11 เมษายน 2567 เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.) ร่อนจดหมายเปิดผนึก ถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งเตรียมความพร้อมในการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก หลังสถานการณ์ ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา หลัง กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่รอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสามารถเข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้อย่างต่อเนื่องจนทำให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา เข้ามาหลบภัยในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว (TSA) ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 77 คน และผ่านเข้ามาทางด่านแม่สอดในวันที่ 10 เมษายน 2567 อีกกว่า 4,000 คน
จดหมายเปิดผนึกมีเนื้อหาดังนี้ จากสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประกอบด้วยกองกำลังผสมจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่รอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสามารถเข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้อย่างต่อเนื่องจนทำให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) เข้ามาหลบภัยภายในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่ง จำนวน 77 คน จากแถลงการณ์ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก เรื่อง สถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จังหวัดตาก ฉบับที่ 281 วันที่ 9 เมษายน 2567
ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานงานขออนุญาตนำเครื่องบินโดยสารเหมาลำ ATR 72-600 ของสายการบิน Myanmar National Airlines (MNA) มาลงที่สนามบินแม่สอดระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2567 เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสิ่งของรวมทั้งหมด 3 เที่ยวบิน แต่ก็พบว่ามีการนำเครื่องบินมาลงเพียงเที่ยวบินเดียวในคืนวันที่ 7 เมษายน 2567 ซึ่งจากคำแถลงของหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีหลักฐานให้ประชาชนทราบชัดเจนว่าเป็นการขนส่งผู้โดยสารหรือสิ่งของประเภทใด
จากรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุด (วันที่ 10 เมษายน 2567) ยังคงมีการปะทะกันอย่างรุนแรงบริเวณฐานที่มั่นค่ายผาซอง กองพันทหารราบที่ 275 สหภาพเมียนมา ห่างจากแนวชายแดน 5 กิโลเมตร รัฐบาลทหารเมียนมายังใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกลุ่มต่อต้านเพื่อคุ้มครองฐานที่มั่นค่ายผาซอง เมื่อเวลา 04.00 น. ทำให้เกิดเพลิงไหม้อาหารใกล้ถนนเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ห่างจากพรมแดนแม่สอดประมาณ 5 กิโลเมตร รวมถึงการพยายามเสริมกำลังทหารเมียนมาเข้ามาในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงมากขึ้น
ขณะที่ด่านพรมแดนแม่สอดทั้ง 2 แห่ง ยังคงเปิดทำการปกติ มีชาวเมียนมาจำนวนมากพากันเดินทางข้ามมาจากเมืองเมียวดีโดยบางส่วนเพื่อประทับหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Border Pass) ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในประเทศไทยได้เพียง 7 วัน แต่หากสถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น และทำให้มีการปิดด่านพรมแดนก็อาจส่งผลให้ชาวเมียนมาที่ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวตกเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย
เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.) เห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนตรงข้ามจังหวัดตากมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การไหลบ่าเข้ามาของชาวเมียนมาเพื่อหลบหนีสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยให้เร่งเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ในประเด็นดังต่อไปนี้
1.กระทรวงการต่างประเทศ เร่งจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อรับมือสถานการณ์เมียนมา โดยให้มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนรับมือและร่วมตัดสินใจการดำเนินการ
2.กระทรวงมหาดไทย โดยศูนย์สั่งการชายแดนเร่งรัดให้มีการประชุมจัดทำแผนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ รวมถึงการมีมติเสนอให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาอนุญาตเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วน
3.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนให้ดำเนินการตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งได้บัญญัติหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement Principle) ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) อย่างเคร่งครัด
4.กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเร่งพิจารณาทบทวนแนวทางการอนุญาตให้ผู้หลบหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมเป็นการชั่วคราว เพื่อที่จะได้สามารถดำเนินการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ
5.กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ชายแดน และรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความรุนแรง
6.สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้ความเห็นชอบอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุดลงและมีความจำเป็นที่ต้องหลบหนีความรุนแรง หรือทำงานเลี้ยงชีพ หรือศึกษาต่อ ให้อยู่อาศัยและทำงานได้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้เข้าสู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างเร่งด่วน
7.กระทรวงการต่างประเทศแสดงบทบาทนำในการเปิดพื้นที่เจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านและประสานสมาคมสหประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อเจรจาหาแสวงหาทางออกทางการเมืองจากสงครามการเมืองภายในประเทศเมียนมาเพื่อลดความรุนแรงอันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...