พฤษภาคม 5, 2024

    ความกลัวลึก ๆ ของ ‘คน(เมือง)เจียงใหม่’ ต่อชาว ‘ไทใหญ่’

    Share

    เรื่อง: Dada Journalism

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    บทความว่าด้วยความกลัวลึก ๆ ของ “คนเมือง” หรือ “คนเชียงใหม่พื้นถิ่น” ต่อ “ชาวไทใหญ่” ที่ถือว่าได้เป็นฟันเฟืองหลักของระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ไปแล้ว เนื่องด้วยคนพื้นถิ่นเองก็อาจจะมองว่าตนเองอยู่ในภาวะที่ถดถอยในหลาย ๆ ด้าน ในขณะที่ชาวไทใหญ่น่าจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ จากคุณลักษณะพิเศษที่คนเมืองมองว่าชาวไทใหญ่มีเหนือกว่าพวกเขาคือ “สู้งาน อดทน และเก็บออม”

    1.

    ณ ร้านคาราโอเกะ อำเภอรอยต่อกับเมืองเชียงใหม่แห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้เขียนและรุ่นน้องกำลังดื่มด่ำกับรสชาติสิ่งมึนเมาเคล้าเสียงเพลงจากตู้คาราโอเกะ รถปิ๊คอัพสี่ประตูใหม่เอี่ยมคันหนึ่งจอดตรงหน้าร้าน น้อง ๆ ที่นั่งโต๊ะผู้เขียนรีบกุลีกุจอออกไปต้นรับ

    “เจ้าถิ่นมาแล้วว่ะ เผ่นเถอะ” ผู้เขียนกล่าวกับรุ่นน้อง จากที่เคยได้ร้อง 10 เพลงรวด แต่เมื่อแขกผู้มาใหม่มาถึงร้าน พวกเขาก็กลับครองไมค์ไป พร้อมกับขับกล่อมสาว ๆ ในร้านด้วยเพลงไทใหญ่ พูดคุยสนิทสนมกับน้อง ๆ ด้วยภาษาเดียวกัน แจกทิปงาม ๆ แทบตลอดเวลา

    ผู้เขียนกับรุ่นน้องรีบเช็คบิลแบบตัวลีบออกจากร้าน ก่อนควบมอไซค์กลับบ้านก็เหลือบมองรถปิ๊คอัพสี่ประตูใหม่เอี่ยมคันนั้น พบมีอุปกรณ์ก่อสร้างบางส่วนที่อยู่ท้ายกระบะรถ


    2.

    ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมในเชียงใหม่ ชาวไทใหญ่สามารถไต่เต้าจากแรงงานระดับล่างสุดสู่การเป็นฟันเฟืองสำคัญในอาชีพนั้น ๆ เช่น ในภาคก่อสร้าง ที่เริ่มยกระดับมาเป็นผู้รับเหมาเองหลายราย หรือไม่ก็เป็นระดับหัวหน้างานผู้มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งแรงงานส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวไทใหญ่ด้วยเช่นกัน

    ‘สู้งาน อดทน และเก็บออม’ ถือเป็นคุณลักษณะพิเศษที่ชาวไทใหญ่มีเหนือคนพื้นถิ่นเชียงใหม่ ยิ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงกายอย่างหนักอย่างภาคการก่อสร้าง ซึ่งต่างจากคนพื้นถิ่นที่เริ่มออกจากอุตสาหกรรมนี้ไปตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยด้านการศึกษาที่สูงขึ้นหรือการไปประกอบอาชีพอื่นที่เหนื่อยน้อยกว่า

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    นอกจากภาคการก่อสร้างแล้ว แรงงานภาคบริการอย่างไม่เป็นทางการ (จ้างรายวัน ไม่มีประกันสังคม) ทั้งในร้านอาหาร เด็กเสิร์ฟเด็กนั่งดริ้งก์ร้านเหล้า/ร้านคาราโอเกะ ร้านขายของชำ รับจ้างในตลาดสด ภาคการเกษตร ฯลฯ แรงงานไทใหญ่ก็เริ่มคืบคลานเข้ามาในอุตสาหกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ขยายตัวออกไปตามอำเภอต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่กระจุกตัวในอำเภอเมืองหรืออำเภอในเขตชายแดนเช่นในอดีต

    ช่วงสิบกว่าปีก่อน ขณะที่ผู้เขียนยังทำงานให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านสิทธิแรงงานแห่งหนึ่ง เคยได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ “แรงงานต่างด้าว” (ตามภาษากฎหมายไทย) หรือ “แรงงานข้ามชาติ” (ตามภาษาของ NGO และปัญญาชน) ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าส่วนใหญ่แล้วแรงงานชาวไทใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในเขตเศรษฐกิจเช่นในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ มักจะมีที่พักที่คับแคบ คุณภาพชีวิตไม่ดีนัก ทนทุกข์กับการถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ นานา

    ปัจจุบันสถานการณ์ของพวกเขาดีขึ้นตามลำดับ แม้จะยังไม่ดีที่สุดก็ตาม แต่ก็มีพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการยอมรับจากคนพื้นถิ่นในเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ในด้านคุณภาพชีวิตจากการที่อยู่อย่างแออัดตามหอพักหรือไซต์งานก่อสร้างในอำเภอเมือง แรงงานชาวไทใหญ่ก็กระจายตัวออกมายังอำเภอรอยต่อกับเมืองเชียงใหม่มากขึ้น มีทั้งการเช่าบ้าน หอพัก ที่พักคนทำงานที่นายจ้างสร้างให้ หรือแม้แต่การลงขันกันเองเพื่อซื้อที่ดินร่วมกัน แล้วก็แบ่งจัดสรรพื้นที่สร้างบ้านหลายหลังในแปลงนั้น


     3.

    “90% เป็นนักเรียนไทใหญ่ เด็กเชียงใหม่เราแทบไม่มีเลย” มิตรสหายกล่าวกับผู้เขียน เธอเป็นผู้รับเหมาประกอบอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนขยายโอกาส (เปิดสอนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3) แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอรอยต่อกับเมืองเชียงใหม่ โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนประมาณ 200 คน

    ดังที่กล่าวไปว่าปัจจุบันอำเภอรอยต่อกับเมืองเชียงใหม่หลายอำเภอ มีชุมชนชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และนิยมส่งลูกหลานเรียนในโรงเรียนรัฐบาล (ทั้งสังกัด สพฐ. และของท้องถิ่น) ในละแวกใกล้บ้านหรือที่พัก

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    “ไทยเราออกให้หมดเลย ทั้งค่าเรียน ค่าอาหารกลางวัน” มิตรสหายของผู้เขียนก็มีลูกด้วยเช่นกัน แต่เธอเลือกที่จะส่งลูกไปเรียนยังโรงเรียนเอกชนในเมืองแทนโรงเรียนละแวกบ้าน ทั้งนี้ตามกฎหมายไทยเด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยหรือไม่มีหลักฐานการแสดงตน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ และยังได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับเด็กไทย

    จะว่าไปแล้ว ก่อนหน้านี้โรงเรียนในเขตชนบทรอยต่อกับอำเภอเมืองเชียงใหม่นั้นเผชิญปัญหาขาดแคลนนักเรียนอย่างหนัก เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมทั้งค่านิยมการส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองเชียงใหม่ โรงเรียนขนาดเล็กต้องทยอยปิดตัวลงไป จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้เด็กชาวไทใหญ่เริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ณ ปัจจุบันโรงเรียนในเขตชนบทรอยต่อกับอำเภอเมืองเชียงใหม่หลายแห่งยังอยู่ได้ก็เพราะมีนักเรียนชาวไทใหญ่นี่แหล่ะ


    4.

    “ตอนนี้คนเมือง (คนพื้นถิ่นเชียงใหม่) เป็นลูกน้องไทใหญ่หมดละนะ” แม่ของผู้เขียนกล่าวกับผู้เขียน ในวันที่สั่งอุปกรณ์ก่อสร้างจากร้านเจ้าประจำมาส่งที่บ้าน ก่อนหน้านี้ 2-3 ปีก่อน หัวหน้างานชาวไทใหญ่รายนี้ยังเป็นเพียงลูกน้องระดับล่างสุด แต่พบว่าวันนี้เขาได้เป็นหัวหน้างานแล้ว โดยมีคนพื้นถิ่นเชียงใหม่เป็นลูกน้องแทน “แถวบ้านเราคนไทใหญ่ก็เริ่มเข้ามาซื้อที่ทำบ้านกันมากขึ้นด้วย เห็นเขาว่ามีการบอกต่อ ๆ กันมา” แม่ของผู้เขียนกล่าวต่อ “คนเมืองเราได้แต่ขายที่เอาตังค์ไปซื้อรถคันใหม่ให้ลูก ส่วนไทใหญ่เขาก็ซื้อที่สร้างบ้านกัน”


    นอกจากแม่ของผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนลองสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนและคนรู้จักที่เป็นคนพื้นถิ่น (คนธรรมดาที่ไม่ใช่ NGO นักกิจกรรม นักวิชาการ) ที่มีต่อชาวไทใหญ่ พบว่าสามารถแยกได้เป็นกลุ่มใหญ่หลัก ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ

    1. ไม่เปิดใจรับและยังมีอคติอยู่อย่างเปี่ยมล้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทใหญ่ ไม่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือไม่เคยร่วมงานด้วย หรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีไปเลย (เช่น ผู้รับเหมาที่เคยถูกชาวไทใหญ่ตัดราคารับงาน แรงงานที่นายจ้างหันไปจ้างคนไทใหญ่แทนพวกเขา หรือคนในชุมชนที่มีชาวไทใหญ่เข้าไปอยู่อาศัยแล้วมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากชาวไทใหญ่ เป็นต้น)

    2. เริ่มเปิดใจรับแต่ก็ยังมีอคติและความหวาดระแวงอยู่บ้าง คนกลุ่มนี้เริ่มได้คลุกคลี มีปฏิสัมพันธ์ และเริ่มได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากชาวไทใหญ่บ้าง เช่น คนในชุมชนที่มีชาวไทใหญ่เข้าไปอยู่อาศัย (แต่มีประสบการณ์ที่ดี) ร้านชำ ร้านกับข้าว ร้านก๋วยเตี๋ยว (แม่ของผู้เขียนอยู่ในกลุ่มนี้) ธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เริ่มมีลูกค้าเป็นชาวไทใหญ่ เป็นต้น

    3. เปิดใจรับอย่างเต็มที่ คนกลุ่มนี้ได้รับผลประโยชน์จากชาวไทใหญ่อย่างเต็มที่ เช่น เป็นผู้รับเหมาที่มีลูกน้องเป็นชาวไทใหญ่ ธุรกิจที่มีชาวไทใหญ่เป็นลูกค้าสำคัญ เป็นต้น (ซึ่งอาจจะนับรวม NGO นักกิจกรรม นักวิชาการ ไว้ในกลุ่มนี้ก็ได้) รวมถึงกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับศาสนาและวัดที่มีชาวไทใหญ่เข้าไปทำบุญหรืออุปถัมภ์วัดนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก

    จะอย่างไรก็แล้วแต่ผู้เขียนสังเกตว่า 2 กลุ่มแรกนั้นต่างมีจุดร่วมกันคือ “ความกลัว” อยู่ลึก ๆ  มองว่าตนเอง (คนพื้นถิ่น) อยู่ในภาวะที่ถดถอยในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการหมดยุคเฟื่องฟูของลำไยที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ ความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ การขาดไอเดียใหม่ ๆ ในการประกอบอาชีพ การสูญเสียที่ดิน ไม่มีลูกหลานสืบสกุลต่อเนื่องจากค่านิยมไม่มีลูกของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น แต่ในขณะที่ชาวไทใหญ่น่าจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ จากคุณลักษณะพิเศษที่คนเมืองมองว่าชาวไทใหญ่มีเหนือกว่าพวกเขาคือ “สู้งาน อดทน และเก็บออม” นั่นเอง

    ท้ายสุดคนเมืองคนพื้นถิ่นเชียงใหม่ อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังนับถอยหลังรอวันที่ชาวไทใหญ่หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เราเคยมองว่าพวกเขาด้อยกว่าขยับแซงหน้าพวกเราขึ้นไป ซึ่งปรากฎการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับลูกหลานคนจีนโพ้นทะเล ที่ได้แซงหน้าคนไทยแท้ ๆ ไปอย่างกู่ไม่กลับแล้วเช่นในปัจจุบัน


    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    Dada Journalism เป็นนามปากกาของชาวเชียงใหม่ผู้ซึ่งทำงานในแวดวงสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2006 เขานิยามระดับความสามารถในวิชาชีพของตนเองว่าเป็น ‘นักก้อปปี้วางชำนาญการพิเศษอาวุโส’ มีเครื่องมือหลักในการประกอบอาชีพ ได้แก่ กูเกิล โปรแกรมโน้ตแพด โปรแกรมเพนท์ และโปรแกรมเครื่องคิดเลข ที่แถมมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ – รับปากจะเขียนบทความให้กับ Lanner ในประเด็นพื้นที่ภาคเหนืออย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยเพราะศรัทธาและชื่นชอบในตัวของผู้ประสานงานโครงการของ  Lanner เป็นเหตุผลหลัก.

    Related

    นัดแสดงออกหน้าสถานกงศุลสหรัฐฯ เชียงใหม่ ร้องหยุดสนับสนุนสงครามในปาเลสไตน์

    4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. เกิดการแสดงออกเรียกร้องเพื่อให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนการอิสราเอลทำสงครามในปาเลสไตน์ ณ...

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...