เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น
ภาพ : ลำลอง – lamlong
เพิ่งผ่านพ้นไปหนึ่งสัปดาห์เต็ม ๆ กับ “เปิดม่านศรีชุม” ที่จัดไปแล้วเมื่อ 14 – 15 กันยายน 2567 ซึ่งกิจกรรมนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของ “เปิดม่านเมืองลำปาง” โดยความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเทศบาลนครลำปาง กลุ่มลำลอง และชุมชนวัดศรีชุม เพื่อชักชวนผู้คนมาร่วมกันเรียนรู้เกี่ยวกับ “ม่าน” อัตลักษณ์ที่สำคัญในจังหวัดลำปาง และทำให้เห็นว่าทุกคน ก็สามารถมีส่วนร่วมในงานสร้างสรรค์ได้ ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม
‘ม่าน’ หรือ “มล่าน” ในภาษาล้านนา หมายถึง พม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในปัจจุบัน ซึ่งพม่ามีความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะจังหวัดลำปางซึ่งเป็นที่ตั้งรกรากของชาวพม่าที่เข้ามาเป็นแรงงาน รวมถึงทำการค้าไม้ในสมัยที่ลำปางเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ที่รุ่งเรือง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปรากฎให้เห็นต่อมาได้อย่างชัดเจน ผ่านสถาปัตยกรรมวัดพม่าและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบัน
ส่วน “วัดศรีชุม” เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนทิพย์วรรณ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย ด้วยความเชื่อของคนพม่า เมื่อมีฐานะขึ้นมาจะต้องทำบุญด้วยการสร้างวัด จึงเป็นที่มาของการสร้างวัดศรีชุมแห่งนี้ขึ้น วัดศรีชุมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2524 และในปี พ.ศ. 2567 นี้ ลำลอง ได้พาทุกคนกลับไปสำรวจวัดศรีชุมอย่างละเอียดอีกครั้ง และร่วมจัดแสง-สีที่จะส่องสว่างให้เห็นถึงความสวยงามของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ผสมกลมกลืนระหว่างล้านนาและพม่าเข้าด้วยกัน แน่นอนว่านี่เป็นการโคจรมาเจอกันของความเก่ากับความใหม่ที่ลงตัว แต่ก็มีรายละเอียดที่แฝงอยู่ในนั้นมากกว่าแค่กิจกรรม แต่มันคือจังหวะที่ค่อย ๆ เติมเต็มเพื่อเชื่อมโยงผู้คนมาเปลี่ยนลำปางไปด้วยกัน
Lanner JOY เลยถือโอกาสนัดคุยกันเบา ๆ กับสมาชิกของลำลองทั้ง 3 คน คือ ก้าว-สรวิชญ์ หงษ์พาเวียน กิ๊ฟ-ญาณินท์ จอมวงศ์ และ ฟาง-พุทธรักษ์ สุทธดุก กลุ่มคนรุ่นใหม่ในลำปาง ซึ่งเป็นเบื้องหลังสำคัญในงานเปิดม่านเมืองลำปาง อีกทั้งยังเป็นคลื่นลูกใหม่ในการสร้างสรรค์กิจกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัยในลำปาง
ก่อนที่จะมาเป็นลำลอง ที่ผ่านมาแต่ละคนทำอะไรกันมาบ้าง
กิ๊ฟ : ก่อนหน้านี้เป็นกราฟิกดีไซน์อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอโควิดระบาดทำให้เราจำเป็นต้องกลับบ้านที่ลำปาง ก่อนหน้านี้ยังไม่มีความคิดว่าจะกลับมาอยู่ลำปางเลย ด้วยความที่ว่าเราทำงานด้านกราฟิกออกแบบ เราไม่เห็นว่าบ้านตัวเองจะมีงานอะไรที่เราทำได้ ไม่มีงานรองรับกับทักษะของเรา
ฟาง : ฟางก็คล้ายกับกิ๊ฟนะ แต่ฟางทำงานที่เชียงใหม่มา แต่ช่วงโควิดก็ต้องกลับมาดูแลครอบครัวที่ลำปาง พอกลับมาก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรให้เราทำ เคว้งอยู่สักพัก เพราะลำปางเป็นเมืองเล็ก ๆ เงียบ ๆ และรู้สักว่ายังไม่มีพื้นที่สำหรับเรา
ก้าว : ตอนแรกที่กลับมาบ้านที่ลำปางไม่ได้ตั้งใจมาทำสื่อ แต่พออยู่ไปอยู่มากลายเป็นว่าเราเข้าไปอยู่ในชุมชนและได้ทำงานช่วยเหลือพัฒนาชุมชน จนได้มีโปรเจกต์ของ ThaiPBS ที่ให้ทำคลิปวิดีโอในชุมชนสั้น ๆ หลังจากงานนั้นทำให้ได้เริ่มทำงานสื่อทั่วลำปาง และได้ขยายเครือข่ายมากขึ้น เลยได้อยู่ลำปางยาว ๆ
แล้วมารวมกันเป็น ‘ลำลอง’ ได้ไง
กิ๊ฟ : พวกเราเริ่มต้นมาจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อน เรียนอยู่ลําปางกัลยาณีเหมือนกัน และยังได้ทำคณะกรรมการนักเรียนร่วมกัน เรื่องสมัยเด็กมาก (ฮา) พอได้กลับมาลำปางอีกครั้งและเห็นว่าเพื่อนเราก็กลับมานี่หว่า ทำให้ได้มาคุยกันว่ามาหาอะไรทำกันเหอะ มันเลยเข้ากันได้ง่ายเพราะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ซึ่งเรารวมตัวกันเพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คืออยากจะทำอะไรใหม่ ๆ แบบว่าอยากทำให้ลำปางมันส่งเสียงได้ดังขึ้นก็ที่เป็น จากเดิมที่เป็นเมืองเงียบ ๆ ซึ่งตอนแรกเราวางลำลองไว้แค่ว่าเป็นสื่อนำทางให้ว่ามีกิจกรรมอะไร ตรงไหนในลำปางบ้าง แต่พอได้ทำงานที่เป็นโปรเจกต์ ‘Spark U ล้านนา’ ที่เป็นการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ทำงานสื่อและจัดอีเว้นท์ในลำปางค่ะ
แล้ว ‘ลำปาง’ มันเป็นยังไงสำหรับลำลอง?
กิ๊ฟ : สำหรับเราที่เคยไปทำงานในเมืองใหญ่ เวลาที่ได้กลับมาลำปางก็เหมือนการได้พักผ่อน แต่เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสำหรับคนที่อยู่ที่นี่อยู่แล้ว มันดูเป็นการพักผ่อนเกินไปหรือเปล่า ทุกอย่างดูดำเนินไปอย่างช้า ๆ พอเราเริ่มอยู่นานขึ้นเราก็เกิดคำถามว่า แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง
ฟาง : ใช่ ๆ พอเราได้กลับมาพักพอถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็ต้องหาอะไรทำต่อ เราไม่สามารถช้าไปกับเมืองได้ตลอด เราเลยต้องหาอะไรทำที่มันตอบโจทย์เราก่อน
กิ๊ฟ : ลำปางแทบไม่มีอะไรให้เราทำ เป็นเมืองเงียบ ๆ และรู้สักว่ายังไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเรา ตอนแรกที่เรามาเจอกับก้าวเรารู้สึกว่าเราไม่รู้ข่าวสารอะไรในบ้านเราเลย มีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน มีคนกลุ่มไหนอยู่ในลำปางบ้าง
เล่าให้ฟังหน่อยสิ ว่าช่วงแรก ๆ เป็นยังไงบ้าง
กิ๊ฟ : ช่วงแรกที่เราเริ่มทำ พบว่าเขาจะรู้กันเองว่ามีการจัดกิจกรรมที่ไหนบ้าง แต่ที่เราสังเกตได้คือส่วนใหญ่จะเป็นงานของผู้ใหญ่ เช่น หน่วยงานของรัฐ กลุ่มข้าราชการ หรือหากจะเป็นงานเฉพาะกลุ่มก็จะมีแต่เพียงสมาชิกเท่านั้น ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปเข้าร่วม พอเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนร่วมของกิจกรรมนั้น ๆ
บางงานผู้ใหญ่เขาก็มองว่าเขามีคนของเขามาเข้าร่วมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเด็ก ๆ หรือใคร ๆ มาร่วมงานก็ได้ หรือบางทีอาจมีความคิดที่ว่าเด็กอาจจะไม่ชอบกิจกรรมของผู้ใหญ่ งานผู้ใหญ่มันน่าเบื่อ มันเลยทำให้คนสองช่วงวัยห่างกันมากขึ้นและเมืองก็เงียบกว่าเดิม
ก้าว : พอเราทำงานกับเพื่อน ๆ เราก็อยากจัดกิจกรรมที่รู้สึกสนุกไปกับมัน แต่บางทีการมีส่วนร่วมในคน Generation ของเรามันไม่ค่อยมีที่ทาง ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวยังไงในกิจกรรมที่จัดขึ้น เราก็เลยออกแบบกิจกรรมที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และสามารถให้คนทุกช่วงวัยมามีส่วนร่วมด้วยกันได้ อย่างปีแรกที่ก้าวกลับมาช่วงประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหรี ในชุมชนท่ามะโอ (อำเภอเมืองลำปาง) พบว่าปีนั้นคนเยอะมาก พอปีถัดมาคนเริ่มลดลง ที่ลดลงเป็นเพราะผู้สูงอายุเริ่มเสียชีวิต เด็ก ๆ ก็เริ่มไม่มากัน ยิ่งปีที่มีโควิดก็ต้องงดจัด พอช่วงหลังโควิดก็ไม่มีคนมาร่วมเยอะ เราเลยต้องดึงคนในทุกช่วงวัยให้สามารถร่วมกิจกรรมของเราได้ ซึ่งเรารู้สึกว่าเราโหยหาการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแหละ แต่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นอื่นไม่ตกใจกับการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป และการที่ได้มาทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน บางทีดื้อกับผู้ใหญ่บ้างก็ได้นะ แต่การที่เราดื้อเราก็มีเป้าหมายคืออยากให้บ้านของเราน่าอยู่เหมือนกัน
ช่วงที่ผ่านมาเห็นบทความ ทำไมคน (ลำปาง) ไม่กลับบ้าน? ในเพจของลำลองเอง เลยอยากรู้ว่าในมุมของลำลองตอนนี้คิดว่าลำปางจะดีขึ้นหรือมีทางเลือกได้มากกว่านี้ไหม
ก้าว : ลำปางมันไม่ได้เป็นเมืองที่พร้อมให้เราเติบโต ถ้าเราไม่มีดินที่ดี บ้านที่อบอุ่น หรือมีสังคมที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งต้องใช้ทุนค่อนข้างมากหากเทียบกับเมืองใหญ่ อย่างเช่นถ้าก้าวจะมารับจ้างล้างจานร้านก๋วยเตี๋ยวในลำปาง ก้าวจะต้องเจอกับค่าแรงที่ต่ำ และยังต้องเจอกับค่าใช้จ่ายแอบแฝงในเรื่องการเดินทางและอีกมาก หมายความว่าหากเด็กรุ่นใหม่จะกลับมาอยู่ลำปาง เมืองมันไม่ได้เอื้อให้คนรุ่นใหม่กลับมาตั้งต้นได้เลย ยกเว้นแต่จะกลับรับข้าราชการ แต่ถ้าเรามองการขับเคลื่อนเมืองในอนาคต เมืองที่มีแต่ข้าราชการมันคงไม่ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมหรือการบริการ ทำให้ในมุมก้าวมองว่าลำปางยังเป็นเมืองที่ไร้ทิศทางอยู่
กิ๊ฟ : เราว่ามันไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามันจะดีขึ้นได้มากกว่านี้มั้ย และเรายังรู้สึกว่าการพัฒนาหลาย ๆ อย่างยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้ อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการให้ลำปาง สามารถรองรับให้คนกลับบ้านมาทำงานได้ ในส่วนคนที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างภาครัฐ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้ว่าจะต้องเปลี่ยนอย่างไรบ้าง ซึ่งหากยังไม่เข้าใจเมืองมันก็จะเดินไปช้า ๆ แบบนี้ แต่การทำลำลองนั้นก็เหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่สนใจและอยากจะทำให้เมืองมันเปลี่ยนไปนะ มันต้องไม่เหมือนเดิมแบบที่เป็น ถือว่าตอนนี้เริ่มมีความหวังมากขึ้น ไม่มากก็น้อย
แล้วสิ่งที่ทำแล้วประทับใจ มีอะไรบ้าง
ก้าว : ก่อนเริ่มทำลำลองเราได้ตั้งสมมติฐานว่า พื้นที่ในลำปางยังขาดสื่อ หรือพื้นที่สื่อสารแบบไหนบ้าง เราเลยจัด เปิดบ้านแป๋งเมืองลำปาง ในการดึงคนให้เข้ามามีส่วนร่วม และถามความเห็นว่าอยากมีพื้นที่สื่อแบบไหน จนเกิดมาเป็นคอนเซ็ปของ ‘ลำลอง’ ที่มีความหมายว่า ลำปาง+ลองทำดู ซึ่งในช่วงปีแรกเราก็ได้ทำเรื่องวาระชาติพันธุ์ ที่เป็นการให้พี่น้องชาติพันธุ์ในลำปางได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่ออกมา ต่อมาเรื่องดนตรีมาจากการที่ช่วงโควิดทำให้การแสดงดนตรีหายไป ก็เลยเกิดเป็นงาน ‘แสงเหนือ’ ที่เปิดให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ลำปางออกมาแสดงสดในพื้นที่สาธารณะ จนมาสู่งาน ‘ลำลองเฟส’ ที่เป็นการนำสิ่งที่เราคิดว่าควรมีเอาเข้าไปอยู่ในงาน โดยมีทั้งดนตรี Cover Dance ตลาดนัด การทำ Workshop ซึ่งงานนี้ได้บทเรียนที่ว่าพอเราเอาทุกอย่างมารวมกันมันทำให้สิ่งที่มีในงานไม่โดดเด่นสักอย่าง และยังดูซ้ำกับงานแสงเหนืออีกด้วย
พอเข้าสู่ปีที่สองของลำลอง เรามองว่ากิจกรรมของเราควรจะมีคนแถวสอง นั่นก็คือเด็ก ๆ เยาวชน จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘ลองยัง’ ที่เป็นการให้น้อง ๆ เยาวชนได้ลองคิดว่าอยากจะทำกิจกรรมอะไรในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็จะออกมาในรูปแบบงานเขียน ภาพและวิดีโอ ต่อมาทางเซ็นทรัลได้เห็นงานแสงเหนือแล้วเกิดสนใจ จึงได้ซื้อคอนเซ็ปแล้วนำไปจัดในพื้นที่ของเซ็นทรัล และล่าสุดงาน ‘เปิดม่านศรีชุม’ เป็นการเปิดให้คนทั่วไปได้รู้ว่าศิลปะวัฒนธรรมพม่าในลำปางสามารถต่อยอดอย่างไรได้บ้าง มีทั้งกิจกรรมเดินเมือง ทำ Workshop โคม และการจัดแสดงไฟที่วัดศรีชุม
ระหว่างการเดินทางของลำลองก็มีทั้งเพื่อนหายมิตรใหม่เพิ่มวนกันไป แต่จากวันแรกจนถึงวันนี้ก็รู้สึกได้ว่าคนข้างนอกมองมาที่ตัวเราก็สามารถรู้ได้เลยว่าเราเป็นใคร ทำอะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร อีกทั้งบางงานเราวางแผนไว้เล็ก ๆ แต่รูปแบบมันมักจะโตขึ้นเองตลอด ซึ่งโตในที่นี้ยังหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้
กิ๊ฟ : เรื่องผิดพลาดมันมีตลอดแหละ ตั้งแต่การจัดงานครั้งที่แรกจนถึงงานล่าสุด ซึ่งเรายังถือว่ามือใหม่กันมาก ๆ ได้เจอผู้คนใหม่ ๆ ทั้งเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร อีกทั้งยังต้องร่วมงานกับอีกหลายภาคส่วน ซึ่งพอได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนเราก็ต่างเจออุปสรรค แต่สิ่งที่ได้ระหว่างทางคือเราได้สร้างเครือข่ายไว้ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน
สิ่งที่เราทำมันอาจจะดูใหม่มาก ๆ ในลำปาง แต่มันไม่ได้ใหม่สำหรับกรุงเทพฯ หรือในเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นได้ตลอด ด้วยความที่ลำปางมีผู้สูงอายุเยอะเขาก็จะไม่ค่อยชินกับอะไรแบบนี้ เลยทำให้หาคนเข้าใจค่อนข้างยาก คือมันก็มีคนที่อยากช่วยเราแต่เขาก็ไม่เข้าใจสิ่งที่เราจะทำขนาดนั้น หรือบางคนก็ไม่เข้าใจอะไรเราเลยก็มีเหมือนกัน
ฟาง : ตอนนี้ก็มีผู้ติดตามที่ติดตามเราตั้งแต่เริ่มแรก มางานล่าสุดแล้วก็ยังถามหางานต่อ ๆ ไปอีกก็มี และยังมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่เขาเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นมิตรภาพที่ดี
แล้วงานล่าสุด “เปิดม่านเมืองลำปาง” เป็นยังไงบ้าง
กิ๊ฟ : มันเริ่มมาจาก CEA ที่อยากเปิดพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเมืองรอง เขาก็ได้ติดต่อเรามาและเสนอไอเดียมาในการจัดงานที่แปลกใหม่ เราเลยเสนอประเด็นวัฒนธรรมพม่าในจังหวัดลำปาง เพราะในลำปางมีวัดพม่าเยอะที่สุดในประเทศไทย เลยวางแผนกันว่าจะจัดงานทั้งหมด 3 ครั้ง และวันสุดท้ายเป็นการแสดงแสงไฟที่วัดศรีชุม ซึ่งวันแรกก็จะเป็นการเดินเมือง เป้าหมายในตอนแรกจะให้คนภายนอกเข้ามาร่วมด้วย เป็นการพาทัวร์วัดพม่าทั้ง 5 วัด และเราก็เป็นคนวางโปรแกรมทั้งหมดในการนำเสนอวัด สิ่งที่มีให้กับผู้เข้าร่วมก็จะเป็นกระเป๋า ใบความรู้ และขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ การทำงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำร่วมกับวัด แต่เรายังต้องทำร่วมกับชุมชนอีกด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกของเรา ต่อมาจะเป็นงานแสงโคมม่าน ซึ่งเป็นโคมล้านนาของพม่า โดยได้เครือข่ายจาก “ป่าน” (วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์) มาเป็นวิทยากรและมีความรู้เรื่องการทำโคมล้านนา และยังมีสตูดิโอ GHOM LANNA อยู่ที่ชุมชนท่ามะโอ ซึ่งป่านก็ได้คิดรูปแบบที่จะนำเสนอโคมม่านให้มีความน่าสนใจและได้ออกแบบนิทรรศการโคมที่ทำให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยจัดเป็น Workshop โคมม่านแปดเหลี่ยม ให้คนที่เข้าร่วมได้ลองทำและมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ในงานยังมีอาหารว่างพม่าให้ได้ร่วมรับประทานกัน
ในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์คนก็เริ่มเยอะขึ้น โดยที่เราไม่ได้เริ่มโปรโมทอะไรมาก เพราะมีคนที่ตั้งใจมางานของเราจริง ๆ ทำให้เห็นได้ว่ามีคนสนใจเข้าร่วมสิ่งนี้ และวันสุดท้ายเป็นงานแสงไฟวัดศรีชุม เป็นการจัดอีเว้นท์ควบคู่กับการแสดงแสงไฟไปด้วย
ก้าว : เดิมที่ชุมชนศรีชุม จะมีผู้นำชุมชนเป็นผู้จัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากลำลอง ในด้านของพิธีการ หรือความเป๊ะ ทำให้บางทีคนในชุมชนก็จะตกใจเมื่อมาเข้าร่วมงานของเรา แต่พอจะมีผู้ใหญ่มาเปิดงานก็ทำให้เราต้องดึงพิธีการบางอย่างกลับมาเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้
คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่หรือคนลำปาง ควรที่จะได้ซึมซับ เข้าใจ และถ่ายทอดมันต่อไป ด้วยตัวคนลำปางก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นว่าคนภายนอกมาซึมซับเสียก่อนและคนพื้นที่จะไม่เข้าใจมัน
ว้าวมาก แล้วจากผลตอบรับที่เกิดขึ้น ลำลองจะต่อยอดไปยังไงต่อ
ก้าว : จริง ๆ มันอยู่ในเนื้องานของเราอยู่แล้วว่าเราอยากจะสื่อสารอะไร ซึ่งลำลองเป็นทีมที่มีไอเดียและมี visual ชัด อันนี้จะเป็นข้อดีของทีม แต่เบื้องหลังกว่าจะชัดก็เถียงกันเยอะอยู่ กว่าจะได้ภาพที่มีเหมือนกัน อีกทั้งการจัดงานของเราแต่ละครั้งมันต้องให้เห็นว่าสามารถเปลี่ยนได้
กิ๊ฟ : เราว่าการสื่อสารมันค่อนข้างสำคัญในระดับหนึ่ง การที่เราจะสื่อสารได้ดี เราต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองอยากพูดอะไร จากนั้นถึงค่อยเข้าใจว่าเราอยากให้ผลจากการสื่อสารนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าคนในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร อยากสื่อสารอะไร และในภาพที่เขามองเราเขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนกลุ่มนี้มันทำไปทำไม มันจึงเป็นเรื่องของการเข้าใจและเรากำลังทำเป็นตัวอย่างให้เขาเข้าใจ ให้คนในสังคมแห่งนี้เห็นว่าสิ่งนี้มันทำได้ สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นได้นะ อย่างน้อยอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มันจะค่อย ๆ เป็นไปทีละนิด ๆ ลำปางมันก็จะสนุกได้ สร้างสรรค์อะไรได้อีกเยอะ
แล้วคิดว่าลำปางจะดีกว่านี้ได้อีกไหม ถ้าดีมันจะได้แบบไหน?
ก้าว : สำหรับก้าว คิดว่าถ้าจะเปลี่ยนเลยคือ 1. ต้องถ่ายเลือด คือให้คนใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในเมือง นำวิธคิดใหม่ ๆ เข้ามา 2. ในเรื่องตึกเก่าในเมืองลำปางที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งก็ได้มีการคิดอยู่เหมือนกันว่าจะเอามาทำอะไรดี มันน่าต่อยอดมาก
กิ๊ฟ : อย่างเช่นร้านใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นหลังช่วงโควิด และยังเป็นคนรุ่นเดียวกับเรา เขาไม่ได้มาเพื่อเปิดร้านและขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เขายังนำไอเดียใหม่ ๆ อย่างการนำตึกเก่ามาทำร้านใหม่ หรือเปลี่ยนอะไรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้ใหม่กว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นลำปางไป เมื่อวาน (15 กันยายน 2567) ได้คุยกับ CEA และก็ได้ถามคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันจะดีขึ้นได้ แต่ก็จะดีขึ้นในแบบลำปาง ซึ่งบางคนยังมองว่าคำว่าดีขึ้นหรือจะเจริญขึ้นจะหมายถึงแบบเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่อย่างเดียว มันสามารถดีขึ้นได้ในแบบที่เป็นลำปางเอง”
ก้าว : ถ้ามันจะดีได้จริง ๆ ต่อให้มีการกระจายอำนาจมาที่ท้องถิ่น แต่ว่าวิธีคิดอยู่ในแบบเดิม มันจะไม่มีประโยชน์เลย ฉะนั้นมันจะดีไปแบบไหนมันก็จะได้เท่านั้นแหละ มันก็จะไม่มีอะไรแปลกใหม่ สิ่งที่อยากจะให้เปลี่ยนอยากจะให้คนลำปางแข็งแรงก่อน และเข้าใจว่าท้องถิ่นมีอำนาจหรือหน้าที่จัดการส่วนไหนได้บ้าง สิ่งไหนทำไม่ได้บ้าง คนลำปางยังต้องมีวิธีคิดเอง มีเครือข่าย ภาคประชาสังคมควรจะแข็งแรงก่อน เพื่อที่จะต่อรองความคิดของทางท้องถิ่น ลำปางจะต้องมีอำนาจที่สมดุลทั้งสองฝ่าย
ลำลองคาดหวังอยากจะทำต่อ จะมีอะไรให้ตื่นเต้นอีกไหม
กิ๊ฟ : อยากหาเครือข่าย คนที่มีไอเดียตรงกัน หรือเข้าใจว่าเราทำอะไรกัน ไม่ว่าในเชิง Workshop หรือกิจกรรมต่าง ๆ และอยากให้คนในพื้นที่มีไอเดียมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับเมืองของเรามากขึ้น
ก้าว : เราต้องหาผู้สนับสนุนที่เข้าใจเรา และยังอยากได้พื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่กลางรวม สำหรับแชร์การสื่อสารหรืออยากจะทดลองคอนเซ็ปเดียวกับเราในพื้นที่
กิ๊ฟ : เรารู้สึกว่าตอนนี้เริ่มมีกลุ่มคนเหมือนเรากระจายอยู่ทั่วประเทศ กลุ่มคนที่อยากจะพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง โดยไม่ได้กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เพียงอย่างเดียว เหมือนคนเห็นโอกาสในการเติบโต เริ่มเห็นอนาคตกันมากขึ้น อยากกลับไปอยู่บ้านกันมากขึ้น ประกอบกับการมีอินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ อันนี้มันเป็นต้นทุนที่ดีเลยนะ
ถ้าบอกอะไรกับคนที่ไม่เคยรู้จักลำปางเลย ลำลองอยากจะบอกอะไรเขา
ฟาง : สำหรับฟางแล้วในลำปางมันยังมีอะไรเก่า ๆ ที่มีความหน้าสนใจ แต่ยังไม่ถูกเล่าออกมา เลยอยากชวนทุกคนมาซึมซับความเป็นลำปางในแบบของพวกเรา
กิ๊ฟ : ท้ายที่สุดแล้ว ลำปางถือว่าเป็นเมืองค่อนข้างใหม่สำหรับสายจัดกิจกรรม สำหรับคนภายนอกเราก็ยินดีที่คุณจะหันมาสนใจเมืองลำปางแห่งนี้ แม้ว่ามันจะเป็นเมืองทางผ่านแต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะ แต่ถ้าพูดถึงจะให้คนลำปางกลับมาพัฒนาบ้านกันเถอะ มันก็อาจจะไม่ได้สวยงามเช่นนั้น ซึ่งสิ่งนี้มันขึ้นกับโอกาสและจังหวะของแต่ละคนด้วย แต่เราคิดว่ามันยังมีความหวังสำหรับคนในจังหวัด แต่เราอาจจะต้องหามันให้เจอ
นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น