เมษายน 25, 2024

    เยาวชน 10 พื้นที่ร่วมโวยวายลั่นประเทศ

    Share

    เสียงเด็กในเมือง เสียงเด็กนอกเมือง เสียงเล็ก ๆ เสียงใหญ่ ๆ เสียงของคนที่ประสบความสำเร็จ เสียงของคนเคยพลาด และอีกหลาย ๆ เสียงที่เราเคยได้ยินหรือไม่เคยได้ยิน ทุก ๆ เสียงมีความหมายเสมอ ร่วมรับฟังเสียงของเครือข่ายเยาวชน 10 พื้นที่ทั่วประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้ง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา แต่มีความคิดความเชื่อที่ว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการ Voice of Youth (VOY) ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ของเยาวชน ทีมพี่เลี้ยง และสังคมของพวกเค้า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

    1.ละอ่อน Home จังหวัดพะเยา



    ภิมย์  จิราพัชร ช้ำเกตุ 

    Q: แนะนำตัวหน่อยว่าเป็นทีมอะไรมาจากไหนครับ?

    A: ชื่อภิมย์ค่ะ เป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มละอ่อน Home อยู่ภายใต้กลุ่ม Moose ที่สนับสนุนละอ่อนโฮมพัฒนาศักยภาพเยาวชนอยู่ที่อำเภอภูซางจังหวัดพะเยา 

    Q: ที่มาและความสำคัญของกลุ่มที่จัดตั้งโครงการขึ้นมามีความสำคัญยังไง เราเห็นอะไรถึงมีโครงการนี้ขึ้นมา?

    A: โครงการชื่อว่า “ภูซางโวยหรือเสียงเยาวชนภูซาง” โครงการนี้มันอิงจากบริบทพื้นที่ที่เราทำงานบนฐานชุมชน แล้วชุมชนในภูซาง เป็นชุมชนที่พอทำงานแล้วเราพบปัญหาว่าเป็นชุมชนแหว่งกลางคือมีความต่างทางช่วงวัย วัยเด็ก วัยรุ่น แล้วก็ข้ามไปวัยผู้ใหญ่เลย วัยตรงกลางที่เป็นวัยทำงานนั้นหายไปจากชุมชน พอทำงานไปเรื่อย ๆ มันก็เลยเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมคนถึงได้ออกนอกชุมชน พอเราลองสังเกตดูแล้วมันกลายเป็นว่าตัวเด็กที่เขาอยู่ในชุมชนตั้งแต่แรกเขาไม่ได้รู้สึกว่าชุมชนเป็นของเขา หมายถึงว่าในชุมชนก็จะมีอำนาจของผู้ปกครอง อำนาจของคนใหญ่คนโตที่กดทับเขาอยู่ เขาไม่ได้ออกสิทธิออกเสียงมากนัก มันก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะออกไปข้างนอก ประกอบกับเยาวชนหาแนวทางไม่เจอว่าจะทำอะไรต่อในชุมชนตัวเอง 

    Moose ก็เลยสนใจมาจับประเด็นในเรื่องของการทำงานกับเยาวชนเป็นส่วนใหญ่โดยทำงานบนฐานชุมชนนี่แหละ ก็เอาเยาวชนมาเรียนรู้ชุมชนเพื่อเป็นการปูพื้นฐานก่อนให้เขารู้จักชุมชนเขา ให้เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของชุมชนไม่ว่าจะเป็นการประชุมหมู่บ้านก็ได้มีสิทธิ์ไปโหวตหรือแม้แต่งานประเพณีต่าง ๆ เยาวชนก็มีส่วนร่วม พอทำไปสักพักเยาวชนก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนก็จริงแต่ว่าด้วยความที่มันเป็นชุมชนที่อยู่นอกเขตเมือง ภูซางนั้นเป็นชายแดนอยู่ใกล้ชายแดนไทยลาว เด็ก ๆ ค่อนข้างไกลจากการเรียนรู้ คือการเรียนรู้มันต่างกันบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากเป็นอะไรอยากทำอะไรหรือว่าจะทำอะไรต่อ เราเลยมาทำเรื่องการศึกษา โดยเน้นไปที่การออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง ก็เริ่มมาจากการที่พาน้องมาค้นหาตัวเองว่าความคิดความฝัน สิ่งที่อยากจะเป็น สิ่งที่อยากจะทำคืออะไร พอทำไปสักพักนึงเราสนับสนุนให้เยาวชนค้นหาตัวเองให้เจอ พอเจอตัวเองแล้วเราเชื่อว่าเขาจะไปไวและไปได้ไกล คือพอเจอตัวเองเจอชุมชนก็จะรู้ว่าตัวเองเหมาะจะไปอยู่จุดไหนและก็จะกลับไปอยู่ในชุมชนและรู้ว่าจะช่วยพัฒนาบ้านตัวเองอย่างไร

    Q: ตั้งแต่เข้าโครงการมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของทีมเราอย่างไรบ้าง แล้วเสียงของเรามันดังขึ้นไหม? 

    A: ถ้าในขอบเขตการทำงานกับเด็กก็ถือว่าตอบโจทย์ เพราะว่าเราเห็นจังหวะก้าวเดิน เห็นจังหวะเติบโตของเด็ก ๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมเรา บางคนอาจจะร่วมแค่ปีเดียวบางคนเข้าร่วมถึง 3 ปี ซึ่งเราเห็นว่าแต่ละคนก็จะมีจังหวะที่แตกต่างกันแล้วก็เกิดการพัฒนาตัวเยาวชนควบคู่ไปกับตัวพี่เลี้ยง พอเกิดการพัฒนาก็เกิดแกนนำเยาวชนด้วย อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องในการทำงานกับผู้ใหญ่ พอทำงานกับทางโวยมันไม่ได้มีขอบเขตแค่ชุมชนแล้ว มันไม่ใช่แค่หมู่บ้านมันไม่ใช่แค่ตำบลแต่มันขยายเป็นอำเภอเป็นจังหวัดเป็นประเทศแล้ว เพราะงั้นก็ถือว่าการทำงานก็คือประสบการณ์ความสำเร็จส่วนหนึ่ง ตรงที่เราได้เพื่อน เราเห็นการเติบโตของเด็ก เราได้พัฒนาตัวเองไปด้วยผ่านการทำงานแล้วเราก็ได้สื่อสารเรื่องกิจกรรมสื่อสารเสียงของเยาวชนไปสู่สาธารณะอีกด้วยค่ะ 

    Q: แล้วเสียงของเรามีคนรับฟังไหมครับ?

    A: คืออย่างในกิจกรรมทุกกิจกรรมที่ทำ เราจะมีเวทีที่เรียกว่า เวทีปล่อยของ มันจะเป็นงานโชว์ผลงานของเยาวชนที่ได้ทำมา ซึ่งเราก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนายอำเภอ จากองค์การบริหารส่วนตำบล จากหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการทำกิจกรรมของเรา มันไม่ได้มากจนถึงขั้นว่าเขาเข้าร่วมกับเราอย่างกระตือรือร้น แต่ว่ามันก็เป็นพื้นที่หนึ่งของเยาวชนที่จะส่งเสียงของตัวเองให้กับผู้ใหญ่ฟัง 



    แฟง พัชริดา เบ็ญชา

    Q: ทำไมเราจึงตัดสินใจเข้าร่วมค่าย?

    A: เพราะหนูอยู่กับกลุ่มนี้มานานแล้ว แล้วโครงการนี้มันน่าสนใจและอยากลองเข้าร่วมเพราะอยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วย 

    Q: อะไรที่เราได้เรียนรู้จากค่ายนี้บ้าง?

    A: ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นการค้นหาตัวเอง 

    Q: บทเรียนที่ผ่านมาในการทำโครงการโวยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา?

    A: บทเรียนที่ดีที่สุดคือได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ให้เขาสอนมาหรือว่าไปนั่งฟังมันจะไม่ค่อยจำ ถ้าเราลงมือทำเองก็จะทำให้เห็นภาพและก็จะจำด้วย

    2.CK Voice จังหวัดเชียงราย



    แม็กซ์ มาลี พัฒนประสิทธิ์พร

    Q: อธิบายโครงการหน่อยครับว่า CK Voice คือโครงการที่ทำเกี่ยวกับอะไร?

    A: โครงการของเราต้องการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน ให้ลุกขึ้นมาทำอะไรที่เยาวชนอยากทำและออกมาจากความต้องการของเขาเอง ซึ่งของปี 3 จุดเริ่มต้นมาจากเยาวชนในรุ่นสองที่ติดปัญหาเรื่อง Covid-19 ที่ทำให้จัดกิจกรรมไม่ได้มาก เราก็พยายามหากิจกรรมเล็ก ๆ ที่ไปคุยกับเด็กกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเผอิญกลุ่มนี้ในปีที่ 1 เขาสนใจการเรียนรู้เรื่องเพศ พอเราต่อยอดจากเรื่องนั้นเราก็พยายามค้นหาเครื่องมือที่จะทำให้เขาเรียนรู้เรื่องนี้อย่างเพลิดเพลิน เราก็ไปเจอบอร์ดเกมชุดหนึ่งที่เป็นบอร์ดเกมในโครงการ เป็นบริษัทบ้านปูร่วมกับทางมหาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น แล้วมีโรงเรียนหนึ่งก็คือ โรงเรียนเซนต์แมรี่อุดร ที่ทางโรงเรียนได้รับรางวัล เด็กของเขาพัฒนาบอร์ดเกมขึ้นมาชื่อว่าเกม “Fortune Condom” พอเรารู้ว่ามีบอร์ดเกมนี้ เราก็เลยติดต่อโรงเรียนและครูที่ปรึกษาเด็กกลุ่มนี้เพื่อที่จะขอบอร์ดเกมตัวนี้มาใช้ทำกิจกรรมในช่วงปีที่ 2 พอขึ้นปีที่ 3 เราโยนคำถามให้กับเด็กกลุ่มปี 2 ของเรา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของกลุ่ม ซึ่ง CK Voice ทำงานกับเด็ก 4 กลุ่มด้วยกัน เด็กกลุ่มนี้ได้เสนอว่าอยากเอาบอร์ดเกมนี้ไปให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องนี้บ้าง เพราะว่าเขารู้สึกว่าน้อง ๆ โดยเฉพาะ ม.2 ม.3 มีความเสี่ยงที่จะท้องก่อนวัยอันควรหรือว่ามีเพศสัมพันธ์อันไม่ปลอดภัย พอเขาได้ลองเล่นเกมนี้แล้วเขาเลยอยากให้น้อง ๆ ได้ลองเล่นบ้าง มันก็เลยเป็นที่มาของ CK Voice ปีที่ 3 ที่เราจะเสริมศักยภาพของเยาวชนแกนนำให้มีทักษะ รู้และเข้าใจเรื่องบอร์ดเกมและมีทักษะที่จะนำบอร์ดเกมไปใช้กับน้อง ๆ เพื่อน ๆ ปีที่ 3 ของเราเลยว่าด้วยเรื่องของบอร์ดเกม ทีนี้พอในปีที่ 3 เด็กอีก 3 กลุ่มของเราหายไประหว่างทาง เช่นเปลี่ยนที่เรียนบ้างหรือมีความสนใจไปในเรื่องอื่น มันก็เลยทำให้น้องอีกกลุ่มก็เหมือนขาดทีมและไอเดียในปีที่3 เราก็เลยเอาไอเดียของน้องกลุ่มโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมไปขายกับอีกหนึ่งโรงเรียนก็คือเชียงของวิทยาคม ซึ่งพอดีก็มีครูในโรงเรียนร่วมกับทีมเด็กเชียงของวิทยาคมก่อนหน้านี้ เขาพัฒนาบอร์ดเกมเรื่องพลังงานทดแทนเพิ่งเสร็จเหมือนกัน 

         เราก็เลยสนใจเรื่องนี้ เป็นกระบวนการส่งเสริมศักยภาพเด็กเรื่องเป็นกระบวนกรบอร์ดเกมก็เลยเกิดโครงการนี้ขึ้นมา ประเด็นหลักของโครงการเลยก็คือรับสมัครเยาวชนที่สนใจมาอบรมเชิงปฏิบัติการทำ workshop เรื่อง ‘How to be game master’  ให้รู้จักบอร์ดเกมและสามารถจะนำเกมได้ต้องมีทักษะอะไร พอเยาวชนผ่านคอร์สเหล่านี้เรียบร้อย เยาวชนก็จะต้องมาคิดและวางแผนในทีมงาน เพื่อที่จะเอาบอร์ดเกมเป้าหมายของตัวเองไปให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้กัน อย่างเชียงของวิทย์ก็ใช้บอร์ดเกมส์ ‘Renergy’ ซึ่งในงานเด็ก ๆ ก็เอามาด้วยก็เป็นการให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมเรื่องพลังงานทดแทนโดยใช้ Renergy ส่วนห้วยซ้อวิทยาคมที่เป็นต้นตอความคิดของโครงการปี 3  ก็ใช้บอร์ดเกม Fortune Condom ดังนั้นแต่ละกลุ่มก็ใช้บอร์ดเกมของกลุ่มตัวเอง แต่หลัก ๆ เราคาดหวังว่าตัวบอร์ดเกมมันจะเป็นเครื่องมือที่สร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมสำหรับเด็กสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือเยาวชนแกนนำที่เป็นพี่ที่จะพาน้องเล่นเรียนรู้ในแต่ละประเด็นไป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มรุ่นน้องที่จะเป็นมัธยมต้น ที่จะมาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เยาวชนแกนนำเขาจะไปทำงานด้วย

    Q: เราได้คิดโครงการที่อิงกับบริบททางสังคมของเชียงรายไหมครับ หรือว่ากิจกรรมนี้เกิดขึ้นมาจากไอเดียเลย?

    A: คือมาจากไอเดียน้องห้วยซ้อวิทยาคมที่เขามองว่าน้อง ๆ ของเขามักจะมีปัญหาเรื่องเพศ เพียงแต่ว่าเราเอาฐานคิดของเขามาใช้ต่อยอดกับน้องอีกกลุ่มนึง ก็คือเราใช้ตัวบอร์ดเกมเป็นเครื่องมือในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมของเด็กทั้งสองกลุ่ม โดยที่เราไม่ได้ดูเรื่องประเด็นไม่ได้ทำเชิงประเด็นแต่เรามองเครื่องมือเป็นสำคัญให้เด็กได้มีพื้นที่ที่เขาจะทำงานของเขาในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งพอทำแล้วเราก็พยายามเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากเราทำงานกับเด็กเราก็ทำงานผ่านโรงเรียน ครูก็เข้ามาซึ่งเด็กก็เลือก อย่างห้วยซ้อวิทยาคมทำเรื่องเพศศึกษาเขาก็เลือกครูที่สอนสุขศึกษา แล้วครูก็เลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมควรเป็นม.3 เพราะว่าในคลาสเรียนของเขามันต้องเรียนเรื่องนี้อยู่แล้วแทนที่จะไปเรียนรู้อย่างการนั่งฟังครู ก็มาเรียนรู้กับพี่ ๆ ที่ใช้บอร์ดเกมเข้ามาสอน แล้วเราก็ชวนประชาสังคมในพื้นที่ตำบลห้วยซ้อที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศเข้ามาเติมความรู้เรื่องเพศศึกษาให้ทีมรุ่นพี่ เพื่อที่จะไปจัดกิจกรรมอย่างที่มีความรู้ 

    นอกจากนั้นเราก็เชิญส่วนส่งเสริมสุขภาพของโรงพยาบาลพระยุพราชเชียงของ หน่วยที่ดูแลเรื่องงานนักเรียนและวัยรุ่นเข้ามาสังเกตการณ์ตอนเด็กจัดกิจกรรม ทำให้เขาเห็นว่ามันมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจและเข้าถึงเด็กได้ดี มันก็เลยทำให้ประเด็นการทำงานของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ประจำอำเภอเชียงของ ซึ่งไม่กี่สัปดาห์ที่แล้วก็มีการบอกว่ามีรูปแบบการทำกิจกรรมที่น่าสนใจให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องเพศ ส่วนทางเชียงของวิทย์ทำเหมือนกัน แล้วเขาก็ไปทำกับต่างโรงเรียนด้วย คือไปทำกับโรงเรียนอนุบาลเชียงของ ซึ่งหลังจากการจบกิจกรรมเนี่ย สิ่งที่ทำให้เราเห็นทันตาก็คือคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลเชียงของเขาเห็นรูปแบบ จากนั้นเขาก็รับสมัครเด็ก ๆ ม.2 ที่เข้าร่วมกิจกรรมวันนั้นเลยว่าสนใจอยากจะทำแบบพี่เขาไหม คือจะต้องมานำเกมน้อง ๆ สอนเกมน้อง ๆ นั้นก็เลยทำให้ทีมเยาวชนเชียงของวิทย์มอบบอร์ดเกมที่เขาทำให้กับทางโรงเรียนอนุบาลเชียงของว่าให้ใช้เป็นอุปกรณ์ที่รุ่นพี่ไปฝึกรุ่นน้องกันอีกทีนึง ซึ่งเราก็เชื่อมั่นว่าการที่เด็กลุกขึ้นมาทำอะไรเหล่านี้อย่างน้อยมันเป็นการพัฒนาศักยภาพ การทำงานเป็นทีม ภาวะการเป็นผู้นำ เราก็คิดว่าน่าจะเป็นส่วนการพัฒนาเด็ก ๆ

    Q: ในฐานะของพี่เลี้ยงกลุ่มอะไรคือความประทับใจสูงสุดที่พี่แม็คได้เห็น?

    A: เราเห็นเขาเติบโต เราทำมา 3 ปีมีเด็กผ่านมือเรามากกว่า 3 รุ่น เพราะบางคนเข้ามาครั้งเดียว แต่คนที่อยู่กับเราตั้งแต่ต้นเราเห็นการเติบโตของเขา เราเห็นศักยภาพของเขาที่มากขึ้น เราก็เชื่อมั่นว่าเขาจะเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยทำให้สังคมเราดีขึ้นในภายภาคหน้าในสังคมที่เขาไปอยู่ ซึ่งเราเชื่อว่าเขาไม่ได้อยู่เชียงของหรอก เด็กส่วนใหญ่ยิ่งโตก็ยิ่งออกนอกพื้นที่ เราก็เชื่อมั่นว่าไม่ว่าเขาจะไปอยู่สังคมไหนเขาจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้พื้นที่ที่เขาอยู่เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่มากขึ้นค่ะ 



    ปอนด์ ณิพร แซ่เล้า

    Q: ทำไมเราถึงเข้าร่วมโครงการ?

    A: เพราะว่าก่อนหน้านั้นมีพี่เขามาชักชวน แล้วทีนี้พอเข้ากิจกรรมแล้วก็มีความรู้สึกว่ามีความสุข ได้ความรู้มาพัฒนาตัวเองมาใช้ในชีวิตประจำวันมาปรับใช้ในบางเรื่อง ก็เลยสนใจและเข้าเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้

    Q: อะไรคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากค่ายนี้บ้าง?

    A: เรียนรู้ในเรื่องการใช้ชีวิต การเอาสิ่งที่เราเรียนรู้มาใช้ในชีวิตบางอย่างที่เราไม่เคยรู้ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ประกอบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ทำให้เราปรับตัวกับคนภายนอกได้ง่ายขึ้น 

    Q: ในค่ายนี้หน้าที่หลัก ๆ ของน้องที่ได้ทำคืออะไรครับ?

    A: เป็นแกนนำเด็กค่ะ และเป็นแกนนำมาเรื่อย ๆ ในตอนแรกจะมีพี่ ๆ ด้วยเราจะเป็นเด็กในนั้น ส่วนตอนนี้พี่ ๆ เขาแยกย้ายกันหมดแล้วก็เหลือแค่เราเป็นพี่คนเดียว ฉะนั้นเราเป็นพี่ต้องดูแลน้อง

    Q: โครงการ Voice of Youth สนับสนุนเสียงของเรายังไงบ้างครับ?

    A: ทางโครงการเขารับฟังเรามากกว่า แล้วสนับสนุนเราให้คำปรึกษาและแนะนำเราเวลาที่เราต้องการ แม้แต่เวลาที่เราคิดอะไรไม่ออกเราก็สามารถไปขอคำปรึกษา พอได้คำปรึกษาเราก็จะสามารถหาแนวทางของตนเองได้

    Q: ตั้งแต่เราเข้าโครงการมาตั้งแต่ตอนแรกจนตอนนี้พัฒนาการด้านไหนที่น้องคิดว่ามันพัฒนาไปได้ไกลที่สุดสำหรับตัวน้องเอง?A: ในตัวหนูคิดว่าประสบการณ์แล้วก็การพูดเป็นส่วนใหญ่ แรก ๆ ที่เข้าโครงการมาจริง ๆ แล้วพื้นเพเดิมหนูเป็นคนพูดอยู่แล้ว แต่ว่าเวลาที่จะแสดงความคิดเห็นหรือว่าพูดคุยอะไรถ้าไม่สนิทหนูจะไม่คุย แต่พอเข้าไปทำกิจกรรมแบบนี้มันทำให้เจอประสบการณ์หลาย ๆ อย่างในการเข้าหาคนอื่น มันทำให้มีความกล้ามากขึ้น เช่น กล้าที่จะเข้าหาและก็กล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนอื่น

    3.สภาเด็กและเยาวชน ตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา



    นิน วรพร เพชรช่วย 

    Q: แนะนำตัวหน่อยครับว่าชื่ออะไรและโครงการที่ทำคืออะไร?

    A: สวัสดีค่ะชื่อ นิน วรพร เพชรช่วย เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน ปฏิบัติงานอยู่ที่เทศบาลตำบลท่าสาป โครงการที่เราได้ทำกับโวยเป็นโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนตำบลท่าสาปค่ะ 

    Q: ที่มาและความสำคัญของโครงการนี้ทำไมถึงต้องทำ และมันสอดคล้องกับบริบทที่เราทำไหมครับ?

    A: จริง ๆ โครงการนี้เป็นโครงการที่เราเล็งเห็นที่จะแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เนื่องจากเราเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันมีมิติในเรื่องของศาสนาและมีมิติในเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง กิจกรรมที่เราทำกับน้องเราต้องการดึงน้อง ๆ ออกจากบ้าน ดึงออกจากการเล่นเกมในช่วงปิดเทอม หรือในช่วงที่เราเจอสภาพของ Covid-19 ตำบลท่าสาปก็จะเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโควิดเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากว่าพาหะที่เป็นตัวที่นำโรค Covid-19 จะอยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเนื่องจากว่าน้อง ๆ เขาไม่มีความตระหนักหรือว่าไม่มีความรู้เพียงพอในการป้องกันตัวเองในเรื่องของ Covid-19 ฉะนั้นผู้ป่วยก็เลยเพิ่มขึ้น เราก็เลยมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ในเรื่องของ Covid-19 เข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงนี้ด้วย

    Q: ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการมา พี่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงการเราไปในทิศทางไหนบ้างแล้วมันดีขึ้นไหมแล้วมันเป็นยังไงบ้าง?

    A: สำหรับโครงการโวยเป็นโครงการที่แก้ปัญหาเด็กและเยาวชน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่คือหลังจากที่เราได้กิจกรรมนี้เรามีความรู้สึกว่ากิจกรรมหนึ่งกิจกรรมที่เราทำคือพยายามลดจำนวนแม่วัยใสและเด็กกำพร้าในพื้นที่ เนื่องจากว่าพื้นที่ตำบลท่าสาปนั้นมีมิติของเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาส่วนใหญ่เขาจะไปมีครอบครัว พอมีครอบครัวแล้วก็มีบุตรตอนที่อายุยังน้อย ความรับผิดชอบต่อการดูแลบุตรหรือศักยภาพในการดูแลค่อนข้างน้อย ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของเด็กกำพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยวเกิดขึ้นในพื้นที่ ฉะนั้นเนี่ยโครงการของโวยมันเป็นการเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ว่าหากคุณทำตามมิติศาสนาในเรื่องของศาสนาอิสลาม ปฏิบัติตามหลักศาสนาทุกประการ มันก็จะไม่ก้าวเข้าสู่แม่วัยใส จะไม่ก้าวเข้าสู่สังคมที่มีเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้น 

    Q: อะไรคือบทเรียนที่ดีที่สุดตั้งแต่เข้าค่ายมาในส่วนของพี่เลี้ยงเอง?

    A: สำหรับบทเรียนที่ดีที่สุดของเราก็คือการเรียนรู้โดยการลงมือทำไปพร้อมกับน้อง ๆ หมายความว่าเราใช้ชุมชนเป็นแหล่งในการทดลองและก็ปฏิบัติงานจริง ฉะนั้นสิ่งที่มันได้ คือจะเกิดผลจริง ๆ ซึ่งเราเห็นเป็นประจักษ์เห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ว่าเราเนี่ยสามารถแก้ปัญหาเด็กได้ 



    นัท นาอิม ดือรามะ

    Q: ทำไมเราถึงเข้าร่วมโครงการนี้?

    A: ปีแรก ๆ ที่ได้เข้าไปและได้ไปค่ายปฐมนิเทศหนึ่ง แล้วก็ได้ไปฟังตัวชี้วัดของตัวโครงการใหญ่ ๆ ว่าให้ทำอะไรบ้าง พอมาสะดุดที่คำว่าเสียงเยาวชนผมก็เลยมองว่าเสียงเยาวชนเป็นเหมือนกับอะไรสักอย่างที่ต้องไปพูดถึงความจริงหรือความต้องการของเยาวชนในพื้นที่ ก็เลยทำให้ผมคิดว่างั้นใช้ของกลุ่มสภาเด็กนี่แหละในการเข้าไปทำงานในเรื่องของการส่งเสียงหรือเปล่งเสียงที่แท้จริงของเยาวชนว่าต้องการอะไร 

    Q: แสดงว่าในใจเราต้องมีอะไรเกี่ยวคำว่าเสียงแน่นอน อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าอาจจะเคยมีสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่แย่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องเปล่งเสียงออกมา?

    A: งั้นเป็นสิ่งที่แย่ดีกว่าครับ คือถ้าเข้าวงการเกี่ยวกับการทำงานหรือว่าเข้าร่วมค่ายอะไรเช่นนี้ เหมือนว่ามีครั้งหนึ่งที่เราพูดแล้วก็ผู้ใหญ่ไม่ค่อยฟังว่าเราอยากจะทำอะไร เช่น อยากพัฒนาศักยภาพของเด็ก หรือแม้แต่กิจกรรมเล็ก ๆ ที่เราอยากเข้าไปร่วมแต่เราก็โดนผู้ใหญ่บอกว่าไม่ต้องเข้าร่วมในฐานะที่คุณเป็นเด็กคุณไม่ต้องมาพูดหรอกว่าคุณก็เป็นเด็ก พอเป็นโครงการนี้เสียงเยาวชนน่าจะมีเวทีหรือว่าเป็นพื้นที่ของเราที่เราสามารถพูดได้ มันก็เลยมีจุดเปลี่ยนว่าอย่างน้อยมันก็มีพื้นที่ให้เราอยู่และคงต้องใช้โอกาสนี้เข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ และในสุดท้ายเสียงเรามันก็ดังพอที่ผู้ใหญ่จะฟังเรา มันไม่เหมือนแต่ก่อนที่ผมบอกว่ารู้สึกแย่มาก ๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยจะฟังเราเท่าไหร่ 

    Q: สิ่งที่ประทับใจเราตั้งแต่เข้าค่ายมา?A: เหมือนปีแรก ๆ เข้าไปรับโครงการแล้วก็ร่างโครงการส่งไปมันก็พอดีกับสถานการณ์ Covid-19 และเราก็ไม่ได้ทำ พอมาปีที่ 2 มันเป็นโครงการที่ทำให้รู้สึกว่าเราเหมือนกับเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยมีพื้นฐานในการทำงานของเรารวมถึงการมีคณะกรรมการอยู่ด้วย แต่ประกอบกับตัวชี้วัดของเราและตัวเราที่อยากจะลงมือทำนั้น ตรงนี้ทำให้ผมเห็นว่าหากมีเด็กหนึ่งร้อยคน ถ้าเราสามารถเปลี่ยนเด็กหนึ่งคนในหนึ่งร้อยคนได้ สำหรับผมในฐานะที่เราเป็นแกนนำสภาเด็กผมรู้สึกภูมิใจนะ มันก็เลยทำให้ผมไม่ท้อกับปีที่ 2 ซึ่งอุปสรรคมันเยอะมากแต่ว่าก็จบไปด้วยดี พอเข้าปีที่ 3 ก็เลยต้องทำให้ดีกว่าเดิม แต่เราก็สามารถทำได้เหมือนกันและไม่ได้ยากสำหรับเราขนาดนั้น

    4.เด็กมีเรื่องเล่า จังหวัดเชียงใหม่



    ชาติ สุรชาติ สมณา

    Q: อยากให้อธิบายโครงการหน่อยครับว่าทำอะไรยังไงมาบ้าง?

    A: โครงการของกลุ่มเด็กมีเรื่องเล่าเป็นในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในชุมชน กลุ่มเป้าหมายโครงการโดยเริ่มแรกก็เป็นกลุ่มเด็กที่เรียนในศูนย์การเรียน ซึ่งศูนย์การเรียนก็คล้ายกับโรงเรียนแต่เป็นการศึกษานอกระบบอีกรูปแบบหนึ่งนะครับ 

    Q: แล้วทำอะไรมาบ้างครับ?

    A: ตัวงานที่ทำในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนั้น ผมก็เคยเรียนกับการศึกษาทางเลือก เราสังเกตุเห็นว่าคนเราพอมีทักษะมีฝันเขาก็จะสามารถที่จะไปทำงานอย่างอื่นได้รวมไปถึงการที่จะกลับมาพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนของตัวเอง สิ่งที่เราพยายามทำก็คือกลุ่มเด็กมีเรื่องเล่าเพิ่งเคยรวมตัวกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกเพื่อทำงานนี้ด้วยกัน การทำงานนี้เราก็เลยวางไว้ว่าในช่วงแรกเราอยากจะจัดตั้งทีมของตัวเองให้สามารถเข้าไปทำงานกับพื้นที่ได้ ในระยะที่ 2 ก็คือการฝึกให้คนในพื้นที่ให้ทำงานได้ และในระยะที่ 3 ก็คือเรากับคนในพื้นที่ร่วมมือกันทำงานได้ โดยงานที่ทำจะเป็นในเรื่องที่มาจากความสนใจของทั้งตัวเราและของเด็กในชุมชนด้วย ในประเด็นเรื่องของการทำ SE ของน้อง เช่นจะมีวัฒนธรรมภูมิปัญญาในชุมชน ที่เขารู้สึกว่าถ้ามันมีการพัฒนา เขาก็จะเห็นว่าถ้าภูมิปัญญานั้นมีการต่อยอดก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าและก็เป็นเหมือนการสร้างผลลัพธ์อื่นให้คนในชุมชนที่เลือกอยู่ในชุมชนต่อ มันก็เลยมีการทำเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น เรื่องผ้าทอมือที่มีอยู่ดั้งเดิม การออกแบบใหม่ไปเป็นสมุดบันทึกหรือกระเป๋าต่าง ๆ แต่ว่าในกระบวนการทำงาน การที่เราจะทำไปถึงขั้นที่สามารถขายได้นั้นไม่ใช่แค่ต้องทำเพียงผลิตภัณฑ์ แต่ต้องมีกระบวนการอื่นทั้งในเรื่องของกระบวนการก่อนเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นเราต้องเตรียมก่อนว่ามันจะมีอะไรบ้าง ดังนั้นจึงจะมีหน้าที่หลากหลายเราจึงจะฝึกน้อง ๆ ในการทำหน้าที่เหล่านี้ครับ

    Q: ที่มาและความสำคัญทำไมถึงต้องทำ?

    A: ถ้าเรามองถึงสภาพสังคมตอนนี้นะครับมันเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก อย่างเมื่อก่อนคนชนเผ่าที่เขาอาศัยอยู่ในป่าหรือว่าคนที่อยู่ตามชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากเพราะมีการใช้วิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ แต่พอวิถีชีวิตเปลี่ยนไปค่านิยมคนมันเปลี่ยน คนจำเป็นต้องหาเงินกันมากขึ้น แล้วทางเลือกของคนที่อยู่บนดอยที่มีอาชีพวิถีชีวิตอยู่กับป่ามาตั้งนานแล้วละ ซึ่งมันไม่ใช่วิถีชีวิตที่ทำเงินแล้วเขาจะอยู่ต่อไปได้ยังไง นี้คือในส่วนของภาพรวม แล้วพอเราลองมองลึกไปถึงส่วนของเยาวชน ที่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะมั่นคงมาก การที่จะส่งลูกหลานไปศึกษาในสถานศึกษาดี ๆ มันทำได้ยาก แต่ถึงแม้จะส่งไปสถานศึกษาที่ดีได้เด็กที่ไปเรียนข้างนอกเขาก็เชื่อมต่อกับชุมชนตัวเองไม่ได้ มันเคยมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณว่าเด็กไปเรียนข้างนอกก็เรียนไม่ไหวพอกลับมาอยู่บ้านก็อยู่ร่วมกับวิถีชีวิตเดิมไม่ได้อีกเพราะเคยชินกับการใช้ชีวิตข้างนอก เราเลยคิดว่าทางเลือกของคนที่เขารักในวิถีชุมชนของเขามันจะมีอะไรบ้าง ตัวโครงการนี้เลยเป็นสิ่งที่เราริเริ่มทำขึ้นมา

    5.KK-VoY จังหวัดขอนแก่น



    จอย พัชรพร ฤทธาพรม 

    Q: ที่เข้าร่วมโครงการ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงการไหม เป็นยังไงบ้าง เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน?

    A: การเปลี่ยนแปลงของโครงการ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นกลุ่มน้อง ๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกันก็คือน้องกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูด กล้าทำมากขึ้นมีความคิดเป็นของตัวเอง คือน้องไม่โอเคอะไรหรือโอเคอะไรน้องก็จะพูด หลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องการศึกษา น้องก็เป็นคนที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาทำ

    Q: แล้วโครงการโวยสนับสนุนเสียงของเรายังไงบ้าง?

    A: สนับสนุนในเรื่องของสิ่งที่เราอยากทำ เช่นเรื่องของการศึกษาโดยกลุ่มหนูมีน้อง ๆ ที่อยากทำกิจกรรม ทางโครงการโวยก็จะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมหลายกิจกรรม 



    แบม ชญาภา ตระกูลเงินดี 

    Q: เราเข้ามาร่วมกับ KK-VoY ได้อย่างไงบ้าง?

    A: ตอนแรกเพื่อนชวนเข้ามาค่ะ ตอนแรกจะไปแค่ workshop ก่อน หลังจากนั้นก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและก็ทำมาเรื่อย ๆ ก็ทำมาเกือบ 3 ปีแล้วค่ะ

    Q: ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาจนถึงวันนี้เราเห็นพัฒนาการในส่วนของตัวเราอย่างไรบ้าง?

    A: เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมากค่ะ คือตอนแรกหนูเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นอะไร แต่พอได้เข้ามาทำโครงการรู้สึกว่าตัวเองได้ทักษะอะไรหลาย ๆ อย่างจากตรงนี้ มันทำให้หนูเปลี่ยนไปจากคนเก่า มองเห็นพัฒนาการของตัวเองได้ชัดมากค่ะ

    Q: มันมีคนรับฟังเรายังไงบ้างครับ?

    A: จากเดิมหนูเป็นคนไม่ค่อยกล้าพูดด้วย แล้วพอหนูได้พูดมันก็รู้สึกว่ามีคนรับฟังมากขึ้น อย่างหนูพูดในทวิตเตอร์มันก็เป็นประเด็นทำให้คนมาสนใจมากขึ้นค่ะ

    Q: บทเรียนที่ผ่านมาในการทำโครงการโวยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา?

    A: เวลาที่ไปลงพื้นที่แล้วรู้สึกว่าการได้เจอกับคนหลากหลายมากมาย มันทำให้เราเรียนรู้จากตัวคนหลาย ๆ คนในพื้นที่ที่อื่น คนไร้บ้านเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาบ้าง ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากพวกเขาค่ะ

    6.สภาเด็กและเยาวชน ตำบลเขื่อนผาก จังหวัดเชียงใหม่



    บี ธัญนันท์ จุมปา 

    Q: แนะนำตัวโครงการหน่อยครับ?

    A: เราเข้าเป็นสมาชิกของโวย 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปีแรกเราทำเกี่ยวกับการลดช่องว่างระหว่างวัย เกิดเป็นโครงการฮักต่างวัย เป็นโครงการที่ให้เด็กฟังเสียงผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ฟังเสียงเด็ก นำผู้ใหญ่มาทำกิจกรรมกับเด็ก มีพื้นที่ตรงกลางในการพูดคุยกัน หลังจากที่เรามีการลดช่องว่างระหว่างวัยเสร็จแล้ว ปีต่อมาเราจึงจัดตั้งศูนย์ประสานงาน เราจะไม่นำเงินของรัฐมาสร้าง แต่เป็นการขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในการสร้างศูนย์ประสานงานเด็กขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นการขออุปกรณ์ก่อสร้างจากผู้ปกครองของเด็กหรือเจ้าอาวาสวัด ขอบริจาคจนก่อร่างสร้างตัวเป็นศูนย์ประสานงานเด็ก ให้เด็กได้มาทำกิจกรรมร่วมกันในศูนย์ประสานงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอาชีพ หลังจากมีศูนย์ประสานงานเด็กแล้วเรามาคุยกันเพราะว่ามีแค่ศูนย์ประสานงานมันจะน่าเบื่อ ไม่ดึงดูดให้เด็กเข้ามาทำกิจกรรม เราอยากจะขายเครื่องดื่ม จึงเกิดเป็น ‘สะ-ตอ-รี่ คาเฟ่’ พอมีเครื่องดื่มมันก็จะใช้ในการทำให้รู้สึกสนุกในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งนอกจากการทำสะ-ตอ-รี่ คาเฟ่แล้วก็จะมีการอบขนมอบคุกกี้ เป็นการให้เด็กฝึกอาชีพด้วย ซึ่งในปีต่อมาคือปีที่ 3 จะเป็นการพัฒนาบอร์ดเกม มาใช้ต้นทุนชุมชนของตำบลเขื่อนผากไม่ว่าจะเป็น ของดีตำบลเขื่อนผาก สถานที่ท่องเที่ยว และปราชญ์ชาวบ้าน นำมาสร้างเป็นบอร์ดเกมชื่อว่า ‘ตะลุยเขื่อนผาก’ แล้วก็จะเน้นเรื่องของความหลากหลายทางเพศความเท่าเทียมทางเพศหรือ lgbtqia+ ซึ่งจะนำมาเป็นบอร์ดเกมเช่นกัน อีกอันหนึ่งก็จะเป็นบอร์ดเกม pick me up ก็จะเป็นบอร์ดเกมเกี่ยวกับ การประลองปัญญาการฝึกสมอง นี่ก็จะเป็นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่เราเข้าร่วมโครงการกับโวย 

    Q: ทำไมถึงต้องทำ อยากให้เล่าที่มาที่ไปหน่อย?

    A: ที่นี้เขื่อนผากเน้นและใช้เสียงของเด็กในการขับเคลื่อนในการพัฒนาชุมชน เด็กเป็นสิ่งสำคัญ เรียกได้ว่าเล็ก ๆ  แต่ยิ่งใหญ่ เป็นการส่งเสียงเปล่งเสียงให้กับชุมชน แม้กระทั่งตอนการประชุมกันในองค์กรบริหารส่วนตำบลก็จะเชิญเด็กเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย อาจจะเป็นตัวแทนเด็กหรือสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนเข้ามา 

    Q: ทำไมถึงเข้ามาในโครงการโวย โวยสนับสนุนยังไงบ้าง?

    A: สำหรับโครงการโวย เราพูดได้ว่าคือว่าโอกาสที่เปิดกว้างและหลากหลาย ไม่ได้เจาะจงว่าต้องไปประเด็นไหน แต่เขาเปิดกว้างมาก เราสามารถทำอะไรก็ได้ที่จะสามารถพัฒนาชุมชนของเรา เด็กสามารถพัฒนาได้ดีถ้าหากว่ามันไม่มีกรอบที่ปิดกั้น ซึ่งนอกจากการที่ไม่ปิดกั้นแล้วก็ยังมีการที่มีผู้สนับสนุนเช่นพี่เลี้ยง ในการพัฒนาเข้ามาส่งเสริมศักยภาพของเด็ก



    อิมมี่ ธัญญาเรศ ผัดก๋อง

    Q: เล่าให้ฟังหน่อยการทำงานเป็นยังไงบ้าง โครงการเป็นยังไง? 

    เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยเสียงเยาวชน เป็นการนำปัญหาของเด็กที่สนใจอยากจะทำ นำมาทำเป็นโครงการ ในพื้นที่ตำบลเขื่อนผาก 

    Q: เข้าค่ายมา 3 ปีแล้ว เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองยังไงบ้าง?

    A: สิ่งเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือความคิดของเด็กและความคิดของหนูด้วย จากปีแรกเราไม่กล้าที่จะทำอะไร ไม่กล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่ว่าเราเกิดปัญหาตรงนี้ เราอยากได้อะไร เราจึงทำกิจกรรมนั่งล้อมวงพูดคุยกับผู้ใหญ่ว่าเรามีปัญหาอะไร ต้องการให้เขาร่วมแก้ไขไปกับเราด้วย ทำให้ผู้ใหญ่รับฟังเรามากขึ้น

    Q: บทเรียนที่ผ่านมาในการทำโครงการโวยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา?

    A: บทเรียนที่ได้จากโครงการนี้คือประสบการณ์และโอกาส ก่อนที่เราจะมาถึงตรงนี้เราต้องเรียนรู้อะไรเยอะมาก และสิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุด คือการทำงานของเราบางงานเราไม่เต็มที่พอ ซึ่งมันไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่เราจะทำให้ดีที่สุดในวันข้างหน้า

    7.พลังโจ๋ พลังสร้างสรรค์แบ่งปันความสุข จังหวัดแพร่



    บี สุกฤษฎิ์ จันทร์วิบูลย์

    Q: เล่าโครงการหน่อยครับว่าทำอะไรบ้าง?

    A: ทางกลุ่มพลังโจ๋เน้นในการพัฒนาศักยภาพให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชนในพื้นที่ของเขา กลุ่มเป้าหมายของเราคือแกนนำเด็ก ซึ่งภาพรวมของโครงการที่ผ่านมาเขาจะได้รับบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ในการดูแลและสนับสนุนในการทำงานของแกนนำเด็ก ในโรงเรียนเมืองแพร่ การทำงานของเราเป็นการเน้นให้เด็กในโรงเรียนเมืองแพร่รู้จักชุมชน ได้ทบทวนตัวเองว่าตนเองมีความสําคัญอย่างไรกับชุมชน ทางกลุ่มพลังโจ๋ก็จะนำน้องแกนนำลงพื้นที่ สำรวจชุมชนเก็บข้อมูล ด้านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนมาทำ 

    Q: ตลอด 3 ปีกับโวย มีอะไรที่ประทับใจบ้าง?

    A: คือการได้ลงมือทำโครงการ เป็นประสบการณ์ใหม่ของเรา ซึ่งเราไม่เคยทำโครงการเกี่ยวกับเด็กเยาวชนในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมาก่อน ทำให้เราได้มีประสบการณ์โดยตรงกับด้านนี้ ทำให้เราเห็นจุดที่เราต้องพัฒนาและจุดที่เราจะสามารถต่อยอดได้ในอนาคต ความประทับใจกับน้องกลุ่มแกนนำพลังโจ๋ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือการได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้เรียนรู้ข้อบกพร่อง ทั้งตัวพี่เลี้ยงและแกนนำ ทำให้เราได้พัฒนาร่วมกันเป็นการทำงานที่เดินไปด้วยกันไม่มีใครที่รับหน้าที่คอยสั่งอย่างเดียวหรือคอยรับหน้าที่อย่างเดียว คนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของตนเองเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด นี่คือสิ่งที่ประทับใจมากที่สุด 

    Q: โครงการโวยสนับสนุนเสียงของเรายังไงบ้าง?

    A: สนับสนุนทั้งตัวน้อง ๆ และตัวพี่เลี้ยงในการจัด workshop ต่าง ๆ ทำให้เรามีเครื่องมือในการใช้และปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงานให้เหมาะสมกับงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะ การนำเสนอ การทำงานเป็นทีม และการออกแบบกระบวนการ 



    ม่อน คมกริช เรือนเป็ง

    Q: พลังโจ๋ ทำกิจกรรมเกี่ยวกับอะไรบ้างครับ?

    A: กำลังจะทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมหลากหลาย ทั้งเด็กแว้นไม่เรียนหนังสือ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านการใช้ยาเสพติด และความรุนแรง 

    Q: แล้วทำไมถึงทำโครงการนี้ ที่มาและความสำคัญคืออะไร?

    A: พอเราได้ทำงานกับเยาวชนเยอะ ๆ มันเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กรอบนอกที่อยู่ห่างจากตัวเมือง บางครั้งกลุ่มเยาวชนเขาต้องการโอกาสในการพัฒนาตนเอง ทั้งเรื่องของการเรียนรู้การสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่เขาไม่มีโอกาสในการเข้าถึง เราจึงอยากจะสนับสนุนเขาตรงนั้น 

    Q: การเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของเรายังไงบ้าง?

    A: ในด้านการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มจากเดิมที่อะไรหลาย ๆ อย่างของเราไม่ค่อยตรงกัน พอเราได้มาทำโครงการโวย ทางกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงคือเรามีการคุยกันมากขึ้นเข้าใจในการทำงานมากขึ้นรู้บทบาทหน้าที่ ไม่เพียงรู้บทบาทเท่านั้น แต่เราสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน

    8.เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา จังหวัดลำพูน



    บิ๊ก สิทธิพล ฟยี 

    Q: สามปีที่ผ่านมาในโครงการโวย เราทำอะไรมาแล้วบ้าง?

    A: มีการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ในเรื่องสิทธิเด็ก ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่ กับเพื่อน ๆ ในโครงการโวย ซึ่งกิจกรรมที่เราได้ทำไป เช่น สิทธิเด็ก เรานำเรื่องสิทธิเด็กมาใช้ในชุมชนผ่านการอบรมว่าสิทธิเด็กมันมีอะไรบ้าง  

    Q: บทเรียนที่ผ่านมาในการทำโครงการโวยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา?A: การทำโครงการทำให้เรากล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำมากขึ้น แต่ก็มีบางครั้งที่ทำได้ไม่ตามจุดหมาย กดดันตัวเอง แต่เราก็ปรึกษาพี่เลี้ยงของเรา ค่อย ๆ พัฒนา ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนสามารถผ่านมันมาได้

    9.เยาวชนสันทรายน้ำหนึ่ง จังหวัดเชียงใหม่



    เอ็ม ปิยะพงษ์ ปัญญาดา 

    Q: อยากให้อธิบายโครงการหน่อยครับว่าทำอะไรมาบ้าง?

    A: ในส่วนของเยาวชนสันทรายน้ำหนึ่ง เราเริ่มทำงานแรกขึ้นมาชื่อว่าเวที MILE (Measuring Impact for Learning & Empowerment) ครับ เป็นการสำรวจความคิดเห็น ความรู้สึกว่าเยาวชนมีความกังวลอะไรบ้างที่เผชิญอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถระดมขึ้นมาได้เยอะแยะมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องสุขภาพจิต เป็นสถานการณ์ที่น้องได้พบเจอทั้งตัวเอง ทั้งเพื่อน ทั้งครอบครัวทั้งคนรอบข้าง เป็นภาวะที่สามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มากในพื้นที่อำเภอฝาง เราก็เลยคิดว่าการทำงานของเราไม่ใช่การรักษาโรคซึมเศร้า แต่เราอยากทำงานการส่งเสริม การให้ความรู้ ความเข้าใจและการป้องกันก่อนที่จะเกิด ก็เลยเกิดเป็นโครงการเปลี่ยนความเศร้าสร้างความสุขขึ้นมา ซึ่งพวกเราทำมาทั้งหมด 3 ปี ปีแรกการก่อรูป พัฒนากลุ่มคณะกรรมการ การพัฒนาแกนนำเยาวชน การวางแผนการประชุมร่วมกัน รวมไปถึงการทำแบบสำรวจ และข้อมูลประเมินเบื้องต้น เพื่อที่จะหาว่าใครคนไหนที่มีภาวะเป็นยังไงบ้าง และกำลังเผชิญอะไรอยู่ ส่วนปีที่ 2 เราใช้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินนำมาทำงานต่อในเรื่องของการพัฒนาคู่มือส่งเสริมให้น้องที่มีภาวะเครียดในทุก ๆ ระดับ ส่วนในปีสุดท้ายเราเริ่มพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรมบอร์ดเกม เราใช้คู่มือบอร์ดเกมในการทำงานกับน้อง ๆ ในพื้นที่ เราเซ็ตกลไกการทำงานขึ้นมาเพื่อที่จะรองรับน้อง ๆ ที่เกิดปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าเรื่องความเครียด กลไกเหล่านี้จะช่วยเหลือในการเข้าไปเยี่ยมที่บ้านหรือส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากน้องเกิดวิกฤตในระดับความเครียดที่สูง 

    Q: ในส่วนของโวย สนับสนุนอะไรเราบ้าง?

    A: ในส่วนของโครงการโวยมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนให้เราวิเคราะห์และเห็นปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโวยเองเป็นจุดตั้งต้นของกลุ่มของโครงการเลย อย่างเวทีมาย โวยก็เป็นผู้สนับสนุนในการจะเกิดขึ้นทั้งตัวกระบวนการ เครื่องมือ รวมไปถึงทุนทรัพย์และการเชื่อมภาคีให้กับพวกเรา



    กาฟีล นวมน สุวรรณวัฒน์

    Q: ที่ผ่านมา 3 ปี เราทำอะไรมาบ้างครับ?

    A: ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในปีแรกพวกเรามีการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเด็กในชุมชน เกี่ยวกับเรื่องโรคซึมเศร้า ส่วนในช่วงปีสุดท้ายพวกเรามีการจัดอบรมและสร้างบอร์ดเกม เป็นการใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือในการทำงานเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าค่ะ

    Q: บทเรียนที่ผ่านมาในการทำโครงการโวยตลอด 3 ปีคืออะไร ?A: บทเรียนที่ดีที่สุดคือการเข้าสังคมไปช่วยเหลือน้อง ๆ ค่ะ เป็นบทเรียนให้เราสามารถปรับใช้การในการเรียนและพัฒนาตัวเองให้เข้ากับคนในมหาวิทยาลัย ซึ่งในมหาวิทยาลัยเราจะเจอคนเยอะมากขึ้น ส่วนบทเรียนที่แย่ที่สุดคือจะมีช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้เข้าร่วมโครงการเลย และเรารู้สึกไม่โอเคที่ไม่ได้เข้าไปช่วย เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมเหมือนปล่อยเด็ก ๆ ทำกัน ซึ่งเราเคยทำตรงนั้นแต่เราไม่ได้ทำมัน ซึ่งหลังจากนั้นเราก็เข้าหาเด็ก ๆ แล้วไปทำงาน ลงพื้นที่ ทำกิจกรรม คุยกับพี่เลี้ยงมากขึ้น

    10.WE life กลุ่มการศึกษาเพื่อความยั่งยืนของชีวิต จังหวัดมหาสารคาม



    ยุทธ ยงยุทธ พงสาลี (พี่เลี้ยง)

    Q: เพราะอะไรถึงเป็น ‘การศึกษาเพื่อความยั่งยืนของชีวิต’?

    A: เดิมกลุ่มของเราเป็นกลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการฝึกอบรม เราเคยทำงานประเด็นเรื่องสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 12 – 24 ปี ซึ่งสถานการณ์ในกลุ่มวัยรุ่นช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการติดเชื้อ HIV มีการตั้งครรภ์และการทำแท้งสูง ซึ่งเราก็ทำงานบนสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น เรามีการจัดฝึกอบรม จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านภาวะร่างกายของวัยรุ่น ว่ามันจะต้องปรับตัวยังไง ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นฐานในการทำงานของกลุ่มของเรา 

    Q: ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการโวย โครงการของเรามันพัฒนาไปในทิศทางไหนบ้าง?

    A: ที่ผ่านมาเราเป็นผู้พัฒนาโครงการเอง ทำงานเอง ซึ่งคนในชุมชนและเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วมและกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาเรียนรู้ในโครงการเฉย ๆ พอเราทำงานกับเขาเราก็เห็นศักยภาพของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ จึงอยากจะท้าทายศักยภาพของพวกเขาด้วยการเข้าร่วมโครงการโวย พอได้เข้าร่วมโครงการโวยจึงมีทุนในการไปทำตามความต้องการของเขาบนศักยภาพของเขาเอง ในปีแรกใช้วิธีการเปิดรับโครงการกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจที่อยากจะทำงานบนฐานชุมชนของตัวเอง มีกลุ่มที่น่าสนใจอยู่มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มเกษตรซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาทำเกี่ยวกับเกษตร ซึ่งเขาได้อยู่ภายใต้โครงการของเราและร่วมพัฒนาด้านเกษตรไปกับเรา

    Q: ในฐานะพี่เลี้ยง ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการมาจนถึงปัจจุบัน เราประทับใจอะไรบ้าง?A: คิดว่าเป็นการเติบโตของเยาวชนที่เราทำงานด้วยเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก ทั้งเรื่องของการเชื่อมั่นในตัวของตัวเอง กล้าที่จะแลกเปลี่ยนและทำงานกับชุมชนตัวเอง เป็นคนที่ไปทำงานกับคนในชุมชนแบบกระบวนการมีส่วนร่วม คิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่คิดว่าถ้าเรามีพื้นที่ให้เขามากพอ เขาสามารถทำได้และสามารถทำได้ดีด้วย

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย 3)...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...