พฤษภาคม 9, 2024

    ปัญหาของการไปไม่ทะลุกรอบอาณานิคม

    Share

    ปาฐกถาในหัวข้อ “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วราภรณ์ เรืองศรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเวทีวิชาการ Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 2 ตึก 3 (ภาควิชาสังคมวิทยาฯ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    โจทย์คือล้านนาทะลุกรอบกรอบอาณานิคม เราเลยไปคิดต่อว่า “แล้วปัญหาของการที่เรายังไปไม่ทะลุกรอบอาณานิคม มันเป็นเพราะอะไรกันแน่?” มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรายังวนเวียน คุยกันเรื่องพวกนี้อยู่…

    สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจและเข้ามาทำงานเชิงวิชาการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งปัจจุบันอาจจะแปลงสารออกไปในรูปแบบของงานศิลปะ งานวรรณกรรม งานเขียน งานสื่อสารมวลชน และงานวิชาการ

    เราตั้งโจทย์ไว้ว่า “ปัญหาของการไปไม่ทะลุกรอบอาณานิคม” โดยเริ่มจากคำถามที่ว่า “เราวิพากษ์ความรู้ อำนาจ และความสัมพันธ์แบบอาณานิคมมากพอหรือยัง” และ “งานศึกษาเกี่ยวล้านนาและสยามในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สมัยใหม่ จะสามารถสลัดข้อถกเถียงหรือความรู้เกี่ยวกับอาณานิคมได้ไหม”

    ถ้าเราย้อนกลับไป ตั้งแต่ความคิดเรื่องสังคมไทยอยู่ในสภาวะกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เราจะนึกถึงชื่ออุดม ศรีสุวรรณ ขึ้นมา เราได้ยินคำว่ากึ่งอาณานิคมในแวดวงวิชาการไทยศึกษา เราก็จะนึกถึงชื่อของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุลขึ้นมา อาจารย์ธงชัย เคยเสนอไว้ว่า ท่าทีของสยามในบริบทอาณานิคม คือ การถูกคุมคามจากมหาอำนาจ แต่กลุ่มชนชั้นนำก็ได้ประโยชน์หรือพึ่งพิงจากมหาอำนาจด้วย โดยสัมพันธ์กับการจัดการพื้นที่ที่มีลักษณะคลุมเครือ อย่างกรณีของล้านนา ซึ่งประเด็นเรื่องกึ่งอาณานิคมนั้น มันจะเชื่อมต่อกับประเด็นอาณานิคมอำพราง รวมถึงอาณานิคมภายใน

    อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ไม่ได้เห็นด้วยที่จะใช้คำว่าอาณานิคมภายใน เพราะความสัมพันธ์ของสยามกับล้านนา มันแทบจะเป็นคนอื่นของกันและกัน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งและไม่ได้เป็นอะไรกัน เลยจะใช้คำว่าอาณานิคมภายในไม่ได้

    ประเด็นนี้ทำให้เห็นว่า “เรายังถกเถียงเรื่องสถานะ อำนาจ และลักษณะของอาณานิคมกันอยู่” ซึ่งจะทำราวกับว่าไม่มีข้อถกเถียงเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ไม่ได้

    ข้อสังเกตประการถัดมา ถ้าข้อถกเถียงยังอยู่ เราจะเข้าใจหรือจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของมันอย่างไรในประวัติศาสตร์และโลกวิชาการ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เรามักศึกษาจากบทบาทของคนชั้นนำ มากกว่าการตรวจสอบว่าอำนาจแบบอาณานิคม มันไปกระทำการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ วิธีคิด และการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง เรายังขาดการศึกษาทำนองนี้ เพราะฉะนั้นการทะลุกรอบอาณานิคม เราก็ต้องคิดให้ทะลุประมาณหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นถึงขั้นต้องได้ข้อสรุป

    ถ้าเรากลับมามอง อาจจะตั้งข้อสงสัยว่าเราอยู่ในบริบทยุคหลังอาณานิคม ที่สยามสามารถผนวกล้านนาได้สำเร็จ แล้วจะศึกษาอะไรในช่วงหลังยุคดังกล่าว แต่ในโลกประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เราไม่ได้หยุด งานประวัติศาสตร์ไม่ได้กักขังตัวเองไว้อยู่กับกองเอกสาร จารึก วัตถุ หรือแม้กระทั่งเวลาทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นการส่งต่อความคิด ความทรงจำ และความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ที่ยังเห็นร่องรอยของอาณานิคมอยู่ในชีวิตประจำวัน ในช่วงหลังอาณานิคมนี้ต่างหากที่ทำให้เราย้อนกลับไปศึกษาและทำความเข้าใจ ถึงลักษณะของอำนาจอาณานิคมที่ฝังรากอยู่ในสังคม 

    ปัญหาของการไปไม่ทะลุกรอบอาณานิคม  โดยมุมมองจากคนที่สังเกตการณ์เกี่ยวกับงานศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นย่อย ดังนี้

    1.ลักษณะความสัมพันธ์ที่ล้านนาปรากฎในงานเขียนประวัติศาสตร์ มันไม่สามารถแยกออกจากแนวคิดเรื่องอาณานิคมอำพราง รวมถึงอาณานิคมภายใน เพราะกระบวนการที่สยามปรับเปลี่ยนไปเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยก่อร่าง สร้างความเป็นล้านนา มันไม่ได้แยกออกจากความเป็นสยามตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ชาติหรือประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม มันจึงกลายเป็นกรอบที่เข้ามาครอบงำการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา สิ่งที่ล้านนาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มันจึงไปไม่พ้นประวัติศาสตร์แบบหลวง เพราะยังคงติดเพดานว่าสัมพันธ์กับชนชั้นนำทางสังคม

    2.การเขียนประวัติศาสตร์สามัญชนโดยติดกับดักจากแนวคิดมุมมองของชนชั้นนำ โดยเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นว่ามีความเจริญด้อยกว่า เป็นการเพิกเฉยและบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถนำไปสู่การสนทนากับแนวคิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ถ้าเราอยากจะทะลุเพดาน มันไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์อย่างเดียว 

    3.ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ของเราและกลุ่มอื่น ๆ ยังมีร่องรอยความคิดแบบอาณานิคมฝังตัวกันอยู่อย่างลึกซึ้ง อย่างเขตเศรษฐกิจของเมือง จะเป็นเขตที่ขับไล่ชุมชนคนไร้บ้านหรือชุมชนแออัดในย่านเมืองออกเป็นกลุ่มแรก ๆ คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่จินตนาการของเมืองที่อยู่ร่วมกัน และเชียงใหม่ก็เป็นแบบนั้น

    เราวิพากษ์คนอื่นโดยหาคู่ขัดแย้ง มันง่ายที่จะพูดถึง แต่เราวิพากษ์ตัวเองน้อยเกินไป เพราะไม่ใช่ว่างานศึกษาของเราไม่มีข้อจำกัดหรือมีปัญหา ยังมีสิ่งที่เราจะต้องไปต่อหรือข้ามให้พ้นเพื่อทะลุกรอบอาณานิคม

    เราวิพากษ์ความรู้ อำนาจ และความสัมพันธ์แบบอาณานิคมมากพอหรือยัง?

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...