สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม 2567 ผ่านกลุ่ม เชียงใหม่108 CM108 โดยระบุสาเหตุหลักว่ามาจากการเข้ามาของแอพพลิเคชั่นขนส่งต่างชาติ ซึ่งมีเยอะมากในเมืองเชียงใหม่ ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการรถแดงลดลง

ภาพ : มติชนออนไลน์

หลังจากที่มีการโพสต์ข้อความออกไปก็เกิดการแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงประสบการณ์เคยถูกรถแดงเอาเปรียบค่าโดยสารและการบริการที่ย่ำแย่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความนิยมลดลง เมื่อมีตัวเลือกใหม่ที่ดีกว่าเข้ามาผู้ใช้บริการจึงเลิกใช้บริการรถแดงในที่สุด

ปัญหาสะสมของรถแดง

จากงานวิจัยในหัวข้อ ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์การใช้บริการรถสาธารณะ (สี่ล้อแดง) กรณีศึกษา : กลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เขียนโดย อนุภาค เสาร์เสาวภาคย์, ชูเกียรติ ชัยบุญศรี และวรวรรณ บุญเสนอ ปี 2554  พบว่ารถแดงมีลักษณะเป็นรถโดยสารรับจ้างสองแถวขนาดเล็กที่ให้บริการในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยผู้ขับรวมตัวในสหกรณ์ที่มีชื่อว่า “สหกรณ์นครล้านนาเดินรถ จำกัด” ซึ่งลักษณะการวิ่งของรถจะไม่ประจำทางคล้ายกับแท็กซี่ แต่จะรับผู้โดยสารเพิ่มเติมตลอดทาง และเปลี่ยนเส้นทางตามผู้โดยสาร ส่วนค่าบริการมีการกำหนดไว้ว่า หากระยะทางไม่เกินถนนวงแหวนรอบ 2 จะเก็บค่าบริการไม่เกินคนละ 30 บาท หากระยะทางนอกเหนือจากนั้นจะขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย

และจากงานวิจัยในหัวข้อ  แนวโน้มและทิศทางในอนาคตของการให้บริการรถสี่ล้อแดงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย รวีวรรณ แพทย์สมาน ปี 2563 ได้แสดงผลทัศนคติต่อการใช้รถแดงของนักท่องเที่ยวและประชาชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยการเก็บแบบสอบถาม พบว่าด้านความสะดวกในการใช้บริการอยู่ในระดับปานกลาง ด้านคุณภาพและความปลอดภัยของการให้บริการอยู่ในระดับน้อย ด้านราคาในการให้บริการอยู่ในระดับน้อย ด้านคนขับรถหรือผู้ให้บริการอยู่ในระดับน้อย และด้านระยะเวลาในการเดินทางอยู่ในระดับน้อย จากผลทัศนคติดังกล่าวสนับสนุนการอธิบายที่ว่ารถแดงส่วนมากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด อีกทั้งยังแสดงกิริยาไม่สุภาพต่อผู้โดยสาร มีการโก่งราคาโดยสารโดยเฉพาะคนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนเกิดเป็นความไม่พอใจต่อการใช้บริการรถสี่ล้อแดงขึ้น แต่เนื่องด้วยช่วงเวลาที่ผ่านมา บริบทระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีข้อจำกัดและมีตัวเลือกน้อย ทำให้ผู้โดยสารไม่มีทางเลือกในการเดินทาง จำเป็นต้องใช้บริการรถสี่ล้อแดง

จริงหรือ รถแดงผูกขาดขนส่งสาธารณะเชียงใหม่?

ต้นกำเนิดของรถแดงนั้นมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เกิดจากการรวมกลุ่มกันของรถรับจ้างในเชียงใหม่ และต่อมาได้รับสัมปทาน 21 เส้นทางในตัวเมืองเชียงใหม่ ถูกกำหนดสีให้มีสีเดียวกันโดยสหกรณ์นครลานนาเดินรถ ถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2521 โดยการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ มีสมาชิกเป็นเจ้าของรถสองแถว เนื่องจาก พ.ร.บ. การขนส่งทางบก ปี พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ได้รับสัมปทานวิ่งรถโดยสารจะต้องเป็นนิติบุคคล เจ้าของรถจึงรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อขอสัมปทานเส้นทางจากรัฐ โดยผู้พิจารณาก็คือคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกของจังหวัด ซึ่งมีที่มาจาก พ.ร.บ.เดียวกันนี้ในมาตรา 17 กำหนดให้คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ อัยการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นกรรมการ และผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 5 คน โดยมีนายกเทศมนตรีในจังหวัดนั้นรวมอยู่ด้วย หนึ่งคนเป็นกรรมการ ให้ขนส่งจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการควบคุมการ ขนส่งทางบกประจำจังหวัดแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น ทำให้การดำเนินกิจการของสหกรณ์นครลานนาเดินรถที่มีรถแดงเป็นหัวใจหลัก ปราศจากคู่แข่งมานานหลายสิบปี

ภาพ : สหกรณ์ลานนาเดินรถ เชียงใหม่

จนเมื่อมีบริษัทเอกชนเข้ามาเป็นคู่แข่งในการบริการ เช่น UberTaxi และGrab Car โดยเริ่มเข้ามาในปี 2558 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ถูกกฎหมาย จนเกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้ขับแท็กซี่จากสหกรณ์แท็กซี่เวียงพิงค์ ได้รวมตัวกันเข้ามายื่นหนังสือต่อขนส่งจังหวัด และมีการเชิญผู้สื่อข่าวมาทำข่าวด้วย หลังจากยื่นหนังสือ กลุ่มผู้ยื่นได้ทำการหลอกเรียกผู้ขับ Grab Car แสร้งว่าให้เข้ามารับผู้โดยสารในสำนักงานขนส่ง เมื่อผู้ขับ Grab Car มาถึง กลุ่มผู้ขับจากสหกรณ์แท็กซี่เวียงพิงค์ได้เข้าล้อมรถ และเรียกตัวผู้ขับลงจากรถ ให้เจ้าหน้าที่มาทำการเปรียบเทียบปรับ เมื่อปี 2560 อีกทั้งด้านสหกรณ์นครลานนาเดินรถได้ออกมาตรการตอบโต้ โดยการจัดทีมออกไล่ล่าผู้ขับ Uber และGrab ทีมดังกล่าวจะคอยสอดส่องและขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ หากพบตัวผู้กระทำผิดจะกักตัว และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มารับตัวไปเปรียบเทียบปรับ การกระทำดังกล่าวสร้างความระแวงต่อผู้ให้บริการหน้าใหม่ในช่วงเวลานั้น

ความไม่พอใจของแดงจนเกิดเป็นความขัดแย้ง

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการรถแดงกับขนส่งเอกชน เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มผู้ให้บริการรถแดงมองว่ากลุ่มผู้ให้บริการเอกชนแย่งลูกค้าและส่งผลกระทบด้านรายได้ต่อกลุ่มผู้ขับรถสี่ล้อแดง จนกลายเป็นการข่มขู่จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เกิดความขวัญผวาต่อตัวผู้ให้บริการ Grab Car และนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ เมื่อปี 2561 ซึ่งเดิมทีผู้ให้บริการรถแดงบางรายมีรายได้วันละมากกว่า 1,000 บาท ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัวและในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อมีขนส่งจากภาคเอกชนและรถโดยสารของทางเทศบาลนครเชียงใหม่เข้ามา ส่งผลให้มีผู้โดยสารรถแดงลดลง เนื่องจากผู้โดยสารมีตัวเลือกมากเพิ่มขึ้น 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประกอบกับบริษัทผู้ให้บริการ Grab Car พยายามผลักดันให้การบริการของตนเองถูกกฎหมาย จนเกิดกรณี “รถแดงเชียงใหม่ ขู่ระดม 2,465 คันประท้วงหาก Grab ถูกกฎหมาย” เมื่อปี 2562 กลุ่มรถแดงเชียงใหม่ออกมาเรียกร้อง ต่อต้านการสนับสนุนให้ Grab ถูกกฎหมาย ที่ไม่พอใจในนโยบายดังกล่าว ในขณะที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่สนับสนุนดัน Grab ให้ถูกกฎหมาย

แม้ปรับปรุงก็ยากจะกลับมานิยม

จากงานวิจัยในหัวข้อ แนวโน้มและทิศทางในอนาคตของการให้บริการรถสี่ล้อแดงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย รวีวรรณ แพทย์สมาน ปี 2563 พบว่าคนขับรถแดงส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนและปรับปรุงรถโดยสารให้มีสภาพที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากรายได้ที่มีข้อจำกัด ประกอบกับการทุจริตในวงการที่ทำให้คนขับรถแดงต้องเสียเงินให้กับสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราคาสูงถึงหลักแสนบาท การทุจริตของสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดอำนาจผูกขาดขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเชียงใหม่

แต่ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ความนิยมในการใช้บริการรถสี่ล้อแดงลดลงไม่ได้เกี่ยวกับสภาพรถไปเสียทั้งหมด แต่หากเป็นการให้บริการของคนขับรถแดงที่ส่งผลกระทบทางตรง ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าโดยสารที่ไม่แน่นอน เส้นทางให้บริการไม่ทั่วถึง พฤติกรรมการขับรถและการให้บริการที่ไม่ดี ในส่วนปัญหาที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่าเกิดจากความไม่เข้าใจของภาษาที่ชัดเจนจึงทำให้เกิดการตกลงราคาที่ไม่ชัดเจน

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความนิยมใช้บริการรถสี่ล้อแดงลดน้อยลง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการเดินทางและลักษณะของผู้ใช้บริการเปลี่ยนไป การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้เกิดตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีจองรถและเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีความสะดวกสบายและสามารถคำนวณเวลาจากระยะทางที่ต้องการจะไป อีกทั้งยังมีราคาที่แน่นอนและโปรโมชั่นที่ชวนดึงดูดผู้ใช้บริการ เทคโนโลยีได้แทรกซึมในวิถีชีวิตจนทำให้พฤติกรรมการใช้บริการการเดินทางเปลี่ยนไป

ด้านทัศนคติของผู้ใช้บริการพบว่า ทัศนคติทางบวกคือความสะดวกในการเรียกใช้บริการ รถแดงยังคงเรียกใช้บริการง่ายเพราะว่ามีปริมาณมากและเข้าถึงพื้นที่ง่าย แต่ส่วนทัศนคติทางลบคือคุณภาพการให้บริการ การปฏิเสธผู้โดยสาร ค่าโดยสารไม่มีมาตรฐาน การโก่งราคาค่าโดยสาร เส้นทางไม่ครอบคลุม ความล่าช้าในการเดินทาง และความปลอดภัยของรถแดง ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้บริการรถแดงมีจำนวนลดลง

ด้านสุดท้ายเป็นปัจจัยกายภาพของเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากผังเมืองเชียงใหม่นั้นมีความแตกต่างของการให้ประโยชน์จากที่ดิน ข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งบางบริเวณมีสภาพการเข้าถึงพื้นที่ยังยากลำบาก ความหนาแน่นของประชากรและบ้านเรือน สภาพปัญหารถติดซึ่งเกิดจากรถแดงที่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารอย่างไม่เป็นระเบียบหรือจอดรอผู้โดยสารริมถนนเป็นเวลานาน ทำให้กีดขวางการจราจร รวมถึงลักษณะของถนน โบราณสถาน ภูมิประเทศ สถานที่ราชการ สถานศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลออกไป อีกทั้งการขยายตัวของเมืองแบบไร้ทิศทางโดยขาดการวางแผน ส่งผลให้การใช้บริการรถแดงไม่ตอบโจทย์สำหรับชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการให้บริการรถแดงมีจำนวนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับในปี 2564 เกิดโรคระบาด Covid-19 ยิ่งทำให้ทิศทางการให้บริการรถแดงมีจำนวนลดลง โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่าในปี 2561 มีจำนวนรถแดง 2,465 คัน และสถิติล่าสุดในปี 2567 เหลือรถแดงให้บริการ 2,100 คัน  เห็นได้จากบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบเหงาของคิวรถแดงในบริเวณสถานีขนส่งเชียงใหม่

ล่าสุด 14 พฤษภาคม 2567 นายณัฐวุฒิ โชคทวีพูน ประธานกรรมการสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด เป็นประธานประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น พร้อมจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU รถสาธารณะ ผู้ประกอบการ และรถรับจ้าง จ.เชียงใหม่ ณ สหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด โดยมีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว รวม 9 ข้อ ประกอบด้วย 

1. รถผ่านแอพพลิเคชั่นต้องเป็นรถที่จดทะเบียน จ.เชียงใหม่ เท่านั้น 

2. รถที่นำมาวิ่งต้องจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก (ป้ายเหลือง) 

3. ใบอนุญาตขับขี่ต้องเป็นรถสาธารณะ 

4. ประกัน พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ ไม่น้อยกว่าประเภทที่ 3 

5. กำหนดอายุรถที่นำมาจดทะเบียน ไม่เกิน 2 ปี ไมล์ไม่เกิน 50,000 กิโลเมตร 

6. กำหนด CC เครื่องยนต์ให้ชัดเจน 

7. ติดสติ๊กเกอร์บริษัทแอพพลิเคชั่นให้ชัดเจน 

8. กำหนดสีให้ชัดเจน 

9. กำหนดจำนวนรถ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการให้บริการ

ในที่ประชุมยังมีการเสนอให้ล่ารายชื่อ พร้อมจ้างทนายฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอความคุ้มครองรถสาธารณะและรถรับจ้างที่ปฏิบัติตามกฎหมายชั่วคราว และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรา 157 เนื่องจากรถผ่านแอพพลิเคชั่น ส่วนใหญ่ผิดกฎหมายกว่า 80% ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขอาจเปลี่ยนรถแดงเป็นรถส้มแทน

ด้านประชาชนได้เข้ามาแสดงข้อเสนอภายในข่าวดังกล่าวว่า 1.ปรับเปลี่ยนสภาพรถให้มีการติดแอร์ 2.พัฒนาให้เรียกรถแดงผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ 3.ต้องทำให้เป็นรถประจำทางและตั้งราคาที่ชัดเจน 4.ควรทำให้รถปล่อยมลพิษน้อยลง

ท้ายที่สุด จากปัญหาที่สะสมของรถแดงจนทำให้ภาพลักษณ์ของรถแดงเชียงใหม่เสียหาย สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ที่ไม่เป็นระเบียบและไม่มีการพัฒนาทางการบริการ จนเกิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดตัวเลือกการให้บริการที่ดีกว่ารถแดงแบบเดิม พฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไปเป็นไปได้ยากที่ความนิยมของรถแดงจะกลับมา หรือเราต้องกลับมาตั้งคำถามถึงขนส่งสาธารณะที่เป็นของเราทุกคนจริง ๆ เสียที 

อ้างอิง

  • MATICHON ONLINE, (2567), 8 รถรับจ้างเชียงใหม่ รับคนใช้น้อย ‘ทำตัวเอง’ เสนอรบ.ให้เรียกผ่านแอพพ์ได้ ถ้าไม่แก้จ่อเปลี่ยนเป็น ‘รถส้ม’, จาก https://www.matichon.co.th/region/news_4575102
  • TCIJ, (2561), ภาพรวมขนส่งสาธารณะตัวเมืองเชียงใหม่ รถแดงสูงสุด 2,465 คัน รถบัสน้อยสุด 35 คัน, จาก https://www.tcijthai.com/news/2018/18/current/8323
  • ไทยรัฐ ออนไลน์, (2567), วิจารณ์สนั่น ดราม่า “รถแดงเชียงใหม่” ใกล้ปิดตำนาน คนขับยอมรับ ปรับตัวลำบาก, จาก https://www.thairath.co.th/news/society/2785257
  • TCIJ, (2560), รถแดง-แท็กซี่-อูเบอร์-แกร็บ มหากาพย์ศึกขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ ใครไป-ใครอยู่?, จาก https://www.tcijthai.com/news/2017/15/scoop/6833
  • ประชาชาติธุรกิจ, (2561), ตุ๊กตุ๊ก-รถแดง ขู่แกร็บทำลายขวัญนทท.เชียงใหม่ ถูกดำเนินคดีถ้วนหน้า ออกมาตรการล้อมคอก, จาก https://www.prachachat.net/general/news-229130
  • อนุภาค เสาร์เสาวภาคย์ และคณะ, (2554), ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์การใช้บริการรถสาธารณะ (สี่ล้อแดง) กรณีศึกษา : กลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดเชียงใหม่, วารสารวิทยาการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียนงใหม่
  • รวีวรรณ แพทย์สมาน, (2563), แนวโน้มและทิศทางในอนาคตของการให้บริการรถสี่ล้อแดงในเขตอ าเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง