“ภัทรพงษ์” จี้นายกฯ พร้อม 5 รัฐมนตรี แก้ฝุ่น PM 2.5 ชี้นโยบายไม่ต่างจากปี 2562

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ ณ อาคารรัฐสภาที่มีการพิจารณาเรื่องด่วน คือ คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคก้าวไกล อภิปราย ถึงเรื่อง PM 2.5 ชี้ว่าไม่มีการระบุนโยบายที่เป็นรูปธรรม มีเพียงคำแถลงแบบลอยๆ ไม่ต่างจากปี 2562 ทั้งที่รัฐบาลเปลี่ยนไปแล้ว พร้อมทั้งเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องแก้กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกันสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานที่ก่อมลพิษ และตรากฎหมายเพื่อกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในและนอกประเทศ ใช้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อเสนอแนะชั้นที่ 1 คือระบบสาธารณสุข เนื่องจากภาคเหนือมีอัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงสุดในประเทศ ไม่ต่างจากสูบบุหรี่ 2,000 มวนต่อปี ซึ่งรัฐต้องจัดระบบสวัสดิการเชิงรุกในการตรวจมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องให้กับประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ชั้นที่ 2 คือการจัดการพื้นที่เกษตร ทั้งการจัดการภายในประเทศ เช่นรัฐต้องสนับสนุนการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร และจัดกองทุนในเรื่องดังกล่าว ส่วนการจัดการภายนอกประเทศ คือ การห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาทุกชนิด รวมถึงติดฉลากสินค้าที่มีที่มาจากการเผา

ชั้นที่ 3 การบริหารจัดการไฟ คือต้องวางแผนเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ไฟป่าขนาดใหญ่และไฟป่าซ้ำซาก และต้องกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นที่เจอปัญหาไฟป่าซ้ำซาก

ชั้นที่ 4 การจัดเก็บข้อมูลและการแจ้งเตือน ต้องใช้ข้อมูลจุดความร้อน ร่องรอยการเผาไหม้ มาประเมินแนวทางการควบคุมไฟ และต้องมีระบบแจ้งเตือนผ่าน SMS

ชั้นที่ 5 ศูนย์บัญชาการ คือการกระจายอำนาจ และกำหนดเป้าหมายปี 2567 อย่างชัดเจน โดยกำหนดไม่ให้มีวันไหนมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน AQI 200 และกำหนดเป้าหมายให้มีค่าฝุ่น PM 2.5 ในช่วง 150-200 AQI ไม่เกินปีละ 30 วัน

ภัทรพงษ์ กล่าวว่าเรื่อง PM 2.5 ทางรัฐบาลระบุว่าเป็นเรื่องวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่มีนโยบายเร่งด่วนในเรื่องนี้ อีกทั้งรัฐบาลยังทราบดีว่าสาเหตุหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน มาจากกลุ่มทุน แต่ไม่เห็นนโยบายเรื่องนี้เลย พร้อมฝากคำถามไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า อีก 4 เดือน ประชาชนจะเจอปัญหา PM 2.5 จะทำอะไรเป็นการเร่งด่วน จะแก้ปัญหานี้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร จะเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.หมอกควันข้ามแดนหรือไม่ จะจัดสรรงบให้ท้องถิ่นเท่าไร

พร้อมฝากคำถามไปยัง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงสวัสดิการตรวจมะเร็งปอด ให้กับประชาชนภาคเหนือหรือไม่ จึงขอความชัดเจนเรื่องกรอบเวลา รวมถึงฝากไปยังนายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการออกนโยบายห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากเผาหรือไม่ ตลอดจนฝากไปถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าจะเริ่มรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำไฟฟ้าหรือไม่ และ มีนโยบายสนับสนุนแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อลดการเผาหรือไม่ 

สุดท้าย ภัทรพงษ์ ก็ได้ฝากคำถามไปถึงนายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องการเตือนภัยและเรื่องการรับรู้ข้อมูล Burn Scars อย่างไร และฝากคำถามไปถึง พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะมีแผนดำเนินการอย่างไรกับปัญหาไฟป่าและปัญหาฝุ่นในอีก 4 เดือนข้างหน้าอย่างไร

“ขอแนะนำแบบนี้นะครับ เลือกตั้งครั้งหน้า วงเล็บไว้ท้ายนโยบายนะครับ ว่านโยบายนี้สามารถทำได้จริง นโยบายนี้ใช้เพื่อการหาเสียงเท่านั้น หรือนโยบายนี้ทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลกับพรรค… เอาให้ชัด เพื่อให้คนเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้ไปเลือกท่าน”

ย้อนชมการอภิปรายได้ที่ https://www.facebook.com/pleelaphat/videos/993439525214106

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง