พฤษภาคม 8, 2024

    เปิดงานศึกษา‘การเผา’ และความสัมพันธ์กับผลผลิต ‘เห็ดเผาะ’ (เห็ดถอบ) ที่เพิ่มขึ้น

    Share

    เรื่อง: Dada Journalism

    ในสถานการณ์ที่ไฟป่ากำลังระอุ ส่งผลต่อหมอกควัน PM 2.5 คละคลุ้งในภาคเหนือ และ ‘เห็ดถอบ’ กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกจับตาอีกครั้ง ชวนอ่านงานศึกษาที่เผยแพร่ใน ‘วารสารวนศาสตร์ เมื่อปี 2561’ พบว่า ‘การเผา’ สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ‘เห็ดเผาะ’ (เห็ดถอบ) โดยเผาทุก 2 ปีให้ผลผลิตมากที่สุด เผาทุกปีผลผลิตน้อยที่สุด และไม่พบดอกเห็ดในแปลงที่ไม่เผา

    หลังจากที่ผู้เขียนได้นำเสนอบทความ ‘รวม ‘ไอเดียบ้าๆ’ (ที่หวังว่าจะ) แก้ปัญหา ‘หมอกควันภาคเหนือ’ (กับเขาบ้าง)’ โดยผู้เขียนได้ระบุว่า “มีการศึกษาโดยนักวิชาการว่าการเผาป่าไม่ได้ช่วยให้เห็ดถอบรสชาติดีหรือเจริญงอกงามขึ้นในฤดูกาลเก็บเกี่ยวต่อไป” นั้น ซึ่งผู้เขียนได้นำข้อมูลนี้มาจากการสืบค้นพาดหัวข่าวในกูเกิล อาทิ จวกคนเมืองโยนบาป “เห็ดเผาะ” แพะเผาป่า เป็นต้น

    แต่เพื่อการนำเสนอข้อมูลอีกด้าน ผู้เขียนก็พบพบงานศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่ระบุว่าการเผานั้นสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเห็ดเผาะ (เห็ดถอบ) ด้วยเช่นกัน

    จากงานงานศึกษา ‘ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไฟป่า และความถี่ของไฟป่า ต่อการเกิดเห็ดเผาะในป่าเต็งรัง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี’ เผยแพร่ใน วารสารวนศาสตร์ 37 (1) : 96-110 (2561) ที่ได้ทำการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไฟป่า และความถี่ของไฟป่าต่อการเกิดเห็ดเผาะในป่าเต็งรัง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศในพื้นที่ และทำการทดลองในแปลงทดลองถาวรขนาด 100×100 ตารางเมตร (1 เฮกตาร์) จำนวน 10 แปลง ที่มีการควบคุมป้องกันไฟและเผาที่ความถี่แตกต่างกันในช่วง พ.ศ. 2551-2559 สำรวจการเกิดเห็ดเผาะช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558-2559 โดยทำการแบ่งแปลงตัวอย่างแต่ละแปลงออกเป็นแปลงย่อยขนาด 10×10 ตารางเมตร จำนวน 100 แปลงย่อย เมื่อพบเห็ดเผาะในแต่ละวัน จะทำการวัดพิกัดและชั่งน้ำหนักเห็ดในแปลงย่อย แล้วนำไปหาน้ำหนักรวมของดอกเห็ดในแปลงขนาด 100×100 ตารางเมตรทุกแปลง จากนั้นสุ่มตัวอย่างเห็ดประมาณ 100 กรัม จำนวน 4 ซ้ำ จากทุกแปลง ชั่งน้ำหนักจริง นับจำนวนดอกเห็ด และวัดขนาดดอกเห็ดเพื่อหาค่าเฉลี่ยของขนาดและน้ำหนักต่อดอก และคำนวณหาจำนวนดอกเห็ดทั้งหมด  และหาความสัมพันธ์ของน้ำหนักเห็ดเผาะกับความถี่ของไฟป่าที่แตกต่างกันโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางสถิติ

    ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลกระทบต่อการเกิดเห็ดเผาะมากกว่าไฟป่า ซึ่งใน พ.ศ. 2558 มีปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่พบการเกิดของเห็ดเผาะ แต่ใน พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีสภาพอากาศปกติจะพบว่ามีการเกิดของเห็ดเผาะในแปลงเผาทุกแปลง โดยแปลงทดลองที่มีการเผาทุก 2 ปี ให้ผลผลิตเห็ดเผาะมากที่สุด คือ 5,719 กรัม/เฮกตาร์ ตามมาด้วยแปลงเผาปีเว้นปี 4,081 กรัม/เฮกตาร์ แปลงเผาทุก 6 ปี 3,919 กรัม/เฮกตาร์ และเผาทุกปี ที่มีน้ำหนักของเห็ดเผาะน้อยสุด 3,700 กรัม/เฮกตาร์ และไม่พบดอกเห็ดในแปลงที่ไม่เผา อย่างไรก็ตามไม่พบความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างน้ำหนักเห็ดเผาะกับความถี่ของการเกิดไฟ 

    ผลการศึกษาครั้งนี้ระบว่าสามารถนำไปปรับใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนเข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการเกิดไฟป่า ที่ส่งผลต่อเห็ดเผาะที่เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ โดยความถี่ของไฟที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมผลผลิตของเห็ดเผาะและรักษาเสถียรภาพของป่าเต็งรังคือความถี่ไฟทุก 2 ปี.


    เกี่ยวกับผู้เขียน

    Dada Journalism เป็นนามปากกาของชาวเชียงใหม่ผู้ซึ่งทำงานในแวดวงสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2006 เขานิยามระดับความสามารถในวิชาชีพของตนเองว่าเป็น ‘นักก้อปปี้วางชำนาญการพิเศษอาวุโส’ มีเครื่องมือหลักในการประกอบอาชีพ ได้แก่ กูเกิล โปรแกรมโน้ตแพด โปรแกรมเพนท์ และโปรแกรมเครื่องคิดเลข ที่แถมมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ – รับปากจะเขียนบทความให้กับ Lanner ในประเด็นพื้นที่ภาคเหนืออย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยเพราะศรัทธาและชื่นชอบในตัวของผู้ประสานงานโครงการของ  Lanner เป็นเหตุผลหลัก.

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...