ความแตกต่างของภาษาเป็นความสวยงามของวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของมนุษย์ หนึ่งสิ่งที่เป็นข้อสงสัยมาอย่าง ยาวนาน คือ การที่มิตรสหายใช้คำสื่อสารที่มีลักษณะเป็นคำเดียวกัน แต่ความหมายที่สื่อสารออกไปนั้นมีความแตกต่างตรงข้ามเสมือนขาวและดำ หนึ่งในคำที่พูดถึงมากที่สุดของพื้นที่ภาคเหนือ คือ “งานปอย”
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชีวิตจริงหรือบนพื้นที่ออนไลน์ คำว่า “งานปอย” เป็นสิ่งที่พูดถึงเป็นอย่างมาก อย่างล่าสุดที่เพจอินไซด์ล้านนา ปล่อยคลิปการพูดถึงงานปอยที่มีประโยคหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลว่า “เรากลับบ้านไปปอย เพื่อนไม่เชื่อ เพื่อนบอกว่าหนีรับน้อง ฟ้องรุ่นพี่ว่าผมหนีกลับบ้าน หนีรับน้อง ทั้งที่บ้านมีงานศพ” สำหรับลำปางแล้วนั้น ปอยลำปาง คืองานศพ แต่คนเชียงใหม่เข้าใจว่าเป็นงานรื่นเริง ส่วนปอยที่เป็นงานรื่นเริงจะเรียกว่าปอยหลวง”
บทความ “งานปอย งานที่มีความหลากหลาย” เผยแพร่ผ่านเว็ปไซต์ เชียงใหม่นิวส์ มีการกล่าวถึงรูปแบบและลักษณะของงานปอยไว้หลายรูปแบบ เช่น งานปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วที่เป็นการบรรพชาสามเณรในพระพุทธศาสนา งานปอยส่างลองจะถูกจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน, งานปอยหน้อยเป็นงานรื่นเริงระหว่างพ่อแม่ของนาคกับบุคคลที่มีความสนิทสนม, งานปอยหลวงเป็นงานสมโภชใหญ่ มีประชาชนและวัดจากพื้นที่อื่นมาร่วมด้วย, งานปอยข้าวสังข์เป็นงานที่ทำบุญอุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว, งานปอยล้อเป็นงานศพพระสงฆ์ที่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพศักการะหรือเป็นเจ้าบ้าน เจ้านคร
หากพิจารณาบริบทงานปอยที่แม้ว่าจะมีความหมายและลักษณะแตกต่างกันจากพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่จุดร่วมสำคัญคือการรวมกลุ่มกันของมนุษย์ที่มาร่วมประกอบกิจกรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนา
รู้จักกับความตาย สภาวะสุดท้ายของสิ่งมีชีวิต
“ความตาย” เป็นความน่าหวาดกลัวของทุกสรรพสิ่ง การพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก สิ่งที่ดำเนินอยู่ และสภาวะแวดล้อมที่คุ้นชิน ไปสู่อีกสภาวะหนึ่งที่มิมีใครล่วงรู้ได้หากไม่ได้ลิ้มรสชาติด้วยตัวของตนเอง ความตายจึงเป็นความเจ็บปวดที่สวยงามที่สุด สิ่งที่หลงเหลือไว้หลังจากความตาย คือ การระลึกถึงจากบุคคลที่มีความสัมพันธ์ร่วมด้วย แท้จริงความตายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง เพราะท้ายที่สุด สิ่งนี้เป็นจุดจบร่วมกันของมนุษย์และสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้
ความตายถูกอธิบายในหลายสถานะ ทั้งในทางศาสนา ปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ นิยามเรื่องความตายถูกอธิบายมาอย่างยาวนานผ่านมิติหลายมุมมอง มุมมองบางอย่างต่อความตายกลายเป็นเพียงจุดเปลี่ยนเล็ก ๆ แต่ในขณะที่บางความคิดความตายกลายเป็นเรื่องใหญ่และมีความซับซ้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น การให้ความหมายความตายของ Albert Camus ที่ว่า “ชีวิต คือ ความตายและความหมายของความตายคือความหมายของชีวิต” หรือบทสนทนาเรื่อง Phaedo ที่ Socrates อภิปรายความหมายของร่างกายไว้ว่า “ร่างกาย คือ มนุษย์ เป็นปุถุชนคนธรรมดา มีความหลากหลายของรูปแบบ แต่เสื่อมสลายและไม่อาจคงสภาพเดิม” และ Socrates อธิบายเรื่องความตายผ่าน Apology ไว้ว่า “ความตายเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม มันอยู่ระหว่างสองสภาวะ อย่างแรกความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีการรับรู้ในสิ่งใดเลย หรือมันเป็นสิ่งที่เราพูดกันมาว่าความตายคือการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนที่วิญญาณจากอีกที่ไปสู่อีกที่หนึ่ง” หรือบทสัมภาษณ์ของ Slovoj Zizek ที่มีคนสอบถามว่าเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายไหม Zizek ตอบกลับว่า “ก่อนที่เราจะตาย เรามีชีวิตด้วยหรือ เรามีชีวิตอยู่จริง ๆ หรือเปล่า ผมก็ยังสงสัยอยู่”
ความหมายของงานปอย : การสื่อสารของมนุษย์ ที่ตั้ง และความหมาย
จากงานศึกษา “บทบาทและคุณค่าของงานปอยหลวงต่อสังคมวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน” โดย นิรันดร์ ภักดี สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ปอย” ไว้ว่า สังคมวัฒนธรรมล้านนา ใช้คำว่า “ปอย” เป็นคำเรียกงานบุญที่มีการเฉลิมฉลองและส่วนใหญ่เป็นงานที่สนุกสนานรื่นเริง ส่วนคำว่าปอยเป็นคำยืมมาจากคำพม่าซึ่งออกเสียงว่า “แปว” หมายถึง งานชุมนุม งานฉลองของชุมชนและงานเทศกาลประจำปี
นักวิชาการและนักภาษาศาสตร์ได้มีการอธิบายความหมายของปอยผ่านข้อมูลต่าง ๆ เช่น ยุพิน ธิฉลาด อธิบายคำว่าปอยผ่านสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9 ไว้ว่า สันนิษฐานว่าคำนี้มาจากภาษาพม่าว่า “ปะแว” อันเป็นคำที่เลือนมาจากภาษาบาลีว่า “ปเวณรี” (หมายถึงประเพณี) ส่วนคำว่า พอย (ปอย) ในภาษาล้านนา หมายถึง การจัดงานในวาระเฉลิมฉลองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีการละเล่น มีอาหาร ที่สำคัญคือ มีผู้มาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่พจนานุกรมภาษาไทใหญ่ – ไทย, พจนานุกรมล้านนา – ไทย, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ให้ความหมายในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ กิจกรรมที่คนจำนวนมากมาทำร่วมกัน งานประเพณี งานพิธี
งานปอยถือเป็นงานที่มีคุณค่าในทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ประเพณีที่สืบทอด ความคิดความเชื่อที่ถูกส่งต่อ สร้างเป็นกฎระเบียบ สถาปนาเป็นวัฒนธรรมร่วมของพื้นที่ หรือมีลักษณะเป็น “วัฒนธรรมชุมชน” ที่หนังสืออ่านวัฒนธรรมชุมชน วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน โดยยุกติ มุกดาวิจิตร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ให้ความหมายไว้ว่าเป็นแนวคิดที่มีหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การเชื่อมั่นและส่งเสริมศักยภาพของชาวบ้านผู้รับผลของการพัฒนาว่าสามารถที่จะฟื้นฟูดำรงอยู่และพัฒนาตนเองได้ด้วยพื้นฐานทางความเชื่อ ความสัมพันธ์ในชุมชน และภูมิปัญญา สอดคล้องกับความหมายของวัฒนธรรมที่หมายถึงแบบอย่างการดำรงชีวิตของกลุ่มชนตามความหมายที่ถ่ายมาจากวิชามนุษยวิทยา หรือหมายถึงวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ตามความหมายที่ถ่ายมาจากการศึกษาในแนววัฒนธรรมศึกษา
นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาษาหรือที่เรียกว่าความเลื่อนไหลของภาษา อันเกิดขึ้นจากการติดต่อไปมาหาสู่ของมนุษย์ การอพยพย้ายถิ่น หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนนำไปสู่การคิดต้นคำศัพท์ขึ้นใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงความหมายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปธรรม นามธรรมและบริบท คำเพียงหนึ่งคำอาจมีความหมายหลายประการแตกต่างกันไปตามสังคม สิ่งแวดล้อม และพื้นที่ ดังเช่น ความหมายของงานปอยในลำปางที่มีวิวัฒนาการในบางพื้นที่เพิ่มเติมขึ้นมาเป็นงานปอยศพ ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ของงานให้มีความชัดเจนขึ้น ป้องกันปัญหาความเข้าใจผิดและการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน
ความหมายแตกต่าง แต่เป็นความสวยงาม เพราะท้ายที่สุดงานปอยมีแกนกลางคือ “ผู้คน”
งานวัฒนธรรม งานประเพณี เป็นจุดหมายของการพบเจอกันของผู้คน การพบเจอในงานปอยตามความหมายและลักษณะต่าง ๆ เป็นการอำนวยให้เกิดการพบกัน ท่ามกลางยุคสมัยที่ประชาชนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ การพบเจอกันเป็นไปได้ยาก หากจะนิยามวัตถุประสงค์ของงานปอย ย่อมหลีกหนีไม่พ้นการพบปะพูดคุยกันหรือร่วมกัน
แม้ว่านิยามความหมายของงานปอยของลำปาง จะเป็นงานศพที่ผู้คนจะมาร่วมกันเพื่อส่งผู้เสียชีวิตไปสู่โลกหน้า เป็นงานที่มีลักษณะเศร้าหมอง แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน งานปอยทำให้การกลับมาพบเจอเกิดขึ้นอีกครั้ง เกิดการระลึกถึงความสัมพันธ์ร่วมของผู้ที่จากไป ได้พูดคุยกับผู้คนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ตกผลึกสัจธรรมของการเป็นสิ่งมีชีวิต ขณะที่งานปอยที่อื่นในภาคเหนือเป็นงานที่มีความสนุกสนาน รื่นเริง บางงานสามารถจัดขึ้นได้หลายครั้งต่อปีหรือปีต่อปี สะท้อนให้เห็นความหมายของคำว่าปอยที่มีที่มาจากการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของผู้คนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ
อ้างอิง
- https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2542/phil0542sp_abs.pdf
- https://conference.kku.ac.th/colaimg/files/articles/69050-o-24-.pdf
- https://riotpeopleblog.wordpress.com/2016/10/23/the-inventory-slavoj-zizek-บทสัมภาษณ์แปลไทย/
- https://www.facebook.com/share/v/Xo2WmnQ9EgNhNaDf/?mibextid=oFDknk
- https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1864677
- http://www.cmruir.cmru.ac.th/handle/123456789/44
- https://dictionary.orst.go.th/lookup_domain.php
- หนังสืออ่านวัฒนธรรมชุมชน วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนวัฒนธรรมชุมชน โดยยุกติ มุกดาวิจิตร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง