เมษายน 27, 2024

    “ถ้าไม่ไป ก็เสียชาติเกิด” Side Story 50 ปีนักเรียนภาคเหนือกับประชาธิปไตยในเดือนตุลา

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    เรานัด ‘สุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์’ ที่สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ สถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำของผู้คนหลายช่วงวัยมาร่วม 50 ปี จนถึงวันนี้สวนอัญญายังคงทำหน้าที่เป็นทั้งสถานที่จัดกิจกรรมทางสังคม รวมไปถึงการเป็นที่นัดพบปะมิตรสหาย โดยเฉพาะกับเหล่านักศึกษา นักเรียน ที่มีประสบการณ์และความทรงจำร่วมในช่วงปี 2516-2519

    เมื่อปฏิทินเวลาเดินทางถึงเดือนตุลาคม ภาพการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อหลุดพ้นจากวงจรของเผด็จการทหารในปี 2516 ก็หวนกลับมาให้นึกคิดถึงเรื่องราวในเวลานั้นเป็นอัตโนมัติ ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว 14 ตุลา 16 ของนักศึกษา ประชาชนในภาคเหนือก็มีการบันทึกไว้ว่ามีการเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่เราสงสัยคือตอนนั้นนักเรียนในภาคเหนือมีส่วนในการเคลื่อนไหวยังไงบ้าง?

    สุทธิศักดิ์ ในวันนี้เป็นแพทย์แผนจีน แต่ย้อนไป 50 ปีที่แล้ว สุทธิศักดิ์เป็นนักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและก้าวออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาและประชาชน ด้วยความเชื่อว่าอยากเปลี่ยนแปลงสังคม มาวันนี้แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 50 ปี เรื่องราวที่สุทธิศักดิ์กลั่นจากความทรงจำว่าด้วยวีรกรรมของนักเรียนก็ยังถูกพูดถึงไม่มาก ถือเป็น Side Story ของการเมืองเดือนตุลานอกกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

    ก่อน 14 ตุลา 2516 ตอนนั้นนักเรียนเป็นยังไงบ้าง

    นักเรียนเรายังเป็นเยาวชนรุ่นเล็กอยู่เลย ไม่ใช่เด็กโต และเราอยู่ตามโรงเรียน เราก็เป็นไปตามครรลองของโรงเรียน แต่สิ่งที่ทำให้เราทึ่งคือโรงเรียนที่เขามีกิจกรรมทางสังคมทำ อย่างโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ เขามีชมรมโรตารี ให้เด็กนักเรียนออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียนได้ ขณะที่ผมเรียนอยู่มงฟอร์ตวิทยาลัย ไม่มีกิจกรรมแบบนั้นให้ทำเลย มีแต่ชมรมยุวเกษตรกร ซึ่งไม่มีอะไร พอถึงเวลาก็ไปจัดงาน ทำสวน มันมีแค่นั้น

    แล้วตอนหลังเราก็ไปอยู่ชมรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่สุดท้ายก็ใช้พื้นที่ของชมรมในการพูดคุยการเมืองกันบ้างเล็กน้อย แต่อันนี้คือก่อน 14 ตุลา ซึ่งมันไม่มีอะไรเลย

    เริ่มมาสนใจการเมืองช่วงไหน

    มันก็สนใจอยู่แล้ว แต่พอย้อนคิดว่าตอนนั้นเราได้รับผลกระทบยังไงกับเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองบ้าง? ก็ต้องบอกว่าเราได้รับผลสะเทือนมาจากภายนอก ก็คือว่าก่อน 14 ตุลา มันมีการเคลื่อนไหว ของพวกพี่ ๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เขาก็เริ่มมีการจัดชุมนุมที่ประตูท่าแพ หัวข้อที่โดนใจเรามากคือ กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร เนื่องจากบ้านผมใกล้ประตูท่าแพ ผมก็ชอบไปฟังตอนเย็น ๆ 

    ช่วงนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มจัดเวทีปราศรัยในมหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มเคลื่อนออกไปพูดกันในเมืองเชียงใหม่ คนก็เริ่มออกไปฟังกัน เป็นหัวข้อที่ทุกคนฟังแล้วก็รู้สึกว่า “เออ ใช่” คือบรรยากาศก่อน 14 ตุลาคม มันเป็นการบริหารประเทศแบบครอบครัว 3 คน จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจร ที่สืบทอดอำนาจมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงเลย แล้วมันปะทุมาจากกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร พอนักศึกษาจัดเวทีผมก็ตามไปฟัง เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมไปด้วย บางทีเขาให้เราไปเป่าแตร เราเป่าเป็นก็ไปช่วย จำได้เลยว่าเป่าเพลงสยามานุสติ “เพลงหากสยามยังอยู่ยั่งยืนยง ใครรานใครรุกด้าวแดนไทย” เพลงนี้เลย โรงเรียนเราสอนเล่นอยู่แล้ว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มันก็เลยมีเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ขึ้นมา 

    ในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีขบวนใหญ่รอบเมืองเลย นักศึกษามากันเยอะมาก ประชาชนก็มากันเต็มไปหมด

    จนเกิดเหตุการณ์ยิงกันที่กรุงเทพฯ ศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือเขาขอความร่วมมือมาในตอนนั้น ขอให้นักเรียนแต่ละชั้นไปร่วมชุมนุมรวมตัวกันในวันที่ 15 ตุลา ไปชุมนุมที่สนามกีฬาเทศบาลเชียงใหม่ ตอนนั้นนักเรียนแตกตื่นกันมาก ส่วนใหญ่ที่ไปก็คือพวกพี่ตัวโต ๆ มศ.4 มศ.5 เขาโตกว่าเรา มีมอเตอร์ไซค์ ก็ขี่ไปกันเลย ขณะที่เรารุ่นเด็กกว่า มศ.3 ตัดสินใจกันไม่ถูกว่าจะไปหรือไม่ไป สับสนมากไม่รู้จะไปยังไงด้วย ก็เลยไปยืนออกันอยู่ที่หน้าโรงเรียน ตอนนั้นมีมาสเตอร์ที่ยืนเฝ้าประตูโรงเรียนอยู่ ผมเลยถามว่า

    “มาสเตอร์ครับ โรงเรียนเราจะไปเข้าร่วมหรือเปล่า” 

    แกก็ชี้หน้าว่า

    “ถ้าไม่ไป ก็เสียชาติเกิด เด็ก ๆ รุ่นมึงทั้งนั้น”

    ประโยคนี้ทำเราสะดุ้งเลย พวกเราที่อยู่หน้าประตูโรงเรียนเลยตัดสินใจไปกัน พอถึงสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็เห็นนักเรียนหลายโรงเรียนเลยยืนกันเต็มไปหมด ทั้งนักเรียนหญิง นักเรียนชาย เต็มสนามฟุตบอล ซึ่งเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุด

    แต่ปรากฏว่าตอนนั้นผู้นำนักศึกษาก็เกือบจะไม่มีแล้ว เพราะว่ามีข่าวประโคมว่า มีการจับผู้นำนักศึกษา นักศึกษาหลายคนเริ่มหลบออกจากพื้นที่ชุมนุม คราวนี้ก็เหลือแค่พวกเรานักเรียนและนักศึกษาเล็กน้อยไม่เยอะมาก เด็กโต ๆ หน่อย ก็ไปคุมเวที ส่วนใหญ่กิจกรรมของเราก็คือรับบริจาคเงิน รับบริจาคโลหิต ก็อยู่กันจนมีข่าวว่าทหารจะมีบุกสลายเหมือนที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีอะไร และเราก็สลายตัวกันไป ซึ่งทุกโรงเรียนก็กลับไป

    เหมือนเห็นร่วมกันแล้วว่านักเรียนต้องเคลื่อนไหวไปกับนักศึกษา

    ประเทศไทยมันไม่ไหวแล้ว เราถูกปกครองด้วยเผด็จการ สังคมทั่วไปก็เห็นพ้องกันหมดว่าต้องจัดการ ไม่มีข้อแม้ เห็นร่วมกันแล้วว่ามันไม่ได้ และยิ่งเกิดการเรียกร้องของนักศึกษาต้องการได้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่รัฐกลับมาปราบปรามและจับกุม อย่างนี้คงไม่มีใครเห็นด้วย มันชัดแล้วว่าคนไทยไม่เอาระบอบแบบนี้

    “ทุกคนมันเข้าร่วมหมดเลย ไม่มีข้อแม้ ไม่มีคำถาม” หลังจากเหตุการณ์นั้นผมก็สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น

    หลัง 14 ตุลา 2516 คุณทำอะไรบ้าง?

    ช่วงปลายปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเลย สหพันธ์นักศึกษาเสรีเขามาจัดนิทรรศการที่โรงเรียนมงฟอร์ต ตอนนั้นพี่ ๆ นักศึกษาจากกรุงเทพฯ เขาเดินสายไปตามโรงเรียน เพื่อเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมาปลุกสำนึกประชาธิปไตย ตอนนั้น ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ มาด้วยนะ ผมจำเขาได้เพราะเขาชอบใส่หมวก เขาก็มาขอใช้ใต้ถุนของโรงเรียน มีหนังสือมาจากศูนย์กลางนักเรียนที่กรุงเทพฯ มาแจกด้วยนะตอนนั้น หนังสือศึก หนังสือสมานมิตร ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ เราก็เลยมีหนังสืออ่าน

    วิธีการคือเขามาปราศรัย แล้วก็ทิ้งหนังสือไว้ให้เราอ่าน ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักนักศึกษาในเชียงใหม่ด้วยซ้ำไปว่ามีใครบ้าง เราก็ได้เริ่มเผยแพร่และแจกจ่ายหนังสืออ่านกันไป นี่ก็คือบรรยากาศภายหลังจาก 14 ตุลา

    แน่นอนว่าช่วงเวลานั้นก็ทำให้พวกเรานักเรียนสนใจการเมืองมากขึ้น ได้อ่านหนังสือความคิดทางการเมือง แนวทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่มากกว่าเดิม เราก็หาอ่านเอง ช่วงนี้เองก็มีการก่อตั้งศูนย์กลางนักเรียนเชียงใหม่ นำโดยกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ แล้วก็ขยายไปอีกหลายโรงเรียน มงฟอร์ตก็เข้า ปรินส์รอยแยลส์ก็เข้า สาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มาด้วย จนกระทั่งพอปิดเทอมฤดูร้อนเดือนมีนาคม 2517 มีโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ตอนนั้นก็จะมีการจัดการเลือกตั้ง โครงการของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ให้มีการเตรียมการเลือกตั้งคือต้องรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศไทยเข้าใจการเลือกตั้งว่าต้องทำยังไง รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยด้วย เราเรียกค่ายนั้นว่า “ค่ายหนองกระทิง”

    ตอนนั้นมีการติดต่อโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ 6 จังหวัดไปเข้าร่วม ตอนนั้นเขาติดต่อผ่านทางโรงเรียนที่มีประธานนักเรียน สภานักเรียน แต่มงฟอร์ตปีนั้นยังไม่มีสภาและประธานนักเรียน เขาจึงส่งมาที่ชมรมวิทยาศาสตร์ที่มีความ Active ที่สุดในเวลานั้น จึงมีการส่งตัวแทน 2 คนไปร่วม

    ค่ายนั้นเป็นหมุดหมายสำคัญของพวกเราเลยนะ ชื่อค่ายเต็ม ๆ ชื่อ ค่ายอบรมผู้เผยแพร่ประชาธิปไตย จัดที่สวนหนองกระทิง จังหวัดลำปาง ที่เรียกกันว่าค่ายหนองกระทิงนั่นแหละ ตอนนั้นพี่ ๆ จากกรุงเทพฯ ที่มาก็จะมาจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รามคำแหงด้วย มีพี่มนัส จินตนะดิลกกุล, พี่กุลชีพ วรพงษ์, พี่อ้วนวัฒนชัย เวชยชัย(ภูมิธรรม เวชยชัย) แล้วก็มี ธวัชชัย หทัยปราชญ์ , บุญชัย มหัทธนัญชัย, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจฉัยกุล ที่มาจากศูนย์นักเรียนกรุงเทพฯ

    เชียงใหม่ก็น่าจะร่วม ๆ 30 คน ก็ไปเกือบทุกโรงเรียน มีลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน กิจกรรมคือการศึกษาหลักพื้นฐานประชาธิปไตย การอบรมเน้นที่ให้ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยคืออะไร เน้นไปที่การลงคะแนนโดยการกาบัตรเลือกตั้ง และเลือกคนที่เหมาะสมมาเป็นผู้แทนเราได้อย่างไร เรียนรู้กว่า 2 อาทิตย์เลย หลังเสร็จค่ายนี้นักเรียนที่มาเข้าร่วมอบรมก็ออกไปเผยแพร่ต่อตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดของตัวเอง เชียงใหม่เราพิเศษมากเลยนะตอนนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด(อาษา เมฆสวรรค์) ให้รถจิ๊บแลนด์โรเวอร์พร้อมคนขับไปช่วยออกหน่วยเลยนะ ตอนนั้นเราใช้เวลาเกือบ 2 อาทิตย์ ตระเวนออกไปฉายสไลด์ ฉายหนัง ได้รับความสนใจมาก แต่บางอำเภอก็แปลกใจอย่างที่ อำเภอแม่แจ่ม เราไปในวันเสาร์อาทิตย์ไม่มีใครอยู่อำเภอเลย โรงพักยังไม่มีตำรวจเลย เราก็ประกาศเลยว่าเราจะมาเปิดเวทีที่ลานหน้าอำเภอข้างน้ำแม่แจ่ม คนก็มาฟังเต็มลานนะ ทีแรกเขานึกว่าจะมีหนังมาฉาย(ฮา)

    ถือว่าค่ายหนองกระทิงเป็นสถานที่บ่มเพาะเลยใช่ไหม

    ใช่เลย แล้วหลังจากที่ตระเวนเผยแพร่ประชาธิปไตยเราก็มีสรุปงานบนผาลาด เนื่องจากคนทำงานส่วนใหญ่เป็นนักเรียนรุ่นพี่หน่อย ผมนี่เด็กกว่าเขา ตอนนั้นพี่เขาก็พูดกันว่าต่อไปจากนี้ไปจะตั้งศูนย์นักเรียนตามจังหวัดต่าง ๆ เราก็มีพื้นฐานอยู่แล้ว จากการที่ติดต่อประสานกัน แต่โรงเรียนผมนี่แหละ ไม่มีประธานนักเรียน ไม่มีสภานักเรียน ก็มีแค่ในนามชมรมวิทยาศาสตร์

    โดยมติตอนนั้นที่ผาลาด ก็คือให้ไปตั้งศูนย์นักเรียนทุกจังหวัดในภาคเหนือ เชียงใหม่มีพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะทุกโรงเรียนมาเจอกันบ่อย เวลาเรียกประชุมจะง่าย เรียกประชุมไม่ได้ส่งไปสภานักเรียนนะ ส่งไปที่ครูใหญ่เลย ทุกโรงเรียนก็สนับสนุนอยู่แล้ว ที่มงฟอร์ตก็ใช้เป็นพื้นที่ประชุมกันหลายครั้ง ก่อนที่ต่อมามงฟอร์ตจะมีการเลือกตั้งประธานกับสภาเหมือนกับเขาเสียที

    เหตุการณ์ 14 ตุลา ครบรอบ 1 ปี พวกเราก็รวมตัวกันจัดงานครบรอบ 1 ปี 14 ตุลาที่พุทธสถาน ทุกโรงเรียนก็มาเข้าร่วมหมดเลยนะ อำเภอฝาง อำเภอจอมทอง ยังมาเลย หลังจากนั้นเราก็เริ่มรู้จักกับพี่ ๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะว่าเราจะทำอะไรเราก็ต้องบอกเขา มันก็เริ่มมีการร่วมมือ มีการช่วยเหลือ เช่น จัดหาทุนให้ จัดฉายหนัง เล่นดนตรี ตอนนั้นบังคับขายบัตรเลยนะ หนังหรือเพลงฟังดูไม่รู้เรื่อง ออกมาเขาก็ส่ายหน้ากันหมด(ฮา) หลังจากนั้นก็จะมีกิจกรรมพิมพ์หนังสือ ก็เริ่มจากพี่ ๆ นักศึกษาพวกนี้แหละ เขาก็จะมีการให้ต้นฉบับเรามา เอาไปพิมพ์แจกบ้างขายบ้าง

    นอกจากนี้แล้วปี 2517 มีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ศูนย์นักเรียนทำอีกไหม เพราะมีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก

     2517 ทุกอย่างที่เราทำมามันก็ดีนะ เยอะจริง ๆ หนีเรียนก็มีบ้าง หลังจากนั้นพวกงานของโครงงานชาวนาก็เกิดขึ้น เป็นภารกิจของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ ชาวนามีประท้วงที่ไหนเราก็ไปด้วยเลย ใส่ชุดนักเรียนไปดูแล้วสะอาดเรียบร้อย ตอนนั้นทุกส่วนมันกลมเกลียวกันไปหมด ขบวนการที่เขาเรียกว่าสามประสานนี่ใช่เลย ในภาคเหนือชาวนาเยอะมากที่ถูกกดขี่จากเจ้าของที่ดิน พอเขาเข้าใจเรื่องกฎหมายค่าเช่านา รู้เรื่องสิทธิต่าง ๆ มันเป็นการปลุกเขาเลย ชาวนาเลยออกมาประท้วงตลอด ขบวนการชาวนาชาวไร่แข็งแกร่งมาก จำนวนคนร่วมแสนครอบครัว

    มีอีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง น่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม ปี 2517 นี่แหละ  ทางศูนย์กลางนักเรียนเชียงใหม่ได้รับการประสานงานว่าวงกรรมาชนจะมาเล่นที่เชียงใหม่  และเลือกที่จะเล่นที่ลานท่าแพ แล้วให้ทางนักเรียนเชียงใหม่ช่วยจัดสถานที่สำหรับเล่นดนตรีให้ด้วย เวลานั้นเราไม่มีประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับการจัดเวทีสำหรับแสดงดนตรี  ไม่มีเงินทองอะไร   ผมคิดขึ้นมาอย่างด่วน ๆ  ว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกันเราไปขอยืมรถแห่ครัวทานของวัดมาตั้งเป็นเวทีดีกว่า แต่จะยืมวัดไหน พอดีว่าที่พี่เขยที่มาจีบพี่สาวผมบ่อย ๆ เป็นคนวัดพวกเปียอยู่แถวถนนทิพย์เนตร  พ่อแม่ก็เป็นศรัทธาใหญ่ของวัด  ผมก็เลยวานว่าที่พี่เขยไปขอยืมรถแห่ของวัดให้ พอได้ผมก็ชวนเพื่อนมงฟอร์ตไปเข็นมาจากวัด  ซึ่งใช้คนเป็น 10 คน เพราะได้รถแห่สองคัน  คนที่พอขับรถเป็นก็ทำหน้าที่คุมพวงมาลัย ก็เลยเป็นพวกนักเรียนมงฟอร์ตกับเพื่อนของว่าที่พี่เขยช่วยกันเข็นมา เราเข็นด้วยเท้าจากวัดมาตามคูเมืองด้านนอก  พอถึงลานท่าแพเราก็เข็นขึ้นไปเลย  เอารถแห่สองคันมาต่อกันเป็นเวที  พอถึงเวลาวงกรรมาชนก็เอารถมาจอดเอาเครื่องตั้งเล่นดนตรีได้เลย  ตอนนั้นมีฉายหนังเหตุการณ์ 14 ตุลาด้วย  คนมาชมและฟังดนตรีแน่นเลย พอดนตรีเลิกตอนดึก  พวกเราเหลือไม่กี่คน น่าจะสัก 7-8 คน เป็นนักเรียนมงฟอร์ตล้วนก็ช่วยกันเข็นรถกลับไปคืนวัด  เข็นไปทั้งที่ถนนมืด ๆ อย่างนั้น ก็น่ากลัวไม่น้อย เพราะรถของวัดแบบนี้เขายังใช้สำหรับแห่ศพไปสุสานด้วย

    แถมเพื่อน ๆ ที่มาช่วยงานนี้ก็มีเพื่อนที่เป็นวิศวะคนที่เพิ่งจากไปนี้ด้วยคนหนึ่ง  แล้วก็ยังมีเพื่อนคนอื่น ๆ ที่ผมขอให้มาช่วย  ก็มาช่วยกันเพราะเป็นเพื่อนกันเท่านั้น  พวกเขายังไม่รู้จักเรื่องการเมืองอะไรมากด้วยซ้ำ  ไม่สามารถนับได้ว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่ทำกิจกรรมในปีนั้น นี่จึงเป็นหัวใจที่บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งแอบแฝงใด ๆ ทั้งสิ้น

    แต่ปี 2518 ก็เกิดการลอบสังหารผู้นำชาวนาหลายคน

    เข้าปี 2518 ก็เริ่มน่ากังวลเข้าไปทุกที เพราะว่าผู้นำชาวนาเริ่มถูกลอบยิง ลอบสังหารไปทีละคนสองคน คนที่เรารู้จักก็ถูกยิ่งแล้วตายไป อย่างพ่ออินถา ศรีบุญเรืองที่ถูกยิงนี่เรื่องใหญ่มาก บรรยากาศตอนนั้นมีแต่ความหวาดระแวง สถานการณ์ไม่ค่อยดี แต่เราก็ยังช่วยนะ ตอนนั้นก็มีชุมนุมมีการรณรงค์อยู่

    ช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย มาตั้งสำนักงานอยู่แถวถนนท่าแพ นักศึกษาหลายคนเรียนจบก็มาช่วยงานที่นี่ เขามีแจกหนังสือพิมพ์ฟรี วันละ 3-4 ชุด ผมก็มีหน้าที่ไปรับหนังสือพิมพ์ทุกวัน แล้วก็ไปแจกจ่ายให้กันอ่านในโรงเรียน

    อีกหน้าที่ที่นักเรียนทำคือติดโปสเตอร์ มีการส่งไปดูงานกรุงเทพฯ ด้วยนะ เพราะว่านักเรียนที่ศูนย์กรุงเทพฯ ติดโปสเตอร์กันเก่งมาก ติดแนบผนังให้ใครมาฉีกไม่ได้ พี่ ๆ เขาก็ส่งผมไปดูงาน สมัยนั้นใส่ชุดนักเรียนนั่งรถบัสสีส้ม ไม่มีแอร์ 42 บาท นักเรียนจ่ายครึ่งราคา แล้วก็มีพวกศูนย์นักเรียนกรุงเทพฯ มารับ นั่งไปลงหมอชิต ช่วงนั้นมีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยมหิดล เขาก็พาไปชุมนุมกันที่อาคารสันทนาการ ก็ลองไปติดโปสเตอร์ในวันเสาร์ พอวันอาทิตย์ก็ใส่ชุดนักเรียนตัวเดิมนั่งรถเมล์ส้ม กลับมาเรียนหนังสือ นี่ขนาดนั้นเลยนะ สมัยนั้น จากนั้นเราก็เลยเป็นหน่วยรับติดโปสเตอร์ในเชียงใหม่ เพราะเราก็เป็นคนท้องถิ่นอยู่แล้ว ดึก ๆ เราก็แอบไปติดตอน 4 ทุ่ม

    เคลื่อนไหวกันเยอะมากได้เรียนหนังสือกันบ้างไหม?

    เรียนสิ คือพวกพี่ ๆ นักศึกษาเขาก็พยายามบอกให้เราต้องเรียนนะ มันสำคัญ อย่างช่วงปี 2519 ผมอยู่ ม.ศ.5 ก็ชวนกันมาติวหนังสือนะ อ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทราส์กันไป ช่วงระหว่างเตรียมอ่านหนังสือสอบเราก็ออกไปเคลื่อนไหวกันด้วย ตอนนั้นมีกรณีเรือมายาเกวซ (Mayaquez) ที่สหรัฐอเมริการุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทย เราก็ไปช่วยกันติดโปสเตอร์ในเมืองไปด้วย

    ตอนนั้นก็มีคุยกันด้วยว่า ใครจะเข้าเรียนคณะไหนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. บ้าง แบ่งกันเลยใครจะเข้าแพทย์ วิศวะ เภสัช พยาบาล ที่แบ่งคือจะได้ไปทำงานเคลื่อนไหวสร้างแนวร่วมกันต่อ ที่กรุงเทพฯ พวกนักเรียนที่นั่นก็แบ่งเหมือนกัน แบ่งไปเรียนทั่วทุกภาคเลย

    ปรากฏว่าลงมันหมดทุกคณะเลย การรวมตัวกันของศูนย์นักเรียนเชียงใหม่คึกคักเลย อย่างคณะเภสัชศาสตร์ คนแบบผมที่เป็นนักกิจกรรมก็มี 60 กว่าคนเข้าไปแล้ว เกินครึ่งคือพวกที่เป็น Activists เหมือนกันหมด ช่วงนั้นมารวมกันปี 1 เป็นปีที่แข็งแรง มีบทบาทมาก เราเข้ามหาวิทยาลัยเลยเป็นกำลังหลักเลย

    หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจร ก็กลับเข้าประเทศ ในวันที่ 19 กันยายน 2519 ที่เชียงใหม่เริ่มประท้วงเลยไหม

    พอรู้ว่าถนอนกลับมาก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเลยนะที่เชียงใหม่ มีแคมเปญหยุดเรียนประท้วง เราก็เอาแบบเดิมแบบช่วง 14 ตุลาเลย ประท้วงหยุดเรียน ประกาศเลยนะว่า

    “วันนี้หยุดเรียน ๆ แล้วไปชุมนุม”

    หยุดเรียน แล้วก็พาไปตรงสนามกีฬาวอลเลย์บอลกลางแจ้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราที่เป็นนักศึกษาปี 1 คือทำกันเองหมด ไม่มีใครมาบอก ไม่มีรุ่นพี่แกนนำ แต่เรารู้ว่าต้องทำยังไง แล้วเราก็คุยกันเอง จัดการกันเอง มีการปราศรัย นักศึกษาปี 1 ตั้งวงดนตรีเพื่อชีวิตกันด้วย มีทีมหน่วยการ์ดเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัย อันนี้ก็คือบทบาทในช่วงนั้น แล้วค่อยขยับไปรวมกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่สถานการณ์ก็เริ่มน่าเป็นห่วง เริ่มมีเค้าลางว่าจะเกิดเหตุรุนแรง สื่อก็ทำให้คนไขว้เขว หลายคนก็ไม่กล้าออกมาประท้วง พวกนวพล กระทิงแดง ก็ข่มขู่ มันส่อเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือด

    แล้วในวันที่ 6 ตุลา ที่เชียงใหม่เกิดอะไรขึ้น?

    คือตอนนั้นนักศึกษาที่เป็นแกนนำปราศัยต้องประกาศยุติการชุมนุมเลย กลุ่มฝ่ายชาตินิยมเขารวมตัวกันที่วัดเจดีย์หลวงพร้อมประกาศว่าจะใช้วิธีการขั้นเด็ดขาดในการสลายการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เหมือนม็อบชนม็อบ เขาขีดเส้นตายให้เวลาต้องสลายก่อนเที่ยงวัน ถ้าไม่ทำทำตามที่บอกก็จะเข้าสลาย พี่อ๋อย(จาตุรนต์ ฉายแสง) ประกาศยุติเลย หลังจากนั้นนักศึกษา ชาวนา ส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าเลย ถ้าอยู่อาจตายได้ ตอนนั้นเราเรียกกันว่าพวกแดง แดงคือพวกที่รัฐหมายตัวจะสั่งเก็บ คราวนี้ก็ต้องหนีตายกัน อย่างผมก็ไม่แดง ไม่ถูกหมายหัว แต่ก็ต้องช่วยคนที่แดงด้วย การช่วยเหลือในตอนนั้น คือการขนย้ายคน เอาคนไปฝากตามที่ต่าง ๆ ก่อนจะย้ายเข้าสู่เขตป่า

    ส่วนพวกผมที่ยังอยู่ในเมืองก็ทำหน้าที่ของตัวเองคือเรียนหนังสือกันต่อไป คือหลังจากนั้นบทบาทนักศึกษาก็หายไปเลย ขึ้นมาบนดินไม่ได้ ก็รวมตัวเจอกันแบบหลวม ๆ บรรยากาศทางการเมืองกลับมาเหมือนก่อน 14 ตุลา 2516 เป็นเผด็จการทหาร

    แล้วบทบาทของนักเรียนยังมีไหม

    ในโรงเรียนคือเงียบสนิท เขาก็สกัดไม่ให้นักเรียนทำอะไรพวกนี้เลยเด็ดขาด ที่สำคัญคือพวกผมก็เข้ามหาวิทยาลัยกันหมดแล้ว พวกที่เหลืออยู่ในโรงเรียนก็เหลืออยู่น้อย ก็ยิ่งลดบทบาทกันไปหมด กิจกรรมต่าง ๆ ถูกปิดตายหมด

    พวกผมเองเป็นนักศึกษายังทำอะไรได้ไม่มากเลย เขาจับตาดูหมด เราทำได้แค่หนุนช่วยงานเล็กน้อย เช่น ส่งจดหมาย ส่งของ ให้คนในป่า

    ก็นะ พวกเราก็เป็นกันแบบนี้แหละ

    ถ้ามองกลับไปจากวันนี้ เห็นอะไรบ้างที่เกิดขึ้น

    ต้องแบ่งครึ่ง 40 ปีนี้ แบ่งครึ่ง 20 ปีแรก กับ 20 ปีให้หลัง 20 ปีแรก หลังจากนั้นมา มันก็มีความคิดว่าหลังจากเราออกจากป่า แนวทางต่อสู้ด้วยอาวุธมันไม่ได้แล้ว มันก็เลยกลายเป็นส่วนที่ว่า “ความคิดที่จะต่อสู้กับรัฐมันมีงาน 2 คือ ไปจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน กับทำงานในพรรคการเมือง ใครอยู่ใกล้ทางไหน ก็ไปรวมกับทางนั้น

    ทุกคนก็ยังพยายามเคลื่อนไหว ไปมีบทบาททางการเมือง  หลังจากออกมาป่าทุกคนก็ไปจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ไปเป็น NGO กันเยอะมาก พยายามที่จะสร้างงานใหม่ขึ้นมา ยังเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคม

    สมัยหนึ่งผมเคยทำงานร่วมกับนักธุรกิจใหญ่ของเมืองไทย เราอยู่ออฟฟิศเราก็ประสานงานไปทางนักการเมืองสำนักต่าง ๆ ปรากฎว่าคนที่เป็นที่ปรึกษาของนักการเมือง มันก็คนเดือนตุลาทั้งนั้นแหละ ทุกคนมันก็แล้วแต่ว่าจะถูกพัดพาไปทางไหน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปทำงานในประเทศลาวตอนข้ามโขงกลับมานอนอยู่ที่อุดรธานี ผมก็ได้ยินเสียงคลับคล้ายคลับคลาเหมือนเสียงคนรู้จักผมก็เดินไปดู เอ้า นี่มันเพื่อนที่เรียนมงฟอร์ตมาด้วยกัน

    พวกเราไปทำงานกับใครมันทุ่มเทกันเต็มที่นั่นแหละ เพราะงั้นก็ได้รับความไว้วางใจ รับผิดชอบงานสำคัญ ๆ ผมเลยไม่ค่อยติดใจเท่าไหร่ เวลาที่เห็นคนเดือนตุลาไปอยู่ตรงไหนในสนามการเมือง มันแล้วแต่บริบทของแต่ละคน มันไปไหนก็ไป จะทำอะไรก็ทำ พอเจอกันมีอะไร ก็ช่วยหนุนกัน พูดคุยปรึกษาหารือกัน อย่างผมจะไม่มองว่า คนนี้ไปอยู่กับทั้นั่น ไอ้นี่ไปอยู่กับที่นี่ ผมก็คิดว่ามันแล้วแต่คน เราไม่ได้รับผิดชอบชีวิตใคร และเราไม่ได้เป็นขบวนการแบบเดิมอีกแล้ว เราจะไปสั่งใครได้ มันก็แล้วแต่ละคนว่า เอาตัวให้รอดอันดับแรก หลังจากนั้นก็มาอุ้มชูช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องไปกำหนดหรือขีดเส้นว่าคุณไปอยู่กับทางโน้นเป็นแบบนี้นะ เป็นแบบนั้นนะ

    แสดงว่าการถนอมน้ำใจกันเป็นสิ่งจำเป็นมากในตอนนี้

    ผมยอมรับทุกคนนะ แล้วผมไม่ว่าด้วย คือขอแต่ว่าอย่างทุกวันนี้คุณจะขึ้นเป็นรัฐมนตรี ยิ่งดีเลย อย่างพี่อ้วน ภูมิธรรม ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมเหมือนกัน

    ผมว่าเรื่องของการเชิดชูจิตใจ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เป็นเรื่องที่ดีต้องยึดถือไว้เลย ผมว่าจิตใจแบบนี้มันเป็นจิตใจของพวกเราทุกคน ฉะนั้นอย่าไปว่ากันแบบสาดเสีย เราต้องนึกถึงสิ่งที่เราทำร่วมกันมาในวันนั้น ซึ่งวันนั้นที่ผ่านมามันก็ไม่ใช่วันนี้ ในวันนั้นเราไม่มีอะไรสักบาท เราไม่มีอะไรในกระเป๋าเลย พวกนักเรียนก็มีแค่เงินที่พ่อแม่ให้ไปโรงเรียนเท่านั้นแหละ ก็ควักเงินออกมาหนึ่งบาทไปร่วมกับเขา คือทุกคนไปด้วยใจแบบนี้จริง ๆ เสียการเรียนด้วย แต่ตอนนั้นคือทุกคนอยากทำ สมัยตอนเป็นเด็ก ๆ อายุ 10 – 21 ปี ก็ไปเสี่ยงอันตรายด้วยกันมาแล้ว

    “สหาย” คือคนที่ตายแทนกันได้ นี่คือสหาย ไม่ใช่แค่เพื่อน มันมีบทกวีอันนึงของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ชื่อดอกไม้จะบาน “ดอกไม้ บานให้คุณค่า จงบานช้าๆ แต่ว่ายั่งยืน”

    เพราะฉะนั้นเราต้องนึกถึงจิตใจกัน ทุกวันนี้ผมเลยอยากบอกว่า ถึงแม้มันจะมีความเห็นทุกคนที่แตกต่างกัน ผมก็ไม่ว่าอะไร ผมว่าเราฟังกันได้ ไม่ว่ากัน ถ้าคุณไม่อยากฟังความเห็นต่าง ก็ไปจับกลุ่มคุยกับคนที่เห็นเหมือนกันไป คือเราสูงวัยขึ้นแล้ว อย่างที่สวนอัญญา เรือนที่เป็นบ้านของครูองุ่น เราก็ร่วมกันบูรณะใหม่เพราะมันทรุดโทรม ช่วงก่อนมีพี่คนหนึ่งแกไม่สบาย แล้วแกอยากมาที่สวนอัญญา แล้วมันไม่มีที่เอาไว้สำหรับรองรับ ผมก็เลยบอกกับทุกคนว่าเราต้องทำ ทำให้มีการเยี่ยมเยียนกันก่อนที่จะอายุมากกว่านี้ หรือก่อนที่จะมาเยี่ยมกันไม่ไหว มานัดพบปะกันที่สวนอัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องดูแลกันไว้ การดูแลไม่มีอะไรก็คือแค่การถนอมจิตใจกัน การคุยกัน ไม่ต้องไปหักเหลี่ยมหักมุมอะไรกันมากมาย

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...