เสวนา “รัฐธรรมนูญกับการกระจายอำนาจ และการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ” นักวิชาการชี้รัฐธรรมนูญไทยไม่มีประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนา “รัฐธรรมนูญกับการกระจายอำนาจ และการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ” ณ ห้องสืบค้น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เวลา 13:30-16:30 น. ดำเนินรายการโดย นางสาววรินทร สมฟอง นายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ด้าน ร.ศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช กล่าวว่า ความคาดหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีมาโดยตลอด และทางด้านโครงสร้างที่ผ่านมาคณะกรรมการรัฐธรรมนูญได้ร่วมผลักดันซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ อนุรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และคณะทำงานเพื่อศึกษาและรวบรวมข้อเสนอการปรับปรุงแก้ไขพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 และมีจำแนกย่อยคือคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ร.ศ.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ​ 2 เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการรัฐธรรมนูญได้ดำเนินงานเปิดรับฟังความคิดเห็น กมธ. พัฒนาการเมือง วุฒิสภา กมธ.พัฒนาการเมือง สภาผู้แทน นิสิตนักศึกษา พรรคก้าวไกล ภาคประชาชน กลุ่มอาชีพ และภาคส่วนต่าง ๆ และเดินสายภูมิภาค พบว่า 1.มีความเห็นหลากหลายทั้งการแก้ทังฉบับและรายมาตราจึงควรใช้คำว่าจัดทำรัฐธรรมมนูญใหม่ ​ 2.องค์กรปูวัดทำรัฐธรรมบุญควรเป็น สสร.ที่มาและองค์ประกอบยังไม่มีข้อสรุป รอรับฟังความคิดเห็น 3.ความเห็นต่อคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ทำประชามติ 3 หรือ 2 ครั้ง 4.การทำประชามติควรมีแนวทางอย่างไร กม.ประชามติ ควรแก้หรือไม่ คำถามควรเป็นอย่างไร ? ประหยัดงบประมานได้หรือไม่อย่างไร ?

“นอกจากนี้จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อไป 1. โดยเฉพาะความเห็นต่างกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐภา 2.มอบอนุฯ ประชามติดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายประชามติ 3.การดำเนินการในการรับฟังความคิดเห็น หรือการดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นเป็นไปเพื่อให้ความเห็นต่าง ได้มีโอกาสแสดงออกมา 4.จัดทำหนังสือถึง กกต. เพื่อสอบทามแนวทางที่ชัดเจนในการทำประชามติ 5.ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขมาตรา 256 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560”

ขณะที่ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 กล่าวว่า คณะกรรมธิการกระจายอำนาจได้เปิดประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จนมาถึงวันนี้มีการประชุมเพียง 4 นัด ทางพรรคก้าวไกลได้แบ่งประเด็นงานเป็น 15 ประเด็น และ 1 ในนั้นคือการกระจายอำนาจ ความคืบหน้าของประเด็นกระจายอำนาจที่เราได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรคือ ร่างแก้ไขพรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใจความสำคัญพรบ.ตัวแรกปี 2542 คือ เขาได้กำหนดไว้ว่าท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง ? และทำอะไรไม่ได้บ้าง? แต่ทางพรคก้าวไกลได้ยื่นแก้ไขไปใหม่นั้นจะมาในแนวของ Negative list สามารถทำได้ทุกอย่างยกเว้น ศาล ทหาร กองทัพ และสิ่งที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยังเพิ่มอำนาจส่วนปกครองท้องถิ่นสามารถหารายได้ กู้เงิน หรือ ออกธนบัตรได้เอง ในส่วนร่างพรบ.ทางบกคือเพิ่มอำนาจส่วนปกครองท้องถิ่นในการจัดทำขนส่งสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับขนส่งทางบกที่จำเป็นต่อพื้นที่นั้น ๆ

“ส่วนของกรรมาธิการการกระจายอำนาจ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่เพื่อสร้างถนนหนทางและอาศัยในพื้นที่เขตอุทยาน กรมป่าไม้ และอื่น ๆ ในอนาคตเราจะร้องขอไปยังประธานคณะกรรมการกระจาย เราต้องการขอตั้งอนุกรรมธิการแก้ไขกฎหมายหรือพรบ.ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและมีผลต่อการกระจายอำนาจ ในกลไกของกรรมธิการจะเป็นกลไกในการช่วยตรวจสอบกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยโยมีเจ้ากระทรวงคือพรรคภูมิใจไทยเอง ในส่วนของพรรคก้าวไกลที่ได้เข้าไปนั่งในกรรมาธิการมี 4 คน เราก็จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะทำงานในฝั่งกรรมธิการทำงานในเชิงประเด็นโดยเฉพาะ 15 ประเด็นดังกล่าวที่ผ่านมาให้เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นกับพี่น้องในชุมชนจริง ๆ”นางสาวเพชรรัตน์กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในประเทศของเราเป็นประเทศที่กระจายอำนาจล้าช้า ช้าทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ เหตุผลสำคัญคือเราเป็นประเทศที่มีสถานะทางด้านยุธศาสตร์ที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาจัดการประเทศที่ยืนอยู่หน้าสุดที่จะต่อสู้กับประเทศที่เป็นสังคมนิยมในอดีต โดยใช้มาตรการแบบเผด็จการทหารเข้ามาข่มขู่

“จึงทำให้ประเทศเราเกิดความล้าช้ารุนแรงขึ้น อีกอันคือประเทศเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อนทำให้กลไกต่าง ๆ ในสังคมของเราหลายกลไกไม่มีความคึกคักทางการเมือง จะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศเพื่อนบ้านเรามีผู้นำที่ต่อสู้เพื่อเอกราชแต่เราไม่มีเราจึงไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช แม้ว่าเราจะมีกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแต่เราก็ถูกทยอยไล่เก็บบ้างก็ลี้ภัยทางการเมืองเป็นจำนวนมาก” ธเนศวร์ กล่าว

ขณะที่ ผ.ศ.ดร.ณัฐกร วิถิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยมี 20 ฉบับ แต่มีเพียง 8 ฉบับเท่านั้นที่พูดถึงการปกครองท้องถิ่น และมีไม่กี่ฉบับที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกระจายอำนาจจริงคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ในขณะนี้เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากการตั้ง สสร. เพราะ สสร. เคยร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อสังคมการเมืองไทยทั้งนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ถ้าหากถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญไทยจะพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจจะมีปัญหาอย่างไร โดยเนื้อแท้แล้วรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ทั่วโลกเลือกที่จะพูดถึงการกระจายอำนาจ

ซึ่งสาระสำคัญของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาของสมคิด เลิศไพฑูรย์ (2547) ได้แก่

1. หลักอิสระในการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Rights to Local Self-Government) รวมถึงหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) รัฐธรรมนูญร้อยละ 75 บรรจุเรื่องนี้ลงในรัฐธรรมนูญ ข้อสังเกต ประเทศที่มีรากฐานของประชาธิปไตยเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีความจริงใจในการส่งเสริมการกระจายอำนาจมักบรรจุเรื่องการกระจายอำนาจในตำแหน่งที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ บางประเทศกล่าวถึงตั้งแต่ในคำปรารภ บ้างก็เน้นย้ำอยู่ในมาตราที่ 1 และมีบางประเทศให้การรับรองหลักการขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องนี้ เช่น European Charter of Local Self-Government (1985) ควบคู่กันไป

2. ประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (โครงสร้างภายนอก  External Structure)

2.1รัฐธรรมนูญที่บัญญัติประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน

2.2รัฐธรรมนูญบัญญัติประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มีการออกกฎหมายจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทอื่น ๆ ขึ้นได้

2.3 รัฐธรรมนูญที่ไม่มีการบัญญัติประเภทขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นเอาไว้เลย

3.โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการได้มาซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (โครงสร้างภายใน) รัฐธรรมนูญของประเทศโดยส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 80 มีเนื้อหาส่วนนี้ (อย่างน้อยประเภทใดประเภทหนึ่ง) ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญโดยทั่วไปมักกำหนดอย่างกว้าง ๆ ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการโดยสภาท้องถิ่น (Council) ที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ทว่าหลายประเทศก็ใส่รายละเอียดลงไป ไม่ว่าในเรื่องโครงสร้าง (เช่นผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง), องค์ประกอบ (จำนวน, ที่มา), คุณสมบัติ (อายุ, ความผูกพันกับพื้นที่ ฯลฯ), วาระการดำรงตำแหน่ง (ระหว่าง 3-7 ปี)

4. อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถแบ่งได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ระบุเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน และให้เป็นไปตามกฎหมายอื่น ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 40 กว่า) ไม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่มีข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญของรัฐรวมมักระบุอำนาจของรัฐอย่างชัดเจนในส่วนเนื้อหาและหลายประเทศก็นำไปไว้ในภาคผนวกท้ายรัฐธรรมนูญ

5. การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Fiscal)

5.1 บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองเรื่องรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน

5.2 บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองเรื่องรายได้ท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อค้นพบ ส่วนใหญ่แล้ว (ร่วม 50%) ไม่ได้กำหนดฐานภาษีของ ท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ให้เป็นไปตามกฎหมาย

6. การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื้อหาส่วนนี้พบน้อยมากในบรรดารัฐธรรมนูญที่บรรจุเรื่องการปกครองท้องถิ่นเอาไว้ด้วย เพราะถือว่ามอบอำนาจในการบริหารผ่านองค์กรส่วนท้องถิ่นไปแล้ว ส่วนอื่นจึงแทรกแซงค่อนข้างน้อย

7.เขตปกครองตนเอง (Autonomous Region) เขตปกครองตนเองพบมากในรัฐเดี่ยว และพบได้ในทุกลักษณะรัฐ ทั้งราชอาณาจักร และสาธารณรัฐ รวมแล้ว 34 ประเทศ และมีหลายประเทศที่มีเขตปกครองตนเอง (40 กว่าประเทศขึ้นไป) แต่ไม่ได้ให้คุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถูกนับรวมเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ

8.การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐธรรมนูญหลายประเทศให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะประชามติระดับท้องถิ่น (Local Referendum) ในประเด็นต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (Initiative) การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (Recall) รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและสามารถเข้าร่วมการประชุมสภาได้

ด้านผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรคือปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญไทย การกระจายอำนาจ และความเหลื่อมล้ำ ? โดยณัฐกร กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญไทยคือประเทศเราไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หากขยายต่อว่ารัฐธรรมนูญไทยกว่า 20 ฉบับนั้น เป็นประชาธิปไตยกี่ฉบับ ก็มีเกณฑ์การประเมินว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าให้เราดูเกณฑ์ 3 อย่างคือ

“1.ให้ดูที่มาหรือกระบวนการว่าเป็นแบบกว้างแบบที่เรากล่าวมาหรือไม่ หรือเป็นกระบวนการที่มาจากรถถังแล้วก็ประกาศใช้ของตัวเอง 2.กระบวนการมีการลงประชามติหรือไม่ มีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ มีกระบวนการที่เปิดกว้างหรือไม่ 3.ให้ดูที่ส่วนของเนื้อหา ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากนั้น มีไม่เกิน 4 ฉบับในประเทศไทย”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง