พฤษภาคม 18, 2024

    ความเป็น ความตาย ชีวิตบนเส้นด้ายของแรงงานในแม่สอด

    Share

    เรื่อง: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์


    หลังการเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นำโดยมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) การทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นผลพวงจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งพรรค NLD ได้ที่นั่งในสภา 396 ที่จากทั้งหมด 476 ที่ นับว่าได้เสียงข้างมาก ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของทหาร ได้เพียง 33 ที่นั่ง ฝั่งทหารโต้แย้งผลการเลือกตั้งโดยอ้างว่า การลงคะแนนไม่สุจริต จนเกิดข่าวลือเรื่องรัฐประหารเป็นเวลาหลายวันจนเกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จนเกิดความไม่สงบภายในประเทศ ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ในพม่าต่างออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารในครั้งนี้ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเปรียบเสมือนความหวังใหม่ที่จะนำพาพม่าให้หลุดพ้นจากวงจรของเผด็จการทหารที่กัดกินการพัฒนาของประเทศ แต่กลับถูกตัดตอนความฝันและความหวังอีกครั้ง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ประชาชนทุกคนทุกสาขาอาชีพเลือกที่จะลุกขึ้นต่อต้าน แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารเองก็ตอบโต้ฟาดฟันใส่ประชาชนอย่างไม่หยุดยั้ง และยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สงครามระหว่างรัฐบาลทหารเเละกลุ่มต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ ที่ยืดเยื้อกินเวลาร่วมแรมปี

    ด้วยภาวะอับจนหนทางที่ทางเลือกในชีวิตเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ส่งผลให้มีผู้อพยพหลบหนีความไม่สงบในพม่าเข้ามาในไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำเมยตั้งแต่ อ.พบพระ อ.แม่ระมาด โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เเม่สอด จ.ตาก การหลั่งไหลของผู้อพยพตั้งแต่มีการรัฐประหารมีเเนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ในพม่ายังไม่มีท่าทีจะสงบ ทำให้มีผู้อพยพหนีความไม่สงบเข้ามาในไทย โดยประเทศไทยยังไม่ได้มีการคัดกรองผู้อพยพผู้ลี้ภัย ผู้ที่สามารถหลบหนีเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมายมีความต้องการงานในการหาเลี้ยงชีพจึงจำเป็นต้องรับงานที่มีโดยไม่สามารถเลือกงานได้ กล่าวคือการทำงานที่พวกเขาไม่ได้ประกอบอาชีพมาแต่เดิมที่เคยทำอยู่ที่ประเทศพม่า เเม้จะมีผู้อพยพเข้ามาจำนวนมาก เเต่อาชีพเเละงานนั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนคน อาทิเช่น ผู้อพยพที่เคยประกอบอาชีพสื่อมวลชน เเต่พอมาอยู่ที่ประเทศไทยกลับต้องประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่งผลให้ต้องมาเรียนรู้งานใหม่เเละเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่เคยทำ  เหมือนนับศูนย์จนถึงหนึ่งอีกครั้ง

    ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

    จากการที่มีผู้อพยพเข้ามาจำนวนมาก อีกปัญหาที่ตามมาคือศูนย์พักพิงเเละค่ายผู้อพยพไม่สามารถที่จะรองรับจำนวนคนที่มีจำนวนมากขึ้นได้ บางส่วนที่เป็นแรงงานอาศัยอยู่ในพื้นที่ของโรงงานที่โรงงานจัดไว้ให้พักอาศัยเเต่ที่พักอาศัยก็ไม่ได้มีความปลอดภัยในชีวิต ไม่เหมาะเเก่การพักอาศัยโดยเฉพาะกับเเรงงานหญิงเเละเด็ก ปัญหาต่อมาเมื่อมีเเรงงานจำนวนมากเกินไป เกิดการกดทับเเละเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าเเรง แม้กฏหมายของประเทศไทยมีการปรับค่าเเรงขั้นต่ำเป็น 337 บาทเเล้วเเต่โรงงานหลาย ๆ โรงงานกลับไม่ยอมจ่ายค่าเเรงขั้นต่ำตามกฏหมายให้เเก่เเรงงานได้ เนื่องจากนายจ้างต้องการที่จะควบคุมต้นทุนในการผลิตสินค้าให้น้อยที่สุดเพื่อหวังผลกำไรที่มากที่สุด

    พื้นที่ อ.แม่สอดถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจมีการตั้งโรงงานมากมายประกอบไปด้วยโรงงานเย็บเเละทอผ้า โรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ลี้ภัยต้องเลี้ยงชีพ จึงต้องหางานทำกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายอีกแบบหนึ่ง อีกทั้ง  จำนวนโรงงานกลับไม่เพียงพอต่อจำนวนแรงงานที่มีความต้องการงานที่มากขึ้น เเรงงานบางส่วนหันไปรับจ้างในภาคเกษตรกรรมที่ได้เงินเดือนที่น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม โดยค่าเเรงภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ไม่เกิน 200 บาทต่อวัน ส่วนค่าเเรงภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ไม่เกิน 300 บาท ทั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำในไทยอยู่ที่ 337 บาท 

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดช่องว่างของค่าแรงเนื่องจากโดยกฎหมายแล้ว ผู้ลี้ภัยยังอยู่ในสถานะบุคคลเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิในการทำงานแต่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างผิดกฎหมายจึงไม่สามารถเรียกร้องเรื่องค่าแรงหรือสวัสดิการต่าง ๆ ได้

    การเอารัดเอาเปรียบของนายจ้างต่อลูกจ้างมีตั้งเเต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการใช้ภาษาในการประกาศเรื่องสำคัญมักจะเลือกใช้ภาษาไทยส่งผลกระทบต่อผู้อพยพส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจภาษาไทย เช่น ตารางการทำงาน ประกาศต่างๆในโรงงานเเละการลดหรือเพิ่มเงินเดือน  นายจ้างเองก็เรียกเก็บค่าทำบัตร 10 ปีในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ มีการยึดเอกสารบัตรต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างออกไปทำงานที่อื่น

    แม้จะมีความพยายามรวมกลุ่มประท้วงเพื่อต่อรองค่าแรงและสวัสดิการต่าง ๆ จากนายจ้าง แต่ก็มีการกลั่นเเกล้งผู้นำการประท้วงที่ร้องเรียนสวัสดิการ ประกันสังคม ศาลแรงงานเพื่อไม่ต้องการให้โรงงานอื่น ๆ รับผู้ประท้วงเข้าทำงานเนื่องจากหลาย ๆ โรงงานมองว่าคนเหล่านี้เป็นปัญหาต่อโรงงาน ผู้อพยพบางคนมีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ นอกจากใช้ในครอบครัวยังต้องจ่ายรายเดือนให้กับตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

    ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

    A (นามสมมุติ) เขาทำงานในภาคเกษตรกรรมในไร่พริกเเห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด อพยพมาที่เเม่สอดเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565 จากเมืองอิรวดีกับภรรยาเเละลูกอีก 4 คน โดยจ่ายค่าผ่านเข้ามาแม่สอดคนละ 1,500 บาท เวลาทำงานคือตั้งแต่ 08.00 – 17.30 น .หรือ 8 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ได้รับค่าแรงวันละ 150 บาท หากวันไหนมีพ่นยาฆ่าแมลงก็จะได้เงินเดือนเพิ่มประมาณ 180 บาท 

    มีการจ่ายเงินให้ตำรวจทุกเดือนเพื่อไม่ให้ผู้หลบหนีเข้ามาอย่างผิดกฎหมายถูกจบไปยังประเทศพม่าโดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายให้เป็นเงิน 300 บาทต่อคนในทุก ๆ เดือน ซึ่งบางที่นายจ้างจะผลักภาระให้เเรงงานจ่ายเอง


    A ต้องการความปลอดภัยในชีวิตจึงเข้ามาประเทศไทย โดยมีความหวังว่าจะได้กลับบ้านไปทำเกษตรกรรมอีกครั้ง หากสถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้น

    ด้วยภาวะความไม่ปลอดภัยในพม่าเเละความกลัวต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตที่รัฐบาลพม่ากระทำต่อประชาชน A ไม่ได้ให้ความเห็นเรื่องการกดขี่ค่าเเรงของประเทศไทยเเต่มีความดีใจที่ได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยเเม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานก็ตาม

    B (นามสมมติ) ทำอาชีพรับจ้างทำงานทั่วไปได้รายได้วันละประมาณ 200 บาท รายได้เเต่ละวันมาจากงานที่รับเเตกต่างกัน B อพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยงและอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยได้ 40 กว่าปีแล้ว อาศัยอยู่กับมารดา ภรรยาและลูกอีก 3 คน เนื่องจากรายได้ที่น้อยทำให้สมาชิกทั้งบ้านต้องทำงานหนัก แต่เนื่องจากมาอยู่ที่ไทยเป็นเวลานานทำให้ได้รับบัตร 10 ปีเเละสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เหมือนพลเมืองไทย สามารถส่งลูกเรียนหนังสือเเละทำบัตรประชาชนได้

    ความหวังของ B การได้ค่าแรงที่มากขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัวอีกหลาย ๆ คน

    ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

    แม้เเรงงานส่วนใหญ่ยินยอมทำงานให้นายจ้างโดยรู้ดีว่าโดนกดค่าแรงให้น้อยลง เเต่เเรงงานผู้อพยพกลับต้องอยู่ในภาวะจำยอม หากแต่มีความหวังให้เหตุการณ์ในพม่าสงบได้ในสักวันหนึ่ง อย่างไรก็ดี เเรงงานชาวพม่าก็เป็นเเรงงานเช่นเดียวกันกับเเรงงานไทย จึงควรที่จะได้รับค่าเเรงขั้นต่ำตามกฎหมายไทย ประกอบกับไทยยังมีความต้องการเเรงงานอย่างมากทั้งภาคเกษตรกรรมเเละอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้สามารถนำพาเศรษฐกิจของไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีได้ พวกเขาจึงสมควรได้รับความเท่าเทียมและสวัสดิการเช่นเดียวกันกับคนไทย นี่คือชีวิตที่แขวน

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...