พฤษภาคม 8, 2024

    มองอุดมศึกษาโยงอนาคตไทย

    Share


    จากวงจัดเสวนาโดย Book Re:public ในหัวข้อ “ประเทศไทย ไปทางไหน” เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 นอกเหนือจากการพูดคุยประเด็นเรื่องการคาดการณ์อนาคตและทิศทางการเมืองไทยที่อาจจะเกิดในปี 2566 ผู้ดำเนินรายการ นาวินธิติ จากกลุ่ม SAAP 24:7 ได้เปิดประเด็นและตั้งคำถามถึงความคิดเห็นต่อวงการอุดมศึกษาในตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรและจะเป็นไปในทิศทางใด โดยให้เหตุผลว่าได้สังเกตเห็นถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำรงสถานะนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้มีการเลือกอธิการบดี การเปลี่ยนกระบวนการภายในคณะ ประเด็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของสังคมที่สะท้อนถึงปัญหาของการเมืองในสังคมไทยอีกด้านหนึ่งเช่นกัน

    ว่าด้วยวงการอุดมศึกษา

    นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เสนอว่าในเรื่องอุดมศึกษาตนมีมุมมองอยู่ 2 ระดับด้วยกัน

    1.ในมุมมองเชิงภาพรวมคิดว่า ทิศทางที่ระบบการศึกษาไทยพยายามที่จะโฆษณาคือ การทำในเชิงคิด Startup ในแง่หนึ่งคือการพยายามที่จะให้การศึกษานั้นสามารถตอบโจทย์กับนักศึกษาที่จบไปให้สามารถทำงานได้ หรืออย่างการเน้นเรื่องของ STEM Education ที่เน้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่แน่ใจว่าความพยายามจะสร้างภาพนี้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่เหมือนกับว่าสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะถูกทิ้งห่างไป ซึ่งมันจะมีกระแสที่คนที่อยู่ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้ออกมาบอกว่า การอยู่โดยไม่มีรากทางความคิดมันอยู่ไม่ได้ มันก็มีกระแสการต่อสู้กันในส่วนของการศึกษาระดับบน

    2.ในมุมมองส่วนที่ใกล้ตัวได้เสนอว่า มหาวิทยาลัยนั้นไม่ต่างจากสังคมระดับใหญ่ที่ขับเคลื่อนโดยกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ส่วนหนึ่งพลังมวลชนยังมีความสำคัญอยู่ ในแง่หนึ่งถ้าเมื่อไหร่มีจำนวนคนผลักดันเยอะเขาก็จะรับฟัง ส่วนหนึ่งที่สามารถจับกระแสได้คือ ส่วนของการรับฟังและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นเกิดขึ้นจากเสียงของประชาคมที่เปล่งเสียงออกไปว่าเราไม่เห็นด้วย กระบวนนั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว อาจต้องมีคนจำนวนมากเข้าไปซึ่งก็แล้วแต่บางที่ เพราะบางที่อาจจะมีคนที่มีพลังพอที่จะกระตุกและเปล่งเสียงออกมาแล้วสังคมได้ยิน

    ทั้งนี้นัทมนได้ฝากถึงผู้มีอำนาจในแวดวงอุดมศึกษาว่ายังคงเชื่อมั่นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอุดมการณ์ในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว สถานะนั้นไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป ต่อให้สูงส่งแค่ไหนแต่หากการกระทำของคุณนั้นเลวร้าย สังคมก็จะลากคุณมารับผิดชอบกับการกระทำนั้น นี่เป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต


    ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอว่าจุดเปลี่ยนของการศึกษาไทยนั้นต้องมองย้อนกลับไปช่วงปี 2540 โดยเราต้องตั้งคำถามกันตั้งแต่ต้นก่อนว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นควรจะเป็นบริการสาธารณะที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้หรือต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบตนเอง โดยในช่วงก่อนปี 40 รัฐได้สนับสนุนอุดมศึกษาเป็นอย่างมากและมองว่าการศึกษาคือบริการสาธารณะที่ทุกคนต้องเข้าถึง แต่พอเกิดวิกฤตปี 40 รัฐได้ลดการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้เกิดกระแสการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยเพื่อลดภาระการดูแลจากรัฐ แต่ในที่สุดแล้วไม่ได้ลดจริง เพราะแหล่งงบประมาณส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยใช้ก็ยังต้องพึ่งพิงรัฐอยู่ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีกับรัฐบาลเพื่อให้ยังมีงบในการนำไปพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่

    ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริงอย่างแนวคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแล้วก็จะมีความคล่องตัวในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ แต่ภายใต้วิธีคิดแบบรวมศูนย์ของประเทศนี้ ดังนั้นจึงไม่มีทางเลยที่มหาวิทยาลัยจะมีความเป็นเอกเทศ มันนอกระบบแบบไม่จริงและมหาวิทยาลัยยังต้องอิงกับรัฐราชการอยู่มาก แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นผลกระทบกับนักศึกษาคือ พ.ร.บ.ว่าเรื่องการศึกษาเป็นการลงทุน คณะที่ไม่มีคนเรียนและไม่ทำเงินที่แม้จะผลิตองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้สังคม แต่ก็ยังต้องปิดตัวลง จุดนี้เป็นจุดที่เราต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ว่าเราจะทำเช่นไรกับวงการอุดมศึกษา ว่ามันควรจะเป็นบริการสาธารณะที่ทุกคนควรจะเข้าถึงหรือจะเป็นแบบทุกวันนี้ที่ต้องจ่ายค่าเรียนกับคณะที่อยากเรียน

    ณัฐกร ได้ฝากว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้นั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เพียงแต่ต้องใจเย็น ๆ เพราะเรื่องแบบนี้นั้นมันเสมือนกับหนังชีวิตที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืนได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนสูง


    เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าตนไม่ได้สนใจอะไรในตัวของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยนั้นเป็นผลผลิตจากกลไกอำนาจรัฐและไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อช่วยพัฒนาประชาธิปไตย แต่สร้างมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอำนาจรัฐ เพื่อส่งเสริมผู้มีอำนาจและค้ำจุนโครงสร้างของอำนาจ เป็นพื้นที่ของโครงสร้างอำนาจรัฐที่สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของความรู้และลำดับชั้นทางสังคมที่หล่อหลอมให้คนที่เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยคิดว่าตัวเองสามารถที่จะเลื่อนชั้นทางสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจรัฐได้

    “ฉะนั้นผมจึงไม่ได้มีความหวังกับตัวโครงสร้างมหาวิทยาลัย”

    ประเด็นที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยนั้นเป็นกลไกอำนาจรัฐทั้งหมดของทุกองคาพยพของมันและมหาวิทยาลัยคือภาพจำลองของสถาบันเผด็จการที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งการที่จะเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยได้นั้นต้องเริ่มจากการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ในทุกวันนี้พื้นฐานฉันทามติของเรานั้นเป็นฉันทามติของระบอบเผด็จการ

    “หากเราไม่เปลี่ยนฉันทามติของระบอบเผด็จการ จากประเด็นในเรื่องการกระจายอำนาจนั้นการกระจายอำนาจนั้นหมายความว่า อำนาจนั้นเป็นของคนอื่นที่กระจายให้คุณ ซึ่งไม่ใช่อำนาจของท้องถิ่นแต่เป็นอำนาจของรัฐส่วนกลาง ในเวลาที่พูดถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองก็เป็นการเปิดให้มามีส่วนร่วมแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อเป็นประชาธิปไตยคือ การเปลี่ยนความเป็นเจ้าของอำนาจ ส่วนการกระจายอำนาจนั้นเป็นเรื่องที่ตามมากับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานหลักการว่าอำนาจเป็นของใคร ต่อให้มีการเลือกอธิการบดีมันก็จะมีสภามหาวิทยาลัยที่มาจากองคมนตรีอยู่ดี นี่คือแบบจำลองของโครงสร้างอำนาจรัฐของระบอบเผด็จการประเทศนี้”

    โดยส่วนสำคัญที่เก่งกิจยกมาคือ การเปลี่ยนเจ้าของอำนาจไม่ใช่การกระจายอำนาจและการเปิดให้มีส่วนร่วม หากตั้งโจทย์อยู่ที่การกระจายอำนาจมันจะเป็นโจทย์ที่ผิด เพราะมันยังไม่ไปที่ใจกลางของความเป็นเจ้าของอำนาจ ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ว่าในสังคมไทยใครที่เป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ ในทุกวันนี้ต่อให้เราสามารถเลือกอธิการได้แต่คนจำนวนมากในประเทศนี้ก็จะไม่ได้เข้าถึงการศึกษาอยู่ดี

    เก่งกิจเสนอว่าการเลือกผู้บริหารนั้นไม่สำคัญเท่าการมีรัฐสวัสดิการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างความมั่นคงในชีวิตได้ ในทุกวันนี้เราไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะเลือกการใช้ชีวิตยังไง นี่เป็นส่วนที่สำคัญของฉันทามติที่เป็นความเป็นประชาธิปไตย ผมเลยรู้สึกว่าการจะปฏิรูปมหาวิทยาลัยให้เป็นประชาธิปไตยได้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกลไกของมันไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น แต่มหาวิทยาลัยคือที่บ่มเพาะผู้ที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำในโครงสร้างอำนาจ


    โซตัสเคยหายหรือไม่เคยหาย?

    “ผมขอยกตัวอย่างจากงานขึ้นดอยที่มีการตื่นตัวมากในช่วงปี 63 และปี 64 ที่มีการตื่นตัวว่าระบบโซตัสจะหายไปจากมหาวิทยาลัยแล้ว แต่พอถึงช่วงขึ้นดอยคณะบางคณะได้มีการติดผ้าคาดโซตัสและร้องเพลงกันอย่างภาคภูมิใจ พอได้เห็นกิจกรรมนี้แล้วผมก็คิดว่าที่เราได้พูดกันมาว่าคนรุ่นใหม่นั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราไม่เอาระบบเผด็จการ ระบบโซตัสจะหายไปจากมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงและปีหน้าจะมีความรุนแรงมากกว่าเดิม”

    เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ได้สรุปประเด็นนี้ไว้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองนั้นเป็นกระบวนการ ตราบใดที่เรายังไม่มีการตกผลึก ดังนั้นถ้าเราคิดว่าเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ภายใน 10 ปีนี้ เราจำเป็นที่จะต้องค้นหาว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้กระแสความคิดนี้มันจะพัฒนาขึ้นไปถึงจุดที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงและการตกผลึกอย่างต่อเนื่องภายในไม่ถึง 10 ปี ในช่วงภายใน 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการชุมนุมที่ต่อเนื่อง แต่สุดท้ายแล้วมันไม่เกิดการตกผลกจนเกิดมาเป็นกิจกรรมโซตัส

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...