พฤษภาคม 8, 2024

    ประวัติศาสตร์ประชาชน ครบรอบ 48 ปีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

    Share

    19 พฤศจิกายน 2517  ครบรอบ 48 ปีที่กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” เพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวนาไทย รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ร่วมกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร หรือที่เรียกกันว่า “ขบวนการสามประสาน”


    ย้อนกลับไปในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาที่ดุเดือดและชัยชนะของประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลกระทบให้กับชนชั้นชาวนา ที่ ณ ตอนนั้นถือเป็นจำนวนร่วม 80% ของประชากร กำลังได้รับความยากลำบากจากการ “ไม่มีที่นาทำกิน” เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีดและฉ้อโกงเอาไป ได้มีความหวังแก่ชัยชนะของพวกเขาขึ้นมาบ้าง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนที่เป็น “สันหลังของชาติ” ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

    การชุมนุมในกรุงเทพฯของกลุ่มชาวนาเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2517 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นอย่าง สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ให้ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว ควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง และอัตราค่าเช่านาที่ว่ากันว่ามีนัยสำคัญมากที่สุดที่ส่งผลให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อให้เกิดการแก้ไข

    แต่ท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องต่างๆของชาวนาก็ไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น และแม้รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน (ก.ส.ส.) แต่ที่สุดก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ การรวมตัวชุมนุมในกรุงเทพฯยังคงเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมที่มีความดุเดือดมากที่สุด

    9 สิงหาคม 2517 กลุ่มชาวนาจากหลายจังหวัดเข้ามารวมตัวจัดการชุมนุมอีกครั้งในกรุงเทพฯ พร้อมประกาศว่านี่จะ “เป็นครั้งสุดท้าย” ของการชุมนุมของพวกเขา มิเช่นนั้น พวกเขาจะทำการคืนบัตรประชาชน ลาออกจากการเป็นคนไทย และประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเองโดยไม่ให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และแม้ว่าการกระทำตามที่ประกาศจะทำให้มีความผิดฐานกบฏ ถึงอย่างนั้นตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนได้กว่า 2,000 ใบในช่วงเดือนกันยายน

    และเพื่อให้การรวมตัวดูทรงพลัง 19 พฤศจิกายน 2517 กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” โดยมี “ใช่ วังตะกู” ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานคนแรก นำไปสู่การต่อสู้ร่วมกันกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร ในนาม “ขบวนการสามประสาน”


    นอกจากนี้ การลุกขึ้นสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐและทุน เนื่องจากสหพันธ์ชาวนาได้ก่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และการรวมศูนย์อำนาจในที่ดิน จากการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ 2517 และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 อันเป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนท้องถิ่น

    แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมามาตรการเหล่านี้ก็กลายเป็นเพียงมาตรการในการผ่อนปัญหา ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถแก้ปัญหาให้ชาวนาได้อย่างแท้จริงเลย และที่สุด การเคลื่อนไหวของชาวนาที่ดูแข็งแรงจริงจัง ก็เหมือนว่าจะสร้างความวิตกกังวลไปยังชนชั้น กลุ่มอนุรักษนิยม ไปจนถึงผู้นำระดับท้องถิ่น จนเป็นที่มาของการตอบโต้ที่น่ากลัวยิ่ง นั่นคือการลอบสังหารชาวนา โดยขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย”


    ข้อมูลจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ มีจำนวนชาวนาชาวไร่ทั้งระดับแกนนำและประชาชนรวมแล้วถูกสังหารถึง 46 ราย เมื่อชาวนาถูกตอบโต้ขั้นเด็ดขาด สิ่งนี้ก็เป็นชนวนความรุนแรงต่อเนื่อง ผนวกกับฝ่ายการเมืองก็เกิดความวุ่นวายจึงนำไปสู่ช่องทางของฝ่ายทหารในการเข้ายึดอำนาจ โดยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์ เหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 ตามลำดับ และท้ายที่สุดคือการยุติบทบาทของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ คนสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

    “การต่อสู้เรื่องค่าเช่านาทำให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงกับนายทุนเจ้าของที่ดิน ซึ่งร่วมมือกับกลไกรัฐท้องถิ่น ในขณะเดียวกันภาคนโยบายส่วนบนก็ดูเหมือนกับหลิ่วตาให้ความรุนแรง หรือการไม่แก้ไขปัญหาเหล่านั้นแม้ว่าจะมีพ.ร.บ.ค่าเช่านาแล้วก็ตาม แต่คิดว่าปัญหาใจกลางคือการรับไม่ได้ต่อการลุกขึ้นสู้ของชาวนาชาวไร่” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ริเริ่ม “โครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” กล่าว

    รายชื่อของผู้นำสหพันธุ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างปี 2517-2522 ตามข้อมูลจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

    1. นายสนิท ศรีเดช ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2517 

    2. นายเมตตา (ล้วน) เหล่าอุดม ผู้แทนชาวนา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517 

    3. นายบุญทิ้ง ศรีรัตน์ ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2517 

    4. นายบุญมา สมประสิทธิ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ จ.อ่างทอง ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2518 

    5. นายเฮี้ยง ลิ้นมาก ผู้แทนชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2518 

    6. นายอาจ ธงโท สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ต.ต้นธง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2518 

    7. นายประเสริฐ โฉมอมฤต ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2518 

    8. นายโหง่น ลาววงษ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบตีจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2518 

    9. นายเจริญ ดังนอก สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บในเดือนเมษายน 2518 

    10. นายถวิล ไม่ทราบนามสกุล ผู้นำชาวนา อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2518 

    11. นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนา จ.นครสวรรค์ ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2518 

    12. นายบุญสม จันแดง สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ส่วนกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2518 

    13. นายผัด เมืองมาหล้า ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2518 

    14. นายถวิล มุ่งธัญญา ผู้แทนชาวนา จ.นครราชสีมา ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2518 

    15. นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518 

    16. นายแก้ว ปงซาคำ ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518 

    17. นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 

    18.  นายบุญช่วย ดิเรกชัย ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518 

    19. นายประสาท สิริม่วง ผู้แทนชาวนา จังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518 

    20. นายบุญทา โยทา สมาชิกคณะกรรมกาสหพันธ์ฯ อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518 

    21. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518 

    22. นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ และประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518 

    23. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518 

    24. นายมี สวนพลู สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 

    25. นายตา แก้วประเสริฐ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 

    26. นายตา อินต๊ะคำ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 

    27. นายนวล สิทธิศรี สมาชิกสหพันธ์ฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 (หมายเหตุ – ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2518 ระบุว่าเป็นการถูกยิงครั้งที่ 2 โดยนายนวลเมื่อเดินทางกลับมาจากการชี้ตัวผู้ต้องหา ก็ถูกยิงที่หน้าบ้านและเพื่อนบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล “อาการเป็นตายเท่ากัน” แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเสียชีวิตหรือไม่)

    28. นายพุฒ ทรายคำ ผู้นำชาวนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 

    29. นายช้วน เนียมวีระ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2518 

    30. นายแสวง จันทาพูน รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518 

    31. นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกระเบิดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518 

    32. นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518 

    33. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518 

    34. นายจันเติม แก้วดวงดี ประธานสหพันธ์ฯ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518 

    35. นายลา สุภาจันทร์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่  12 ธันวาคม 2518 

    36. นายปั๋น สูญใส๋ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2519 

    37. นายคำ ต๊ะมูล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2519 

    38. นายวงศ์ มูลอ้าย ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 

    39. นายพุฒ บัววงศ์ ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 

    40. นายทรง กาวิโล ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 

    41. นายดวงคำ พรหมแดง ผู้แทนชาวนา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519 

    42. นายนวล ดาวตาด ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 

    43. นายศรีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2519 

    44. นายชิต คงเพชร ผู้นำชาวนา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2519 

    45. นายทรอด ธานี ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521 

    46. นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออก และประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.บ้านด่าน จ.ระยอง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

    แม้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ในความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ยังคงยกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยมาพูดถึงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในหลายขบวนการอีกด้วย


    “ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวนาไทยในอดีตมีมาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ กบฏผู้มีบุญ กบฏคูซอด การเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไท ขบวนการสันติภาพ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกระทั่ง มีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 การลุกขึ้นสู้ของ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ภายใต้คำขวัญว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” และ “กฎหมายต้องเป็นธรรม” นับเป็นคุณูปการครั้งสำคัญที่สามารถปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ และรวบรวมพลังชาวนาชาวไร่ผู้ทุกข์ยากได้อย่างมีเอกภาพ

    การลุกขึ้นสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐและทุน เนื่องจากสหพันธ์ชาวนาได้ก่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และการรวมศูนย์อำนาจในที่ดิน จากการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ ๒๕๑๗ และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ อันเป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนท้องถิ่น

    เราบุกรุกเขาไปในพื้นที่ของความแห้งแล้งในหัวใจของผู้กดขี่  เราหว่านไถ่สร้างความชุ่มชื่นในรอยแตกอันแห้งผากในหัวใจด้วยความเป็นธรรมที่มองเห็นเรา เราที่เป็นมนุษย์ ที่มีลมหายใจ มีหยาดเหงื่อและมีประวัติศาสตร์ เราขยับเข้าไปสู่ใจกลางของการกดขี่เอาเปรียบ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ในการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดูถูก เหยียดหยาม ในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกชาวนากว่า 1 ล้าน 5 แสนคน จากประชากรไทย 30 ล้านคน  เมื่อ 48 ปีที่แล้ว และก่อนหน้านั้น จน ณ ตอนนี้


    ตอนนี้ ที่ปัจจัยการผลิต ที่ดิน ทรัพย์สิน และอำนาจ ถูกกระจุกอยู่ที่ชนชั้นนำส่วนเล็กของสังคม มีประชากรราว 22 เปอร์เซ็นท์เท่านั้นที่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ส่วนที่เหลืออีก 53 ล้านคน เข้าไม่ถึงและไม่มีความมั่นคงในที่ดินนั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลจากงานวิจัย ของอาจารย์ดวงมณี ที่เป็น การจุดเทียน ภายใต้ความมืดมิดของข้อมูลกรรมสิททิ์ในที่ดิน ที่แสดงถึงขนาดของช่องว่างข้อมูล ที่ไม่เท่ากัน ไร้ทิศทางในการกำกับดูแลทำให้ความมั่งคั่ง ถูกถ่างออกอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน  การรุกคืบของความเหลื่อมล้ำกระจายตัวกัดกินคนตัวเล็กตัวน้อย ริดรอนสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย  ผลักภาระในการดูแลคุณภาพชีวิตสู่การแบกรับของผู้ตกหล่นทางการพัฒนา ที่ต้องมีค่าครองชีพ ทรัพย์สิน กรรมสิทธ์ที่ดิน และคุณภาพชีวิต ในสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมที่เป็นของประชาชน ความเป็นธรรม ที่ทุกคนมีสิทธิและมีส่วนร่วม ที่จะกำหนดอนาคต และชีวิตของตนเอง ความเป็นธรรมที่จะมีที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย และเพาะปลูกตามแต่วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่ปราถนา ความเป็นธรรมที่จะกำหนดเจตจำนง ทางนโยบายของรัฐสู่การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกัน อย่างปลอดภัยและยั่งยืน รวมถึงการออกกฏหมาย ที่จะต้องมาจากประชาชนและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ ในรูปแบบของความเจริญ สวยงามของตัวเลข ที่กดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของเรา

    จากความตายของสหพันธ์ชาวนาจนถึงชาวนาร่วมสมัย แม้จะต่างบริบทต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เราไม่อาจหลงลืมความทรงจำ ความตาย และการสูญเสีย เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในอดีต แต่เราสามารถเก็บรับบทเรียนมุ่งสู่อนาคต ดังวาทะจากผู้นำสหพันธ์ชาวนาฯ ๓ ท่าน ที่เสียสละชีวิต ได้ให้คำชี้แนะอันเป็นประโยชน์ไว้แก่พวกเรา กล่าวคือ ใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คนแรก กล่าวไว้ว่า “เราจะชนะศัตรูได้ ก็ต้องอาศัยมวลชนพี่น้องชาวนาชาวไร่ที่ถูกกดขี่ และเพื่อนมนุษย์ที่รักความเป็นธรรมเท่านั้น

    อินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ กล่าวว่า คุณเชื่อเถอะว่า ตราบใดที่รัฐบาลชุดทุนนิยมยังอยู่ เราไม่มีทางจะได้อยู่ดีกินดี ถ้าอำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในมือเรา ก็ยังจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้”

    คำประกาศสดุดีเนื่องในวันครบรอบสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยครบ 48 ปี


    อ้างอิงจาก

    ’45 ปี’ ความตายชาวนา ควันกระสุนไม่เคยจาง
    รำลึก 48 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ สืบทอดเจตนารมณ์ ‘ที่ดินเป็นของราษฎร’

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...