พฤษภาคม 14, 2024

    งานฤดูหนาวเกาะคาควรน้อมรำลึกถึง “เจ้าพ่อหนานทิพย์ช้าง” มากกว่า “พระนเรศวร”

    Share

    เรื่อง: พริษฐ์ ชิวารักษ์

    ในระหว่างวันที่ 17-25 มกราคมที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงานฤดูหนาวและงานกิ่งกาชาดประจำปีของทางอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และใช้ชื่องานว่า งานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นครลำปาง

    (ภาพ: เฟสบุ๊คงานประจำปีทั่วไทย)

    การตั้งชื่องานและการเลือกสถานที่จัดงานฤดูหนาวเช่นนี้ เมื่อมองจากภายนอกแล้วราวกับว่า “พระนเรศวร” เป็นวีรบุรุษคนสำคัญที่มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ของอำเภอเกาะคาเป็นอย่างยิ่งจนมีการจัดงานเพื่อ “น้อมรำลึก” ถึงเป็นประจำทุกปี แต่แท้จริงแล้ว เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระนเรศวรและเกาะคานั้น เป็นเพียง “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ซึ่งไม่เคยปรากฏในเอกสารและความทรงจำของคนลำปางมาก่อน รวมทั้งถาวรวัตถุและกิจกรรมต่าง ๆ อันเนื่องด้วยเรื่องราวนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ประเพณีและวัฒนธรรมที่เพิ่งสร้าง” ทั้งสิ้น

    ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะทั้งเรื่องของพระนเรศวรกับเมืองเกาะคาที่อ้างกันว่าเป็นประวัติศาสตร์ ทั้งตัวอนุสาวรีย์พระนเรศวรที่อ้างว่าสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระนเรศวร และชื่องานฤดูหนาวที่ตั้งตามเรื่องราวดังกล่าวนั้น ไม่มีอะไร “เก่า” หรือ “ดั้งเดิม” เลยแม้แต่อย่างเดียว

    เรื่องของพระนเรศวรกับเมืองเกาะคานั้น กล่าวกันว่าหลังจากที่พระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหางระหว่างเดินทัพไปตีอังวะแล้ว พระเอกาทศรถผู้เป็นอนุชาก็เชิญพระศพกลับอยุธยา โดยผ่านทางเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) แล้วข้ามเทือกเขาขุนตานมาทางเมืองนครลำปาง แล้วพักพระศพไว้ที่เวียงลัมภกัปปะหรือเวียงลำปางหลวง (อำเภอเกาะคาในปัจจุบัน) เป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังอยุธยา โดยได้สร้างเจดีย์หมายตำแหน่งพระศพไว้หลังหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ในเขตศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

    เรื่องราวที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นคำอธิบายอย่างเป็นทางการของที่มาการสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่อำเภอเกาะคา โดยมีกองทัพภาคที่ 3 มณฑลทหารบกที่ 32 เป็นเจ้าภาพสร้าง และผู้ที่ให้คำอธิบายดังกล่าวก็คือตัวเจ้าภาพซึ่งเป็นหน่วยทหารนั่นเอง

    (ภาพ: พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เกาะคา จาก www.lp-pao.go.th )

    อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดเลย ทั้งของฝ่ายล้านนาและฝ่ายสยาม ที่ระบุว่าทัพอยุธยาซึ่งถอยทัพหลังพระนเรศวรสวรรคตนั้นได้เดินทางผ่านเมืองลำปางมายั้งทัพบริเวณลำปางหลวง อีกทั้งเส้นทางเดินทัพที่ระบุไว้ในคำอธิบายดังกล่าวยังไม่สมเหตุสมผล เพราะหากทัพอยุธยาเดินทางมาถึงหริภุญชัยแล้ว ก็ามารถเดินทางต่อไปยังเมืองลี้ เมืองเถิน และเข้าอาณาเขตอยุธยาได้โดยไม่จำเป็นต้องข้ามเทือกเขาขุนตานมานครลำปางให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ

    เอกสารเดียวที่กล่าวถึงเรื่องการเดินทัพดังกล่าวคือเอกสารที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ ดังกล่าว ซึ่งทางหน่วยทหารเป็นผู้จัดทำขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าได้นำเรื่องราวนี้มาจากหลักฐานหรือเอกสารชุดใด เพียงแต่กล่าวไว้ลอย ๆ ว่ามีหลักฐานระบุไว้เพียงเท่านั้น

    ส่วนเรื่องเจดีย์หมายพระศพนั้น ผู้เขียนไม่เคยเห็น และถึงมีก็ไม่ได้ปรากฏหลักฐานใดว่าเป็นเจดีย์หมายศพพระนเรศวรจริง เพราะตามเทือกเขาขุนตาลนั้นมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่เรี่ยรายทั่วไปอยู่แล้ว และทัพอยุธยาที่กำลังเร่งเดินทางกลับเมืองคงไม่ได้มีอารมณ์จะมาก่อพระเจดีย์ไว้ตามจุดแวะพักรายทาง ชะรอยว่าจะได้เค้าเรื่องมาจากเรื่อง “เจดีย์ยุทธหัตถี” ซึ่งยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่มากว่าไม่ใช่เจดีย์ที่พระนเรศวรสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์การทำยุตถหัตถีกับพระมหาอุปราชาจริงแต่อย่างใด

    หรือกล่าวคือ เรื่องราวนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างและเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ เมื่อปี 2555 หรือสิบสองปีที่แล้วนี่เอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กองทัพภาคที่ 3 พยายามจะสร้างเรื่องเล่ามาเชื่อมโยงประวัติของพระธาตุแสนไหที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่เข้ากับการสวรรคตของพระนเรศวร ฯ ที่อ้างว่าชื่อพระบรมธาตุแสนไหนั้น มีที่มาจากการที่ผู้คนนับ “แสน” ต่างร้อง “ไห้” อาลัยการสวรรคตของกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักยิ่ง จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุแสนไห้” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “แสนไห” ในภายหลัง แน่นอนว่าคำอธิบายทำนองนี้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดสนับสนุน และถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือมาตลอด

    หรือพูดให้ตรงไปตรงมาอีกหน่อยคืออาจเป็นการพยายามสร้างประวัติศาสตร์ปลอมขึ้นไว้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเชื่อมโยงพระนเรศวรอันเป็น “วีรบุรุษแห่งชาติ” และเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพไทย เข้ากับความเป็นมาของท้องถิ่นในล้านนา ซึ่งในขณะนั้น ทราบกันดีว่าล้านนาเป็นพื้นที่มั่นของ “คนเสื้อแดง” ซึ่งไม่ค่อยจะถูกกันกับกองทัพในทางการเมืองเท่าไหร่นัก กลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อโดยเชิดชูพระนเรศวรทำนองนี้ ฝ่ายความมั่นคงได้กระทำมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นแล้ว

    ถึงที่สุด เอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่น ๆ ที่กล่าวถึงพระนเรศวรล้วนแล้วแต่มิได้จดจำพระนเรศวรในฐานะวีรบุรุษของตน ซ้ำยังมองว่าเป็นผู้รุกรานจากเมืองใต้ที่มาซ้ำเติมให้สถานการณ์ในล้านนาย่ำแย่ลงจากเดิมที่ไม่สู้ดีนักอยู่แล้ว ดังที่ปรากฏใน โคลงมังทรารบเชียงใหม่ ของพญาเถิน ดังนั้น การจดจำพระนเรศวรซึ่งเป็นวีรบุรุษของสังคมสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฐานะมหาราชผู้ยิ่งใหญ่นั้น จึงไม่เข้ากันกับแนวความทรงจำของคนล้านนาแต่อย่างใด

    ส่วนงานฤดูหนาวของอำเภอเกาะคานั้น เดิมทีก็จัดกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงใคร เป็นเพียงงานฤดูหนาว กาชาด หรืองานดอกไม้เท่านั้น อย่างมากก็ควบรวมวาระการถวายพระพรให้กับกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ตามประสางานที่จัดโดยหน่วยราชการเท่านั้น เพิ่งจะมาตั้งชื่อว่า งานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี 2557 หรือคือราว 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง

    หากพิจารณาบริบททางการเมืองของการจัดงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า งานน้อมรำลึก ฯ ถูกจัดอย่างต่อเนื่องมาในช่วงเวลาแห่งความผันผวนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงจากจังหวัดเชียงใหม่ผู้เป็นที่นิยมยิ่งในล้านนา ณ ขณะนั้น

    หลังจากที่ยึดอำนาจโดยการรัฐประหารมาแล้ว รัฐบาลคณะรัฐประหารพยายามรณรงค์กระตุ้นกระแสราชาชาตินิยมและทหารนิยมเพื่อเรียกแรงสนับสนุนให้กับพวกตนจากสังคมผ่านการดำเนินนโยบายหลายอย่าง เช่น การรณรงค์ค่านิยมสิบสองประการ การจัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย และการพยายามปรับแก้เนื้อหารายวิชาหน้าที่พลเมืองและประวัติศาสตร์ให้เป็นไปในทางอนุรักษ์นิยมยิ่งขึ้น เป็นต้น

    เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว จึงมีการจัดกิจกรรมเชิงประวัติศาสตร์เพื่อกระตุ้นกระแสราชาชาตินิยมและทหารนิยมมากมายทั่วประเทศ การเปลี่ยนชื่องานฤดูหนาวของอำเภอเกาะคามาเป็น งานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรณรงค์ดังกล่าวด้วย

    อันที่จริง ผู้เขียนมิได้มีปัญหากับการสอดแทรกวาระการรำลึกถึงเหตุการณ์หรือบุคคลทางประวัติศาสตร์ในการจัดงานฤดูหนาว งานกาชาด หรืองานเทศกาลใด ๆ อาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่จะได้ทำให้สาธารณชนได้สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น แต่การรำลึกดังกล่าวควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อตามหลักวิชา มีหลักฐานสนับสนุนหนักแน่น เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ และเป็นความทรงจำร่วมของคนในสังคมที่มีการจัดกิจกรรมหรือเทศกาลนั้น ๆ จริง มิใช่เป็น “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” อันเกิดจากจินตนาการ ความสำคัญผิด หรือการบิดเบือนโดยหน่วยงานหรือภาคส่วนใด โดยอาศัยองค์ความรู้แบบอาณานิคม/ราชาชาตินิยมสยามมาปรับแต่งประวัติศาสตร์ของชาวล้านนา

    นอกจากนี้ อำเภอเกาะคายังเป็นพื้นที่เก่าแก่ มีความเป็นมายาวนาน เป็นแหล่งที่ขุดค้นพบซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีพัฒนาการมาจากเวียงลำปางหลวง หรือเวียงอาลัมพางค์ หรือเวียงลัมภกัปปะ ซึ่งเป็นเวียงโบราณที่มีความเป็นมาควบคู่กับเวียงเขลางค์หรือตัวเมืองลำปาง หากเชื่อถือตามตำนานก็อาจถือว่ามีความเก่าแก่นับพันปี หรือหากไม่เชื่อถืออายุตามตำนานก็ยังต้องถือว่ามีอายุไม่น้อยกว่าสมัยพญาแสนเมืองมาหรือราวหกร้อยปีเป็นอย่างต่ำ และยังเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวง อันเป็นศาสนสถานและโบราณสถานสำคัญของล้านนา บุคคลที่ปรากฏชื่อในตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับอำเภอเกาะคานั้นก็มีให้รำลึกมากมาย ไม่ได้ขาดแคลนจนถึงขั้นต้องไปพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวของพระนเรศวรซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ของบ้านอื่นเมืองไกลมารำลึก

    เช่น หากต้องการรำลึกถึงบุคคลที่มีบทบาทเป็น “ต้นตระกูล” หรือผู้นำในการตั้งถิ่นฐานยุคแรกของอำเภอเกาะคา ก็สามารถรำลึกถึงพระนางจามเทวีหรือพระเจ้าอนันตยศได้ เพราะเวียงลำปางหลวง (ซึ่งต่อมาจะเป็นอำเภอเกาะคา) นี้เป็นเมืองที่พระเจ้าอนันตยศสร้างไว้ให้มารดาคือพระนางจามเทวีได้อาศัยและปกครองในยามบั้นปลาย

    หากต้องการรำลึกถึงบุคคลที่เป็น “เจ้าเมือง” เก่า ๆ ก็ยังปรากฏชื่อของเจ้าเมืองนครลำปางหลายท่านที่ได้เคยเดินทางมาสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุในวัดพระธาตุลำปางหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหมื่นหาญแต่ท้องหรือเจ้าหมื่นด้งนคร อดีตเจ้าเมืองนครลำปางผู้เป็นขุนศึกคู่ใจของพระเจ้าติโลกราช และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำสงครามสามสิบปีระหว่างล้านนากับอยุธยา

    (ภาพ: “เจ้าพ่อหนานทิพย์ช้าง” จากเฟสบุ๊คศาลเจ้าพ่อทิพย์ช้าง)

    หรือหากต้องการรำลึกถึงบุคคลที่เป็นวีรบุรุษสาธารณะ เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว และมีเรื่องราวชีวิตน่าตื่นเต้น ก็สามารถรำลึกถึง “เจ้าพ่อหนานทิพย์ช้าง” หรือพญาสุลวฦๅไชยสงคราม ต้นตระกูลของราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนได้ เนื่องจากเจ้าพ่อหนานทิพย์ช้างได้เคยสร้างวีรกรรมการลอบยิงท้าวมหายศเพื่อขับไล่ทัพศัตรูที่มากดขี่ข่มเหงชาวนครลำปางได้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จนหลงเหลือวัตถุพยานเป็นรูกระสุนที่รั้วสำริดรอบองค์พระธาตุดังที่คนลำปางรู้กันดี เจ้าพ่อหนานทิพย์ช้างจึงอาจเป็นบุคคลที่คนเกาะคาและคนลำปางทั้งจังหวัดสามารถรำลึกถึงได้โดยไม่เคอะเขินมากนัก

    อันที่จริงก็ดูเหมือนว่ามีความพยายามจะรำลึกถึงเจ้าพ่อหนานทิพย์ช้างในกิจกรรมต่าง ๆ ของลำปางอยู่แล้ว รวมถึงใน งานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวร นี้ด้วย แต่ก็ในกรณีของ งานน้อมรำลึก นี้ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของงานเท่านั้น ในเมื่อต้องการจะน้อมรำลึกถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่แล้ว หากเปลี่ยนชื่องานเป็น “งานน้อมรำลึกถึงเจ้าพ่อหนานทิพย์ช้าง” ย่อมเป็นการรำลึกเจ้าพ่อหนานทิพย์ช้างได้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพราะชื่อของเจ้าพ่อหนานทิพย์ช้างจะได้ปรากฏอยู่ในการจัดงานทุกปีไป

    การแทรกวาระน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรในงานฤดูหนาวของอำเภอเกาะคาจึงเป็น “ประเพณีที่เพิ่งสร้าง” อันเนื่องมาจาก “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” คือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกเขียนขึ้นใหม่โดยหน่วยงานรัฐ ในที่นี้คือหน่วยงานทหาร และไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรือไม่ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ต้องตามหลักวิชาแต่อย่างใด หากพูดอย่างไม่เกรงใจใคร เป็นการนำโฆษณาชวนเชื่อยุคสงครามเย็นที่เน้นเชิดชูและสร้างอนุสาวรีย์ของพระนเรศวรเพื่อกระตุ้นกระแสราชาชาตินิยมแบบอาณานิคมและผูกโยงท้องถิ่นล้านนาเข้ากับศูนย์กลางมาฉายใหม่ในช่วงวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมานี้

    ในฐานะคนลำปางที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ผู้เขียนได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง การนำเสนอประวัติศาสตร์ในพื้นที่สาธารณะของจังหวัดลำปางจะคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของ “บ้านเรา” เองมากกว่าจะต้องสาละวนนำเสนอแต่ประวัติศาสตร์ของ “บ้านอื่น” และจะทำโดยคำนึงถึงกระบวนการและจริยธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักวิชา มิใช่ทำไปอย่างหลักลอยดังที่พอเห็นได้ตามหลายโอกาสในปัจจุบัน

    บรรณานุกรม

    • “ประชุมคณะกรรมการจัดงานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชฯ” ใน ข่าวจังหวัดลำปาง. 12 มกราคม 2558. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 https://lampang.go.th/board/view.php?id=1420
    • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์,  ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ. “เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?”: สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพ: ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2539.
    • ปิยวัฒน์ ศรีแตงสุก, นเรศวรนิพนธ์: การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2023.
    • “งานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2559” ใน ลำปางนิวส์. 12 มกราคม 2559. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 https://www.lampangnews.com/1952/
    • “ยื่น สตง. สอบ ชี้มีเงื่อนงำ งานพระนเรศวร ‘เก่งจัง’ ร้อง จัดจ้างสีเทา” ใน หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 https://www.lannapost.net/2018/01/blog-post_19.html#google_vignette
    • สิงฆะ วรรณสัย, โคลงมังทรารบเชียงใหม่. พิมพเปนบรรณาการในงานฉลองอายุครอบ7 นางกิมฮอ นิมมานเหมินทร. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2522.
    • สมฤทธิ์ ลือชัย “18 มกราคม วันกองทัพไทย พระนเรศวรไม่ได้สวรรคตที่เวียงแหง” ประวัติศาสตร์นอกตำรา. 18 มกราคม 2564. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567   https://www.youtube.com/watch?v=_oFkZsy2998
    • องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง, อบจ.ลำปางร่วมงานรัฐพิธี “วันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ประจำปี 2560. 18 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567  https://www.lp-pao.go.th/Main60/index.php/2016-11-09-03-56-07/127-180160-1636.html
    • “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ใน Love Thailand. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 https://www.lovethailand.org/travel/th/3-ลำปาง/6258-พระบรมราชานุสาวรีย์-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช.html#google_vignette
    • “ลำปางจัดงานน้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรฯ ปี 7 ‘อั้ม-อธิชาติ’ ปลื้ม สวมบทพระนเรศฯ สุดอิน” ใน RYT9. 21 มกราคม 2563. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 https://www.ryt9.com/s/prg/3087135

    Related

    แรงงานกลางแจ้งเชียงใหม่ต้องเผชิญกับอะไร ในภาวะที่โลกเดือดและฝุ่นพิษ

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ...

    หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว....

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...