16 กันยายน 2567 เวลา 15.30 น. ที่ผ่านมา กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, สิงห์ สุวรรณกิจ, กฤษณ์พชร โสมณวัตร, ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และมลิวัลย์ เสนาวงษ์ ได้เข้าพบ ปิติพงษ์ ยอดมงคล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยื่นจดหมายถึงอธิการบดีและคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย โดยมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ใหม่ในการได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาของจดหมาย ดังต่อไปนี้
“ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ หรือที่เรียกกันว่า ค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสอง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้คณาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการต้องยื่นผลงานวิชาการทุกปี ซึ่งเพิ่มจากภาระงานเดิมที่ทำอยู่ และหากไม่สามารถยื่นผลงานวิชาการตามจำนวนและเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะถูกหักค่าตอบแทนทางวิชาการในอัตราต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน จนอาจถึงขั้นไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสองเลยนั้น
กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มีความกังวลต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้จัดให้มีเวทีสาธารณะว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่งขาสอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้นสอง อาคารสาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. โดยมีตัวแทนคณาจารย์จากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ รศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์, รศ.ดร. จิรันธนิน กิติกา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, ผศ.ดร. ชาติชาย เขียวงามดี คณะเศรษฐศาสตร์, ผศ.ดร. ปีดิเทพ อยู่ยืนยง คณะนิติศาสตร์, รศ.ดร. พงศกร ศุภกิจไพศาล คณะเกษตรศาสตร์, รศ.ดร.วรรณวิสาข์ ไชยโย คณะมนุษยศาสตร์, รศ.ดร. สิงห์ สุวรรณกิจ คณะมนุษยศาสตร์, ผศ. ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ คณะวิจิตรศิลป์ และ ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ต่อปัญหาของนโยบายว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนผลงานประจำตำแหน่งวิชาการขาสอง ในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ทิศทางของมหาวิทยาลัย นโยบายเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสองที่ออกมาใหม่ สะท้อนปัญหาในเชิงทิศทางของแนวนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยที่มีแนวโน้มในการมุ่งเป้าเชิงธุรกิจและเชิงปริมาณมากยิ่งขึ้น ทิศทางดังกล่าวได้เน้นให้คณาจารย์เพิ่มปริมาณผลงานวิจัยและตีพิมพ์ เพื่อมุ่งให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น การเน้นผลงานเชิงปริมาณและตัวเลขที่มากขึ้นดังกล่าว ได้สร้างแรงกดดันและผลกระทบต่อคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทำให้รู้สึกปราศจากความสุขในการทำงาน ตั้งคำถามต่อความเป็นมหาวิทยาลัยและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และปัญญา ลดความสำคัญของการเรียน การสอนลง และกลายเป็นที่ซึ่งลดทอนและทำลายพลังในการทำงาน หรือในการส่งเสริมและสนับสนุนการแสวงหาความรู้ ของคณาจารย์
การขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และการขาดความโปร่งใสในการบริหารงาน กระบวนการร่างประกาศการจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่งขาสอง ตลอดจนการพิจารณาที่จะเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ และรีบเร่ง รวบรัด ทั้งที่เป็นนโยบายที่จะสร้างผลกระทบต่อการทำงานและผลประโยชน์ของคณาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย การออกนโยบาย มีลักษณะของการสั่งการและสื่อสารจากบนลงล่าง คณาจารย์จำนวนไม่น้อย ไม่ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริง และไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะบางคณะ เช่น คณะสังคมศาสตร์ และสภาพนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีมติไม่เห็นด้วยต่อร่างประกาศดังกล่าว ก็มิได้รับการพิจารณา หรือนำไปประกอบการพิจารณา กระบวนการที่เกิดขึ้นของการร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสอง จึงไม่เพียงสะท้อนปัญหาการขาดการมีส่วนร่วม และการสื่อสารที่มีปัญหาเท่านั้น หากแต่ยังแสดงถึงการขาดความโปร่งใสในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
การขูดรีดที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานคณาจารย์ นโยบายและหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสอง หากประกาศออกใช้ จะเป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปสู่การขูดรีดที่ไม่เป็นธรรมต่อคณาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในสายพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เงื่อนไขที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัยต่อการทำงานของคณะ ผ่านตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งรวมถึงการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในฐานข้อมูล SCOPUS ก็มีมากพออยู่แล้ว อีกทั้งยังมีเงื่อนไขการจ้างงานและสัญญาจ้างประเภทต่าง ๆ ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานที่บีบรัดพนักงานสายวิชาการอยู่แล้ว นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสองนั้น มีที่มาและวัตถุประสงคเพื่อรักษาแรงจูงใจในการทำงานให้กับคณาจารย์ที่ทำงานให้กับมหาวิทยาลัย การเปลี่ยนแปลงแนวทางดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการทำลายข้อตกลงที่มหาวิทยาลัยมีต่อคณาจารย์ที่ผ่านมา หากแต่จะนำไปสู่การขูดรีดแรงงานวิชาการอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย
เกณฑ์ที่ปราศจากหลักวิชาการและความเหมาะสม ในขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเป้าที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางวิชาการ ที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและองค์ความรู้ที่เป็นเลิศ แต่กลับไม่ปรากฎว่าในการออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายค่าตอบแทนทางวิชาการขาสองนั้น ได้มีการสำรวจ วิจัย หรือมีงานวิชาการใดรองรับ ตลอดจนความเชื่อที่ว่ามีคณาจารย์ที่ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ปราศจากผลงานวิชาการ และการใช้เงื่อนไขในการบังคับ ด้วยการตัดเงินค่าตอบแทนลง จะนำไปสู่การสร้างผลิตภาพของบุคคลากรวิชาการมากยิ่งขึ้น ก็ไม่ปรากฏว่าอ้างอิงจากงานวิจัยใด หรือใช้หลักทางวิชาการใดในการสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว ไม่เพียงแต่นโยบายเกี่ยวกับการตัดทอนการจ่ายค่าตอบแทนทางวิชาการลง จะเป็นนโยบายที่ปราศจากหลักทางวิชาการเท่านั้น แต่หลักเกณฑ์รายละเอียดที่ประกาศออกมา ยังเต็มไปด้วยความไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องต่อศาสตร์วิชาการที่มีความแตกต่าง และหลากหลายอย่างยิ่ง ซึ่งสร้างข้อกังวลว่า หลักเกณฑ์ที่บีบรัด และไม่สอดคล้องกับธรรมชาติทางวิชาการที่แตกต่างกันนี้ จะนำไปสู่การซื้อผลงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ ตลอดจนการว่าจ้างการตีพิมพ์ผลงาน เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ กลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่บ่อนเซาะเกียรติภูมิทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงอย่างไม่น่าจะเป็น
ความซ้ำซ้อนของมาตรการควบคุมกำกับการทำงานของคณาจารย์ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีมาตรการในการควบคุมกำกับ ตลอดจนลงโทษคณาจารย์ที่ไม่ผลิตผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่องที่เพียงพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้างที่มีระยะเวลาที่ควบคุมโดยเงื่อนไขของการขอตำแหน่งวิชาการ การดำเนินการหลักสูตรที่กำหนดคุณสมบัติคณาจารย์ตามผลงานวิชาการ ตลอดจนการควบคุมกำกับอัตราเงินเดือนและการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามผลปฏิบัติงานและการผลิตผลงานวิชาการ การออกเกณฑ์ใหม่ซึ่งเพิ่มมาตรการในการควบคุมกำกับการทำงานของคณาจารย์ ไม่เพียงเป็นมาตรการที่ซ้ำซ้อน หากแต่ยังเป็นนโยบายที่ทำลายขวัญและกำลังใจของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน และสร้างผลเสียให้กับมหาวิทยาลัย
กลุ่มคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใคร่ขอเสนอให้มีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสอง โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
ยกเลิกร่างประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ ที่ออกโดยมหาวิทยาลัย โดยกลับไปใช้เกณฑ์เดิมในการจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง ให้มีกระบวนการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัยต่อการสร้างแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการ
มหาวิทยาลัยควรใช้มาตรการด้านแรงจูงใจในการทำงานมากกว่าแนวทางการกดบังคับ ทั้งนี้ ควรศึกษามาตรการด้านแรงจูงใจ จากตัวอย่างการจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการขาสาม ในมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ ในประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการนำมาตรการในการให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำงานผลงานวิชาการได้ดีมาใช้ อันเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับคณาจารย์ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังควรพิจารณาส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจในด้านเวลา โดยให้อาจารย์ได้มีเวลาในการคิด และเขียนงานวิชาการ ส่งเสริมบรรยากาศให้คณาจารย์ได้มีสมาธิในการทำงาน ทั้งในการเรียนการสอน และการผลิตงานวิชาการ มิใช่มุ่งแต่จะสร้างบทลงโทษต่างๆ หรือการบังคับให้ทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นการบั่นทอนพลังในการทำงานของคณาจารย์มหาวิทยาลัย
ควรสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางในการสร้างความรู้ พัฒนามหาวิทยาลัยบนฐานแห่งความรู้ และการวิจัย มาตรการหรือนโยบายของมหาวิทยาลัย ควรมาจากกระบวนการวิจัยอย่างมีเหตุผล มีความโปร่งใส และวางอยู่บนหลักแห่งการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัย คำนึงถึงความเป็นธรรม และสิทธิและสวัสดิการของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวมีกำหนดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (กบม.) เพื่อตัดสินในวันพรุ่งนี้ (18 กันยายน 2567) โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ดิฉันและเพื่อนคณาจารย์หวังว่า คณบดีและผู้บริหารระดับคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคณาจารย์ของท่าน สนับสนุนการทบทวนร่างที่เอารัดเอาเปรียบคนทำงานในมหาวิทยาลัยฉบับนี้”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...