มีนาคม 19, 2024

    อาจารย์มหา’ลัยก็ผู้ใช้แรงงาน

    Share

    พูดถึงแรงงาน หลายคนอาจนึกถึงอาชีพมากมายในหัว แต่มีหนึ่งอาชีพที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงว่าก็เป็นแรงงานเหมือนกัน อาชีพนั้นคืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย

    หลายสิบปีมาแล้วที่ปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงานมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทั้งการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นบริษัทเอกชน การเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานคนทำงานมหาวิทยาลัย หรือสวัสดิการที่ไม่สอดคล้องกับหน้าที่การงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาจารย์อัตราจ้างก็ดี และอาจารย์ประจำก็ดี จึงอาจนิยามได้ว่าอาชีพอาจารย์ก็เป็นแรงงานเช่นกัน

    อาจารย์มหาวิทยาลัยมีสภาพการทำงาน การจ้างงาน หรือแม้แต่สวัสดิการ ที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร ทั้งงานล่วงเวลาที่หนักขึ้น และการเรียกร้องที่ทำได้ยากในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย

    จริง ๆ ผมมาในนามของคนที่เป็นผู้ใช้แรงงานในมหาวิทยาลัย ผมจำได้ว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมพูดกับเพื่อนร่วมอาชีพว่าเราควรจะมีสหภาพแรงงาน เราจำเป็นจะต้องมีสหภาพแรงงาน ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยเริ่มถูกแปรรูปกิจการ การจ้างงานของเราจากเดิมมีการจ้างงานที่มั่นคง ก็ถูกเปลี่ยนเป็นการจ้างงานที่ระยะสั้นแล้วก็ไม่มีเงินที่จะสนับสนุนจ้างสวัสดิการกับคนทำงาน ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผมทำงานอยู่เปลี่ยนระบบการจ้างงานเป็นสัญญาจ้าง 3 ปี เพราะฉะนั้นนั่นความหมายว่าเราอยู่ในสภาพการจ้างที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ 

    แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมพูดกับเพื่อนร่วมงานผม เมื่อเราเริ่มบ่นว่ามหาวิทยาลัยมันแย่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เพื่อนร่วมงานร่วมอาชีพผมบางคนก็จะพูดว่า “เก่งกิจพวกเราเป็นปัญญาชน เราไม่ใช่กรรมกร เพราะฉะนั้นเราจะไม่ตั้งสหภาพแรงงาน เราต้องตั้งสมาคมอาชีพ” เมื่อเดือนที่แล้วมีการจัดพูดคุยกันระหว่างคนทำงานมหาวิทยาลัยในหลายมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เราทุกคนบ่นกันเรื่องสภาพการทำงาน เรื่องถ่ายงานจ้าง สัญญาจ้าง การที่เราไม่มีสวัสดิการใด ๆ เลย แล้วก็แต่ก็จะมีบางคนจะบอกว่า “เราก็ยังไม่ควรจะมีสหภาพแรงงานอยู่ดี เพราะเราไม่ใช่กรรมกร อย่าทำให้พวกเรากลายเป็นกรรมกร” นี่คือคำพูดที่เขาพูดกับผม แต่ว่าทุก ๆ ครั้งที่เราเจอกันเราก็จะบ่นตลอดว่าชีวิตเรามันแย่มากเลยนะ คือเราทำงานหนักมาก แม้กระทั่งเมื่อวานนี้หัวหน้างานผมก็ยังส่งข้อความมาสั่งงานผมอยู่เลยทั้ง ๆ ที่มันเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งผมรู้สึกหงุดหงิดแต่ไม่รู้จะทำยังไง จนบัดนี้เราก็ยังบ่นอยู่ถึงการทำงานของเราอยู่ทุก ๆ วัน มันเป็นชีวิตประจำวันซึ่งผมไม่อยากจะฟังคำบ่นของเพื่อนร่วมงาน เพราะบ่นแล้วก็ไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง แล้วจะภาคภูมิใจอยู่ตลอดว่าเป็นคนฉลาด มีการศึกษา เป็นปัญญาชน เป็นดอกเตอร์อะไรก็ตาม การที่เรายังบ่นเรื่องนี้อยู่เพราะเราไม่เคยคิดที่จะสร้างอำนาจต่อรอง เพราะเราไม่ยอมรับว่าเราเป็นชนชั้นแรงงาน เพราะเราไม่ยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคน 99%

    เมื่อหลายปีก่อนผมพยายามจะพูดว่าคนทำงานศิลปะก็เป็นชนชั้นแรงงาน คนทำศิลปะจำนวนนึงซึ่งเป็นสลิ่มนะครับก็จะบอกว่า พวกเราไม่ใช่ชนชั้นแรงงาน เราเป็นศิลปิน ผมมีความภูมิใจมากเลยวันนี้เราเห็นว่าคนที่ถือป้ายมาแล้วก็บอกว่าศิลปินเป็นแรงงาน เรามีสหภาพแรงงานคนทำงานสร้างสรรค์ เรามีสหภาพแรงงานสำหรับนักสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานบาริสต้า แต่เรายังไม่มีสหภาพแรงงานคนทำงานมหาวิทยาลัยเพราะพวกเขาคิดว่าเขาฉลาดเกินไป เขาไม่คิดว่าตัวเองเป็นคน 99% แต่คิดว่าตัวเองเป็น 1%

    ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 ในการทำรัฐประหาร ผมจำได้ว่าคนกลุ่มแรกที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารคือ นักสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง เพื่อน ๆ ทั้งสหภาพแรงงานหลายคน เป็นสหภาพแรงงานที่เป็นแกนนำโดยผู้หญิงออกมาคัดค้านรัฐประหารเป็นกลุ่มแรก คนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารเป็นกลุ่มแรก ๆ ถือป้ายหน้าสยามเซ็นเตอร์ เรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องรัฐสวัสดิการและสิทธิของประชาชน แต่เชื่อไหมว่านักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐประหารจำนวนนึงพูดว่า “การเรียกร้องรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่บดบังการเรียกร้องประชาธิปไตยและการคัดค้านรัฐประหาร”

    แต่ผ่านมาจนบัดนี้ 17 ปี ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่ไม่กล้าพูดว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือผลผลิตของการต่อสู้ของพี่น้องสหภาพแรงงานเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วและมากไปกว่านั้นคนที่ต่อสู้เพื่อประกันสังคม เพื่อรัฐสวัสดิการยาวนานกว่านั้นอีกจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นการที่เราพูดเรื่องประชาธิปไตยได้ในวันนี้และการที่ประชาธิปไตยในวันนี้หมายความถึงการกินดีอยู่ดี ความหมายถึงการที่เรามีรัฐสวัสดิการ ความหมายถึงการที่คน 99% จะต้องมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมันต้องหมายถึงความเสมอภาค

    ฉะนั้นทุกวันนี้เรามาถึงบรรยากาศของการเลือกตั้งซึ่งบรรยากาศของการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองพูดประชาธิปไตย พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วผมคิดว่าเราจะต้องขอบคุณคนที่ต่อสู้เรื่องนี้นั่นคือผู้ใช้แรงงาน

    ผมยังเห็นเพื่อนร่วมต่อสู้กับผมเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือพี่ศรีไพร (ศรีไพร นนทรีย์) นักสหภาพแรงงานย่านรังสิต แกยังคงถือโทรโข่งแล้วก็พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ พูดเรื่องประชาธิปไตยอยู่ที่กรุงเทพ ซึ่งผมรู้สึกว่าคนแบบนี้คือคนที่เราจะต้องจดจำ

    วันนี้ผมรู้สึกว่าผมขอบคุณมากเลยที่เราเคยพูดว่าเราทุกคนเป็นชนชั้นแรงงาน เราพูดเรื่องนี้มายาวนานมากใช่ไหม ไม่ใช่ผมเป็นคนพูดนะคนอื่น ๆ ที่ต่อสู้เรื่องนี้เป็นคนพูด แต่วันนี้ป้ายนี้มันมาอยู่บนเวทีแล้วว่าเราทุกคนคือผู้ใช้แรงงาน เราทุกคนคือแรงงาน ผมคิดว่าอันนี้เป็นความก้าวหน้าของสังคมไทย และมันเป็นความก้าวหน้าของสังคมไทยที่เราจะต้องจัดการเรื่องนี้ต่อไปให้ประชาธิปไตยมันเป็นประชาธิปไตย ผู้ใช้แรงงานคน 99% ไม่ใช่ประชาธิปไตยของคนแค่ 1% อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขอแสดงความสมานฉันท์กับเพื่อนผู้ใช้แรงงานทุกท่าน ขอบคุณครับ

    เนื้อหาจากคำปราศรัยของ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ แรงงานอาจารย์มหาวิทยาลัย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากเวทีกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล (International Workers’ Day) 1 พฤษภาคม 2566 ณ ลานโครงการเลอตะวัน บริเวณสี่แยกแสงตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และภาคีเครือข่าย

    Related

    7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ยุติธรรมไม่คืบหน้า

    ภาพ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดงานเสวนา...

    ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แจงงบแก้ฝุ่นยังไม่ออก ชี้ “ประกาศภัยพิบัติ” ไม่ใช่ทางออกตอนนี้

    เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานการชี้แจงของ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    ครบ 7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม ความยุติธรรมยังไม่คืบ

    เช้าวันที่ 17 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำการตรวจค้นรถยนต์ของ...