พฤษภาคม 3, 2024

    Lanner Films Zone มากกว่าหนัง : ลัดดาเเลนด์ หนังเขย่าขวัญ ว่าด้วยครอบครัว ชนชั้นกลาง มากกว่านั้นยังลามปามไปถึงศิลปวัฒนธรรมล้านนา และแรงงานข้ามชาติ

    Share

    เรื่อง: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

    Lanner Film Zone มากกว่าหนัง คอลัมน์เกี่ยวกับหนังที่แวะออกนอกหนังไปเรื่อยเปื่อย เช่น ตำนาน เรื่องเล่า  วัฒนธรรม  สถานที่ เน้นหนังที่มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาคเหนือเป็นหลัก



    ขณะกำลังขับรถออกจากเชียงใหม่หลังจากครอบครัวตัวเอกของเรื่องฝ่าฟันอุปสรรคในหมู่บ้านผีเฮี้ยนเเละการสูญเสียธีร์หัวหน้าครอบครัวจากการฆ่าตัวตาย  เเม่พูดกับลูกสาวคนโตว่า

    “แนนรู้มั้ย ว่าตอนที่แม่ใกล้เรียนจบ แม่วางแผนชีวิตอะไรไว้หลายอย่างเลย แต่พอแม่รู้ว่าแม่มีแนน ทุกอย่างมันก็เหมือนพังไปหมด แม่ได้แต่นั่งคิดนะว่า ฉันยังอายุแค่นี้เอง ฉันจะเป็นแม่คนได้ยังไง แล้วฉันจะเลี้ยงลูกให้รอดได้ยังไง แล้วตอนนั้นแม่ก็เลยตัดสินใจบอกพ่อเค้าไปว่าแม่จะทำแท้ง ตอนนั้นแม่ยังคิดว่าเราคงต้องเลิกกันจริง ๆ แต่พออีกวัน พ่อก็บุกไปหายายที่บ้าน ไปบอกกับยายว่าเค้าจะขอแม่แต่งงาน โดนยายด่าเป็นชุดเลย แต่พ่อเค้าไม่ได้พูดอะไรซักคำ เค้าพูดแต่ว่า ครอบครัวผม ผมดูแลได้ ครอบครัวผม ผมจะต้องดูแลให้ได้ พ่อเค้ารักแนนมากนะลูก”

    ภาพย้อนอดีตที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นครอบครัวนี้มีความสุขยามอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตากัน ไม่บ่อยครั้งนักที่หนังเขย่าขวัญจะทำให้คนดูร้องไห้ได้เพราะซาบซึ้งในความรักความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ ลัดดาเเลนด์ออกฉายวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 จากค่ายหนัง GTH เขียนบทและกำกับโดย จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่ประกอบด้วย ‘ธีร์’ พ่อและหัวหน้าครอบครัว (ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา)  ‘ป่าน’ เเม่เเละภรรยาของธีร์ (ป๊อก – ปิยธิดา วรมุสิกาน) ‘แนน’ ลูกสาวคนโต (ปันปัน-สุทัตตา อุดมศิลป์) และ ‘นัท’ ลูกชายคนเล็ก (อธิพิชญ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย) ที่ย้ายมาใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ในหมู่บ้านจัดสรรที่ชื่อลัดดาเเลนด์



    ลัดดาแลนด์ที่ไม่ใช่หนัง

    คนส่วนใหญ่คงรู้จักลัดดาแลนด์ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีผีเฮี้ยน หรืออาจจะคิดว่าหนังเรื่องลัดดาแลนด์สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง เเต่ในการรับรู้ของคนในจังหวัดเชียงใหม่ ลัดดาแลนด์คือสถานที่แห่งนี้ในอดีตถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2520 ที่แห่งนี้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ ผสมผสานกับลานแสดงศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  ในราวปี พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีเจ้าของคือ ‘พลตรีประดิษฐ์ พันธาภา’ นายทหารผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงหนังเวียงพิงค์และ ‘นางลัดดา พันธาภา’ นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ผืนนี้ได้พัฒนาเป็นอุทยานการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ประกอบด้วย สวนสนุก การแสดงมหรสพต่าง ๆ มีการจัดศูนย์แสดงสาธิตศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งพิพิธภัณฑ์ชาวเขาเผ่าต่างที่นำเอาวิถีชีวิตบนดอยมาจัดเเสดง การทำเครื่องเขิน การแกะสลักไม้ การทอผ้าไหม การแสดงฟ้อนรำต่าง ๆ  มีการให้บริการ ช้าง ม้า และรถไฟเล็กให้นั่ง  ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของเด็ก ๆ  และครอบครัวอย่างมาก ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองเหนือชื่อดังของเชียงใหม่ พอ ๆ กับดอยสุเทพ จนมีคำขวัญที่คนพูดกันเล่น ๆ ว่า “กินข้าวซอย ขึ้นดอยสุเทพ แวะแอ่วลัดดาแลนด์” สาเหตุหลักที่ลัดดาแลนด์เลิกกิจการลัดดาแลนด์นั้น คาดมาจาก 2 สาเหตุ คือ คุณนายลัดดาอาจจะเริ่มเบื่อหน่ายกับกิจการ และเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว เนื่องจากลัดดาแลนด์ต้องจ้างคนจำนวนมาก จึงอาจจะทำให้ตัดสินใจเลิกกิจการไปจนปล่อยให้เป็นที่รกร้างเเละก็ได้เกิดเรื่องเล่ามากมายที่เล่าต่อกันมาเกี่ยวกับสถานที่เเห่งนี้ ไม่ว่าตำนาน ลัดดาแลนด์ จะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ถูกแต่งเติมขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องราวชวนขนลุกทุกครั้งที่ได้ฟัง จนเมื่อปี 2554 ก็ได้มีหนังสยองขวัญชื่อลัดดาแลนด์ที่ได้แรงบันดาลใจมากจากชื่อลัดดาแลนด์นำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านจัดสรรภายในเรื่อง

    ปัจจุบันลัดดาแลนด์ได้ถูกจัดการไถราบจนค่อนข้างเรียบร้อย มีถนนใหญ่ตัดผ่าน พื้นที่รอบข้างเจริญขึ้นพอควร ไม่ได้เป็นป่ารกน่ากลัวแบบในอดีตอีกต่อไปและเป็นที่ตั้งของสนามขี่ม้าลัดดาแลนด์


    (ภาพ : Reviewchiangmai)

    ลัดดาเเลนด์กับศิลปะวัฒนธรรมล้านนา

    อย่างที่ทราบกันในลัดดาเเลนด์ครั้งอดีตนั้นมีลานแสดงศิลปวัฒนธรรมเป็นเเหล่งรวมเหล่าศิลปินในเชียงใหม่ให้มีพื้นที่ในการเเสดงฝีมือเเละศิลปวัฒนธรรมของล้านนา เเทบจะเรียกได้ว่าการที่มีสวนลัดดาเเลนด์เปรียบเสมือนยุคเริ่มต้นศิลปะวัฒนธรรมล้านนาที่ได้เเสดงสู่สายตานักท่องเที่ยวทั้งคนไทยภาคอื่น ๆ และชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวสวนลัดดาเเลนด์ได้รับชม ซึ่งเมื่อก่อนศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะเเสดงกันในวัดและวันสำคัญต่าง ๆ ตามปฎิทินล้านนา เเต่ที่ลัดดาเเลนด์สามารถสามารถเปิดกว้างต่อสายตาคนอื่น ๆ ได้มากกว่า อย่างเช่น พ่อครูคำ กาไวย์ 

    ศิลปินเเห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2535 สาขาศิลปะการแสดง เป็นศิลปินพื้นบ้านล้านนาที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่น โดยเฉพาะการแสดงกลองสะบัดชัย ที่ได้พื้นที่ในลัดดาเเลนด์ในการเเสดงเเละฝึกฝีมือกลองสะบัดชัยจนได้เป็นศิลปินเเห่งชาติ



    ความฝันการอยากมีครอบครัวที่เพอร์เฟคของชนชั้นกลาง

    ความฝันการมีครอบครัวที่สมบูรณ์เเบบอุดมไปด้วยทั้งความรักความอบอุ่นกันทั้งครอบครัว ย่อมเป็นความฝันของทุกคนไม่เว้นเเม้เเต่ธีร์หัวหน้าครอบครัว จากในภาพยนตร์จะได้เห็นธีร์พยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อครอบครัวของเขาเพื่อเติมเต็มคำว่าครอบครัวเเละลบล้างคำสบประมาทจากเเม่ยายของเขาเองว่าคนอย่างเขาเองสามารถดูแลครอบครัวได้ อย่างเเรกเมื่อมีครอบครัวก็ต้องมีหลักประกันความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ก็คือบ้าน บ้านเป็นหมุดหมายสำคัญของชนชั้นกลางและคนทำงานเพียรพยายามหาเงินเพื่อซื้อไว้สักหลังให้ครอบครัวได้อาศัยเเละเป็นหน้าเป็นตาเเสดงออกทางสังคมได้ ก่อนหน้าในภาพยนตร์นั้นธีร์และภรรยาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเพราะบ้านที่กรุงเทพราคาสูงเกินกว่ากำลังทรัพย์ของเขา เมื่อเขาได้งานทำที่เชียงใหม่ก็ไม่รีรอที่จะซื้อบ้านก่อนอันดับแรกเพราะราคาบ้านที่เชียงใหม่นั้นถูกกว่าที่กรุงเทพเเถมยังได้อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีระดับ ธีร์นั้นคิดว่าความเป็นครอบครัวของเขานั้นเริ่มต้นได้สักทีจากการมีบ้านเพราะครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้า ได้ประสานรอยร้าวระหว่างเขาเเละลูกสาวที่ต้องนำไปฝากเเม่ยายเลี้ยงไว้ตั้งเเต่เด็กพร้อมถูกปลูกฝังให้เกลียดพ่อตัวเองเเถมยังได้พิสูจน์ตัวเองกับเเม่ยายว่าสามารถดูเเละทำให้ศรีภรรยามีความสุข เเต่น่าเสียดายที่บ้านเเห่งความสุขนั้นอยู่ได้ไม่นานก็ได้กลับกลายเป็นบ้านเเห่งความเขย่าขวัญ



    มะขิ่น ตัวเเปรสำคัญที่ทำให้ลัดดาเเลนด์เป็นหมู่บ้านผีเฮี้ยน

    ทุกคนที่ได้ชมภาพยนตร์ย่อมรู้ดีว่ามะขิ่นนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สยองขวัญต่าง ๆ ในหมู่บ้านลัดดาเเลนด์ จาการที่เธอถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมบวกกับความเเค้นที่ถูกกระทำต่าง ๆ นา ๆ ทำให้เธอออกมาหลอกหลอนผู้คนเเละล้างเเค้นผู้ที่กระทำเธอ มะขิ่นนั้นเป็นนั้นเป็นเเรงงานพม่าที่แอบลักลอบเข้ามาหางานในไทย เธอยังพูดไทยยังไม่ค่อยชัด มะขิ่นพยายามเก็บเงินส่งให้ครอบครัวเพื่อไถ่ถอนที่ดินเเละหวังว่าจะได้กลับบ้านเกิดในสักวัน โชคเข้าข้างทีเธอได้มาทำงานดูเเลบ้านของชาวต่างชาติที่นาน ๆ จะกลับมาที งานได้เงินดีมีที่อยู่อาศัยใครบ้างจะไม่ทำ ด้วยการที่เธอเป็นคนขยันจึงทำงานรับจ้างต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านด้วย ทำให้เธอมีเงินเก็บอยู่จำนวนหนึ่งเเต่เเล้ววันหนึ่งเธอถูกขโมยเงินโดยเพื่อนบ้าน มะขิ่นไปเล่าให้ใครฟังก็ไม่มีใครเชื่อเเละเธอไม่สามารถเเจ้งตำรวจเนื่องจากหลบหนีเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ขืนเเจ้งตำรวจก็มีเเต่จะถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทางเธอจึงทำได้เเค่เสียใจเท่านั้น

    GTH Side Stories ตอน มะขิ่น ภาพยนตร์สั้นเรื่องมะขิ่น หนังสั้นส่วนขยายจากลัดดาแลนด์ เป็นการบอกเล่าเรื่องราว 10 วันก่อนที่เธอจะถูกฆาตกรรมทำให้เป็นส่วนเติมเต็มเรื่องราวที่ขาดหายไปในภาพยนตร์ที่ทำให้เห็นที่ไปที่มาความเฮี้ยนของผีมะขิ่นเเละเข้าใจเรื่องราวภาพยนตร์ลัดดาเเลนด์ได้ดีขึ้น

    เรื่องของแรงงานข้ามชาติเองก็นับได้ว่าในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องสังคมไม่ได้ให้ความสนใจมากพอ ซ้ำยังพบกับอคติทางเชื้อชาติมากมาย ทั้งที่จริง ๆ แล้วแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซ้ำร้ายการเอารัดเอาเปรียบและการแบ่งแยกโดยนายจ้างก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานไม่สามารถขยับขึ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น หลายคนต้องเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายหรืออยู่ในสถานะหลบหนีเข้าเมืองดังที่มะขิ่นเองก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลือกไม่ได้

    เมื่อเจอปัญหามักจะเลือกสมยอมต่อนายจ้างมากกว่าที่จะเข้าเเจ้งตำรวจหรือเพราะไม่อยากถูกจับเเละส่งกลับประเทศ อย่างมะขิ่นก็ไม่อยากเสียการเสียงานที่ได้เงินดี ทำให้มีปัญหาการกดขี่แรงงานโดยนายจ้าง

    แม้เรื่องนี้จะผ่านมากว่า 10 ปี แต่นอกโรงภาพยนต์นั้นปัญหาที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกลับยังเหมือนเดิม ทั้งยังทวีความซ้ำซากผสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างที่อยากหยิบยกมาก็คือช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 รัฐบาลมีมาตรการในการดูแลแรงงานคือ โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ภาคประชาชนฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563โดยการเสนอของกระทรวงแรงงาน ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 มีข้อกำหนดให้ผู้มีสิทธิตามโครงการฯเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มี “สัญชาติไทย” เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ “ไม่มีสัญชาติไทย” ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยา

    แม้จะมีการยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะดำเนินไปอย่างไร

    ไม่ว่าผู้คนจะคิดถึงหรือเข้าใจลัดดาแลนด์ในมุมไหน ลัดดาแลนด์ก็แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศและความอบอวลที่มากกว่าความบันเทิง แต่ยังคงผูกโยงหัวใจของความทรงจำไว้มากมายมหาศาล


    อ้างอิง

    • ลัดดาแลนด์ ดินแดนแห่งความสุข https://www.youtube.com/watch?v=a-szv8GWths&ab_channel=ThaiPBS
    • เฮี้ยนสุดในเชียงใหม่!! “ผีลัดดาแลนด์” ตำนานผีเชียงใหม่ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/879312

    Related

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...