คุยกับ ‘สุวิชานนท์ รัตนภิมล’ กับ 31 ปี บทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ ถอดรหัสความห่วงใยเตือนภัยธรรมชาติที่เริ่มรุนแรง

เรื่อง: องอาจ เดชา

พี่นนท์-สุวิชานนท์ รัตนภิมล เป็นทั้งนักเขียน กวี และคนเขียนเพลง มายาวนานหลายสิบปี ทำงานและคลุกคลีอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน โดยเฉพาะพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือมายาวนาน เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘เสียงภูเขา’ ผู้เปิดโลกชนเผ่าบนดอยและดนตรีชีวิตคนปกาเกอะญอ ให้คนทั่วไปได้ซึมซับประทับใจ และเขายังเป็นเจ้าของบทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ ที่ได้รับการขับขานต่อเนื่องในหมู่นักกิจกรรมรั้วมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ มีอายุได้ 31 ปีแล้ว แต่เมื่อเราได้หยิบมาฟังกันอีกครั้ง ในห้วงเวลาที่โลกกำลังวิกฤต ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเริ่มรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ทำให้รู้สึกได้ว่า เพลงบทนี้ เหมือนได้ซ่อนถอดรหัสความห่วงใยเตือนภัยธรรมชาติมานานแล้วว่า ถ้าเราไม่ร่วมมือกันรักษา หายนะจะเกิดขึ้นให้เห็นในรุ่นลูกหลานอย่างแน่นอน

สานใจคนรักป่า – ลีซะและสุวิชานนท์

อยากทราบที่มาของบทเพลง ‘สานใจคนรักป่า’ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ผมเขียนเพลง สานใจคนรักป่า ในช่วงปี 2536 โดยเขียนเนื้อก่อน  จำได้ว่าใช้เวลาช่วงประชุมงานคอนเสิร์ตสานใจคนรักป่า ผมนั่งเขียนเพลงจนจบมี 4 ตอน  ตั้งใจเขียนให้คอนเสิร์ตสานใจคนรักป่า ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีนั้น (2536)  เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักสำนึกหวงแหนต่อดินน้ำป่า ทั้งบนภูเขาและพื้นราบ ผมนึกถึงต้นไม้ใบไม้ใกล้ ๆ ตัว เห็นคุณค่าความสำคัญ  เชื่อมโยงถึงเรื่องใหญ่อื่น ๆ ตอนนั้นเรื่องการตัดป่าสนวัดจันทร์กำลังมาแรง  การต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น  เขื่อนแม่เงา เขื่อนแม่ลาน้อย เขื่อนสาละวิน  ทุกโครงการแรงฤทธิ์ทั้งนั้น  ผมประมวลภาพเหล่านั้น  เอามาซ่อนไว้ในเพลง  ถ้าไม่ช่วยกันวันนี้ หายนะจะตามมาแน่ ๆ ในวันข้างหน้า ก่อนจะสายเกินไป 

จำได้ว่า ผมกลับมาถึงห้องพัก หยิบกีตาร์มาใส่ทำนองทันที  เหมือนทำนองรอท่าอยู่แล้ว  รอเนื้อมายัดใส่ลงไปเท่านั้น เข้ากันได้ดีอย่างแทบไม่ต้องแก้ไข ผมนับคำนับเสียงให้ครบคำครบเสียง พอมาใส่ทำนอง จึงกลืนไปอย่างเร็วมาก แล้วผมก็เอาไปเล่นให้พี่ ให้เพื่อนฟัง  ตอนนั้น ผมยังทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือ เสียงภูเขา  พี่ ๆ เพื่อน ๆ ได้ฟังก็ชอบ  บอกเอาเป็นเพลงของคอนเสิร์ตสานใจคนรักป่าเลย  ผมบันทึกเสียงอยู่ร่วมอัลบั้ม ‘บันทึกคนต้นน้ำ’ กับลีซะ ชูชื่นจิตสกุล ศิลปินปกากะญอ ได้เพื่อนจากเมืองหลวงในใส่โซโล  เพื่อน ๆ ช่วยกันร้อง เอี้ยว (ชัยพร นำประทีป)  กุ้ง (วารุตม์ อุยสุย)  ลีซะ (ลีซะ ชูชื่นจิตสกุล) และผม ใช้ห้องบันทึกเสียง ซีซีไอสตูดิโอ มหาวิทยาลัยพายัพ  เปิดเพลงฟังในงานคอนเสิร์ตครั้งนั้น  มีพลังใจคืนกลับมาเหลือเกิน เพลงเปิดเล่นซ้ำ ๆ ในงานและบนเวที  คอนเสิร์ตสานใจคนรักป่า ดำเนินต่อเนื่องมาอีกครั้งสองครั้ง ในปีต่อ ๆ มา

รู้สึกอย่างไรที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่กำลังรุนแรงในครั้งนี้?  

ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงตอนนี้  ทั้งบ้านเราและทั่วโลก  ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ เป็นผลพวงสั่งสมกันมานาน  เราคิดว่าเรื่องที่เราเคยยกมาให้คิด ยกมาให้ห่วงนั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว  กระทบถึงตัวจริง ๆ  น้ำป่าไหลรุนแรง เกิดโคลนดิน  ดินถล่ม หน้าแล้งก็ฝุ่นควัน เกิดขึ้นกับเราเรียบร้อยแล้ว เราอยู่ตรงปลายเหตุแล้ว  สายเกินแก้หรือเปล่า ไม่รู้  เรายังใช้ชีวิตกระทำกับผืนดิน แม่น้ำลำธาร ป่า อากาศเหมือนที่เคยทำมามากกว่าอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยซ้ำ  สามสิบกว่าปีก่อน ธรรมชาติเริ่มถูกบ่อนเซาะแล้ว เราเห็นแม่น้ำเงาเป็นแอมะซอนน้อยแห่งล้านนาตะวันตก วันนี้เป็นไง ไปดูสิ ไม่อยากพูด เราเขียนถึง  เราร้องเพลงตะโกนออกไป ผมใช้ชีวิตหมดไปกับการเขียนถึงสิ่งเหล่านี้นะ  อยู่ในเพลงก็ด้วย  ปรารถนาของเราแม้ละลายหายไปในอากาศ  ตัวหนังสือเพ่นพ่านอยู่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง  เราได้ทำกับมันแล้ว  ทีนี้ผลของความต่อเนื่องที่เราต่างมีส่วนร่วมทำลายล้างทางใดทางหนึ่ง  ก็ย้อนกลับมาหาเราแล้ว  แม้เราจะเถียง เราไม่เห็นด้วย  แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มันฟ้องเราอยู่แล้ว

เราต้องกลับมาให้คุณค่ากันใหม่ เห็นมันจริง ๆ มันเป็นไปสุดทางแล้วนั่นหรือ ผมตอบคนเดียวไม่ได้ แต่ผมเชื่อคนเดียวได้ ได้ผลเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้  โลกไม่ได้อยู่ในมือเราคนเดียว   เมื่อโลกกระโจนสวนทางไปอีกทางเรียบร้อยแล้ว  ทางใหม่ทางนั้นต้องขยายกว้างให้มากที่สุด  เพิ่มจำนวนให้มากที่สุด  ขุดโค่นถางถางด้วยเครื่องมือที่มีความเร็วรอบจัด  กระทำมันเข้าไปในดินน้ำอากาศ  ใครจะมาส่งเสียงปรามห้าม  ใครจะมาหยุดยั้ง  ใครจะส่องปัญญาให้เห็นความจริง ความงามและทำให้คนเชื่อได้  ศรัทธาได้  นาทีนี้ พื้นที่ไหนเกิดความรุนแรงธรรมชาติ  เชื่อเถอะว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ

รู้สึกอย่างไร กับบทเพลง สานใจคนรักป่า ผ่านไป 31 ปี เมื่อเราย้อนกลับไปฟังอีกครั้ง มันเหมือนเป็นรหัสความห่วงใยเตือนภัยธรรมชาติว่าหายนะกำลังรุนแรงมากยิ่งขึ้น?

ช่วงเวลาที่เขียนเพลง  จะเห็นชัดเลยว่า ภาคเหนือเต็มไปด้วยโครงการเมกกะโปรเจ็ค ตะบี้ตะบันคิดสร้างใช้งบประมาณชาติ ไม่ว่าจะเป็น กระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว  ป่าสนวัดจันทร์ สวนโลก สวนสัตว์ ถนนสารพัดถนน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนสาละวิน เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม เขื่อนกั้นแม่น้ำเงา ไม้ซุงเถื่อนสาละวิน นิคมโรงงานอุตสาหกรรมลำพูนปล่อยน้ำเสีย ฝนกรดแม่เมาะลำปาง จับคนชนเผ่าดาระอั้งเข้าคุก ไล่คนเผ่าลาหู่ (มูเซอแดง) ที่อพยพมาอยู่ใหม่ ฯลฯ เยอะแยะไปหมดเลย  รายละเอียดในแต่ละอย่างมีเยอะมาก เราไปรับรู้  ตั้งคำถามมันเกิดอะไรขึ้น เราต้องการอะไรจากทรัพยากรในธรรมชาติหรือ  เพลงสานใจคนรักป่า  จึงเกิดขึ้นมาโดยเก็บเอาคลื่นความคิดภายในเหล่านั้น  กลั่นออกมาเป็นถ้อยคำ เป็นเสียงเพลง  เป็นคำมีท่วงทำนอง  ว่าถ้าเราไม่ร่วมมือกันวันนี้  หายนะจะเกิดให้เห็นในรุ่นลูกหลานอย่างแน่นอน  ถ้าเราไม่หวงแหนรักษาให้คงอยู่ไว้หายนะจะรุนแรงแน่ ๆ  

จำได้ว่า ผมร้องเพลงนี้ทุกครั้ง ร้องด้วยอารมณ์สุดเสียงทุกครั้ง  เราเห็นความงามที่มีอยู่  เราเห็นโครงการมหึมาต่าง ๆ  จ้องจะลงทุน จ้องจะกอบโกย  จ้องเอาชาวบ้านไปเป็นพวก ขยายพื้นที่ทำลายล้างกัน  ด้วยค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับการอยู่การกินเลย ผมเขียนผมร้องเพลงตะโกนอยู่หลายปีนะ  เราเห็นความงามที่มีอยู่ไง  แล้วเป็นไงล่ะ  37 ปีผ่านไปแล้ว  ผมเขียนเพลงนี้ตอนผมอายุ 29 ปีนะ ตอนนี้ผม 60 ปีแล้ว  ตอนนั้นยังห้าวไฟในใจแรงมาก เหมือนกับเพลงท่อนนี้

…อยากเห็นดอกไม้สวย ๆ เบ่งบาน  เสียงป่าคำรามทุก ๆ วันค่ำ  จะดูโดดเดี่ยว อ่อนไหวคล้าย ๆ ดั่งฝัน  แต่ฝันของฉันมีความหวังเธอเกื้อกูล… อย่างนั้นจริง ๆ นะ …สาน สานใจคนรักป่า  สานดวงตาทุกดวงใจ  ให้ใจเราห่วงใย  ดูแลใบไม้ริมรั้ว  แล้วมองทั่วดูใบไม้ทั้งป่า  เห็นชีวิตพึ่งพาใบไม้…ท้ายสุด ผมเขียนว่า …อย่าล้มใบไม้  ล้มป่าทุกป่า  อย่าพ่นท้องฟ้า  ให้มัวหม่นคล้ำ  อย่ากั้นสายน้ำ  ลบชื่อแม่น้ำบาปกรรม  ลูกหลานจะร้อง พ่อสุขสำราญลูกหลานรับกรรม…

คุณคิดว่าเหตุการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน น้ำท่วม น้ำหลาก ดินถล่มรุนแรง ในเวลานี้ ปัญหาหลัก ๆ มันเกิดจากอะไร?

เรื่องใหญ่มาก เรื่องเล็กมาก ใช่ทั้งนั้นนะ  เรื่องใหญ่ที่เราไม่มีแผนงานที่ดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจริง ๆ อย่างต่อเนื่องแบบเห็นในคุณค่าจริง ๆ  ปล่อยปละละเลย  ไม่กระทำหรือกระทำในระดับปฏิบัติการอย่างขาดความเข้าใจ  ขาดภูมิปัญญาท้องถิ่นมาหลอมรวม  เห็นแต่ประโยชน์จะเพิ่มรายได้เพิ่มราคา  ไม่เห็นความงามโดยรวม  งานฟื้นฟูธรรมชาติ ผมว่าต้องใช้ศิลปะศิลปินร่วมด้วยนะ  จะตะบี้ตะวันใช้วิชาการที่ไม่มีความจริงในพื้นที่รองรับไม่ได้  ต้องร่วมงานกับคนในพื้นที่ได้จริง  คนในพื้นที่ก็ต้องตระหนักด้วย  ให้เป้าหมายเป็นความสุข  ไม่ใช่เพิ่มจำนวน เพิ่มราคา เพิ่มความเครียดให้ชีวิต  เพิ่มรายได้ให้ใครไม่รู้ กอบโกยเอาไปอย่างไม่สิ้นสุด  แผนงานพัฒนาที่ไม่ทำร้ายทำลายธรรมชาติมีด้วยหรือ  เรื่องเล็กมากหากเริ่มที่เราเอง  ตัวเรานั่นแหละ พูดกันยาวนะ สำนึกรับผิดชอบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  ต้องเป็นนิสัยในคนเลยนะ  ทำได้หรือ? ปัญหาที่ว่าใหญ่มาก บางเรื่องพื้นที่เพื่อนบ้านเข้าผสมด้วย ฝุ่นควันข้ามพรมแดน  น้ำก็ไหลเนื่องมาจากแผ่นดินอื่น  เรื่องใหญ่ก็ต้องมีสำนึกที่ใหญ่ด้วย

มองเห็นทางออกของวิกฤติในครั้งนี้อย่างไรบ้าง  เราจะมีส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง?

ผมไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่รับผิดชอบนะ  ไม่ใช่ฝ่ายศรัทธาให้ใครด้วย  ผมแค่เป็นนักเขียนที่ไม่มีพื้นที่ให้เขียนแล้ว  เคยเขียนเพลงเรียกร้องต่าง ๆ นานานานหลายปี  ทั้งงานเขียนงานเพลง  เราทำด้วยความรัก ความศรัทธา อยากนำเสนอความจริง ความงาม ความดีงามให้คนรับรู้  กระตุ้นเตือน เป็นแรงบันดาลใจให้คนได้ตระหนัก  กลับมาเริ่มที่ตัวเอง  อย่างน้อย เริ่มที่ความสุขจะเกิดกับตัวเองก่อน  จึงส่งผ่านไปให้คนอื่นด้วย  เพลงหรือตัวหนังสือ เป็นงานศิลปะ  ยังพยุงใจ หนุนใจ กำลังใจ สร้างความสะเทือนใจ หวังในผลอันดีงามที่จะเกิดขึ้นนะ  เราทำมาแล้ว คิดแล้ว ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา  เราได้ร่วมได้ทำแล้วนะ  แม้แค่เฟืองเล็ก ๆ หนุนเร็วจี๋ก็ตาม แต่เมื่อเป็นวิกฤติตามมา  นั่นคือผลในสิ่งที่เรามองเห็นมาก่อน  ชะตากรรมนานาที่เกิดขึ้น  ล้วนเป็นผลพวงต่อเนื่องกันมา  ไม่ได้จู่ ๆ เกิดขึ้นมาแต่เมื่อไหร่  จะฝุ่นควัน น้ำท่วม ดินถล่ม  มีที่มาจากมือเราต่างมีส่วนทำลายกันทั้งนั้นนะ  ทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่  สำคัญว่าสิ่งที่เหลืออยู่ ยังดีอยู่  อย่าให้ดีกว่านั้นเลย  ไม่มีหรอก  ประคองสิ่งที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว  ให้คงอยู่นาน ๆ ถึงลูกถึงหลาน ถึงคนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสสัมผัสด้วย  นั่นคือเราต้องมีสำนึกรับผิดชอบรวมหมู่ สร้างทำอย่างไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  เรายังคิดกันอยู่หรือไม่นะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง