พฤษภาคม 12, 2024

    สกน.จัดเวทีท้าทายพรรคการเมืองเสนอ 6 นโยบาย ย้ำต้องแก้รัฐธรรมนูญและปัญหาป่าไม้ที่ดิน

    Share

    ภาพ : กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    วันที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 08.00 – 13.00 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จัดเวทีท้าทายนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพรรคการเมือง  การเดิมพันเจตจำนงแห่งกรรมสิทธิ์รวมบนการต่อสู้สู่สังคมประชาธิปไตย : ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ภาพ : วิเชียร ทาหล้า

    กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเดินขบวนรณรงค์แสดงจุดยืนของเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ตั้งแต่บริเวณคณะสังคมศาสตร์ไปยังบริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อถึงคณะนิติศาสตร์มีการประกาศวัตถุประสงค์ของเวทีโดย สุแก้ว ฟุงฟู ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เพื่อเสนอเสียงเรียกร้องจากประชาชน เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือสู่พรรคการเมือง พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนร่วมกันจับตาเวทีพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ว่า

    ภาพ : กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    “พวกเราคือกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และนโยบายของรัฐในด้านการจัดการคือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มประชาชน เกษตรกรรายย่อย และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงโครงการพัฒนาของรัฐ และทุนที่ร่วมกับรุมทึ้ง ทำลาย ในที่ดินทำกิน และฐานทรัพยากรจากพวกเรามาหลายยุคสมัย

    ภาพ : กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

    อย่างไรก็ตามท่ามกลางภัยคุกคามเหล่านั้น พวกเราก็ได้ร่วมกันยืนหยัดต่อสู้ และเผยแผ่อุดมการณ์ “สิทธิชุมชน” สู่ผู้คนหลากหลาย ยืนหยัดทัดทานอำนาจอยุติธรรม เรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหามาทุกรัฐบาล บนเส้นทางการต่อสู้ของเราที่ผ่านหลายยุคสมัยนั้น ยังไม่ปรากฏรัฐบาลไหนที่ทำให้แนวคิดสิทธิชุมชนได้รับการรับรองในทางปฏิบัติ สังคมประชาธิปไตยยังไม่อาจบังเกิด

    วันนี้ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สหฟันธ์เกษตรภาคเหนือ จะได้ร่วมกันนำเสนอเสียงเรียกร้องของกลุ่มประชาชน เกษครกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือสู่พรรคการเมืองอีกครั้ง ร่วมยืนนันหลักการ “ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย” ฟังวิสัยทัศน์จากพรรคการเมืองอย่างถี่ถ้วน การต่อสู้ของประชาชนอย่างพวกเราจะยังดำเนินต่อไปแม้ยังไม่บรรลุเป้าหมายในเร็ววัน แต่เราจะใช้สิทธิของเราในฐานะประชาชนอย่างต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อจับตา นำเสนอ วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงท้าทายนโยบายด้านที่ดิน-ป่าไม้ ซึ่งถือเป็นนโยบายสาธารณะอย่างถึงที่สุด และขอเชิญชวนผองเพื่อนทั้งหลายร่วมกันติดตาม จับตา นำเสนอวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงท้าทายนโยบายด้านที่ดิน ป่าไม้ ร่วมกัน”

    หลังจากการเดินขบวนและการกล่าวบริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์แล้วมีการชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีในครั้งนี้ รวมไปถึงการพูดคุยถึงบริบทสถานการณ์ทางการเมืองด้านสิทธิชุมชนที่หลังรัฐประหาร 2557 และสถานการณ์ที่ดินป่าไม้ในภาคเหนือ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,รองศาสตราจารย์ ประภาศ ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) 

    นัทมน กล่าวว่า เวทีในวันนี้เป็นการส่งเสียงของภาคประชาชนในการส่งเสียงในเรื่องของนโยบายที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ถือว่าเป็นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะพี่น้องที่อาศัยใช้ชีวิตในป่า ที่มีความผูกพันธ์กับป่า เพราะฉะนั้นประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ต้องมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าพรรคการเมืองจะรับฟังและรับปากพร้อมที่จะทำตามสัญญาไหม ไปจนถึงหลังวันเลือกตั้งประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของตนเอง การเมืองเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบโครงสร้างออกแบบที่เราต้องช่วยกันในการผลักดัน

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ประภาศ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองด้านสิทธิชุมชนที่หลังรัฐประหาร 2557 ที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่าและโครงสร้างระบบกลไกการจัดการกฎหมายนโยบายที่เป็นการทำงานแบบรัฐรวมศูนย์ เน้นกลไกการบริหารจัดหารจัดการเชิงสถาบัน ผ่าน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบ รัฐประหาร 2557 มีการปรับปรุง พ.ร.บ.กอ.รมน. ที่นิยาม “ความมั่นคงใหม่” แบบครอบจักรวาล และเพิ่มบทบาทในการจัดการด้านทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน ส่วนทางกันกับภาคประชาชนในปัจจุบันที่ปัญหาป่าไม้ที่ดินมีการพูดถึงและต้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมากยิ่งขึ้น 

    ประภาศ ได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมือง ว่า ควรจะนำประเด็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรชาวบ้านและภาคประชาชน ที่มีข้อเสนอของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกลไกเชิงสถาบัน กฎหมายที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการปรับเปลี่ยนกลไกเชิงสถาบันและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเสนอนโยบายสาธารณะที่ยกเพดานสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับกลไก การบริหารที่ดินในเขตป่า

    ประยงค์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่ดินป่าไม้ในภาคเหนือว่า เรื่องสำคัญของปัญหาด้านที่ดินในไทย คือการกระจุกตัวของโฉนดที่ดิน 33 ล้านฉบับอยู่ในมือของคน 15 ล้านคน และอีก 3 ล้านคนครอบครอง 79.8% ของโฉนดที่ดินในไทย ซึ่งคนที่มีที่ดินมากที่สุดในไทยถือครองที่ดินมากที่สุด 630,000 ไร่ ซึ่งเทียบเท่า 1 จังหวัดของประเทศไทย 

    ประยงค์ ได้เสริมในประเด็นการดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่าว่า ในช่วงปี 2557 – 2562 มีคนถูกดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่ากว่า 46,000 คดี เป็นคดีที่อยู่ในอุทยาน 20,000 คดี และส่วนใหญ่เป็นคดีแห้ง เราจึงผลักดันในการนิรโทษกรรมคดีเหล่านี้ 

    ประยงค์ ได้กล่าวถึงประเด็นที่ดินที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศไทยมากขึ้น ว่า โครงการที่ดิน คทช. ที่นำมาแทนโฉนดชุมชนที่ให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กลับไม่ให้อำนาจกับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินที่ยกเว้นภาษีกับคนที่มีที่ดินจำนวนมากแต่กลับไม่ยกเว้นให้กับประชาชนทั่วไป

    หลังจากนั้นมีการจัดเวทีท้าทายนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพรรคการเมือง เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนประชาชนจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ประกอบด้วย สุแก้ว ฟุงฟู, ดิเรก กองเงิน, ธนา ยะโสภา, กัญญรัตน์ ตุ้มปามา, อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง, จรัสศรี จันทร์อ้าย เสนอนโยบาย 6 ด้าน จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ดังนี้ 

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    1.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ฉบับประชาชน เสนอให้ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องล้างมรดก คสช. ป้องกันการรัฐประหาร ทลายทุนอภิสัทธิ์ชนลดความเหลื่อมล้ำ สร้างนิติรัฐที่มีความเป็นธรรมทางสังคม สร้างรัฐสวัสดิการ กระจายอำนาจ อาทิ สิทธิชุมชนท้องถิ่น และมีเสรีภาพ เท่าเทียมเสมอภาค ภราดรภาพ

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    โดยตัวแทนประชาชนได้กล่าวเสริมว่า กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยอำนาจส่วนกลางซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 มีการกีดกันประชาชนในการมีส่วนร่วม

    2.ทรัพยากรป่าไม้ การจัดการป่า ต้องมีการล้างมรดกจัดการป่ายุคสงครามเย็นและเผด็จการทหารรวมไปถึงหยุดกลไกผูกขาดอำนาจจัดการป่าไม้โดยหน่วยงานรัฐรวมศูนย์ ยกเลิกกฎหมายป่าไม้ที่ล้าหลังที่ละเมิดสิทธิประชาชนรวมไปถึงนโยบายป่าไม้ชุดใหม่โดยประชาชน คืนอำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชนและท้องถิ่น และปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานรัฐด้านป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ 

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ตัวแทนประชาชนเสริมว่า คสช.นั้นใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้แบบรัฐรวมศูนย์ทำให้ประชาชนที่อยู่ในป่าได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับขุมชน การผูกขาดความรู้ที่นิยามความรู้ให้มีแค่ชุดเดียวผลักความรู้ในการจัดการป่าไม้ของชาติพันธุ์ให้เป็นอื่น ไร้ความหลากหลาย

    3.ที่ดิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมคืนสิทธิให้ประชาชนผู้ถูกรัฐแย่งยึด ยกระดับระบบกรรมสิทธิ์ร่วมและระบบภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า จำกัดเพดานการถือครองที่ดินและควบคุมราคาที่ดิน เวนคืนที่ดินกลุ่มเจ้าที่ดินให้ผู้ไร้ที่ดินรวมไปถึงสร้างกฎหมายและนโยบายที่ดินชุดใหม่ทั้งระบบ และมีกลไกป้องกันการแย่งยึดที่ดินจากรัฐกลุ่มทุนในและนอกประเทศ

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ตัวแทนประชาชนเสริมว่า ต้องมีการคุ้มครองพื้นที่ทางเกษตรกรรม และมีการจัดสรรที่ดินรกร้างให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้

    4.โครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการปกป้องและจัดการนิเวศให้เหมาะสมกับท้องถิ่น โครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน และยึดหลักที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนในการกำหนดการพัฒนาอย่างแท้จริง โครงการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนต้องจัดสรรที่ดินทดแทนและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม ประชาชนทุกคนต้องได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการชุมชนและท้องถิ่นในที่ดินทุกประเภท

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ตัวแทนประชาชนได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า พื้นที่เขตป่าที่รัฐและทุนออกแบบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบ รวมไปถึงการที่รัฐสามารถเข้าถึงพื้นที่เขตป่าได้โดยง่ายแต่ประชาชนที่อยู่กับป่ามานานกลับไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึง

    5.ปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสมอหน้า คนจนเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว นิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดินและผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ต้องตั้งกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม รวมไปถึงการใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหาและส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ตัวแทนประชาชนได้เสริมต่อว่า มีคนที่ติดคดีอยู่ในเรือนจำที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนเนื่องจากแนวคิดแบบรัฐรวมศูนย์ที่ทำให้คนที่อยู่กับป่ามามากกว่า 100 ปี มีความผิดและต้องถูกจองจำ

    6.รัฐสวัสดิการต้องสร้างรัฐสวัสดิการให้กับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์ LGBTQ+ แรงงาน พนักงานบริการ ชาวนา ต้องเข้าถึงสวัสดิการการศึกษา สาธารณสุข งานและรายได้ ประกันสังคม ที่ดิน ที่อยู่อาศัย เข้าถึงที่อยู่อาศัยคุณภาพ การขนส่งสาธารณะ โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น รวมไปถึงการปฏิรูประบบภาษี

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ตัวแทนประชาชนเสริมว่า รัฐต้องคิดให้ครอบคลุมในการดูแลประชาชนจริง ๆ ต้องดูแลจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และต้องอำนวยความสะดวกอย่างเสมอภาคที่นอกจากที่ดินที่เป็นปัญหาใหญ่แล้ว ต้องครอบคลุมไปถึง การศึกษา สาธารณสุข และอีกมากมาย

    โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด 7 พรรค มานพ คีรีภูวดล พรรคก้าวไกล ,ณัฐปคัลภ์ ศักดิ์ปิยเมธากุล พรรคชาติไทยพัฒนา ,พันธวัช ภูผาพันธกานต์ พรรคพลังประชารัฐ ,จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ พรรคประชาธิปัตย์ คะติมะ หลีจ๊ะ พรรคสามัญชน ,มนตรี บุญจรัส พรรคประชาชาติ และทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ พรรคพลังสยาม เข้าร่วมรับฟังนโยบายพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการแก้ไขด้านนโยบายของพรรค โดยพรรคทั้งหมดกล่าวว่าจะนำความเห็นและนโยบายที่ได้รับฟังในวันนี้ไปปรับใช้ในระบบรัฐสภาเพื่อเป็นปากเสียงของประชาชน 

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ซึ่งทั้ง 7 พรรค เห็นพ้องเช่นเดียวกันว่า ควรมีการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญโดยมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งรายละเอียดของวิสัยทัศน์แต่ละพรรคแตกต่างกันดังนี้

    พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีความแน่วแน่ชัดเจนว่า ภายใน 100 วันแรกที่เข้าไปเป็นรัฐบาล จะมีการรณรงค์ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะถามความเห็นและความต้องการประชาชนว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจของ คสช. ต้องการจะแก้ไขหรือไม่ ถ้ามติผ่านว่าต้องการแก้ไข จะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการ สสร. ที่มีตัวแทนจากชประชาชนทุกภาคส่วน และเห็นว่าหมวดสิทธิชุมชนที่เคยบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 ต้องนำกลับมารื้อฟื้นใหม่ รวมถึงเรื่องกระจายอำนาจ ที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้  แต่ถ้าหากหลังการเลือกตั้ง ทางพรรคไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล จะพยายามใช้ช่องทางทุกช่องทางที่มีในรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมันไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าประชาชน รัฐธรรมนูญมีการร่างขึ้นมาได้ก็ต้องสามารถแก้ไขได้ หมวดใดที่กระทบสิทธิประชาชน ไม่สามารถทำมาหากิน ทางรัฐบาลก็ต้องแก้ไข เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่บัญญัติขึ้นมาแล้วเพื่อสร้างเงื่อนไขให้ประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิอยู่อาศัยที่ได้ทุกที่ และการออกกฎหมายอุทยานฯ มาจำกัดสิทธิประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่สมควร

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคประชาชาติ กล่าวว่า หากได้เข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาล ทางพรรคจะนำชุดนโยบายที่เกี่ยวกับการสร้างประชาธิปไตย คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน รวมถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ และพรรคจะสร้างความสุข สร้างความมั่นคงให้ประชาชน หากประชาชนมีที่ดินทำกิน มีรายได้เพียงพอ ทางพรรคยินดีช่วยให้ประชาชนดีขึ้น

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคสามัญชน กล่าวว่า สิ่งแรกที่พรรคจะแก้ไขคือเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนไม่มีตัวตนและไร้ความเป็นคน จะแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เพราะพรรคมองเห็นว่าประชาชนทุกคนคือคน พรรคจะยกเลิกประเด็นปัญหาในยุค คสช. ทั้งหมด ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยใช้ สสร. หรือเรื่องสิทธิชุมชนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ตอนนี้แทบไม่มี ทำให้คนที่อยู่ในเขตป่าได้รับผลกระทบเยอะมาก พรรคจะแก้ไขเรื่องนี้เหมือนกัน และจะทำอย่างไรก็ได้ให้สิทธิชุมชนกลับมาในรัฐธรรมนูญ

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉันทามติของคนทั้งประเทศว่าจะต้องแก้ไข จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และกฎหมายลูกที่ออกมา ปี 2560 ทางพรรคเข้าใจได้ว่าออกมาใน ‘ช่วงรัฐหวาดระแวง’ รัฐธรรมนูญจึงใช้เพื่อควบคุม สั่งการ โดยการกระจุกอำนาจที่ส่วนกลาง แต่วันนี้ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ข้างล่างก็จะแก้ตามด้วย ดังนั้น การที่จะแก้รัฐธรรมนูญแบบไหน อย่างไร ต้องถามหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ 

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ อย่างกรณี ส.ว. ที่เกิดจากการแต่งตั้งก็แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และทางพรรคเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งแก้ในบทบาทของสภาหรือในส่วนของภาคประชาชน และยึดมั่นในหนึ่งนโยบายคือ นอกจากสร้างงาน สร้างคน ต้องสร้างชาติ ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยของประเทศเข้มแข็ง

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคพลังสยาม กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดที่ 3 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนที่ 12 ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่ ที่ทำกิน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีหลายมาตราที่ควรมีส่วนร่วมด้วยกัน โดยเฉพาะสิ่งที่ประชาชนมาเสนอและร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    นอกจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทั้ง 7 พรรคก็ได้แสดงความเห็นและนโยบายเรื่องที่ดินป่าไม้ไทย ดังนี้

    พรรคก้าวไกล  กล่าวว่า ทางพรรคเตรียมร่างกฎหมายเข้าสู่สภา 40 ฉบับ ซึ่งมี 7 ฉบับ เป็นเรื่องที่ดินและป่าไม้ และเห็นว่าต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทันที โดยกำหนดนิยามคำว่าป่าใหม่ให้สอดคล้องกับสากลโลก ต้องไม่ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน ทางพรรคได้เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และจำเป็นต้องพูดถึงกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ก่อนกฎหมาย ต้องคืนที่ดิน 10 ล้านไร่ให้ประชาชน กระจายอำนาจให้ประชาชนโดยตรง ส่วน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทางพรรคได้ยกร่างแล้ว และเห็นว่าจำเป็นต้องแยกชุมชนที่ทับซ้อน เพิกถอนออกมา

    พรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวว่า พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ร.บ.อุทยานฯ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่แปลงเดียวที่ถูกกฎหมายประกาศทับ 3 ฉบับ ซึ่งในประเทศอื่นๆ ไม่เป็นเช่นนี้เหมือนประเทศไทย และเป็นปัญหาที่ไม่มีผู้แก้ไข ทางพรรคต้องการจะแก้ไขเรื่องป่าสงวน มาตราใดที่กระทบกับประชาชนจะต้องไปแก้ไขให้หมด ไม่ใช่การที่ประชาชนทำมาหากินปกติ กลับถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปจับกุม และระบุว่าบุกรุกป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานฯ ดังนั้นต้องเพิกถอน พ.ร.บ.ป่าไม้ ป่าสงวน เพิกถอนออกไปจากประชาชน ไม่ใช่จับกุมชาวบ้านมาดำเนินคดี

    พรรคประชาชาติ กล่าวว่า การแก้กฎหมาย ควรย้อนไปตั้งแต่กฎหมายปี 2475 ที่ให้สิทธิที่ดินเกษตรกร 50 ไร่ ที่อุตสาหกรรม 10 ไร่ ที่อยู่อาศัยอีกไม่เกิน 5 ไร่ และรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง รวมถึงยกเลิกกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาถูกพื้นที่ทับซ้อนหรือถูกกลั่นแกล้ง 

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    พรรคสามัญชน กล่าวว่า ควรยกเลิก คทช. และสนับสนุนโฉนดชุมชน สนับสนุนกระจายที่ดิน ทางพรรคต้องการให้ประชาชนทุกคนมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตัวเอง ที่ชุมชนจะเป็นเขตป่าไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วน คทช. เปรียบเสมือนกรงขังคุกที่กักกันชั่วกัปชั่วกัลป์ ส่วนกฎหมายป่าไม้ที่ดินส่วนที่ดีทางพรรคจะคงไว้ ส่วนที่ไม่ดีจะปรับปรุง และนิรโทษกรรมคดีกฎหมายป่าไม้ 40,000 กว่าคดีทั้งหมด

    พลังประชารัฐ กล่าวว่า ปัญหาเกิดมาจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับล่าสุด มีการจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีมากมาย ทางพรรคจะแก้กฎหมาย แต่ก่อนถึงเรื่องนั้น ทางพรรคจะรับรองสิทธิของชุมชนให้ได้ก่อน และจะดำเนินการเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทุกประเภท ตลอด 8 ปีที่ผ่านมารัฐล้มเหลวในการจัดการทรัพยากร เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน พรรคพลังประชารัฐจึงต้องการเปิดพื้นที่ใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

    พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคเคยผลักดันป่าชุมชน โฉนดชุมชน ซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว และพรรคเคยสามารถประกันรายได้เกษตรกรได้สำเร็จ ทั้งภาคการส่งออกผลไม้ต่างประเทศทดแทนรายได้จากสถานการณ์โควิด ทำได้อันดับต้นของโลก สะท้อนว่าทางพรรคตั้งใจผลักดันนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยมี 2 นโยบายใหญ่ คือ ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงใน  4 ปี และ ออกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ

    พรรคพลังสยาม กล่าวว่า ชาวบ้านโดน พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ มากที่สุด จึงมีหลายมาตราต้องแก้ไข เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีประชาชนและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทางพรรคจะไปฉายข้อจำกัดเหล่านี้ให้กลุ่มที่มีอำนาจในสภาเพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขต่อไป

    ส่วนข้อเสนออื่น ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาของรัฐ-เอกชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และรัฐสวัสดิการ แต่ละพรรคจะรับไปพิจารณาต่อไป

    นอกจากมีเวทีท้าทายนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพรรคการเมือง มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พูดถึงปัญหา ข้อเสนอและตั้งคำถามต่อพรรคการเมือง โดยมีสาระสำคัญคือ คดีทางการเมือง ,การศึกษาที่ส่งผลต่อคติทางชาติพันธุ์ ,การเลือกตั้งในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งจำแลง นักการเมืองหลายคนโกหกประชาชนรวมไปถึงงูเห่าเข้าร่วมกับพรรคที่เป็นมรดกของ คสช. ,กกต.และ สว. ที่สร้างอำนาจให้กับรัฐบาลชุดเดิม ,ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีผลต่อประชาชนทางคดีและการออกจากพื้นที่อยู่อาศัย และวิธีในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้พูดแค่ในเชิงหลักการ เป็นต้น

    สุดท้ายมีการอ่านแถลงการณ์จาก กัญญรัตน์ ตุ้มปามา กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือต่อเวทีท้าทายนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพรรคการเมือง มีเนื้อหาดังนี้

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    นับแต่สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตย อันมีความใฝ่ฝันถึงสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของทั้งสังคมที่ทัดเทียมอารยะสากล

    เช่นเดียวกับ “การปฏิรูปที่ดิน” ที่เป็นวาระสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง-เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะมีความพยายามอย่างถึงที่สุดในการผลักดันการกระจายการถือครองที่ดิน สิทธิในที่ดินสู่มือประชาชนฐานราก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวนาชาวไร่ คนไร้ที่ดิน เกษตรกรรายย่อย ชุมชนชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    แต่กลับพบว่าสถานการณ์ด้านการจัดการที่ดินกลับยิ่งทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ขยายช่องว่างสูงต่ำทางชนชั้น ส่งให้กลุ่มคนส่วนน้อยในสังคมได้ครอบครองความมั่งคั่งผ่านระบบกรรมสิทธิ์เอกชนภายใต้กลไกตลาดทุนนิยม ค้ากำไร แย่งยึดที่ดินผ่านอำนาจรัฐ อำนาจเศรษฐกิจการเมือง

    ขณะที่คนส่วนใหญ่ รวมถึงคนรุ่นต่อไปที่ถูกพรากโอกาส ลิดรอนสิทธิในการสร้างรากฐานชีวิตบนผืนดินที่ควรจะเป็นสิ่งส่วนรวมเพื่อประโยชน์ร่วมของทุกคนและประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องทนอยู่ในที่ดินของรัฐที่คอยแต่จะกดขี่บงการชีวิตอย่างเลือดเย็น

    วันนี้ เรากำลังจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองท่ามกลางวิกฤตความเหลื่อมล้ำในที่ดิน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างเวที “สัญญาประชาคม” ระหว่างความฝันของประชาชนกับนโยบายพรรคการเมืองเพื่อเป็นพันธะสู่การจับตา ติดตาม แม้กระทั่งด่าประจานหากถูกโป้ปดหักหลัง เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาของพวกเราและขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้จางหายไป และนี่คือการเดิมพันเจตจำนงแห่งกรรมสิทธิ์ร่วมบนการต่อสู้สู่สังคมประชาธิปไตย

    แด่ “ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย” และความเชื่อมั่นในขบวนการประชาชน

    10 เมษายน 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

    Related

    หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว....

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....