พฤษภาคม 15, 2024

    ลำปาง ศูนย์กลางแค่พื้นที่ แท้จริงแล้วเป็นทางผ่าน

    Share

    เรื่องและภาพ : พินิจ ทองคำ

    เราเชื่อว่าทุกคนมีความสัมพันธ์กับท้องถนน ไม่ว่าจะทุกข์ สุข เศร้า เครียด หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ท้องถนนอยู่กับเราเสมอ ด้วยความที่มนุษย์ดำเนินชีวิตแบบต้องไปมาหาสู่เพื่อก่อร่างสร้างสังคม การเดินทางจึงเกิดขึ้น เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปท้องถนนจึงต้องปรับตัวตาม จากเส้นทางดินแดงสู่เส้นทางคอนกรีตแอสฟัลต์ วิวัฒนาการของท้องถนนนอกเหนือจากการเดินทาง เป็นการสะท้อนถึงความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งมีถนนเส้นสำคัญผ่านเมือง ระหว่างทางเหล่านั้น คือ โอกาสทางเศรษฐกิจ ชีวิต และการเปลี่ยนแปลง เมื่อประกอบกับช่วงเวลาของการขยายตัวทางโลจิสติกส์ ท้องถนนยิ่งทวีความสำคัญขึ้นมากขึ้น กลายเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของผู้ที่มองเห็นโอกาส 

    ‘ลำปาง’ เป็นหนึ่งจังหวัดที่พร้อมจะสถาปนาความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ ผ่านการมีถนนเส้นสำคัญพาดผ่านไปยังจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน หรือจังหวัดเชียงราย และพื้นที่ชายแดนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ประตูแห่งโอกาสอาจไม่เปิดนานนัก

    การแบ่งทางหลวงที่ปรากฎเริ่มต้นด้วยหมายเลข 1 เป็นระบบเลขทางหลวงที่มีพื้นที่ตั้งในภาคเหนือ และการแบ่งหลักเลขทางหลวงจะมีความหมายของการระบุความสำคัญเอาไว้ เช่น เลขหนึ่งหลักเป็นถนนที่เชื่อมต่อจากกรุงเทพ ฯ ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ถือเป็นถนนสายประธานเชื่อมการจราจรแบบภาคต่อภาค, เลขสองหลักเป็นถนนโครงการที่เชื่อมต่อกันกับเลขหนึ่งหลัก ถือเป็นการกระจายพื้นที่ให้บริการของทางหลวง ทั้งยังผ่านพื้นที่สำคัญของหลายจังหวัด, เลขสามหลักถือเป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน เชื่อมต่อกับทางทางหลวงหมายเลขหนึ่งกับสองหลัก กระจายพื้นที่ไปยังพื้นที่ย่อย ส่วนเลขสี่หลักเป็นทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ

    ณัฐพล ใจจริง ได้อธิบายความสำคัญของการมีเส้นทางคมนาคมผ่านการอนุมัติให้มีการก่อสร้างถนนว่าไว้ในบทความ การตัดถนนสมัยคณะราษฎร : อิสรภาพในการเดินทางและส่งเสริมความเจริญให้กับท้องถิ่นภายหลังการปฎิวัติ 2475 ว่า “รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาของระบบรางผนวกกับหลัก 6 ประการ อันมีเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับราษฎร การอำนวยการคมนาคมให้เทศบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่อันกระจายตัวทั่วประเทศตามหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) ต้องเกิดขึ้น แต่เทศบาลจำนวนมากตั้งอยู่ห่างเส้นทางรถไฟ”

    “รัฐบาลพระยาพหล ฯ จึงอนุมัติแผนการก่อสร้างบนถนนทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ให้เข้าหากันขึ้นและเพื่ออำนวยประโยชน์สุขในการคมนาคม ค้าขาย ดังนั้น แผนสร้างถนนจึงเป็นการปฎิวัติระบบคมนาคมโดยถนนแทนรถไฟหรือทางน้ำ”

    “ถนนพหลโยธิน” หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ที่มีระยะความยาวกว่า 994.749 กิโลเมตร เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเส้นทางของการเดินทางสู่ภาคเหนือ ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก และผ่านจังหวัดลำปาง จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่ถนนพหลโยธินพาดผ่านมากที่ความยาวกว่า 230 กิโลเมตร เริ่มจากอำเภอแม่พริก อำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภอเกาะคา อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ ท้ายสุดของจังหวัดลำปางที่อำเภองาว จากนั้นมุ่งสู่จังหวัดพะเยา และสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายที่เชื่อมต่อกับท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา

    อีกหนึ่งถนนที่มีความสำคัญของประเทศที่ผ่านจังหวัดลำปาง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ที่มีระยะความยาวกว่า 565 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายบางปะอิน – แยกหลวงพ่อโอ) ที่ทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี ตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สิ้นสุดระยะทางที่เส้นบรรจบถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ถนนเส้นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางของการเดินทางสู่ภาคเหนือที่มีความสำคัญ ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ และผ่านจังหวัดลำปาง ที่มีระยะความยาวกว่า 80.4 กิโลเมตร ผ่านอำเภอแม่ทะ อำเภอเมืองลำปาง (ระยะทางแม่ทะ – เมือง ใช้ชื่อถนนว่า “วชิราวุธดำเนิน”) และทิ้งทายที่อำเภอห้างฉัตร หลังจากนั้นจะเข้าสู่จังหวัดลำพูนและสิ้นสุดระยะที่จังหวัดเชียงใหม่ ความเชื่อมโยงของถนนเส้นนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นประตูสู่เมืองศูนย์กลางของภาคเหนืออย่างจังหวัดเชียงใหม่  

    หลักฐานของหมุดหมาย “หลักกิโลยักษ์” ที่ตั้งตระหง่านกลางสี่แยกภาคเหนือ

    สิ่งที่อยู่ควบคู่กับท้องถนน คือ หลักกิโลที่บ่งบอกระยะทางของการเดินทางตามจุดหมายปลายทางที่ต้องการเดินทาง หากใครเดินทางผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ย่อมต้องพบเจอกับการตั้งตระหง่านของหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่ มีความสูง 14 เมตร กว้าง 7 เมตร สร้างขึ้นบริเวณแยกห้าเชียง หลักกิโลเมตรที่ 597 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในจังหวัดลำปาง กลายเป็นอีกหนึ่งความน่าตื่นตาตื่นใจและเป็นหมุดหมายของการเดินทางมาถึง “ลำปาง” แล้ว ทั้งยังถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งของที่ระลึกของจังหวัดลำปาง

    สาเหตุในการสร้างหลักกิโลเมตรขนาดมหึมานี้ขึ้นนั้นต้องย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน ดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในขณะนั้นต้องการสร้างหลักกิโลเมตรยักษ์นี้ขึ้นมาเพื่อชูแผนการพัฒนาของจังหวัดลำปางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เพื่อให้ลำปางเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนบน

    บทความ มันเป็นเรื่องความผิดหวัง เปิดที่มา หลัก กม. ยักษ์ ที่ลำปาง ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2551 ดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในขณะนั้น กล่าวว่า “ทางจังหวัดได้สร้างเสาหลักกิโลเมตรดังกล่าวขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อชูแผนการพัฒนาของจังหวัดลำปางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ให้จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนบน ต่อมาได้มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดศูนย์กลาง ทำให้มหาวิทยาลัยที่จะสร้างขึ้นที่ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมืองลำปาง ต้องย้ายไปสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่แทน นอกจากนั้นหน่วยงานราชการที่สำคัญหลายแห่งถูกย้ายไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้จังหวัดลำปางหมดโอกาสเป็นเมืองศูนย์กลางไปทันที”

    สำหรับเมืองที่หลักกิโลเมตรดังกล่าวบอกระยะทางนั้น ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญอย่างจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย, เมืองเชียงตุง , เมืองเชียงทอง, เมืองเชียงรุ่ง, สี่แยกอินโดจีน, กรุงเทพ ฯ , เมืองย่างกุ้ง, เมืองดานัง, จังหวัดนราธิวาส จนถึงเมืองที่ไกลที่สุด คือ สิงคโปร์ นับว่ามีจุดประสงค์ในการสะท้อนความเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการเป็นทางผ่านได้เป็นอย่างดี หากพิจารณาจากเมืองที่ระบุไว้ในหลักกิโลยักษ์ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการคมนาคมที่ไปไกลกว่าจะเป็นเพียงการเดินทางภายในจังหวัดหรือภายในประเทศ เมื่อประกอบกับข้อมูลในอดีตที่สะท้อนถึงโอกาสของจังหวัดลำปางที่ไม่สามารถฉุดรั้งไว้ได้ ยิ่งปัจจุบันมีการเปิดใช้สะพานยกระดับข้ามแยกที่อยู่ใกล้เคียงกับหลักกิโลยักษ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรผ่านเมืองลำปางอย่างรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ความสำคัญในฐานะศูนย์กลางของการเดินทางนั้น ลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าเสียดาย

    แผนพัฒนาลำปางกับการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางผ่านถนน อีกครั้ง

    “ลำปาง เมืองแห่งความสุข 2 มิติ (Livable & Smart city)” คือ วิสัยทัศน์ลำปางระยะ 5 ปี 2566 – 2570 แต่เมื่อมาตรวจดูพบว่า วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นการสร้างวิสัยทัศน์ขึ้นมาใหม่ในแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง 2566 – 2570 (ฉบับทบทวน) ซึ่งแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง 2566 – 2570 ฉบับแรกนั้นระบุวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยง สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน”  ถือเป็นการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของลำปางที่เปลี่ยนแปลงอันขาดการกล่าวถึง “ความเชื่อมโยง” ไปเสียแล้ว

    มิติของพัฒนาพื้นที่บนท้องถนนของลำปาง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของแขวงทางหลวงลำปาง ที่ 1 – ที่ 2 และแขวงทางหลวงชนบทลำปาง หากพิจารณาความยาวของถนนในพื้นที่จังหวัดลำปาง รวมระยะความยาวทั้งสิ้น 1,557.630 กิโลเมตร (รวมทางหลวงสายหลักแล้ว) 

    ในแผนดังกล่าวยังคงปรากฎว่าจะมีการผลักดัน Lampang Smart Link city เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ : NEC – Northern Economic Corridor ที่ระบุเรื่องการผลักดันถนนวงแหวนเพื่อให้สามารถรอบรับกับระบบขนส่งในอนาคตและอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่จังหวัดใกล้เคียง ทั้งยังมีการวางแผนให้ลำปางเป็น Logistic Ecosystem ที่วางระบบการขนส่งมวลชนให้เกิดความสะดวกสร้างความเป็น “ศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง” เพิ่มพื้นที่การลงทุนรอบถนนวงแหวน ลงทุนพัฒนาเรื่องของโกดังสินค้า ทั้งยังวางเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าผ่านการขนส่งทางถนน

    เป้าหมายจากแผนพัฒนาจังหวัดถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง หากพิจารณาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และอนุมานความเป็นไปได้ในอนาคต การพัฒนาลำปางผ่านการใช้ท้องถนนเป็นเครื่องมือของการสถาปนาความเป็นศูนย์กลาง อาจเป็นเรื่องที่ล่วงเวลามาอย่างน่าเสียดาย ยิ่งการเป็นศูนย์กลางของการเดินทาง ที่การวางแผนวิสัยทัศน์กับแนวปฎิบัติต่างกันอย่างสิ้นเชิง ย่อมทำให้โอกาสที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการมีถนนเส้นสำคัญผ่านนั้นลดน้อยลงไป

    อ้างอิง

    Related

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...

    มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอนจบ) ของกิ๋นพะเยา ไประดับโลกได้ไหม

    เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา อ่าน เมดอินพะเยา: มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน...

    แรงงานกลางแจ้งเชียงใหม่ต้องเผชิญกับอะไร ในภาวะที่โลกเดือดและฝุ่นพิษ

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ...