เมษายน 28, 2024

    รวม ‘ไอเดียบ้าๆ’ (ที่หวังว่าจะ) แก้ปัญหา ‘หมอกควันภาคเหนือ’ (กับเขาบ้าง)

    Share

    เรื่อง: Dada Journalism

    รวม ‘ไอเดียบ้าๆ’ (ที่หวังว่าจะ)แก้ปัญหา ‘หมอกควันภาคเหนือ’ (กับเขาบ้าง)1. ขึ้นทะเบียน-จัดระบบ ‘คนหาของป่า’ อุดหนุนให้หยุดทำงานช่วงหมอกควัน และสร้าง ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ สู่อาชีพอื่นในอนาคต 2. หากไม่สามารถขจัด ‘นักเก็บเห็ดถอบสายเผา’ (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ได้ ก็ควรขึ้นทะเบียน ‘เห็ดถอบ’ เป็น ‘ผลิตภัณฑ์ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม’ 3. ใช้ค่ามลพิษในแต่ละฤดูกาลมากำหนดราคาพืชไร่ ที่ใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว และ 4. แก้ไม่ได้ก็อยู่กับมันไปเลย ด้วยการเปลี่ยน ‘วิกฤตหมอกควัน’ เป็น ‘มหกรรมวิกฤตและภัยพิบัติโลก’

    หลายปีที่ผ่านมานี้ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน การพูดถึงเรื่องปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการนำเสนอไอเดียต่าง ๆ นานาเพื่อแก้ไขปัญหานี้

    ผู้เขียนจึงอยากจะขอทดลองนำเสนอไอเดียกับเขาบ้าง ดังนี้

    1. ขึ้นทะเบียนจัดระบบ คนหาของป่าอุดหนุนให้หยุดทำงานช่วงหมอกควัน และสร้าง การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สู่อาชีพอื่นในอนาคต

    ‘ไฟป่า’ ที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจาก ‘กิจกรรมของมนุษย์’ สำหรับประเทศไทยจากการเก็บสถิติไฟป่าตั้งแต่ปี 2528-2542 ซึ่งมีสถิติไฟป่าทั้งสิ้น 73,630 ครั้ง พบว่าเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติคือฟ้าผ่าเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น (คิดเป็น 0.01%) ทั้งนี้ ‘การเก็บหาของป่า’ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ได้แก่ ไข่มดแดง เห็ด ใบตองตึง ไม้ไผ่ น้ำผึ้ง ผักหวาน และไม้ฟืน การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพราะความเชื่อที่ว่าจะกระตุ้นการงอกของเห็ด (โดยเฉพาะ ‘เห็ดถอบ’ ซึ่งจะขออภิปรายโดยละเอียดในหัวข้อต่อไป) หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ของผักหวานและใบตองตึง หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่าง ๆ ในขณะที่อยู่ในป่า [1]

    ทั้งนี้อาชีพ ‘คนหาของป่า’ ถือเป็นอาชีพที่มีแนวโน้มสูงจะสร้างไฟป่ามากกว่าอาชีพอื่น ๆ เคียงข้างกับ ‘เกษตรกร’ ที่ทำการเกษตรอยู่ใกล้บริเวณป่า คนหาของป่าเป็นหนึ่งในอาชีพเก่าที่ไม่เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำ ที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักรู้กันมากขึ้น

    ผู้เขียนเสนอว่าหากยังไม่อยากให้อาชีพนี้สูญหายไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะว่ากระทบกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ก็ควรมีการขึ้นทะเบียน จดระบบ นำเทคโนโลยีมาช่วยควบคุม รวมทั้งมีการอุดหนุน (subsidize) ให้ผู้ประกอบอาชีพนี้ลดแนวโน้มในการสร้างไฟป่า ตัวอย่างเช่น

    – ขึ้นทะเบียนผู้เก็บของป่า จัดเก็บข้อมูลเส้นทางการหาของป่าของแต่ละคน รวบรวมเป็น Big data

    – ใช้อุปกรณ์ติดตามผู้เก็บของป่า (ลักษณะเดียวกับกำไล EM) ในช่วงที่สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันมีความรุนแรง เพื่อง่ายต่อการติดตามว่าผู้เก็บของป่าคนไหนเข้าพื้นที่แล้วก่อให้เกิดไฟป่า หรือหากผู้เก็บของป่ามีความสมัครใจที่จะงดหาของป่าในช่วงที่สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันมีความรุนแรง รัฐก็ควรมีเงินอุดหนุน (subsidize) ให้รายละ 300 บาท หรือ 500 บาท ก็ว่ากันไป

    ส่วนในระยะยาวควรสร้าง ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ (Just Transition) เปลี่ยนอาชีพคนเก็บของป่าและครอบครัวให้สอดคล้องกับ ‘เศรษฐกิจเป็นสีเขียว’ เช่น ฝึกอบรมคนเก็บของป่ามาขับโดรน เปลี่ยนอาชีพเป็นไกด์นำเที่ยงเชิงนิเวศน์ ให้ทุนการศึกษาบุตรหลานเรียนในสาขาที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเป็นสีเขียวและการพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น

    ภาพ: ไทยรัฐ ออนไลน์

    2. หากไม่สามารถขจัด นักเก็บเห็ดถอบสายเผา (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ได้ ก็ควรขึ้นทะเบียน เห็ดถอบเป็น ผลิตภัณฑ์ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม

    แม้จะมีความพยายามอธิบายว่าชาวบ้านหาของป่าไม่ได้เผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบในช่วงหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นที่รักใคร่เอ็นดูและมองชาวบ้านในแง่ดีเกินไป บางครั้งถึงขั้นมีการโยงไปถึงเรื่องโครงสร้างทางสังคม เพื่อทำแต้มให้รู้สึกว่าคนที่อธิบายแนว ๆ นี้เป็นผู้รักความเป็นธรรมในสังคม และสามารถโยงประเด็นชนชั้นได้กับทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเห็ดถอบ

    ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านที่เข้าไปหาเห็ดถอบทุกคนจะไม่ได้เผาป่าและอาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย แต่ก็ปฏิเสธก็ไม่ได้ด้วยเช่นกันว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เข้าไปหาเห็ดถอบจะใช้การเผาป่า กลุ่มหลังนี้แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ได้สร้างความเดือดร้อนและทำให้ภาพจำของวงการนักเก็บเห็ดถอบทั้งระบบกลายเป็น ‘ตัวร้าย’ อย่างเลี่ยงไม่ได้

    หลายปีก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสคุยกับคนเก็บเห็ดถอบสายเผาใน 2 พื้นที่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง จ.ลำพูน พวกเขา ‘มีความเชื่อส่วนตัว’ ว่าการเผานั้นทั้งช่วยให้ง่ายต่อการเก็บ ช่วยให้เห็ดถอบมีรสชาติดี ผลผลิตจะเจริญงอกงามขึ้นในฤดูกาลเก็บเกี่ยวต่อไป รวมทั้งใช้การเผาเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ให้จำได้ว่าเป็นแหล่งเก็บเห็ดถอบส่วนตัว ซึ่งเป็นไปตามวิถีของชาวบ้านนักเก็บเห็ดถอบบางสำนักที่ถ่ายทอดวิชาให้กันมาช้านาน จากรุ่นสู่รุ่น

    แม้จะมีการศึกษาโดยนักวิชาการว่าการเผาป่าไม่ได้ช่วยให้เห็ดถอบรสชาติดีหรือเจริญงอกงามขึ้นในฤดูกาลเก็บเกี่ยวต่อไป … แต่ชาวบ้านบางส่วนเขาไม่ได้อ่านงานเหล่านี้ และยังเชื่อใน ‘เคล็ดวิชานักเก็บเห็ดถอบสายเผา’ ของพวกเขานี้อยู่ ทั้งนี้หลายปีก่อนนอกจากเผาป่าแล้ว ยังมีข่าวว่ามีการเผามอเตอร์ไซค์คนเก็บเห็ดถอบที่ข้ามถิ่นด้วย สะท้อนถึงการแข่งขันที่สูงมากในอุตสาหกรรมเก็บเห็ดถอบทั้งระบบ

    (อนึ่งวิธีการขึ้นทะเบียนจัดระบบ คนหาของป่า ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น อาจจะช่วยขจัดนักเก็บเห็ดถอบสายเผาออกไปจากสาระบบได้)

    ผู้เขียนเสนอว่าหากไม่สามารถขจัด ‘นักเก็บเห็ดถอบสายเผา’ (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ได้ ควรขึ้นทะเบียน ‘เห็ดถอบ’ เป็น ‘ผลิตภัณฑ์ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม’ โดยมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมให้ราคาสูงกว่าเดิม และนำภาษีจากผลิตภัณฑ์ทำลายล้างสิ่งแวดล้อมนี้ เข้ากองทุนที่เอาไว้สู้กับปัญหาหมอกควัน PM 2.5 โดยเฉพาะ

    ภาพ: มติชน

    3. ใช้ค่ามลพิษในแต่ละฤดูกาลมากำหนดราคาพืชไร่ ที่ใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว

    ปัจจุบันไทยเรามี ‘โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5’ โดยรัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวหลังปิดหีบ ซึ่ง ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายโดยตรง โครงการนี้เป็นการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้นและตอบสนองการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 [2]

    ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้มีการใช้สถิติค่ามลพิษในแต่ละฤดูกาลมากำหนดราคาพืชไร่ ที่ใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย และพืชอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น  หากฤดูกาลก่อนเพาะปลูกข้าวโพดในปีนั้น ๆ มีค่ามลพิษเฉลี่ยปริมาณสูง (อากาศแย่) ก็ให้มีการกดราคารับซื้อข้าวโพดในช่วงเก็บเกี่ยวของปีนั้น ๆ ราคาต่ำ แต่ถ้าหากค่ามลพิษเฉลี่ยมีปริมาณต่ำ (อากาศดี) ก็ให้มีการแทรกแซงราคารับซื้อข้าวโพดในช่วงเก็บเกี่ยวของปีนั้น ๆ ในราคาที่สูง เป็นต้น

    ภาพ: เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit

    4. แก้ไม่ได้ก็อยู่กับมันไปเลย ด้วยการเปลี่ยน วิกฤตหมอกควัน เป็น มหกรรมวิกฤตและภัยพิบัติโลก

    แต่ลึก ๆ แล้ว ผู้เขียนมีมุมมองว่าถ้าเราไปตั้งต้นจะ ‘แก้ปัญหาหมอกควัน’ นี่เราก็มาผิดทางแล้ว เราอาจต้องกลับไปตั้งต้นใหม่ว่า ‘จะประคองชีวิตอยู่กับวิกฤตนี้โดยไม่สูญเสียมากที่สุด’ ยังไงในช่วงชีวิตเราดีกว่า

    เพราะมันมีเรื่องวิถีชีวิต อย่างเช่น อาชีพเกษตรกรรมที่ในรอบร้อยปีนี้ก็ยังไม่หายไปแน่นอน เรื่องวิถีการใช้ไฟของมนุษย์กับป่า และเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะแก้ปัญหาเลยมันต้องใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมดาวเคราะห์ แบบเปิดสวิตซ์สั่งฝน สั่งลม สั่งความชื้นไรได้ ซึ่งต้องรอเทคโนโลยีอีกสักร้อยปีเหมือนกัน

    ด้วยประการฉะนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่า ณ ช่วงชีวิตของเรา เราอาจจะต้องตั้งต้นว่า ‘เราจะประคองชีวิตอยู่กับปัญหานี้โดยไม่สูญเสียมากที่สุด’ หรือ ‘เปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในด้านอื่น ๆ ได้อย่างไร’ มากกว่า

    ผู้เขียนจึงขอเสนอไอเดียการเปลี่ยน ‘วิกฤตหมอกควัน’ เป็น ‘มหกรรมวิกฤตและภัยพิบัติโลก’ [3] คือถ้าหากเราลองคิดกลับหัวกลับหาง ไม่สามารถป้องกันให้คนเผาสิ่งต่าง ๆ นานาในช่วงนี้ได้ ทำไมเราไม่ให้ช่วงนี้เป็นช่วง ‘เปิดเสรีการเผา’ แล้วจัดงาน ‘งานมหกรรมวิกฤตโลก’ ที่เชียงใหม่ (อาจขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงด้วย) มีการเชิญชวนผู้ที่ทำงานกู้ภัยในที่ต่าง ๆ ของโลกมาจัดเวทีเสวนา เวิร์คช็อป ในสถานการณ์วิกฤตจริง (หมอกควันเชียงใหม่) จำลองสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ เช่น จำลองเหตุแผ่นดินไหว จำลองเหตุน้ำท่วม จำลองเหตุน้ำท่วม จำลองเหตุพายุ จำลองสารเคมีรั่วไหล จำลองนิวเคลียร์รั่วไหล จำลองการระบาดของซอมบี้ (อาจจ้างคนพื้นถิ่นเชียงใหม่ให้เป็นซอมบี้วันละ 300 บาท 500 บาท ก็ว่ากันไป แล้วให้นักท่องเที่ยวยิงเพ้นท์บอลเล่น ๆ)  จำลองเหตุการภัยพิบัติทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นบนโลกเขาเราได้ (หรือแม้กระทั่งภัยจากต่างดาว) – เพราะเอาเข้าจริงแล้วในอนาคตเราควรจะมีคู่มือที่อัพเดทตลอดเวลาในการรับมือกับสาระพัดวิกฤตเหล่านี้

    ถ้าทำได้แบบนี้ เชียงใหม่ของเราน่าจะได้อีเว้นท์ใหญ่ระดับโลกขึ้นมาอีกอีเว้นท์หนึ่ง ทำให้เชียงใหม่เป็น ‘เมืองท่องเที่ยวเชิงวิกฤต’ ในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน ก่อนช่วงสงกรานต์.

    อ้างอิง
    [1] คลังความรู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ)
    [2] ครม.ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM 2.5 อนุมัติงบช่วยเหลือผ่านโครงการ 6,869 ล้านบาท (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 11 พฤษภาคม 2564)
    [3] พัฒนาจากแนวคิดที่เคยเผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562


    เกี่ยวกับผู้เขียน
    Dada Journalism เป็นนามปากกาของชาวเชียงใหม่ผู้ซึ่งทำงานในแวดวงสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2006 เขานิยามระดับความสามารถในวิชาชีพของตนเองว่าเป็น ‘นักก้อปปี้วางชำนาญการพิเศษอาวุโส’ มีเครื่องมือหลักในการประกอบอาชีพ ได้แก่ กูเกิล โปรแกรมโน้ตแพด โปรแกรมเพนท์ และโปรแกรมเครื่องคิดเลข ที่แถมมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ – รับปากจะเขียนบทความให้กับ Lanner ในประเด็นพื้นที่ภาคเหนืออย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยเพราะศรัทธาและชื่นชอบในตัวของผู้ประสานงานโครงการของ Lanner เป็นเหตุผลหลัก.

    Related

    Lanner Joy : การเดินทางของซุปเปอร์ฮีโร่ Healthtech สตาร์ทอัพสัญชาติเชียงใหม่ กับการรักษาโรคไมเกรนด้วยจิตวิญญาณนวัตกร

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปในย่านศิริมังคลาจารย์ นอกจากคาเฟ่ในตรอกซอกซอยที่หลบซ่อนจากความวุ่นวายในโซนนิมมานฯ หากสังเกตดี ๆ ย่านแห่งนี้เป็นฐานทัพของบริษัทสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย  ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตรในหัวมุมด้านทิศตะวันตกของคูเมืองเชียงใหม่ จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางสุขภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนมากมาย และในพื้นที่เล็ก...

    เปิดแคมเปญ ‘คนเหนือต้องได้ตรวจปอด’ ดันคนภาคเหนือ ต้องได้รับการคัดกรองมะเร็งปอด ตามระบบหลักประกันสุขภาพ

    สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, และวาระเชียงใหม่ ขอเชิญทุกท่าน ร่วมลงชื่อ "ผลักดัน" ให้คนเหนือในพื้นที่เสี่ยงสูงจากผลกระทบปัญหาฝุ่นควัน ได้รับ "การคัดกรองมะเร็งปอด"...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...