พฤษภาคม 9, 2024

    ชาวกะเบอะดิน จัดงานรำลึกบวชป่าครบรอบ 3 ปี ย้ำไม่ต้องการเหมืองแร่

    Share

    15 กุมภาพันธ์ 2566

    เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ชุมชนบ้านกะเบอะดินร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดงาน “บวชป่า บูชาธรรมชาติ สู่จิตวิญญาณกะเบอะดิน” ณ พื้นที่จิตวิญญาณ หมู่บ้านกะเบอะดิน หมูที่ 12 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 3 ปี งานบวชป่าและการทำแนวกันไฟ เพื่อแสดงเจตจำนงค์ว่าไม่ต้องการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ชุมชนนี้

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดยผู้แทนองค์กรบริหารส่วนตำบลหมู่บ้านกะเบอะดินและกล่าวเปิดงานโดยผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านกะเบอะดิน โดยผู้ใหญ่บ้านได้ขอบคุณทุกคนและองค์กรเครือข่ายที่ได้เข้าร่วมงานครบรอบ 3 ปี งานบวชป่าในครั้งนี้

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    ต่อมาผู้เฒ่าผู้แก่และตัวแทนชาวบ้านในชุมชนได้ทำพิธีกรรมตามประเพณีดั้งเดิมเพื่อร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกป้องพื้นที่ป่าตามความเชื่อของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งได้มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์จากศิษยาภิบาลและตัวแทนคริสเตียนจากคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน โดยในพิธีกรรมได้มีการขับร้องเพลงเพื่อสรรเสริญพระเจ้า อธิษฐานขอพระพรจากพระเจ้าให้จิตวิญญาณของทุกคนเป็นจิตวิญญาณที่ปกป้องรักษาและดูแลผืนดิน และได้เน้นย้ำว่า “ความเชื่อ ความหวัง ความรัก”เป็นสิ่งสำคัญ

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    หลังจากที่ได้ทำพิธีกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีเวทีเสียงของคนอมก๋อย เวทีให้กำลังใจพี่น้องบ้านกะเบอะดินและชุมชนทางผ่านที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ผู้ให้กำลังใจประกอบไปด้วยตัวแทนทนายความ ตัวแทนตัวแทนชุมชนทางผ่านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการการขนส่งแร่ถ่านหิน ตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านกะเบอะดิน ตัวแทนภาคีเครือข่าย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความได้กล่าวว่า “คดีกะเบอะดินเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่ได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ในปี 2565 การฟ้องคดีและการต่อสู้ของกะเบอะดินส่งผลและสะเทือนไปสู่ชุมชนอื่น ๆ เพื่อให้ปกป้องรักษาพื้นที่ชุมชนและทำให้พี่น้องชุมชนอื่นๆลุกขึ้นมารวมตัวปกป้อง เช่น ชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเหมืองแร่ต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ การที่ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ออกคำสั่งทุเลาการบังคับทางปกครอง(คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว)ก็เป็นชัยชนะแรกของเรา”

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    นายสวัสดิ์ติพล วงศ์เกษตรกร ตัวแทนผู้นำท้องถิ่น ได้กล่าวกำลังใจว่า “ถ่านหินที่อยู่ข้างใต้เรา เขาพร้อมจะมาเอาไปทุกเมื่อ ฉะนั้นเราต้องรวมต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรในชุมชนเรา”

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    ตัวแทนบ้านกะเบอะดิน กล่าวไว้ว่า “อยากขอบคุณชาวบ้านและชุมชนทางผ่านที่ช่วยกันปกป้องพื้นที่แห่งนี้ไม่ให้ถูกทำลาย ขอบคุณสำหรับตลอดเวลาระยะเวลา 3 กว่าปีที่ร่วมกันต่อสู้และในอนาคตข้างหน้าเราจะสู้ต่อไป”

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. นายณรงค์ชัย เตโม จากพรรคก้าวไกลได้ให้กำลังใจชาวบ้านและกล่าวว่า “พื้นที่จิตวิญญาณของเราที่ปกป้อง ทำให้ดำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราได้และจะร่วมคัดค้านผ่านกลไกทางรัฐสภาอีกด้วย”

    ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ว่าที่ร้อยตรี ธีรพงษ์ สุขสันต์นิรันดร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “บ้านกะเบอะดินมีความเข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและจะอยู่เคียงข้างพี่น้องบ้านกะเบอะดิน”

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    หลังจากจบเวทีเสียงอมก๋อยแล้ว ได้มีกิจกรรมดนตรีสดจากโดยยอดชายนายปีเตอร์ อ้ายหนุ่มมาดเซอร์ นักดนตรีชาวกะเหรี่ยงโปว์ ได้ขับร้องเพลง“คนอมก๋อยไม่ต้องการถ่านหินเหมืองแร่” เป็นภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยงโปว์เพื่อให้กำลังใจแก่ชุมชนในการต่อสู้ สร้างความผ่อนคลายและเสียงหัวเราะให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    ก่อนจบกิจกรรมบวชป่าชาวบ้านผู้เข้าร่วมจากบ้านกะเบอะดินและภาคีเครือข่ายได้ร่วมอ่านแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าพวกเราไม่ต้องการเหมืองแร่ถ่านหิน เนื้อหาดังนี้

    “ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ไม่มีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนที่มีความโลภเพียงคนเดียว”

    คำกล่าวข้างต้นเป็นของมหาตมะ  คานธี ผู้ต่อสู้กับการกดขี่อย่างสันติ ท่านคือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นแบบอย่างให้พวกเราในการต่อสู้กับการถูกรุกรานจากบริษัทเอกชนที่จะพยายามเข้ามาขุดเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตและทรัพยากรที่พวกเราดูแลรักษาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง ดังคำกล่าวของผู้สูงอายุกะเหรี่ยงที่กล่าวว่า

    “โอ้ ที๊ง แฌ แซ ที๊ง เจ่ ทเคแกล้ กแบแฌแซอ้ะ ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า”

    ในรอบเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมาพวกเรากะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านการดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งหลังจากชุมชนได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ขอเพิกถอนรายงานอีไอเอไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้นำรายงานอีไอเอไปออกประทานบัตรได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    ในการจัดกิจกรรม “บวชป่า บูชาธรรมชาติ สู่จิตวิญญาณกะเบอะดิน”  ในวันนี้ ตอกย้ำถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่กับป่า รักษาป่า  รักษาสายน้ำและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตอกย้ำถึงกระบวนการอีไอเอที่ไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน นโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน หาใช่ชุมชนท้องถิ่นไม่

    พวกเราที่มารวมตัวกัน ณ ป่าจิตวิญญาณแห่งนี้ ขอประกาศเจตนารมณ์ ต่อจิตวิญญาณอันทรงเกียรติว่า พวกเราชาวบ้านกะเบอะดินพร้อมภาคีเครือข่ายจะร่วมกันปกป้องบ้านเกิด วิถีชีวิต ที่ทำกินเลี้ยงชีพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้คนโลภเพียงคนเดียวแย่งยึดไปเพื่อหาประโยชน์ให้ตนเอง

    “จุดยืนหนึ่งเดียวของพวกเราคือ ไม่เอาโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย”

    ด้วยจิตคารวะ

    ณ พื้นที่จิตวิญญาณบ้านกะเบอะดิน

    14 กุมภาพันธ์ 2566

    และปิดท้ายด้วยกิจกรรมแสดงเชิงสัญลักษณ์โดยการเผากระดาษข้อเสนอการเยียวยาของบริษัท เพื่อยืนยันว่าชุมชนกะเบอะดินไม่ต้องการเหมืองแร่ถ่านหินและไม่ต้องการเจรจากับบริษัทเอกชนใด ๆ ทั้งสิ้น

    ภาพ : วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...