เมษายน 30, 2024

    กะเหรี่ยง แม่น้ำเมย ข้อพิพาทเขตแดนไม่ไกลจากเมืองเมียวดี

    Share

    เรื่อง : สมหมาย ควายธนู

    สถานการณ์ชายแดนเมียนมาที่เมืองเมียวดี ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดูจะน่าวิตกภายหลังกองทัพกะเหรี่ยง (KNU/PDF) ได้เข้ายึดค่ายของกองทัพเผด็จการทหารเมียนมาเป็นเวลากว่าหลายวัน ชาวบ้าน พี่น้องชาติพันธุ์บริเวณชายแดนที่ได้รับความเดือดร้อน เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายเข้าฝั่งไทย ชวนสังเกตก่อนมีพรมแดนรัฐชาติ ผู้คนบริเวณแถบแม่น้ำเมยเป็นอย่างไร อำนาจรัฐลงไปถึงหรือไม่ มีรายงานจากฝั่งไทยไม่ไกลจากเมียวดี แต่ใกล้เคียงเมาะลำเลิง

    สมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังจักรวรรดิอังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้อย่างสงบราบคาบแล้ว จึงตกลงทำแผนที่เขตแดน ครั้งหนึ่งราว ค.ศ.1846 ข้าราชการสยามกับเจ้าหน้าที่ของอังกฤษนัดหมายกันระหว่างเขตแดนเมืองอุทัยธานีกับเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งทางฝ่ายอังกฤษมาล่าช้ากว่าที่นัดหมาย ในข้อเท็จจริงฝ่ายสยามได้รออยู่เป็นเวลา 1 เดือนและไม่พบเจ้าหน้าที่ของอังกฤษจึงได้เดินทางกลับ

    เพียงไม่กี่วัน  เมื่อร้อยเอก เฮนรี มาเรียน ดูรันด์ เจ้าหน้าที่ของอังกฤษประจำแคว้นตะนาวศรีมาถึง ได้พบว่า มีการทำสัญลักษณ์ประกาศเขตแดนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้อังกฤษถือว่าสยามได้กำหนดเขตแดนโดยพลการและรุกล้ำเข้าไปในเขตอาณานิคมของอังกฤษ จึงได้ส่งจดหมายไปยังเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เพื่อสอบถามการกระทำของข้าราชการสยาม

    สองเดือนก่อนหน้า รัฐสยามได้มอบหมายให้พระยากำแพงเพชร พระยาตาก พระยาอุทัยธานี ไปเจรจาเรื่องเขตแดนกับอังกฤษภายในเดือนมกราคม ค.ศ. 1846 โดยบอกกำหนดเขตแดนว่า บริเวณแม่น้ำเมยฝั่งตะวันตกเข้ามาจนถึงลำน้ำท่าสองยางเป็นของเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ลำน้ำท่าสองยาง แม่น้ำเมยฝั่งตะวันออก คลองแม่เตา คลองแม่ปะ คลองแม่ละเมา ฯลฯ เป็นเขตแดนของเมืองตาก และเมืองอุทัยธานีติดต่อกับเมืองตากตั้งแต่ปลายแม่น้ำเมย ออกลำน้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับลำน้ำติโล ต่อกับด่านเมืองศรีสวัสดิ์ ระหว่างแดนมีลำน้ำแยกอื่น ๆ คั่นอีกหลายสาย

    การทักท้วงของอังกฤษทำให้เจ้าพระยาพระคลังต้องสอบถามพระยาทั้ง 3 คน พระยากำแพงเพชรไม่ได้มีคำสั่งให้ปักเสาเพียงแต่รออังกฤษอยู่เท่านั้น และมีข่าวว่าพม่าจะก่อสงครามจึงกลับเมืองของตนและได้ถึงแก่กรรม ส่วนพระยาอุทัยธานีกับขุนจ่าสัก (นายด่านที่รัฐสยามใช้สืบข่าวความขัดแย้งของพม่ากับอังกฤษที่เมืองเมาะลำเลิงและเป็นผู้คุ้นเคยกับพื้นที่) ให้การว่า บริเวณที่อังกฤษกล่าวหาว่าล่วงล้ำไกลจากบริเวณที่พวกเขาดูแลถึง 3 วันและพวกเขาไม่เคยลาดตระเวนไปไกลถึงแม่น้ำฮวงโกร

    ล่วงเข้าสู่เดือนมกราคม ค.ศ. 1847 ในจดหมายของเจ้าพระยาพระคลังถึงพันโทบัตเตอร์เวิร์ท ผู้ว่าราชการเกาะปีนังเล่าเหตุการณ์เมื่อนัดหมายเขตแดนระหว่างเมืองอุทัยธานี เมืองตากกับอังกฤษ ขุนจ่าสักสั่งให้พรรคพวกประจำด่าน (กะเหรี่ยง) คอยระวังอยู่ในที่อาศัยเดิม จนกว่าการปรึกษาหารือเรื่องเขตแดนจะแล้วเสร็จ ส่วนเรื่องกองหินและเรือนไม้เล็กๆที่วางอยู่บนกองหิน ซึ่งอังกฤษเข้าใจว่าเป็นเสาและสัญลักษณ์การประกาศเขตแดนและได้ถอนออกไปนั้น ขุนจ่าสักให้การว่า “กองหินนั้นคนกะเหรี่ยงเป็นคนมาปักไว้ กะเหรี่ยงพวกนี้เป็นพวกรักษาด่านอยู่เมืองอุทัยธานี” อย่างไรก็ตามกองหินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตายที่มีหลักฐานโบราณคดีพบมากในพื้นที่ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี – ถนนธงชัย ซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่าใครเป็นเจ้าของหลุมฝังศพหรือที่เรียกตามลักษณะวงหินล้อมรอบหรือเนินดินที่ปรากฏว่า ‘วงตีไก่’ หรือ ‘หินตั้ง’ ด้านคำให้การของขุนจ่าสักในเอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ ช่วยยืนยันว่ากองหินเหล่านี้เป็นพิธีกรรมการฝังศพของกะเหรี่ยง

    ภาพ :โดม ประทุมทอง

    ในโฉมหน้าราชาชาตินิยมของธงชัย วินิจจะกูลอธิบายว่า ชนชั้นนำสยามไม่ให้ความสำคัญเรื่องตกลงเขตแดน ทั้งยังมองว่าเป็นเรื่องของชาวบ้านหรือนายด่านบริเวณชายแดนของเมืองเหล่านั้นมากกว่าเรื่องของรัฐ เนื่องเพราะเกรงว่า จะกระทบอำนาจในการจัดการผลประโยชน์ของแต่ละเมือง ซึ่งอยู่ในการดูแลของผู้มีอำนาจคนอื่นๆ และไม่เคยรู้ว่าเขตแดนที่ชัดเจนอยู่บริเวณใด ขณะเดียวกันข้อพิพาทเรื่องเขตแดนดังกล่าว อังกฤษไม่ได้ประท้วงและถกเถียงกับสยามด้วยตรรกะการเมืองระหว่างประเทศอีก และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าสยามมีความเข้าใจเรื่องเขตแดนเป็นคนละแบบกันกับเส้นรอบรัฐที่ชัดเจนซึ่งอังกฤษต้องการในเวลานั้น

    ‘หวงคน’ การต่อรองอำนาจของคนชายแดน

    เป็นที่เข้าใจกันว่า แต่เดิมรัฐโบราณในอุษาคเนย์รวมถึงสยามต้องการผู้คนมากกว่าที่ดิน(ดินแดน) ขณะที่ไม่มีพรมแดนรัฐชาติเป็นเส้นแบ่งเขต ผู้คนสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน  สอดแนม ทำสงคราม ค้าขายตามเส้นทางคมนาคมกันอย่างเป็นปกติ

    ท่ามกลางปัญหาข้อพิพาทเขตแดน หลวงชมภูกะเหรี่ยง (นายกองกะเหรี่ยงเข้าใจว่าทำราชการเก็บส่วยผลเร่วในป่าแขวงเมืองตากอยู่กับพระอินทคีรี) ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ แม่จะเลา เมืองตาก ต่อมาพระอินทคีรีเจ้านายได้ถึงแก่กรรม พระยาตากคนใหม่สั่งให้คนมาเอาช้างพลาย 2 เชือก ช้างพัง 1 เชือกไปจากกางพำมโว น้องเขยของหลวงชมภูฯจนได้รับเดือดร้อน

    หลวงชมพูฯจึงได้พาครอบครัวกะเหรี่ยงเป็นชาย 15 คน หญิง 30 คน รวมเป็น 45 คนมาตั้งบ้านเรือน ณ ตำบลอุ้มผาง แม่จัน แม่กลอง แขวงเมืองอุทัยธานี ในสายตาของรัฐสยามมองการเคลื่อนย้ายผู้คนในกรณีย้ายครัวของหลวงชมภูว่า “กะเหรี่ยงเมืองตากจะมักมาอยู่แขวงเมืองอุทัยธานีก็ให้อยู่ กะเหรี่ยงเมืองอุทัยธานีจะสมัครไปอยู่แขวงเมืองตากก็ให้ไปอยู่ตามใจสมัคร”

    และได้ให้กรมการเมืองตากและเมืองกำแพงเพชรจัดการเอาช้างและสิ่งของคืนหลวงชมภูรวมถึงสั่ง“ห้ามปรามอย่าให้ผู้ใดกระทำข่มเหงเบียดเบียนทางหลวงชมภูกะเหรี่ยง ครอบครัวกะเหรี่ยงมีชื่อให้ได้ความเดือนร้อนพากับหลบหนีระส่ำระส่ายไปนอกเขตแดนได้เป็นอันขาด”

    ศรีศักร วัลลิโภดมเคยยกตัวอย่างกรณีหลวงชมภูฯแสดงให้เห็นว่า กะเหรี่ยงเป็นชาติพันธุ์ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนสยามในช่วงอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้นเพียงเท่านั้น แต่เมื่ออ่านเอกสารชิ้นนี้แล้ว ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับศรีศักร เพราะหลวงชมภูฯเป็นคนทำราชการให้กับรัฐสยามที่ย้ายจากเมืองตากมาเมืองอุทัยธานี และหากมองการสอดส่องดูแลประชากรในพื้นที่ชายแดนของรัฐ จะเห็นได้ว่าสยามต้องการควบคุมประชากรให้อยู่ในดินแดนและมีการสอดส่องไม่ให้คนหนีรัฐหรืออยู่ในสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ควบคุมไม่ได้เสียมากกว่า

    ช่องว่างของอำนาจระหว่างสยามกับอังกฤษทำให้ผู้คนชายแดนมีการปรับตัว ต่อรองอย่างเห็นได้ชัด ครั้งหนึ่งฝั่งสยามเคยส่งข้าราชการสืบราชการที่เมืองเมาะลำเลิง เมื่อถึงบ้านแม่จารอน “กะเหรี่ยงอังกฤษออกมาห้าม ท้าขุนจ่าสัก ขุนทิพ ขุนเพชรนารายณ์ว่าไปทางนี้ไม่ได้ … ถ้าผู้ใดไม่ฟังจะเกิดวิวาท”

    ภาพ : Amelia Rains, “From the Mountains to the Mekong” ใน Library of Congress

    ขุนทั้ง 3 คนเกรงว่าจะเสียราชการจึงเดินทางกลับทาง ณ บ้านระแหง “ถึงบ้านกางโกะเกะกะเหรี่ยงเมืองนอก” เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วย ณ ด่านแม่กลองใหม่ จะเห็นได้ว่าเอกสารราชการฝั่งสยามมีการเรียก กะเหรี่ยง ในความหมายกำกับว่า ‘อังกฤษ กับ ‘เมืองนอก’ ซึ่งเข้าใจว่ามีความหมายของการเป็นคนในบังคับของอังกฤษ

    กลับกันด้านเอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ ซึ่งเป็นบันทึกการโต้ตอบเรื่องราชการของฝั่งอังกฤษกับสยาม มีการกล่าวถึงกะเหรี่ยงเข้าไปเพาะปลูกในแถบพรมแดนเขาตะนาวศรีใกล้กับสยาม (อังกฤษให้เหตุผลว่า คนในบังคับของอังกฤษและสยามข้ามไปมาจะต้องมีเหตุผล เนื่องจากพรมแดนยังไม่แน่นอน ซึ่งเขตแดนระหว่างเมืองมอญฝั่งตะวันออกเป็นของอังกฤษแล้ว ส่วนทางเชียงใหม่ ระแหงก็ยังมีเขาตะนาวศรี และมียามรักษาการณ์ไม่ให้ผู้คนรุกล้ำออกไป จนกว่าจะมีเขตแดนที่แท้จริงและเที่ยงตรง) ข้าราชการของสยามเข้าใจว่าเป็นคนของอังกฤษเข้ามารักษาพรมแดน แต่ทางฝั่งอังกฤษไม่ได้มีคำสั่งแต่อย่างใด  ขณะเดียวกันก็ได้อธิบายว่า กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มที่พเนจรเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ระหว่างอยู่อาศัยในที่อังกฤษก็เรียกตัวเองว่าเป็น ‘กะเหรี่ยงของอังกฤษ’ ซึ่งอังกฤษไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย ให้มีผลแต่ที่สยามเท่านั้น หากนำคำสั่งดังกล่าวเข้าไปบังคับใช้ในอังกฤษก็จะถูกกล่าวโทษ

    สถานการณ์ชายแดนเมียวดี-แม่สอดยังน่าเป็นห่วง แต่ต้องติดตามต่อว่ารัฐไทยจะทำอย่างไรต่อผู้คน สินค้า และความรุนแรงที่ผ่านไปผ่านมาระหว่างประเทศ 

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...