต่อกันมาว่าแม่น้ำสาละวินคือแม่น้ำแห่งความโกรธเกรี้ยว ครั้งหนึ่งมีหนุ่มไทยไปตกหลุมรักสาวรัฐกะเหรี่ยงแล้วเขาตามกันไป จนวันหนึ่งหนุ่มคนไทยสารภาพว่ามีเมียแล้ว แล้วเขาก็คิดหาวิธีที่จะฆ่าเมียคนที่สองที่เป็นคนกะเหรี่ยง เขาจึงใช้มีดปาดคอภรรยาทิ้งลงแม่น้ำ แม่น้ำสาละวินจึงเป็นแม่น้ำแห่งความเจ็บปวด โศกเศร้า และความยินดี ยายเราเป็นคนที่ข้ามไปข้ามมาแม่น้ำสาละวินในช่วงสงคราม แกมีความทรงจำที่โศกเศร้า มีความทรงจำที่มีความสุขเพราะไปมาหาสู่ระหว่างญาติพี่น้อง สาละวินมันเป็นมากกว่าแม่น้ำเฉยๆ เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนแม่ของเราที่น้ำนมหยดแรกที่เราดื่มมาจากแม่ของเรา แต่น้ำหยดที่สองที่เราดื่มของน้ำสาละวิน”

    การสร้างเขื่อนจึงเปรียบเสมือนอาเพศของชาวสาละวินเพราะได้ทำลายทรัพยากรและระบบนิเวศที่ชาวบ้านรักษามาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นเพื่อที่จะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ผ่านกุศโลบายทางวัฒนธรรม แม่น้ำสาละวินสำหรับผู้ที่คิดจะมาสร้างเขื่อนอาจจะเป็นแค่แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไหลจากธิเบตสู่มหาสมุทรอินเดียที่สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล แต่สำหรับชาวสาละวินแล้ว คนที่จะเข้ามาทำลายนั้นไม่ให้เกียรติแม่น้ำที่พวกเขาเคารพนับถือ คงไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาทำลายบ้านของตนเอง ชาวสาละวินก็เช่นกัน การที่ชาวสาละวินลุกขึ้นมาต่อต้านการสร้างเขื่อนก็เพราะต้องการปกป้องบ้านของพวกเขา และต้องการปกป้องแม่น้ำสาละวินที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวสาละวินจนเติบใหญ่จากรุ่นสู่รุ่น

    ทิศทางของธุรกิจสะเทือนสิ่งแวดล้อม และการต่อสู้ด้วยกุศโลบายในยุคของรัฐบาลเศรษฐา

    ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ เศรษฐา ทวีสิน ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะมีการสานต่อนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เอื้อกลุ่มทุน ละเมิดสิทธิคนจน ท่ามกลางความพยายามเดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อย่างโครงการเขื่อนฮัตจี หรือที่เป็นที่จับตามองในช่วงไม่นานมานี้อย่างเขื่อนปากแบง อีกทั้งยังมีพรรคร่วมรัฐบาลหน้าเดิมที่เคยเดินหน้านโยบายละเมิดสิทธิชุมชนและสนับสนุนกลุ่มทุนอีกด้วย

    หนึ่งในนโยบายของ เศรษฐา คือการเดินหน้าทำ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 โดยรัฐไทยได้กำหนดตัวเลขพื้นที่สีเขียวเพื่อตอบสนองแนวคิด Net Zero ไว้ว่า ต้องมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 (113.23 ล้านไร่) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 (48.52 ล้านไร่) และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท (ร้อยละ 5) 16.17 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ป่าดังกล่าวยังมีไม่ถึงเป้าหมาย จึงได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าก่อนถึงปี 2580 นำไปสู่ปัญหาคือการเพิ่มพื้นที่ป่านั้นทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่พื้นที่โครงการจัดที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทุกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ การขึ้นทะเบียนป่าชุมชน การเร่งประกาศหรือผนวกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และแม้แต่ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ก็อยู่ในเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าว

    ทางด้านของชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่กับป่าหรือแม่น้ำต่างรู้กันว่าทรัพยากรเหล่านี้มีหน้าที่ที่หลากหลายและสำคัญเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นที่สาละวินหรือที่อื่นๆ และมีพิธีกรรมทางความเชื่อมากมายที่ถูกใช้เพื่อแสดงความเคารพนับถือต่อธรรมชาติที่พวกเขาให้ความสำคัญ อย่างเช่น พิธีเลี้ยงดง ความเชื่อที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนและมีความเชื่อว่าเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษของชาวลัวะ เพื่อถวายเครื่องเซ่นบูชาแก่ยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ ที่เชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาดอยสุเทพ-ปุย และดอยคำให้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือกุศโลบายในการใช้สิ่งศักดิ์จากความเชื่อท้องถิ่น หรือการนับถือผี ที่ถูกกล่าวไว้ก่อนหน้า ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้กลมเกลียวกันเป็นหมู่คณะจากความเชื่อที่มีร่วมกัน  รวมไปถึงการสร้างขวัญกำลังใจ การเยียวยา หรือกำหนดระบบระเบียบของสังคมในการให้ทำหรือห้ามทำอย่างใดอย่างหนึ่ง 

    อย่างที่เห็นกันอย่างชัดเจนว่าวิถีชิวิตของชาวบ้านและความเชื่อในศาสนานั้นกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ เช่นเดียวกันกับในบริบทของพื้นที่ของแม่น้ำสาละวินที่ยึดโยงเข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อย่างเหนียวแน่น จนเกิดการทับซ้อนกันในการดำรงอยู่ จึงอาจจะพูดได้ว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านและแม่น้ำสาละวินให้สืบต่อไป

    สุดท้ายแล้ว ความตั้งใจของรัฐบาล เศรษฐา ก็ชี้ชัดแล้วว่ารัฐที่มีอำนาจเด็ดขาด มองเห็นความสำคัญของแม่น้ำสาละวินไม่เหมือนกับชาวบ้านในพื้นที่ และประชาชนอย่างเราอาจจะได้แต่ตั้งคำถามว่าการผนวกรวมความเชื่อ และการต่อสู้ด้วยกุศโลบายจากศาสนาต่างๆ จะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ได้อีกนานแค่ไหน 

    อ้างอิง

    Related

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...

    มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอนจบ) ของกิ๋นพะเยา ไประดับโลกได้ไหม

    เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา อ่าน เมดอินพะเยา: มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน...