เมษายน 19, 2024

    “เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว” ชีวิตและงานของประภาส ปิ่นตบแต่ง เนื่องในโอกาสเกษียณอายุ 60 ปี

    Share


    เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 มีการจัดงาน “เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว” ชีวิตและงานของประภาส ปิ่นตบแต่ง เนื่องในโอกาสเกษียณอายุ 60 ปี ของ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม อาคาร 6 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 12.00 – 17.15 น. โดยมีนักวิชาการ NGOs ชาวบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ล้วนมีความสัมพันธ์ในแง่มุมต่าง ๆ กับ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ตลอดเส้นทางการทำงาน


    “บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว” เพราะอะไรจึงต้องเป็นข้ามพรมแดน?

    ดร.ชยันต์ วรรณธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานโดยเริ่มต้นด้วยความหมายของชื่องานคือ เดินทางข้ามพรมแดน เพราะอะไรจึงต้องเป็นข้ามพรมแดน? ชยันต์นิยามไว้ว่าเป็นการสื่อถึงบทบาทความเป็นนักวิชาการของประภาส ปิ่นตบแต่ง แต่ก็ไม่ได้จำกัดตนเองอยู่ในพรมแดนทางวิชาการที่มุ่งเรื่องการสอนและการวิจัยเท่านั้น แต่ในเรื่องที่จะเป็นนักวิชาการที่ทำงานกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่เผชิญกับปัญหาอำนาจรัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปัญหาความยุติธรรมที่เรายังไม่เคยสามารถที่จะหยิบยื่นให้กับพี่น้องที่อยู่ในสังคมร่วมสมัย เมื่อครั้งที่รู้จักกันครั้งแรกที่อาจารย์ประภาสศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทราบว่าเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของอาจารย์สุริชัย หวันแก้ว คิดว่าคงจะมีโอกาสได้เรียนรู้รูปแบบในการทำงานและประสานงานของอาจารย์สุริชัย เพราะสิ่งที่อาจารย์ประภาสได้วางบทบาทของตนมาโดยตลอดคือเป็นผู้ที่ประนีประนอมและประสานงาน ข้ามพรมแดน คล้ายกันกับอาจารย์สุวิชัยซึ่งเป็นที่ปรึกษา ดร.ชยันต์ได้เล่าถึงการเคยร่วมกันติดตามงานการศึกษาขบวนการชาวนาและได้อ่านงานของ James C. Scott ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ให้ความสนใจกับขบวนการชาวนาและกล่าวถึงเรื่องของศิลปะในการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย อาวุธของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่สิ่งที่ดร.ชยันต์ได้ค้นพบหลังจากนั้นไม่ใช่เรื่องชาวนาเพียงเท่านั้น วิถีชีวิตหลักของชาวนาคือการทำนาและการเรียนรู้การทำนา ซึ่งอาจารย์ประภาสนั้นเกิดมาจากครอบครัวชาวนาแต่ไม่ได้เป็นยากจน แต่เป็นชาวนาที่เป็นชาวนาผู้รอบรู้ คุณแม่ของอาจารย์ประภาสได้ทำงานและค้นคว้าในเรื่องของพันธุ์ข้าวหอมปทุม อาจารย์ประภาสใช้ชีวิตกับการเป็นชาวนาร่วมกับครอบครัวและเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน ทำให้ได้สัมผัสถึงการทำงานของชาวนา อาจารย์ประภาสได้คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวจนพบสายพันธุ์ที่สำคัญ 2 สายพันธุ์ คือ ชมพูประภาสและนิลประภาส ซึ่งเป็นสายพันธุ์ข้าวเฉพาะในนครชัยศรี

    สิ่งที่ได้เห็นนั้นคือหนึ่งในด้านที่อาจารย์ประภาสมีความสนใจศึกษาเรื่องของขบวนการชาวนา มีนักวิชาการไทยเพียงไม่กี่ท่านที่สนใจในด้านนี้ งานของอาจารย์ประภาสนั้นได้ให้ความสนใจปัญหาของชนชั้นชาวนาในทางวิชาการ บทบาทการเคลื่อนไหว อีกด้านหนึ่งในด้านของชีวิตส่วนตัวอาจารย์ประภาสก็ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับพี่น้องชาวนา ท่านก็เป็นคนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มชาวนาได้ใช้ระเบียบของโฉนดชุมชน 

    ภาพ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    บทบาทของอาจารย์ประภาสนั้นสิ่งที่ต้องการข้ามพรมแดนเป็นตัวแปรที่ทำให้ได้คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความหมายอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากลับไปมองที่แบบมหาวิทยาลัย เราไม่ค่อยเห็นนักวิชาการที่ข้ามพรมแดนเหมือนกับอาจารย์ประภาส มีความหมาย 3 อย่างสำหรับผมที่คิดกลับไปสู่ถึงประชาคมมหาวิทยาลัยหรือบทบาทของมหาวิทยาลัย 

    อย่างแรกคือ การข้ามศาสตร์ในมหาวิทยาลัย คือการเรียนในวิชาสาขาใดสาขาหนึ่งต้องมีการทำงานร่วมกับวิชาสาขาอื่นได้ด้วย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือ คณะวิจิตรศิลป์ที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องของการเมืองกลับกลายเป็นว่าศิลปะไม่เกี่ยวข้องในเรื่องของการเมืองและก็เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าแม้แต่ผู้บริหารของคณะและมหาวิทยาลัยก็ยังมีการแจ้งจับและตั้งข้อหากับอาจารย์ของตัวเอง นี่จึงเป็นคำถามว่าการไม่เข้าใจถึงการข้ามศาสตร์มันทำให้เกิดความคับแค้นต่างวิชา 

    อย่างที่ 2 พูดถึงการข้ามศาสตร์ไม่ได้หมายความว่าศาสตร์หนึ่งไปอยู่อีกศาสตร์หนึ่งแต่หมายความว่าการวิจัยหรือการแสวงหาความรู้ควรจะทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำไปสู่การสร้างหรือกำหนดนโยบายขึ้นมา คือวิชาการข้ามศาสตร์ทางวิชาการไปสู่การนโยบายสาธารณะหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาความไม่ยุติธรรม ปัญหาที่ไม่เสมอภาคในสังคม หมายความว่านักวิชาการหลายคนทำงานกับองค์กรภาคประชาชน ทำงานร่วมกับ NGOs ทำงานกับร่วมชาวบ้าน จากตัวอย่างของอาจารย์ประภาสนั้นทำให้เราได้คิดและมองเห็นว่ามหาวิทยาลัยหรือชุมชนทางวิชาการนั้นมีบทบาทอย่างไร อย่างที่ 2 นั้นสิ่งที่อาจารย์ประภาสทำนั้นมันสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวไว้คือ ความกล้าหาญทางสื่อทางจริยธรรมหรือในภาษาทางวิชาการคือมี Moral commitment คือมีจุดยืนทางวิชาการต่อปัญหาของความไม่ยุติธรรม ปัญหาของคนที่ถูกกระทำโดยความไม่ยุติธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความเดือดร้อนของคนชายขอบ มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการจะต้องมีจุดยืนนี้ขึ้นมา แต่ส่วนมากระดับของการที่จะต้องเข้าไปปฏิบัติการจะเป็นมากน้อยแค่ไหนจะต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือสถานการณ์ที่แต่ละคนต้องเผชิญมา 

    อย่างที่ 3 นั้นก็สำคัญเช่นกัน สิ่งที่อาจารย์ประภาสได้ทำไว้นั้นทำให้ผมได้นึกถึงแนวทางที่ร่วมผลิตสร้างความรู้ต่อสังคม ในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยได้ไม่มองเห็นว่าความรู้ที่มาจากประชาชน ความรู้ที่มาจากชาวบ้าน ความรู้ที่มาจากภาคประชาสังคมมีความสำคัญ อาจารย์มหาวิทยาลัยคิดว่าตนนั้นมีความรู้ที่ถูกฝึก ถูกสอน ถูกอบรมมา ได้รับยกย่องให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และคิดว่าความรู้ตนเองเป็นความรู้ที่ถูกต้อง  ไม่ได้มองว่าคนที่อยู่กับปัญหานี้มีความรู้และมีภูมิปัญญาอย่างไรบ้างในการที่จะแก้ปัญหาเพียงแต่เขาไม่มีโอกาส ทางที่เราอยากจะมองเห็นก็คือทำอย่างไรให้เกิดการข้ามพรมแดนของการวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิจัยว่าเป็นพื้นที่ของนักวิชาการและนักวิจัยอย่างเดียวให้เป็นพื้นที่ของการผลิตสร้างความรู้ขึ้นมาเป็น Co-production หรือ Co-creation พรมแดนของอาจารย์ประภาสนั้นทำให้ผมได้คิดและมองเห็นว่าบทบาทของนักวิชาการควรจะมองตัวการตรงนี้และนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์

    “นักวิชาการในงานเคลื่อนไหว”

    ภาพ : ประชาไท

    โอฬาร อ่องฬะ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เล่าถึงการพบกับอาจารย์ประภาส การศึกษางานของอาจารย์ประภาสในเรื่องของการเคลื่อนไหวทางสังคมได้เป็นแนวทางที่นำมาสร้างและปรับใช้กับแนวคิดและกรอบคิดใหม่ ๆ หากมองในฐานะที่เป็นนักเคลื่อนไหวที่เข้าไปในวงการวิชาการการที่ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ประภาสทำให้ได้หยิบยกสิ่งที่เป็นตัวงานนี้ไปประยุกต์ในสื่อการทำงาน จากงานที่เป็นชุดความรู้ชุดสำคัญในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา และเห็นว่าอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ที่มีความน่าสนใจ 

    กลุ่มที่ 1 คือ งานวิชาการที่ยึดโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหรือขบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่จะเป็นประเด็นหลักนั้นเกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรทั้งหมด งานที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ประภาสในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาพยายามที่จะแสดงถึงมิติของการเคลื่อนไหวของตัวของขบวนการภาคประชาชน ตัวชาวบ้าน และตัวเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายป่าไม้ที่ดินที่เข้าไปขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะงานศึกษาของอาจารย์ประภาส เรื่องของระบบที่ดินที่ทำงานร่วมกับอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร แสดงให้เห็นถึงระบบและกลไกการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน มันจึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงวิธีการของรัฐ โดยเฉพาะรัฐในยุคหนึ่งที่ได้พยายามมองทรัพยากรเป็นการพัฒนาเรื่องความมั่นคง รวมไปถึงทรัพยากรที่มีฐานะที่เป็นสิ่งที่ควบคุมโดยรัฐและถูกจัดการโดยเอกชน ทำให้ชุมชนถูกละเลยและหลงลืมไปจากสิ่งที่เป็นองคาพยพในการมอง ทำให้งานขบวนการป่าไม้ที่ดิน ต้องกลับมาหนุนและทบทวนประเด็นจากงานของอาจารย์ประภาส 

    กลุ่มที่ 2 คือ การหยิบใช้ประเด็นจากการชุมนุม 99 วันของสมัชชาคนจน มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เป็นตัวของประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน ในงานนักวิชาการของจุฬานั้นมีการพบงานรูปแบบนี้น้อยมาก งานชิ้นดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นถึงตัวของรากเหง้าความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงบทบาทของชนชั้นนำและประชาธิปไตยที่เป็นสายกลุ่มอีกกลุ่ม ประชาธิปไตยรูปแบบนี้ทำหน้าที่ให้หันกลับไปมองประชาธิปไตยที่อยู่รวมเรื่องของความลำบาก การเคลื่อนไหว ปากท้องของมวลชน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก ประชาธิปไตยนี้ได้ถูกยกระดับไปถึงการสร้างพื้นที่ในการถกเถียงและแลกเปลี่ยนในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็น Democratization (การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย) คือในเรื่องของการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยในท้องถิ่นที่ต้องเห็นกลุ่มต่าง ๆ ทำหน้าที่ยึดโยงซึ่งกันและกัน 

    กลุ่มที่ 3 เป็นคุณูปการที่สำคัญที่มองถึงการเปลี่ยนแปลงในชนบท จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทใหม่ทั้งหมดการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์เงื่อนไขการผลิตเศรษฐกิจการเมืองอีกชุดหนึ่ง

    จากคุณูปการของทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นอิทธิพลในการสร้างมุมมองทางวิชาการที่โอฬารได้รับจากอาจารย์ประภาส เช่น กลุ่มพื้นฐานทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน กลุ่มเรื่องของประชาธิปไตยเห็นหัวคนจน การเมืองท้องถิ่น และกลุ่มเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น ทั้ง3กลุ่มนี้มันเป็นสิ่งที่กำหนดถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของงานศึกษาทางวิชาการอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เป็นตัวส่งผลถึง Epistemology (ญาณวิทยา) ของนักวิจัยเรื่องนี้ ทำให้การมองชุมชนนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากไม่ใช่เพียงการมองในทางที่เป็นชุมชนเข้มแข็งหรือทาง Romanticize แต่มองว่าเป็นชุมชนที่มีการตั้งรับปรับตัว จากปรากฏการณ์ที่เกิดปัจจุบันเห็นได้ว่ากลุ่มเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงไปสูงมาก งานวิชาการที่อาจารย์ประภาสและอาจารย์หลายท่านได้ผลิตออกมานั้นได้ทำหน้าที่พยายามท้าทายกระบวนการที่ลดทอนความเป็นการเมืองจากสิ่งเหล่านี้ งานเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นงานชาวนา งานประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่พยายามลดทอนความเป็นการเมือง แต่งานของอาจารย์ประภาสหลาย ๆ เรื่องนั้นได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจถูกลดทอนความเป็นการเมืองได้ คุณูปการเหล่านี้ได้นำไปสู่การออกแบบวิธีการการทำงานของนักวิชาการรุ่นใหม่

    ภาพ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวนำถึงการได้รู้จักกันครั้งแรกสมัยเรียนผ่านการเปิดภาพบนจอโปรเจคเตอร์ว่าตนนั้นไม่เคยได้เรียนกับอาจารย์ประภาส แต่ก็มีความสัมพันธ์กันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น รุ่นน้อง เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมวงเหล้า ดร.สุรางค์รัตน์เล่าถึงการชอบเป่าขลุ่ยของอาจารย์ประภาส ภาพสมัยหนุ่มของอาจารย์ประภาส อาจารย์ประภาสในมุมมองของสุรางค์รัตน์นั้นเป็นนักวิชาการที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวแต่ก็ยังต้องการเวลาพักผ่อนจากการสังเกตพฤติกรรมการนอนบนโซฟาในห้องทำงาน  สุรางค์รัตน์ได้อธิบายประเด็นการเคลื่อนไหวของอาจารย์ประภาสออกเป็น 4ข้อ ได้แก่ การเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมกับประชาธิปไตยของชาวบ้าน ขบวนการชาวนาและคนยากจน สิทธิชุมชนและโฉนดชุมชน สิทธิในการกำหนดชีวิต

    ภาพ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงการได้เรียนกับอาจารย์ประภาสเป็นครั้งแรกและเล่าความรู้สึกในการเรียน อิทธิพลของอาจารย์ประภาสที่มีต่อเก่งกิจในช่วงศึกษาปริญญาตรี การสอนที่แตกต่างจากผู้อื่นที่เน้นไปยังการสอนเรื่องความสำคัญของการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่าง เก่งกิจได้ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนนั้นยังมีความหมายอยู่หรือไม่ เก่งกิจได้ให้เหตุผลว่าจากสถานการณ์ในประเทศตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง การต่อต้านภาครัฐ มันแสดงให้เห็นว่าการเมืองเรื่องทรัพยากรที่พูดกันนั้นยังคงมีอยู่ อย่างในเรื่องรัฐสวัสดิการนั้นผู้ที่เคลื่อนไหวก็เป็นผู้ที่โตมากับการเมืองภาคประชาชน ดังนั้นหากกล่าวถึงการเมืองในปัจจุบัน ฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เกิดจากการประกอบสร้างที่ใหม่แบบถอดด้าม แต่เป็นการต่อยอด การต่อสู้ การหนุนเสริมที่มีฐานมาจากการต่อสู้ของการเมืองภาคประชาชน หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนแล้วการส่งต่อบทเรียนและการต่อสู้ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นภารกิจสำคัญคือ เราจะอธิบายว่าการเมืองหลากหลายรุ่นที่ประกอบไปด้วยความคิดหลากหลายแบบอยู่ด้วยกันได้อย่างไรและจะสามารถดำเนินไปในทิศทางใด เก่งกิจได้สรุปข้อโต้แย้งของอาจารย์ประภาสไว้ว่า การเมืองบนท้องถนนนั้นไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับการเมืองในรัฐสภาแต่การเมืองในรัฐสภานั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงยังต้องการแรงหนุนเสริมของการเมืองบนท้องถนน เราถูกบีบให้เลือกว่าเราจะเลือกการเมืองบนท้องถนนหรือการเมืองในสภา การเมืองภาคประชาชนเป็นสิ่งที่อยู่มาโดยตลอดเพียงแต่มันยังมีการเมืองหลากหลายรูปแบบที่ยังส่งเสริมกันอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของภาคประชาชนให้มากกว่านี้ โดยศึกษาถึงแนวคิดและกระบวนการของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ประกอบสร้างเป็นการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

    นักเคลื่อนไหวในงานวิชาการของประภาส


    ประยงค์ ดอกลําไย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวถึงการพบกันครั้งแรก ความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์ประภาส ชีวิตในอดีตบนชนบทของอาจารย์ประภาส โครงการที่อาจารย์ประภาสได้ไปทำงานเป็น NGOs ซึ่งประยงค์เชื่อว่าการไปทำงานครั้งนี้ทำให้อาจารย์ประภาสได้เข้าใจถึงปัญหาของสังคมอย่างมากและเป็นพื้นฐาน รวมทั้งเข้าใจการทำงานของ NGOs จุดอ่อนและจุดแข็งของ NGOs อย่างลึกซึ้ง ประยงค์เล่าว่าได้รู้จักกับอาจารย์ประภาสครั้งแรกเลยก็คือ การวิเคราะห์เรื่องโครงการคจก. ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายทวงคืนผืนป่าในรัฐบาลปัจจุบัน ถือว่าเป็นบรรพบุรุษการทวงคืนผืนป่าซึ่งในตอนนั้นใช้วิธีการทวงคืนแบบทั้งชุมชน แต่ในยุคของประยุทธ์นั้นทวงคืนเพียงทีละแปลงทำให้ส่งผลทำลายความเป็นชุมชน เพราะคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแปลงที่ถูกยึดก็จะไม่รับรู้ถึงปัญหา ทำให้ความเป็นชุมชนก็จะไม่มี หลังจากยุคนั้นก็เป็นในช่วงของสมัชชาคนจนที่ได้ใกล้ชิดกัน อาจารย์ประภาสจะเดินไปเดินมาอยู่ในขบวนการต่อสู้ 99 วันเพื่อที่จะเป็น Speaker เพื่อที่จะเป็นกำลังใจ เพื่อที่จะเชื่อมต่อนักวิชาการต่าง ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดก็มีวาทะที่เกิดขึ้นจากวงเสวนาของอาจารย์ก็คือ “คนจนทั้งผองต้องสามัคคีกัน” ซึ่งก็เป็นสโลแกนที่พวกเราสมัชชาคนจนและภาคประชาชนทั้งหลายที่ได้ใช้ในการต่อเนื่องมา อีกหนึ่งวาทะคือ “รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน” สุดท้ายหลังจากการเคลื่อนไหวสมัชชาคนจน เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นจากการจัดทำหนังสือเรื่องการเมืองบนท้องถนนและได้ถูกใช้เป็นตำราในการเคลื่อนไหว แล้วได้จัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่มากกว่าสมัชชาคนจนก็คือ การเมืองบนท้องถนน 99 วัน ประยงค์เล่าถึงช่วงที่เป็นเพื่อนรวมขบวนการกับอาจารย์ประภาสช่วงที่บ้านของอาจารย์ประภาสเนื้อที่ 1,800 ไร่ถูกยึดจากมติครม. เจ้าของเดิมได้มีความต้องการที่จะขายที่ดินแปลงนี้แต่ไม่มีคนซื้อ จึงได้ให้รัฐบาลตั้งกองทุนที่มีชื่อว่า กองทุนช่วยเหลือเกษตรใหม่เพื่อมาซื้อที่ดินแปลงนี้ในราคา 6,900,000 บาท พ่อแม่ของอาจารย์ประภาสได้ผ่อนที่ดินจนหมดแล้ว ที่ดินต้องตกเป็นของสหกรณ์คลองโยงและของพ่อแม่อาจารย์ประภาส 20 ไร่เป็นโฉนด แต่รัฐบาลทักษิณได้มีมติครม.ปี 44 ว่าห้ามจำหน่าย ถ่ายโอนที่ราชพัสดุ ในระหว่างที่เช่าซื้อที่ดินแห่งนี้ถือเป็นที่ราชพัสดุ อาจารย์ประภาสจึงได้ชักชวนผมลงไปในพื้นที่และร่วมวางแผนที่จะนำที่ดินนี้คืน ในตอนนั้นได้มีนโยบายโฉนดชุมชนขึ้นพอดีและได้ต่อสู้กันมา 3 ปีสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จในช่วงรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากมากเพราะชาวบ้านคลองโยงล้วนเป็นเสื้อแดงกันทั้งหมู่บ้าน อาจารย์ประภาสก็เป็นแกนนำในการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย ในขณะที่เราต้องเอาอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ขัดแย้งทางการเมืองลงไปในพื้นที่ เพื่อที่จะนำที่ดินผืนนี้คืนให้กับชาวบ้าน บทเรียนที่ได้จากการต่อสู้ครั้งนี้ คือ ต้องปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตในคลองโยงโดยตั้งใจว่าจะเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นที่มาของการไปหาข้าวพันธุ์ท้องถิ่นดั่งเดิมคือข้าวพันธุ์นครชัยศรีที่เกือบจะสูญพันธุ์กลับมาปลูกอีกครั้ง ในท้ายที่สุดทุกอย่างนั้นยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่หนึ่งคือปฏิรูปการผลิตยังไม่ประสบความสำเร็จ ปฏิรูปการจัดการบริหารของสหกรณ์ในช่วงแรกได้วางแผนหลังจากได้โฉนดชุมชนว่าเราจะยึดสหกรณ์ แต่ในตอนนี้ก็ยังไม่สำเร็จ อาจารย์ประภาสได้ออกแบบวางแผนการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านร่วมกับประยงค์แต่ได้รับเลือกเพียง 2 หมู่ หลังจากนั้นอาจารย์ประภาสก็เป็นนักวิชาการที่ชี้นำในเรื่องประชาธิปไตยมาโดยตลอด จึงได้รับเกียรติมาร่วมเป็นปาฐกถาในงานเดิน ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย หลังจากการยึดอำนาจของประยุทธ์ แต่สุดท้ายได้ถูกสห.จับกุมตัวและจากรูปที่ถ่ายก็ทำให้เกิดการเจรจากันขึ้น อย่างน้อยคุณูปการของงานนั้นคือ เราสามารถหยุดการทวงคืนผืนป่า หยุดความร้อนแรงของมันได้และได้นำองคมนตรีเข้ามาเจรจาแล้วได้มอบนโยบายว่าต่อไปนี้ต้องไม่มีความเดือดร้อนกับชุมชน อาจารย์ประภาสยังเป็นนักวิชาการที่ช่วยจัดตั้งทุกองค์กรที่เป็นองค์กรเคลื่อนไหว



    พรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดินไทย (Land Watch THAI) กล่าวว่าจุดสำคัญที่ NGOs จะจดจำอาจารย์ประภาสได้ก็คือ 99 วันสมัชชาคนจน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในแวดวง NGOs หากไม่ใช่เรื่องที่ดินก่อนหน้านั้นก็จะเป็นในประเด็นเรื่องทรัพยากร ในการเป็น NGOs ที่ทำงานมานานก็คือมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม งานที่มีนักวิชาการมาเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ Philip Hirsch ที่เห็นว่ามีงานเขียนของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนของอาจารย์ประภาสนั้นจะเน้นไปที่กระบวนการชาวไร่ชาวนาและประเด็นเรื่องทรัพยากร สิ่งที่คิดว่าเป็นความประทับใจสำหรับนักวิชาการอย่างอาจารย์ประภาสคือ อาจารย์ประภาสนั้นมีความเคารพอย่างมากในการทำงานของชาวบ้าน งานเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคม แม้ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นขยะ พรพนาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกนักวิจารณ์มองว่าการเก็บข้อมูลของ NGOs นั้นใช้ไม่ได้เป็นแค่ขยะ แต่ในขณะที่อาจารย์ประภาสนั้นให้คุณค่ากับงานของ NGOs เป็นอย่างมาก สิ่งที่ NGOs ขาดในการทำงานคือ การไม่มีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษาในเวลาที่จะเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐควรต้องมีนักวิชาการที่ออกแบบองค์ความรู้ที่จะมาสู้กับนโยบายจากรัฐอย่างไร พรพนากล่าวถึงประเด็นที่เป็นองค์ความรู้ของ NGOs ว่ายังมีจุดอ่อนอยู่ค่อนข้างมาก แต่ในช่วง 30 ปีมานี้ก็เห็นถึงพัฒนาการที่น่าสนใจในเรื่องของการทำงานข้อมูลเชิงลึกหรือข้อเท็จจริง รวมทั้งเรื่องของชาวบ้านที่ทำงานเรื่องของการเก็บข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลลงบนโซเชียลมีเดีย ประเด็นที่คิดว่าเป็นความน่าสนใจคือ องค์ความรู้นั้นมันเกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ พรพนาได้ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์เมื่อสมัชชาคนจนที่มีการกล่าวถึงเลื่อน ศรีสุโพธิ์ได้วิจารณ์กฎหมายอุทยานและกล่าวเป็นรายมาตราโดยที่เลื่อน ศรีสุโพธิ์ นั้นจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อีกกรณีคือ นางผา กองธรรม ที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนราษีไสล สิ่งนี้เป็นความน่าสนใจถึงการเรียนรู้ของชาวบ้านในเรื่องของการเป็นนักวิชาการ สิ่งที่ชาวบ้านนั้นมีความโดดเด่นกว่าบริษัทที่ปรึกษาที่รับจ้างศึกษาผลกระทบคือชาวบ้านรู้เรื่องพื้นที่ของตนเอง ทำให้บทเรียนและประสบการณ์ของชาวบ้านมีความน่าสนใจในด้านองค์ความรู้



    สมบูรณ์ คำแหง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่าสิ่งที่เห็นความชัดเจนทางวิชาการจากอาจารย์ประภาสคือ การรับใช้ประชาชน สมบูรณ์ได้ยกกรณีด้านงานวิชาการไว้ว่า งานวิชาการที่มีพลังต้องมีปฏิบัติการ เบื้องหลังจากการได้รับชัยชนะจากโครงการที่ปากบารามาจากงานวิชาการ โดยการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลร่วมกันจาก EHIA ที่ได้ขโมยมาจากกรมเจ้าท่า ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจุดอ่อนและสามารถตีโต้เป็นข้อมูลที่ส่งกลับไปยังรัฐบาลแม้กระทั่งการเก็บข้อมูลทรัพยากรในอ่าวปากบาราและได้รับข้อมูลการสำรวจจากนักวิชาการอีก ทำให้สามารถใช้ทั้งการสื่อสารในโซเชียลมีเดียและข้อมูลที่เป็นทางการที่ยื่นให้กับรัฐบาลเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจากการนำงานวิชาการไปใช้ในลักษณะแบบนั้นก็ได้มีการนำข้อมูลไปยืนยันกับกลุ่มอื่น 3 กลุ่มในจังหวัดสตูลและยืนยันว่าข้อมูลของที่เขามีอยู่นั้นเป็นเท็จ โดยการส่งตัวแทนไปพูดคุยอย่างเป็นทางการเพื่อหาหนทางในการแก้ไขให้ถูกต้อง นี่เป็นการทำงานที่ใช้งานวิชาการที่ชัดเจนและข้อมูลที่มีอยู่นั้นเราสามารถที่จะขยายผลให้คนสตูลได้รู้เรื่องนี้กว้างขึ้น รวมถึงปฏิบัติการณ์ที่ชวนคนสตูลให้คนสตูลออกมากำหนดอนาคตตนเองแทนที่จะถูกกำหนดอนาคตจากเบื้องบน นี่เป็นความชอบธรรมที่เราชวนคนสตูลมาร่วมออกแบบจังหวัดตัวเองกันดีกว่า ดีกว่าให้รัฐบาลนำโครงการใหญ่มาให้และบอกว่านั่นเป็นความเจริญ สมบูรณ์คิดว่านี่เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ทำให้คนสตูลออกมายอมรับฐานะกับเรื่องเหล่านี้ ล่าสุดที่เป็นทางการคือที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงพื้นที่ไปที่จังหวัดสตูลเมื่อปี 62 ซึ่งจังหวัดสตูลก็มีความกังวลที่อาจจะมีการประท้วงที่อาจทำให้มีการเสียหน้าได้ สมบูรณ์ได้เข้าไปเจรจากับผู้ว่าฯ ว่าหากจะไม่มีการประท้วง สมบูรณ์ได้ขอให้มีการจัดเวทีและนิทรรศการพิเศษเพื่อแสดงให้นายกประยุทธ์เห็นว่าสตูลมีอะไร ปรากฏว่าจังหวัดยอม โดยทางสมบูรณ์ คำแพงและเครือข่ายได้ประชุมกันในเครือข่ายสตูลว่าขอจัดเป็นสมัชชาภาคพิเศษและนำเสนอสิ่งดีของสตูลให้ผู้มาร่วมดู เช่น นำเสนอภาพถ่ายปะการังอ่อน 7 สีภาพใหญ่เท่าฝาผนังโดยช่างถ่ายภาพใต้น้ำ ทำให้แสดงถึงหลักฐานเชิงประจักษ์บวกกับสิ่งที่วิศวะกรนำมาโชว์ว่ามันมีอะไรบ้าง ประยุทธ์ไม่ได้กล่าวว่าจะให้เดินหน้าโครงการ สุดท้ายจากบทสัมภาษณ์หากคนสตูลไม่ยอมรับเราก็ต้องเคารพ ซึ่งสมบูรณ์คิดว่าเป็นเรื่องของงานวิชาการล้วน ๆ หลังจากนั้นประยุทธ์ได้ให้เงินกับกลุ่มอาสาสมัครก็เลยเป็นการสมทบทุนไป ก็เป็นท่าทีที่เปลี่ยน สมบูรณ์คิดว่าบทเรียนตรงนี้ที่สตูลค่อนข้างชัดแต่ในรายละเอียดในทางสาธารณะเรื่องกระบวนการเหล่านี้ไม่ค่อยถูกสืบออกมา ทั้งนี้ทั้งนั้นพี่น้องในพื้นที่ควรตระหนักรู้กันดีว่าแค่วิชาการอย่างเดียวนั้นไม่พอการสร้างรูปธรรมการพัฒนาในพื้นที่ พี่น้องจะนะก็มีความพยายามที่จะสร้างรูปธรรมในแบบของตัวเอง จุดนี้แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมที่แท้จริงที่จะบอกถึงการที่จะพัฒนาบ้านของตัวเอง ท้ายที่สุดหนีไม่พ้นการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายที่มีอยู่เยอะมาก นี่ก็เป็นภารกิจที่จะต้องทำให้คนจะนะและจังหวัดสงขลาเอาบทเรียนมาปรับใช้ก็ต้องช่วยเหลือกัน นี่ก็ถือเป็นโจทย์ท้าทายอย่างหนึ่งในการนำงานวิชาการมาใช้ในการปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมในบทเรียนว่างานวิชาการและงานบทบาทเพื่อสังคมต้องไปด้วยกัน ซึ่งเป็นพลังที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

    แลกเปลี่ยนประเด็นการเดินทางข้ามพรมแดน ประภาส ปิ่นตบแต่ง ในมุมมองของทุกคน


    สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้กล่าวถึงกระบวนการที่จะส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่โดยมองจากขบวนการเคลื่อนไหวหยุด APEC ที่ทำให้เห็นถึงภาพรวมที่จะเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ประเด็นใหญ่ของสังคม เราจะนิยามการทำงานที่ผ่านมาของเราอย่างไร ปฏิปักษ์ของเราคือรัฐเผด็จการที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการและนโยบายจะไปในทิศทางใด เรื่องทรัพยากรจะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและใหญ่โตมากขึ้น คำถามใหญ่คือเราจะทำอย่างไร เราจะเดินหน้าไปอย่างไร หลังจากนี้การต่อยอดสิ่งที่อาจารย์ประภาสทำในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาในประเด็นที่วิทยากรได้กล่าวไปจะไปข้างหน้าอย่างไร คิดว่าไม่น่าจะเกินไปกว่ากระบวนการเคลื่อนไหว เพราะอำนาจรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญแก่พวกเราและมองเพียงว่าเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่มาคัดค้าน สิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญว่าหลังจากนี้เราควรไปยังไงต่อ แต่คนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวในทางการเมืองนั้นพลังรุ่นใหม่ที่เข้ามาเชื่อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางใดต่อ

    ภาพ : ประชาไท

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมชายกล่าวว่ามี3เรื่องสำคัญที่เห็นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

    ข้อที่ 1 คือ คนหลากหลายกลุ่มที่มีการแบ่งฝ่ายได้เริ่มตระหนักว่าโครงสร้างของรัฐไทยเริ่มที่จะเป็นปัญหา ซึ่งเป็นมติที่เริ่มจะพอเห็นร่วม ๆ กัน 

    ข้อที่ 2 คือ จากงานเคลื่อนไหวทำให้เห็นถึงการเกิดสิ่งที่เรียกว่า เครือข่าย โดยจากประเด็นที่อาจารย์เก่งกิจได้ตั้งคำถามว่า สิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนจะดำเนินต่อไปอย่างไร สังคมควรที่จะตระหนักถึงโจทย์ข้อนี้ เพราะแต่ละเครือข่ายในสังคมยังมีคนที่ให้ความสำคัญในมิติที่แตกต่างกันอยู่ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเราจะจัดความสำคัญของประเด็นนี้อย่างไรในเชิงเครือข่าย

    ข้อที่ 3 คือ การเมืองในภาคประชาชนไม่สามารถปฏิเสธการเมืองในรัฐสภาได้ จากเหตุการณ์การเมืองบนท้องถนนนั้นจะสามารถเชื่อมโยงกับสถาบันที่เรียกว่าพรรคการเมืองอย่างไรและจะต้องกดดันอย่างไรเพื่อให้พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับภาคสังคมมากขึ้น หมายความว่าเราจะทำงานอย่างไรนอกจากการสร้างเครือข่าย เราจะกดดันพรรคการเมืองหรือจัดความสำคัญของเครือข่ายภาคสังคมกับสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการอย่างไร นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องเห็นร่วมกันในสังคม


    ภาพ : Thecitizen.plus

    จำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่าจากการเห็นการทำงานของอาจารย์ประภาสที่มีเพื่อนทีมนักวิชาการที่มาจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยและเป็นทีมที่ทำงานร่วมโดยมีความเป็นเอกภาพในหลากหลายด้าน ทำให้สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำนั้นมีนักวิชาการที่เก็บเกี่ยวข้อมูลและนำมาเสนอสู่สาธารณะได้อย่างมีพลัง ซึ่งทำให้ประเด็นที่ว่าต้องมีการพึ่งงานวิชาการให้มากขึ้นในงานวิชาการที่ทำร่วมกับการเคลื่อนไหวที่เป็นจุดที่สำคัญมากที่สุด การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นทำให้มีการเติบโตขององค์กรจากประชาชนเยอะ จุดสำคัญที่สุดคือ การร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 40 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมาก เพราะเกิดจากข้อมูลจากประชาชนที่มาเข้าร่วมมากมายและผ่านการร่างโดยปัญญาชน แต่จุดสำคัญคือสิ่งที่กระจัดกระจายเป็นประเด็นในกลุ่มต่างๆที่หลากหลายได้รวมกันกระแทกโครงสร้างจนเกิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร เมื่อมีประเด็นร่วมคนที่มีความขัดแย้งร่วมกันก็จะไปทางเดียวกันได้ เป็นโจทย์ที่พบในปัจจุบันว่าทุกปัญหาทางสังคมสามารถรวมกันให้เกิดเป็นพลังได้


    ภาพ : ประชาไท

    บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องของอาจารย์ประภาสและขบวนการประชาชน 

    ประเด็นแรกเรื่องของอาจารย์ประภาส ส่วนใหญ่จะมองในฐานะนักวิชาการที่ข้ามพรมแดนมาสู่กระบวนการเคลื่อนไหว บุญเลิศเล่าถึงอาจารย์ประภาสในมุมมองนักวิชาการแก่ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงวิชาการได้เห็นว่า อาจารย์ประภาสได้รับการยอมรับในฐานะนักวิชาการที่รู้เรื่องจริงแต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง หากเป็นเรื่องเกษตรกร เรื่องชาวนา ผมคิดว่าอาจารย์ประภาสเขามีพลังตรงนี้ ผมอยู่ในแวดวงวิชาการที่สามารถเชิงทฤษฏีสามารถเชิงอะไรต่าง ๆ แต่มาถึงจุดหนึ่งที่ว่าชาวบ้านคิดเช่นไร การเลือกตั้งจะเป็นยังไง อาจารย์ประภาสมีความจริงที่จะบอกว่าความเป็นนักวิชาการที่ไม่ใช่แค่นักวิชาการแต่โดยวิถีชีวิตที่อยู่กับชาวบ้าน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่อาจารย์ประภาสดำรงสถานะในแวดวงวิชาการ 

    ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ผมพูดต่อเนื่องจากขบวนการภาคประชาชน คิดว่าที่อาจารย์เก่งกิจพูดมีความน่าสนใจ ที่ว่าไม่จำเป็นต้องถกเถียงว่าสถาบันมาก่อนหรือประเด็นเรื่องปากท้องชาวบ้านมาก่อน ทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถไปด้วยกันได้ ผมคิดว่าปรากฏการณ์ที่อยากเห็นคนรุ่นใหม่มาสนใจเรื่องปัญหาชาวบ้านอย่างแท้จริงยังเกิดขึ้นไม่มากพอ ผมคิดว่านี่เป็นภารกิจที่ต้องทำโดยต้องมีการให้การศึกษาในเรื่องของกระบวนการชาวบ้าน ขนาดไหนที่จะสามารถพูดเรื่องสถาบัน ผมคิดว่าหากจะไปด้วยกันได้ต้องเริ่มศึกษาจากตรงนี้ทั้งจากชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ ต่อเนื่องจากเรื่องการหาประเด็นร่วม จุดที่ยากคือไม่สามารถหาจุดร่วมในสังคมได้ การแบ่งขั้วที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการแบ่งขั้วของ Generation การแบ่งขั้วระหว่าง Generation นั้นทำให้เรื่องมันยากขึ้นซ้อนกับการแข่งขันระหว่างชนชั้นกลางกับชาวบ้าน มันต้องทำบนงานที่มีความเข้มข้นมากกว่าที่ปรากฏเป็นครั้งคราว

    เดินข้ามพรมแดนแบบประภาส

    สุริชัย หวันแก้ว ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวขึ้นว่าเราได้มาเจอกันในวันนี้ด้วยเรื่องของคน ๆ หนึ่ง เราแต่ละคนก็เป็นคน ๆ หนึ่งทั้งนั้น เราได้อาศัยความเป็นคนคนหนึ่งจากเรื่องราวของอาจารย์ประภาสมาทำให้เจอกัน ความเป็นคน ๆ หนึ่งจะทำให้เกิดพลังได้ไหม แต่พลังในการรวมกันเพื่อจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับความรับผิดชอบร่วมกันหรือว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่เข่นฆ่าคนอีกฝ่ายหนึ่งด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าท่านมีอำนาจท่านจะจัดการเราได้วันนี้จะถือเป็นพลังชนิดไหน พูดถึงความเป็นมนุษย์ของอาจารย์ประภาสคือ เราไม่ได้มาเพื่อจะสดุดีความเป็นวีรชน ซึ่งอาจารย์ประภาสก็ไม่ใช่คนที่จะบอกว่าคำตอบที่ถูกต้องมาถามผม แต่อาจารย์ประภาสจะตอบว่าคนอื่นพูดถูกแล้ว ผมคิดว่านักพัฒนาต้องรักษาตัวเองให้ได้ เรามีแต่วีรชนไม่มีขบวนการ ประเทศของเราในตอนนี้ต้องการภาวะผู้นำที่ใคร ๆ ก็รู้สึกว่าเรามีค่าพอเราทำด้วยกันได้

    ภาพ : thaipublica.org

    ความประทับใจส่วนตัวต่ออาจารย์ประภาส ซึ่งเป็นทั้งจุดแข็งและเรื่องที่เราต้องถกในยุคสมัยนี้ด้วยว่าเราต้องการภาวะผู้นำชนิดหนึ่งซึ่งไม่เห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่อาจารย์ประภาสก็ได้สร้างสรรค์ไว้มาก เขาทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมคิดว่าสามารถทำได้ยังไง ความเป็นอนาคตของการเมืองไทยในคนที่ชื่อว่าประภาสที่เราได้คุยกันวันนี้ไม่ใช่อนาคตของเผด็จการแต่คือคนที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นครูเราด้วยได้เรียนรู้ไปด้วย ประเด็นคือสังคมเราต้องการการเมืองชนิดไหน เราล้วนแต่ต้องการการเมืองปฏิรูปสถาบัน การปฏิรูปสถาบันหมายถึงเราสร้างพรมแดนของสถาบัน โดยมันต้องไม่มีความเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่สถาบันถูกใช้ไปในทางนั้นมันก็หมดคุณค่า ใครอยู่ในสถาบันก็จะโดดเดี่ยวที่สุด สถาบันที่ผมมักจะพูดถึงคือสถาบันศาสนา ทำไมถึงไม่ควรปฏิยุทธ์สถาบันศาสนา ทำให้มันส่งเสริมความเกลียดชังไปโดยไม่รู้ตัว ประเด็นเรื่องข้ามพรมแดนทางวิชาการก็ถือเป็นการปฏิรูปสถาบันเช่นกัน มหาวิทยาลัยที่ไม่มีความรู้สึก ความโหดร้ายในนามรัฐทำต่อคนที่พยายามจะสื่อสารเรื่องที่สำคัญในสายตาพวกเขา ทำอย่างไรไม่ให้คนในสังคมสนับสนุนฝ่ายเดียว ยินดีกับความยุติธรรมและอำนาจที่เราเห็นด้วยกับความอยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นความไม่เป็นธรรมของสถาบันที่ดำรงอยู่โดยการส่งเสริมความไม่เป็นธรรมที่ต้องปฏิรูปทั้งสิ้น มนุษย์ที่เป็นผู้สร้างสถาบันและสถาบันได้เข้ามาใช้เราทั้งหลายทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงและเป็นเจ้าของสถาบัน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ในทุกสถาบันเราต้องการการเสริมพลังให้เชื่อมั่นว่าถ้าหากไม่มีคนสถาบันจะไม่มีคุณค่าอะไรทั้งสิ้นถ้าไม่มีความเป็นธรรมสถาบันจะไม่ควรจะดำรงอยู่ คนที่อยู่ในการบริหารจัดการสถาบันไม่มากก็น้อยล้วนแต่น้อยที่สุดต้องหาทางปรับปรุง แต่มนุษย์มีการสร้างกรงขังให้ตัวเองเยอะมาก สิ่งที่ทำให้เราประทับใจกันผมคิดว่ามันเป็นพลังของการดึงดูด พลังของการช่วยเหลือ แต่โลกตอนนี้อยู่ในจุดที่ว่าโลกจะมนุษย์จะมีพลังมากขึ้นในทางร่วมกันสร้างหรือจะในทางร่วมกันทำงานร่วมประเด็นที่ผมจะพูดส่งท้ายคือ การตื่นตัวพี่น้องที่จะนะกล้าหาญมากยิ่งกว่าคำอธิบายที่พูดได้แต่เขากล้าหาญไม่ใช่กล้าเพื่อที่จะแสดงวีรกรรมอะไรแต่กล้าเพื่อจะสุขใจที่สุดซื่อสัตย์ที่สุดกับความผูกพันกับท้องทะเลมหาสมุทร ถ้าหากวันนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราโยงการถกเรื่องการเมืองเพื่ออนาคต โดยผ่านการเจอกันในงานนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ ผมคิดว่าเสียงประท้วงในการประชุม APEC เรื่องมิติทางสิ่งแวดล้อมทางนิเวศน์ตั้งแต่เรื่องป่าไม้ รัฐราชการดื้อด้านอย่างขนาดไหน วิชาการในรั้วมหาลัยไม่มีหูฟังไม่มีการเปิดใจเพียงไร ผมพูดอย่างนี้เพื่อจะเน้นบอกว่าพวกเรามีความวิเศษและชีวิตมันสั้น แต่ผมอยากจะเห็นมากว่าถ้าทุ่มจากความอยุติธรรมที่มันทำอย่างนี้กับคนที่เขามาทักท้วง อยากให้ทรมานเรื่องด้วยการยิง ด้วยการขู่ให้กลัว การขู่ให้กลัวจะทำให้เรามีอนาคตร่วมกันได้เหรอ มันเป็นแค่คำย้อนแย้งกันไปหมดอยู่แล้ว ผมคิดว่ามาจากความเลือดเย็นทั้งหลาย ไม่มีทางอื่นใดเลยที่ผมที่เราต้องสู้กับเรื่องเหล่านี้ ต้องสู้กับความอยุติธรรม  ผมคิดว่ามีโจทย์หลายโจทย์ก็คือว่าในมหาวิทยาลัยเรามีการศึกษาวิจัยพูดกันไว้เยอะ

    ผมขอพูดประเด็นสุดท้ายว่าอนาคตนั้นไม่สามารถสร้างได้ ถ้าหากคิดจากวิชาการแบบเป็นสถาบันอย่างเดียว วิชาการอยู่ในรั้วอย่างเดียว แต่ผมไม่ได้คิดว่าอนาคตจะสร้างโดยข้างใดข้างหนึ่งฟากใดฟากหนึ่ง อนาคตที่สร้างโดยข้างใดข้างหนึ่งหรือฟากใดฟากหนึ่งไม่มีทางทีจะเป็นอนาคตที่เป็นธรรมได้ ผมเป็นคนบ้านเดียวกันอำเภอเดียวกันแต่ว่ามีบุญน้อยมากที่จะทำงานด้วยกันได้ใกล้ชิดกัน แต่รู้แต่ว่าชีวิตของเราถ้าจะรู้หลายเรื่องรู้บางเรื่องดีกว่า ถ้ามีคนถามว่าผมรู้เรื่องอะไรบ้างผมจะตอบไม่ค่อยได้ว่ารู้เรื่องอะไรบ้าง แต่ผมรู้แต่ว่าความเป็นธรรมในโลกนั้นต้องการพลังสร้างสรรค์อย่างยิ่ง พลังต่อต้านในพลังสร้างสรรค์ด้วย การต่อต้านเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ทุกท่านทราบดีต้องมีการสร้างสรรค์ด้วย การต่อต้านและการสร้างสรรค์ในอำนาจที่เหลื่อมล้ำเป็นธรรมมะที่ต้องช่วยเหลือและส่งเสริมให้ได้ โลกที่เหลื่อมล้ำไม่ใช่ที่พูดเฉพาะในกรณีประเทศไทยนะครับแต่พูดในกรณีในโลก ผมขออนุญาตพูดส่งท้ายผมได้ไปมาเลเซียมาเมื่อคืนเพื่อไปประชุมงานเรื่องใหญ่มากก็คือว่า มีคนเทียบอ้อม ๆ ว่าไทยเป็นประธาน APEC อินโดนีเซียเป็นประธานที่ 20 เป็นประโยชน์อะไรบ้างกับโลกที่เหลื่อมล้ำ เราไม่พูดถึงความภูมิใจที่เราเป็นคนไทยนะ เราตั้งโจทย์เพื่อจะชวนกันคิดนะ ผมนะคิดว่าที่จะนะ สมัชชาคนจน พี่น้องชาวเล งานที่จะทำหลายอย่าง เป็นงานงามหน้าของการสร้างอัตลักษณ์ของประเทศไทยในโลกที่มีความหลากหลายนั้นดีกว่าความเป็นไทยที่เรารู้จัก ผมอยากจะพูดประเด็นนี้ก็เพราะว่าในระบบการเมืองของเรามันเป็นเช่นอย่างนี้ บนเวทีใหญ่ร่วมสหประชาชาติไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ แต่ประเทศที่มีกำลังมากก็อยากจะลอยอยู่ในมหาอำนาจกันเสียเอง คือโลกกำลังปั่นป่วนกันขนาดนั้น โลกก็อยู่ในสภาพที่แย่มาก กลับมาวนถึงเรื่องวิกฤตินิเวศของโลกนิเวศที่ชาวบ้านตื่นตัวและเรากำลังเรียนรู้จากข้อถกเถียงตรงนี้ ผมคิดว่าหัวใจที่เราสามารถห่วงใยเรื่องของสัตว์ เรื่องทะเล เรื่องช้าง ไม่ใช่ในความหมายที่รัฐให้อย่างเดียวแต่ว่าคือสัตว์โลกเหมือนกับเรานี่แหละ หัวใจเหล่านี้ระมัดระวังเพื่อให้เรารู้สึกว่าช่วงนี้ที่จะรู้สึกมนุษย์เราถูกท้าทายมากเพราะความรับผิดชอบ จะช่วยกันให้มากขึ้น ผมคิดว่าพลังสำคัญของประเทศไทยอยู่ตรงนี้นะไม่ได้อยู่ที่การเมืองและพรรคการเมืองแบบเดิมการเมือง แพ้ชนะในการเมืองก็สำคัญมากนะครับไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ว่าคุณภาพเนื้อในมันจะต้องมาจากการเมืองเชิงนิเวศการเมืองเชิงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการเมืองของการช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขไปด้วย การเมืองที่ไม่มีการเรียนรู้จากข้อบกพร่องต้องสนับสนุนเป็นข้อส่งท้ายคือ มันทำให้โจทย์ทวงคืนผืนป่ากลายเป็นโจทย์เยียวยาโจทย์ความยุติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การมองเรื่องโจทย์นิรโทษกรรมทางการเมืองตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพื่อที่จะทำให้เราได้ถกเถียงกันมากขึ้น ตรงจุดนี้ผมหวังว่างานที่เราเจอกันวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการถกถียงแล้วก็เชื่อว่าการถกเถียงครั้งต่อไปจะเป็นการถกเถียงที่ประเทศไทยเราต้องถกเถียงด้วยความรับผิดชอบของประเทศที่มีต่อเพื่อนบ้านและมีต่อสภาพแวดล้อมต่อหลายสิ่งหลายอย่างและหวังเป็นอย่างยิ่งนะครับว่าอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่จะช่วยถกเถียงกันให้ว่าขึ้นว่าจะมีส่วนร่วมกับทางมหาวิทยาลัยไม่ให้กลายไปเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้รอบใหม่อย่างนี้ได้อย่างไร ผมคงเชื่อว่าชาวบ้านจะนะจะไม่ยอมลดละที่จะทำให้มหาลัยเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อการสร้างการเมืองเชิงนโยบายในมิติใหม่ๆไม่ใช่เรื่องแค่ความทะยานแต่เป็นเรื่องที่เราควรจะรับผิดชอบต่อคนรุ่นต่อไปด้วยสภาพนิเวศที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย


    ภาพ : โอฬาร อ่องฬะ

    Related

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...