พฤษภาคม 17, 2024

    คนเหนือเดือนตุลา: จุฬา-จารีตก่อน 14 ตุลา และความรู้สึกอยากกลับบ้านหลัง 6 ตุลาของธเนศวร์ เจริญเมือง

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อทำความเข้าใจที่มาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อทำความเข้าใจบริบทในช่วงเวลานั้น

    “ตนซึมซับความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยเรียนระดับประถม ตั้งแต่อยู่ที่เชียงใหม่ ครอบครัวก็มีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยมาอยู่แล้ว แต่หลังจากลงมาเรียนในกรุงเทพฯ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมพบเจออำนาจนิยมในรั้วมหาวิทยาลัยที่เข้มข้นมากๆ อย่างกรณีการเรียกประชุมเชียร์ที่ต้องมาเข้ากิจกรรมช่วงพักกลางวัน พวกเราไปช้านิดหน่อยก็ถูกลงโทษ โดนเกือบทุกวัน”

    ด้วยบรรยากาศที่ห้อมล้อมไปด้วยความเป็นจารีตนิยม จึงเป็นเหตุทำให้นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในสมัยนั้น รวมถึงธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ก่อตั้งกลุ่มโดยไม่ได้ตั้งใจในชื่อ “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” เพื่อต่อต้านระบบรับน้อง กลับไปสู่ความหมายที่เป็นจริงของโซตัส คือ น้ำใจ ระเบียบ ประเพณี สามัคคี อาวุโส

    “ตอนแรกเริ่มเรามีสมาชิกอยู่ 7-9 คน ที่น่าสนใจคือ เพื่อนคนหนึ่งเห็นด้วยกับพวกเรา แต่เขายังเข้ากิจกรรมอยู่ และปฏิบัติตัวดีจึงได้รับเลือกเป็นนายกสโมของคณะ หลังจากเขาได้เป็นนายกฯ พอรับตำแหน่งเสร็จแล้วเขาจึงประกาศยกเลิกระบบโซตัสทั้งหมด สุดท้ายก็ถูกล้มไปเลย ที่พูดเรื่องนี้เนื่องจากในช่วงเวลานั้นผู้นำนิสิตที่กำลังเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีลักษณะที่เป็นพวกจารีตนิยม”

    ในช่วงเวลาด้วยกันหลายกลุ่มที่เป็นนักศึกษาหัวก้าวหน้าเองก็มีความพยายามที่จะต่อต้านระบบโซตัส และระบอบอำนาจนิยม จนนำมาสู่การประสานความร่วมมือในนาม “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”

    “ตอนนั้นมีความขัดแย้งกับสโมสรนักศึกษาเนื่องจากมหาวิทยาลัยในช่วงนั้นก็ถูกปกครองโดยกลุ่มที่มีทัศนะแบบกลาง ๆ เอียงไปทางจารีต เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ต้องเตรียมตัวที่จะเข้าสู่อำนาจ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างถึงที่สุด คือ กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร จึงทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองที่ไม่ใช่แค่เพียงเหล่านักศึกษา ประชาชนเองก็ตั้งคำถามกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ช่วงนั้นนำโดย ธีระยุทร บุญมี ผมเห็นความเข้มแข็งจึงเข้าไปสมัครเป็นรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองช่วงที่จัดการชุมนุม กลุ่มนักศึกษาที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดการชุมนุมมากนักคือเหล่าสโมสรนักศึกษา ดังนั้น การเคลื่อนไหวก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ องค์กรนิสิตนักศึกษาก็มิได้เป็นเนื้อเดียวกันมากนัก”

    เหตุการณ์ 14 ตุลา / ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม

    การเคลื่อนไหวหลัง 14 ตุลาฯ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประชาชน ที่นอกจากการขับไล่เผด็จการแล้ว ทั้งนี้ระบบจารีตนิยมบางอย่างก็ค่อย ๆ สลายไป แต่ก็เพียงแค่ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะอีก 3 ปี ต่อมา การมาถึงของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็นำพาสังคมให้คืนกลับมาในวังวงของเผด็จการ และปิดตายความเงียบงันของประชาธิปไตยผ่านการนองเลือด นักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวต้องหลบลี้เข้าเขตป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

    “ช่วงปี พ.ศ.2518 ผมได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐฯ หลังไปได้ 7 วัน ในวันที่ 31 กรกฎาคม อินถา ศรีบุญเรือง ผู้นำชาวนาภาคเหนือถูกลอบยิงเสียชีวิต และพอถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาฯ พอทราบข่าวตนเลยไม่มีกำลังเรียนหนังสือ เห็นเพื่อนฝูงถูกฆ่า โดนไม้ฟาด ถูกแขวนคอ ในวันนั้นมันมีแต่ความเจ็บปวด ตนกับเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ก็เศร้ามาก ติดต่อใครก็ไม่ได้ และหลังจากนั้นคุณพ่อผมโดนจับข้อหาเป็นภัยความมั่นคง ทั้งๆ ที่พ่อผมก็ด่าผมเรื่องการเมืองตลอดยังโดนเลย ผมจึงค่อยๆ ทยอยออกจากการเรียนหนังสือ แล้วออกมาทำงานหาเงินร่วมกับนักศึกษาไทยที่นั่น”

    ช่วงเวลานั้นมีข่าวว่ากลุ่มกรรมกรในประเทศญี่ปุ่นอยากช่วยนักศึกษาและประชาชนไทยที่ประสบภัยความรุนแรงในช่วง 6 ตุลาฯ ในประเทศไทย ผ่านการระดมทุนตามโรงงานในประเทศญี่ปุ่น โดยต้องการนักศึกษาไทยเดินสายบรรยาย แต่หาคนพูดในเมืองไทยไม่ได้เนื่องจากนักศึกษาที่พอจะสื่อสารได้ก็หลบเข้าป่าไปหมดแล้ว นี่ถึงเป็นโอกาสดีที่ธเนศวร์จะสามารถขยับเข้ามาใกล้บ้านมากขึ้น

    “ผมเลยสมัครไป เพราะจะได้อยู่ใกล้บ้านใกล้ประเทศไทยมากขึ้น ผมเดินสายไปพูดกว่า 300 โรงงาน พี่น้องกรรมกรญี่ปุ่นก็ระดมเงินมาช่วย อยู่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 เดือน ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าจะกลับบ้านให้ได้ หมดภาระที่ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจไปรายงานตัวกับสถานฑูตจีนในญี่ปุ่นเพื่อเดินทางเข้าไปในประเทศจีนและเข้าพบตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผมใช้เวลาอยู่จีนเพื่อดูงานเกี่ยวกับการปฏิวัติในจีนถึง 6 เดือน แล้วเริ่มเดินทางไปที่คุนหมิง ต่อไปที่สิบสองปันนา ลัดเลาะเข้าประเทศลาว สิ้นสุดที่เขตงานในจังหวัดน่าน”

    การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเสวนาในวาระครบรอบ 50 ปี ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 “ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์การต่อสู้กึ่งศตวรรษ เดือนตุลา และการเมืองเรื่องของความทรงจำ” ร่วมบรรยายโดย ดิน บัวแดง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มมังกรน้อย ลูกหลานชาวนาที่เคลื่อนไหวในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร มาลินี คุ้มสุภา และอาจารย์ ดร วันพัฒน์ ยังมีวิทยา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...