เมษายน 26, 2024

    อาสา’เสริมแรงเรียน’ ชวนลูกหลานแรงงานเรียนรู้สวนสัตว์เชียงใหม่ แนะรัฐต้องจัดการศึกษาที่เท่าเทียม

    Share

    18 พฤษภาคม 2566

    เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 กลุ่มครูอาสาเสริม-แรง-เรียน ได้จัดกิจกรรมสำรวจธรรมชาติเรียนรู้วิถีชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น. ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ 

    กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการพาลูกหลานของแรงงานข้ามชาติผู้ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด 3 พื้นที่ได้แก่ ชุมชนมุสลิมช้างคลาน, ท่าแพซอย 3 และชุมชนควรค่าม้า ออกมาเรียนรู้นอกพื้นที่

    กนกวรรณ มีพรหม ผู้ประสานโครงการฯ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการครูอาสาเสริมแรงเรียน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติเกิดปัญหาในการเรียนเนื่องจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอน จากการเรียนในห้องเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด สร้างภาระให้กับผู้ปกครองรวมไปถึงสร้างความเสี่ยงในการหลุดจากระบบการศึกษา

    “ครอบครัวหนึ่งมีโทรศัพท์หรือมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะไว้สำหรับเรียนออนไลน์เนี่ยแค่เครื่องเดียว ระหว่างที่โควิดระบาดเนี่ยมันมีเด็กที่หลุดออกจากนอกระบบ ยิ่งเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอยู่แล้วเนี่ย ก็มีความเสี่ยงที่จะหลุดง่ายกว่าเด็กในครอบครัวที่ปกติ” กนกวรรณกล่าวเสริม

    กนกวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้เป็นอย่างมาก หลังจากการดำเนินงานของครูอาสาเสริมแรงเรียนไปซักระยะหนึ่ง ก็พบว่าทั้ง 3 พื้นที่ (ชุมชนมุสลิมช้างคลาน, ท่าแพซอย 3 และชุมชนควรค่าม้า) ที่ครูอาสาได้ลงไปทำงานนั้น มีปัญหาที่แตกต่างกันและเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องโควิด-19 

    “กลุ่มแรกคือชุมชนช้างคลาน เป็นชุมชนมุสลิม ที่พูดภาษาพม่า กลุ่มนี้ก็คือจะเป็นกลุ่มที่ผู้ปกครองทำอาชีพเก็บของเก่า แล้วก็ทำงานรับจ้างที่กาดทราย(โรงฆ่าสัตว์) ซึ่งเด็กที่ชุมชนนี้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าไปเรียนในระบบการศึกษา เพราะว่าด้วยข้อจำกัดเรื่องเอกสารในการเข้าเรียน เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าไปสู่ระบบทางการศึกษา ปัจจุบันมีเด็กที่นี่มีอยู่ 28-29 คน เกิดที่ประเทศไทย ซึ่งเด็กกว่าครึ่งไม่ได้เข้าเรียนในระบบ ปัญหาอีกอย่างคือเขาสามารถฟังภาษาไทยได้ แต่ว่าเขาไม่สามารถสื่อสารหรือพูดภาษาไทยได้”

    “กลุ่มที่สอง คือที่ท่าแพซอย 3 และชุมชนควรค่าม้า อันนี้ลักษณะของวิถีชีวิตเค้าจะใกล้เคียงกันก็คือเป็นกลุ่มลูกหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ มีพี่น้องอาข่าแล้วก็พี่น้องไทใหญ่ กลุ่มนี้เด็กส่วนใหญ่จะได้เรียนในระบบการศึกษา แต่ก็จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องการศึกษาก็คืออย่างช่วงเรียนออนไลน์ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัญหาการเรียนต่อในระดับสูง ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจผู้ปกครองส่วนใหญ่ลังเลในการที่จะส่งลูกของตนเรียนต่อรวมไปถึงการหาที่เรียนต่อ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่มีช่องทางแนะแนวหรือช่องทางที่จะส่งให้เขาเรียนในระดับสูงเลย”

    อีกปัญหาสำคัญคือเรื่องทะเบียนบ้าน กนกวรรณเล่าว่า มีคุณแม่ที่เป็นชาติพันธุ์จากจังหวัดเชียงรายได้พาลูกมาอยู่ที่นี่ ทำงานอยู่ในภาคบริการการท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ และลูกอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปัญหาก็คือ ทะเบียนบ้านของคุณแม่คนนี้อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ดังนั้นการเรียนต่อของลูกเขาเกิดปัญหา ซึ่งเด็กที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเรียนต่อได้เลย ซึ่งการที่ทะเบียนบ้านอยู่นอกตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ที่นี่มานานแล้วหลายปี ทำให้การเรียนต่อของเด็กคนนี้ต้องไปเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครอง

    ทีมงานที่ช่วยกันทำ

    ด้วยสถานการณ์ปัญหาที่มากมายนี้ กนกวรรณ เล่าว่า ในช่วงแรกเกิดการเซ็ตตัวจากกลุ่มนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มองเห็นปัญหานี้จึงเปิดรับสมัครครูอาสาในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ สอนเสริมในส่วนที่เด็กต้องการ และสร้างการเรียนรู้ระหว่างทางของการเติบโต เพื่อไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หลุดไปจากวงจรการศึกษา 

    นอกจากการรวมตัวในการดำเนินงานของกลุ่มนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงแรกนั้นหลังจากการเซ็ตตัวและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องก็สามารถแบ่งกลุ่มที่มีส่วนขับเคลื่อนในโครงการนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ยังทำให้โครงการยังดำเนินมาถึงปัจจุบันคือกลุ่มครูอาสา จากนักศึกษาครู มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มน้อง ๆ ที่สนใจ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาสอน ส่วนกลุ่มที่สอง กนกวรรณ นิยามว่าเป็นภาคประชาสังคม ที่เข้ามาสนับสนุนในส่วนของงบประมาณ  และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มภาคการศึกษา คณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์พหุวัฒนธรรม ก็คือ อาจารย์พิสิฐ นาสี และอาจารย์ นงเยาว์ เนาวรัตน์ 

    กนกวรรณเล่าว่า กิจกรรมสำรวจธรรมชาติเรียนรู้วิถีชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ในครั้งนี้ก็เกิดจากการร่วมมือกันของภาคประชาสังคมในโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ที่ต้องการสร้างกิจกรรมในยามว่างให้กับเด็กในช่วงปิดเทอม

    “จริง ๆ เด็กกลุ่มนี้เขาไม่มีวันปิดเทอมหรอกเพราะเขาไม่ได้เรียน แต่เราก็คิดว่าถ้ามันมีงบประมาณตรงนี้เราก็ควรนำมาใช้ ทำให้เขาออกมาเห็นโลกภายนอกที่นอกเหนือจากชุมชนที่เขาอยู่ได้ยังไง ก็เลยลองเปิดพื้นที่มาสวนสัตว์ ให้ได้ออกมาจากตรงนั้นบ้าง เพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ว่าเชียงใหม่มันก็มีที่อื่นนอกจากตรงจุดนั้น”

    เสียงของครูอาสา

    “เหนื่อยมาก น้องวิ่งเก่งมาเลย แต่เข้าใจว่าเด็กก็ต้องอย่างนี้อะ ก็ต้องมีความอยากเรียนรู้ อยากเห็นอะไรก็นู่นนี่นั่นอะไรงี้ ก็ต้องพยายามเข้าใจเขานิดนึง” เสียงของ พิมพ์ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นครูอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

    พิมพ์เล่าว่าเนื่องจากตนเรียนอยู่ในคณะสังคมศาสตร์ การเป็นครูอาสารวมไปถึงร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการเปิดประสบการณ์จริง ได้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติใช้ชีวิตกันยังไง ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุด ๆ นั้น เป็นการเปิดมุมมองของตัวเองให้กว้างมากยิ่งขึ้น 

    “เด็กบางคนก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ พอเขามาเห็นแล้วเออดูตื่นเต้นดี บางคนเคยเห็นแต่ในการ์ตูน พอมาเห็นของจริงเขาก็ตื่นเต้นกับทุกอย่าง เพราะบางคนเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะได้มา”

    พิมพ์กล่าวปิดท้ายว่า “การศึกษานั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ เพราะว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคนให้ไปเป็นอนาคตที่ดีของชาติ ถ้าการเริ่มต้นของการศึกษามันไม่ดี ไม่มีคุณภาพ หรือว่าคนบางกลุ่มไม่ได้รับการศึกษา เราจะสามารถคาดหวังให้คน ๆ หนึ่งโตขึ้นไปเป็นเยาวชนที่ดีหรือว่าเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศเราได้ยังไง”

    ความรับผิดชอบของรัฐ

    กนกวรรณกล่าวว่า “ถ้าพูดจากใจก็ดีใจนะว่าเราก็ได้พาเขามาแบบออกจากวิถีชีวิตที่เขามันวนเวียนอยู่ตรงนั้น ให้เขามาเรียนรู้อีกที่นึง มันก็เป็นอีกบันไดขั้นหนึ่ง ที่จะเปิดโอกาสให้เขาไปเรียนรู้ตามช่วงวัย ไปเจอสิ่งใหม่ ๆ ถ้าใจจริงก็อยากจะขยับขยายเขา ให้เขาเข้าไปเรียนอยู่ในระบบการศึกษาให้ได้ อย่างน้อยก็ให้เขามีวุฒิ ที่จะไปเติบโตในสังคมอนาคตตามทางที่เขาเลือก”

    กนกวรรณมองว่ารัฐต้องมองบริบทตามความเป็นจริง ไม่ใช่การยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว 

    “คือมันมีเด็กกลุ่มนี้ที่อยู่ในชุมชนในสังคมไทย ถึงแม้ว่าพ่อแม่เขาจะไม่ใช่คนไทย การที่มีนโยบาย Education for all ที่เด็กทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยจะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นนั้น ยังมีเด็กหลายคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เด็กหลายคนเข้าไปสมัครในโรงเรียนเทศบาลใกล้บ้าน แต่พอโรงเรียนขอเอกสารของผู้ปกครอง ผู้ปกครองไม่มีแล้วทำยังไงต่อ มันไม่มีคนที่เป็นตัวกลางหรือโรงเรียนเองก็ไม่ได้บอกช่องทางว่าให้เขาทำยังไง หาปลายทางที่ให้ลูกเขาเข้าไปเรียนในโรงเรียนได้ โอกาสทางการเรียนรู้การเติบโตตามวัยเขามันก็หมดไป ภาษาไทยเขาก็พูดไม่ได้ พอไปเจอตำรวจก็กลัว เพราะรู้สึกว่าอยู่ในแผ่นดินนี้อย่างไม่ถูกกฎหมาย ถ้ามันเป็น Education for all จริง ๆ ก็ควรให้สิทธิ์เด็ก แล้วก็เปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปเรียนในระบบที่มันเป็นธรรมและเท่าเทียมทุกคน”

    Related

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...