‘เมื่อโรงงานคือท้องถนน’ อุบัติเหตุ สุขภาพ และความไม่มั่นคงของแรงงานแพลตฟอร์ม

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 Thai Worker Justice for All ร่วมกับ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เปิดเวทีเสวนา “งานแพลตฟอร์ม อุบัติเหตุ สุขภาพ และความไม่มั่นคง” ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ จ.เชียงใหม่ 

งานเสวนาดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการวิจัย “อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร ภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม” โดย พฤกษ์ เถาถวิล และ วรดุลย์ ตุลารักษ์ รวมไปถึงการร่วมแบ่งปันข้อเสนอแนะโดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ดำเนินรายการโดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล

การขับเคี่ยวแรงงานแบบเลี่ยงบาลี ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นผู้รับจ้าง(ไม่)อิสระ

พฤกษ์ เถาถวิล มองว่าการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีแรงงานแพลตฟอร์มต้องประสบ ไม่ได้มาจากความประมาทของแรงงานแพลตฟอร์มเท่านั้น จากเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีปัจจัยทำให้เกิดพฤติกรรมการขับขี่ที่อันตราย


พฤกษ์ เถาถวิล

พฤกษ์ ยกทฤษฎี “กระบวนการแรงงาน” (Labor Process Theory) ขึ้นมาใช้ในการวิจัยดังกล่าว ซึ่ง พฤกษ์ เชื่อว่าทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ อันนี้จะช่วยเจาะผ่านมายาคติที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของระบบแพลตฟอร์ม ซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีในการช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นได้

“สิ่งที่ทุนทำมาตลอดในประวัติศาสตร์ คือพยายามหาวิธีสร้างกำไรมากขึ้น สะสมทุนมากขึ้น อย่างหนึ่งที่ทำคือการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ แต่อีกแง่หนึ่ง มันเป็นเครื่องมีที่ช่วยให้ทุนได้กำไรจากการทำงานของแรงงานมากขึ้น”

อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นนี้ พฤกษ์ พบว่า 2 ใน 3 ของผู้สัมภาษณ์ที่เป็นแรงงานแพลตฟอร์ม 40 คน เคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน นำไปสู่ข้อสรุป 3 ข้อ ที่ทุนใช้ผลักดันแรงงานแพลตฟอร์มในการทำงาน ได้แก่

1. ทุนผลักให้แรงงานกลายเป็น “ผู้รับจ้างอิสระ” ซึ่ง พฤกษ์ มองว่านี่เป็นกระบวนการที่ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจโดยทุนแพลตฟอร์ม โดยชี้ว่าในปัจจุบัน กฎหมายแรงงานกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการหากำไรโดยกลุ่มทุน กระบวนการดังกล่าวจะทำให้กลุ่มทุนแพลตฟอร์มสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อแรงงานของตนได้ ด้วยการแสดงตนเป็น “ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี” ที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้บริโภคและแรงงานแพลตฟอร์ม โดย พฤกษ์ ย้ำว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีตั้งแต่ตอนที่แรงงานแพลตฟอร์มดาวน์โหลดและสมัครแอปพลิเคชั่น ซึ่งหมายความว่าในทางนิติกรรม แรงงานแพลตฟอร์มไม่เคยเป็นลูกจ้างของผู้ประกอบการคนใดเลย

“เขาเขียนไว้หมดเลย ว่าพวกคุณไม่ใช่ลูกจ้างเขา พวกคุณเป็นผู้รับจ้างอิสระ เขาเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี เขามีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ นานาได้”

2. แพลตฟอร์มเลือกใช้การจ่ายค่าแรงแบบรายชิ้น โดยการจ่ายค่าแรงรูปแบบดังกล่าวจะช่วยให้ทุนสามารถใช้งานแรงงานแบบหลีกเลี่ยงการจำกัดชั่วโมงการทำงานของกฎหมายแรงงานได้ ซึ่ง พฤกษ์ เชื่อว่าเป็นการคำนวนจากฐานเงินเดือน นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องมือให้แพลตฟอร์มสามารถกำหนดผลผลิตที่ตนต้องการในแต่ละกรอบเวลาได้ ยิ่งไปกว่านั้น การจ่ายค่าแรงแบบรายชิ้นยังมีผลในทางจิตวิทยาด้วย

“เวลาเราทำงาน เราก็จะเอาเป้ามาตั้งใช่ไหม ว่าวันนี้เราอยากจะได้สัก 400 – 500 แล้วเราก็วิ่งทำจำนวนรอบให้ได้ การจ่ายค่าแรงแบบรายชิ้นเลยกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ”

3. การจัดการโดยอัลกอริทึ่ม ที่มีหน้าที่ในการสั่งงาน โดยมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่ตัวอัลกอริทึ่มถูกโปรแกรมไว้ให้รวบรวมจากการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์ม นั่นหมายความว่าแม้ในเงื่อนไขการสมัครจะยืนยันว่าแรงงานแพลตฟอร์มไม่ใช่ลูกจ้าง เป็นผู้รับจ้างอิสระ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การทำงานของแรงงานแพลตฟอร์มจะถูกบันทึกไว้ด้วยอัลกอริทึ่มเดียวกันกับที่ใช้แจกจ่ายงาน กลายเป็นจุดที่บังคับแรงงานแพลตฟอร์มให้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต่างอะไรจากการเป็นลูกจ้างประจำรายเดือน

“ใครที่เป็นเด็กดีที่สุด ขยัน ทำทุกอย่างที่เจ้านายสั่ง คุณก็จะได้งาน ในทางกลับกันถ้าคุณไม่เป็นเด็กดีของอัลกอริทึ่ม คุณก็จะไม่ได้งาน”

แรงงานแพลตฟอร์มกับสิทธิตามการคุ้มครองแรงงาน และอุบัติเหตุบนท้องถนน

วรดุลย์ ตุลารักษ์ เผยถึงแรงจูงใจในการทำวิจัยชิ้นดังกล่าว จากเหตุการณ์ที่ตนต้องเสียคนรู้จักไปจากอุบัติเหตุกับแรงงานแพลตฟอร์ม รวมถึงแบ่งปันข้อมูลจากการสัมภาษณ์แรงงานแพลตฟอร์ม วรดุลย์ พบว่ามีแรงงานแพลตฟอร์มหลายคนประสบกับอุบัติเหตุ บางรายถึงขั้นทุพลภาพ ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับแรงงานแพลตฟอร์มที่ วรดุลย์ ได้สัมภาษณ์นั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทของแรงงานเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันคือการที่แพลตฟอร์มไม่ได้รับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับตัวแรงงานเลย


วรดุลย์ ตุลารักษ์

วรดุลย์ ชี้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนมากมาจากปัจจัยโครงสร้างการทำงานที่บีบบังคับให้แรงงานแพลตฟอร์มต้องขับขี่อย่างเร่งรีบ ซึ่งป้องกันไม่ได้ด้วยการใส่หมวกกันน็อค หรือการอบรมกฎจราจร เพราะสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน รวมไปถึงความเร่งรีบที่จะต้องทำรอบการส่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจจนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งความเร่งรีบและการทำงานเป็นเวลานานนี้ก็เกิดมาจากแรงจูงใจของแรงงานแพลตฟอร์มที่ต้องการรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ความเกรงกลัวในบทลงโทษ ความหวังที่จะให้อัลกอริทึ่มจดจำการทำงานของตน หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงในค่าตอบแทนที่ทุนแพลตฟอร์มเป็นผู้ควบคุม

วรดุลย์ เสนอว่าการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่แรงงานแพลตฟอร์มต้องประสบพบเจอหรืออาจจะเป็นคนก่อได้ ทั้งการอนุญาตให้ลาป่วยพร้อมค่าจ้าง การอนุญาตให้ลาคลอดบุตร 90 วัน หรือการลาหยุดในกรณีต่างๆ จะทำให้แรงงานแพลตฟอร์มสามารถปฎิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนี่เป็นจุดประสงค์หลักของงานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่ตนพยายามผลักดัน

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกข้อเสนอ 3 ข้อ ข้อแรกคือการจับตาดูแนวโน้มของรัฐไทยในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ข้อสองคือการจัดการกับความเสี่ยง ว่าตัวแพลตฟอร์มควรเป็นผู้จัดการจัดหารวมถึงออกค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตแก่แรงงานแพลตฟอร์ม หรือรัฐเองต้องจัดการบรรจุประเด็นดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบกฎหมาย ที่จะจัดหาประกันชีวิตแก่แรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการทำงาน และข้อสุดท้าย ดร.ทศพล เสนอว่าต้องตรวจสอบว่าการลบงบประมาณของรัฐในการดูแลลูกจ้าง ถูกนำไปใช้จ่ายในส่วนใดแทน 

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอแนวคิดที่ตนเคยได้ยินมา ว่า “ไรเดอร์ไม่ใช่แรงงาน” เพราะคำนิยามของแรงงานคือกลุ่มคนที่ไม่มีต้นทุนการผลิต แต่ไรเดอร์หรือแรงงานแพลตฟอร์มมียานพาหนะของตัวเองเป็นแรงงานผลิต ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตนคัดค้าน เพราะถ้าย้อนกลับไปที่คำนิยามของความเป็น “แรงงาน” คือกลุ่มคนที่ไม่มีต้นทุนการผลิตจริง แต่ผลของการไม่มีต้นทุนการผลิตก็เป็นส่วนสำคัญของการนิยามคำว่า “แรงงาน” เช่นกัน โดย เก่งกิจ ชี้ว่าแรงงานไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ไม่มีต้นทุนการผลิต แต่เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถควบคุมกระบวนการการใช้แรงงานได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่มีต้นทุนการผลิตตามที่ “แรงงาน” เคยถูกนิยามไว้ในอดีต แต่ในปัจจุบัน แม้แรงงานแพลตฟอร์มจะมีต้นทุนการผลิตอย่างยานพาหนะของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมกระบวนการการใช้แรงงานของตัวเองได้ ผ่านการใช้งานอัลกอริทึ่มของตัวแพลตฟอร์มเอง ที่เป็นกลไกการควบคุมกระบวนการการใช้แรงงานของแพลตฟอร์ม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชู 3 ประเด็นสำคัญที่ตนเห็นในงานวิจัยชิ้นนี้ ประเด็นแรกคือการเข้าใจว่า “แรงงาน” ไม่เท่ากับ “พาร์ทเนอร์” ซึ่งสถานะของแรงงานแพลตฟอร์มในปัจจุบันมักทำให้เกิดการถกเถียงว่าแท้จริงแล้ว แรงงานแพลตฟอร์มเป็นแรงงานในส่วนของการ “จ้างทำของ” ไม่ใช่ “แรงงาน” ซึ่งหมายความว่าผู้ถูกจ้างนั้นมีอิสระในการทำงานในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน มีความพยายามในการพิสูจน์ว่าแรงงานแพลตฟอร์มนั้นมีสถานะเป็น “แรงงาน” แม้ว่าข้อบังคับจากแพลตฟอร์มจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็ตาม ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าว ประเด็นถัดมาคือภาวะเสี่ยงภัยและความไม่มั่นคงในการปฎิบัติงานของแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่ง สมชาย เชื่อว่าในเรื่องนี้ยังไม่ถูกมองเห็นเท่าที่ควร โดยงานวิจัยชิ้นนี้ก็มีส่วนช่วยให้ภาวะเสี่ยงภัยและความไม่มั่นคงถูกมองเห็นมากยิ่งขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือการผลักภาระของนายจ้าง ซึ่ง สมชาย มองว่าทั้งสามประเด็นนั้นเชื่อมโยงกัน



หลังจากนั้น ได้มีการพูดคุยกับแรงงานแพลตฟอร์มในจังหวัดเชียงใหม่ ถึงประเด็นที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน รวมไปถึงการที่แพลตฟอร์มเข้ามาควบคุมกำหนดให้ไรเดอร์ต้องทำงานหนักขึ้น หลายคนต้องเร่งทำคะแนน และหลายคนต้องเผชิญกับอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ซึ่งบริษัทแพลตฟอร์มไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ รวมไปถึงข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคประชาสังคม โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์ม รวมถึงลดความเสี่ยงและความไม่มั่นคงในการปฏิบัติงานต่อไป



สามารถรับชม Facebook Live ย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/mvNKQd87go/?mibextid=cr9u03 และ https://fb.watch/mvNLJ5ebj0/?mibextid=cr9u03

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง