มหากาพย์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มรดกทักษิณที่ถูกหมางเมิน

เรื่อง : ปรัชญา ไชยแก้ว

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์กลางคืนแห่งแรกของประเทศไทย ขนาดพื้นที่ 819 ไร่ ถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนแห่งที่ 3 ของโลก เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของทั้งครอบครัว รวมไปถึงการตั้งเป้าให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ หวังเป็นสถานที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ยาวนานขึ้น และก่อให้เกิดการจ้างงานตามมา เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ปัจจุบันปรับรูปแบบการให้บริการที่สามารถเที่ยวได้ทั้งตลอดทั้งวัน

ภาพ : เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

แต่รู้ไหมว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์กลางคืนที่มีอายุอานามกว่า 17 ปีแห่งนี้ มีมหากาพย์ของความลั่กลั่น สลับสับเปลี่ยน และมีภาวะชักเข้าชักออกเป็นประจำ บนความขัดแย้งทางการเมืองไทยตลอดห้วงเกือบสองทศวรรษ

‘เชียงใหม่เวิลด์’ การพัฒนาเชียงใหม่จุดเริ่มต้นเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก ภาพของบริษัท ห้างร้าน โรงแรม ธนาคาร ทยอยปิดตัว คนตกงาน บ้านโดนยึด และคนฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้รัฐบาล ณ ห้วงเวลานั้นใช้การท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมากด้วย โครงการหลากหลายโครงการเกิดขึ้นที่กระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย อาทิ โครงการปีท่องเที่ยวไทยในปี 2541-2542, โครงการช๊อปปิ้งสตรีทในปี 2542, โครงการเที่ยวทั่วไทยไปได้ทุกเดือนในปี 2544-2545, โครงการมุมมองใหม่เมืองไทยในปี 2546 และอีกหลากหลายสโลแกนสุดคุ้นหูที่คอยตั้งขึ้นตามโครงการ เช่น Unseen Thailand, Amazing Thailand เป็นต้น

ภาพ : Thaksin Official

ด้วยสถานการณ์นี้เอง ‘เชียงใหม่เวิลด์’ แนวคิดระดับบิ๊กโปรเจ็คในรัฐบาลทักษิณ หวังพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่บ้านเกิดของทักษิณให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ภายใต้ไอเดีย ‘Man made destination’ การสร้างสถานที่ที่ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดยิ่งใหญ่ด้วยน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งทักษิณได้รับแนวทางการพัฒนานี้มาจากสิงคโปร์และฮ่องกง ประเทศที่ไม่ได้มีจุดเด่นทางการท่องเที่ยวแต่ผู้คนกลับหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวอย่างล้นหลาม

ด้วยแนวคิด ‘เชียงใหม่เวิลด์’ จึงก่อให้เกิดแผนการลงทุนขนาดใหญ่มากมายที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลานั้น เพื่อสร้างให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกซึ่งปัจจุบันโครงการเหล่านี้เสร็จสิ้นไปแล้วบางโครงการ อาทิ โครงการพืชสวนโลก, โครงการอควาเรี่ยม และรวมไปถึงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ภาพ : livelimitless

โดยจุดเริ่มต้นของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเกิดขึ้นจากการที่ทักษิณได้เห็นสิงคโปร์ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์กลางคืนแห่งแรกของโลก เปิดบริการในปี 2535 มีสัตว์ที่จัดแสดงกว่า 2,500 ตัว จาก 130 สายพันธุ์ แบ่งตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ในโลก 7 โซน แบ่งออกเป็น 2 โซนหลัก ๆ คือ โซนนั่งรถ Tram และกับเดินชมสัตว์ในพื้นที่ 217 ไร่ มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเฉลี่ยปีละ 1.1 ล้านคน จัดเป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์ของสิงคโปร์ด้วยรางวัลการันตีด้านการท่องเที่ยวมากมาย ด้วยความยิ่งใหญ่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนี้บวกกับแนวคิดเชียงใหม่เวิลด์จึงเกิดเป็นเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์กลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามมา

การสับเปลี่ยนหมุนเวียนของไนท์ซาฟารีภายใต้บริบทการเมืองไทย

แนวคิดที่จะสร้างเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545 โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ มีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นหน่วยเบิกจ่าย ขอใช้ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ และดำเนินการก่อสร้างโดยกรมการทหารช่าง ใช้วิธีฟาสท์แทร็ค ทุกเรื่องเท่าที่ทำได้ รวมไปถึงการใช้งบกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่เมื่อสร้างเสร็จ หน่วยงานที่ดูแลกลับไม่ใช่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่เพิ่งถูกตั้งใหม่ในยุคปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรมในปี 2545) แต่ให้องค์การมหาชน (องค์การของรัฐอีกประเภทหนึ่งของไทย เป็นรูปแบบใหม่ที่มิใช่ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่อย่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เข้ามารับผิดชอบ หลังจากนั้นในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมักส่งผลสะเทือนถึงไนท์ซาฟารีเสมอ

ภาพ : dasta

อาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “เมื่อแรกสร้าง รัฐบาลทักษิณมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบดำเนินการแบบฟาสท์แทร็ค เมื่อสร้างเสร็จจึงเอามาขึ้นอยู่กับ อพท. เป็นเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลำดับที่ 2 (สพพ.2) ต่อจากหมู่เกาะช้าง แต่พอเปิดไปได้ไม่นานก็เกิดรัฐประหารขึ้น รัฐบาลตอนนั้นเพ่งเล็งมาที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเป็นพิเศษ โดยมีหลายข้อเสนอ เช่น ควรแยกการบริหารจัดการออกจาก อพท. บ้างเสนอให้จัดตั้งในรูปบริษัทเอกชนที่รัฐถือหุ้น 100% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้างเสนอให้โอนกิจการไปอยู่กับองค์การสวนสัตว์ (อสส.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็เป็นเพียงแนวคิดที่ดำเนินการไม่สำเร็จ พร้อมสั่งการให้ยุติโครงการเกี่ยวเนื่องกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีทั้งหมดที่ริเริ่มโดยรัฐบาลชุดก่อน ห้ามไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม ให้ใช้พื้นที่เท่าที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น”

ภาพ : สำนักข่าวอิศรา

“จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์เริ่มเกิดความคิดที่จะยุบ อพท. มองว่าเป็นมรดกทักษิณ โดยมอบให้ ก.พ.ร.ศึกษาหาแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีให้เหมาะสม โดยมีแนวคิดที่จะควบรวมโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเข้ากับองค์การสวนสัตว์อีกครั้ง แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมองไม่เห็นประโยชน์จากการมี อพท. แต่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย เห็นว่าสามารถใช้เป็นกลไกในการบูรณาการการพัฒนาจังหวัดฐานเสียงของตัวเองได้ จึงขยายพื้นที่พิเศษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยฯ เลย”

ภาพ : สำนักงานพัฒนาพิงคนคร

“จุดเปลี่ยนสำคัญของไนท์ซาฟารีมาเกิดขึ้นจริง ๆ เอาตอนที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ชัยชนะที่ท่วมท้นทำให้รัฐบาลแข็งพอที่จะตัดสินใจโอนกิจการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีออกจาก อพท. (ณ ตอนนั้นยังสังกัดอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี) และสั่งให้ควบรวมกับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ให้มาอยู่ภายใต้องค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นใหม่ ตั้งชื่อ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร หรือ สพค. เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 เพราะทั้งหมดคือผลงานสมัยพี่ชายที่สามารถต่อยอดพัฒนาได้อีก น่าเสียดายหากถูกรัฐบาลอื่นเมินเฉย โดยพิงคนครมีวัตถุประสงค์กว้างขวาง ตั้งขี้นเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องให้มีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังคิดการใหญ่ไปถึงการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม การขนส่ง และการสาธารณูปโภค” ณัฐกรตั้งข้อสังเกต

ในปีเดียวกันนั้น นอกจากการดึงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่เข้ามาอยู่ในสำนักงานพัฒนาพิงคนครแล้ว ยังมีคำสั่งควบรวมสวนสัตว์เชียงใหม่เข้ากับพิงคนคร ทำให้เกิดการประท้วงจากบุคลากรของสวนสัตว์เชียงใหม่ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการถูกควบรวมเข้ากับพิงคนคร มีการตั้งสหภาพแรงงาน และคัดค้านกันอย่างต่อเนื่อง 

จุดเริ่มต้นเริ่มจากการที่เรียกตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวนสัตว์เชียงใหม่เข้าประชุมในวันที่ 27 มิถุนายน 2556 เพื่อพิจารณาการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ให้ไปในสำนักงานพัฒนาพิงคนคร หลังจากนั้นคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ดูแลสวนสัตว์เชียงใหม่อยู่นั้นก็มีมติเห็นชอบให้สวนสัตว์เชียงใหม่ไปอยู่กับพิงคนคร ทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อประท้วงของพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ อาทิ ตั้งสหภาพแรงงานองค์การสวนสัตว์เพื่อคัดค้านการถูกควบรวมกับพิงคนคร ยืนยันจะเป็นพนักงานสังกัดองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ต่อไป รวมไปถึงการประท้วงของกลุ่มเชียงใหม่อารยะและพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ที่ประท้วงการควบรวมสวนสัตว์เชียงใหม่เข้ากับพิงคนคร เนื่องจากไม่มั่นใจในการบริหารจัดการและสวัสดิการของพนักงาน เป็นต้น

ภาพ : MGR Online

ตัวแทนพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่เปิดเผยว่า บุคลากรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมเนื่องจากไม่ได้สอบถามมติของคนในองค์กร และวัตถุประสงค์ของทั้งสององค์กรยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยสวนสัตว์เชียงใหม่นั้นมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์และการวิจัยสัตว์ป่า ส่วนพิงคนครนั้นมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวและการค้าเป็นหลัก 

“ถ้าสวนสัตว์เชียงใหม่ ต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลของ สพค. ก็คงจะมีสภาพไม่ต่างไปจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่ปัจจุบันยังไม่ผ่านการประเมินและยอมรับว่าเป็นสวนสัตว์จาก WAZA (World Association of Zoos and Aquariums) องค์กรที่ดูแลและประเมินกิจการสวนสัตว์ทั่วโลก เพราะเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมุ่งเน้นเชิงการค้า การท่องเที่ยว มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่าและงานวิจัย รวมทั้งล่าสุดพบว่ามีการนำเสือมาจัดแสดงโชว์ความสามารถด้วย ซึ่งหลายประเทศในยุโรปไม่ให้การยอมรับ และมองว่าเป็นการกระทำที่เป็นคณะละครสัตว์มากกว่าสวนสัตว์ ทั้งยังเป็นการทรมานสัตว์ด้วย”

“ขณะที่สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับการยอมรับและผ่านการประเมินต่างๆ ของ WAZA ทุกอย่าง หากถูกโอนย้ายก็คงไม่เหลือสภาพการเป็นสวนสัตว์ที่มีการพัฒนา และประวัติศาสตร์มานาน รวมทั้งภารกิจทางด้านการอนุรักษ์และศึกษาวิจัย คงจะถูกลดความสำคัญลง ก่อนแทนที่ด้วยเป้าหมายเชิงการค้าพาณิชย์ นอกจากนี้การโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อสัญญาและข้อตกลงการวิจัย รวมถึงจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ระหว่างองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์กับประเทศจีน เพราะเป็นข้อตกลงสัญญาที่ทำกันระหว่างรัฐกับรัฐ”

“สวนสัตว์เรามุ่งงานอนุรักษ์-ศึกษาวิจัยสัตว์ป่า แต่ สพค.มุ่งเรื่องธุรกิจ และแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การโอนย้ายสวนสัตว์ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทดลองเพียงเพราะความเพ้อฝันของคนบางคนเท่านั้นด้วย และหากเกิดความเสียหายขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ”

ภาพ : MGR Online

การคัดค้านการควบรวมของพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่และการเดินหน้าของกระบวนการย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปยังพิงคนครก็ดำเนินต่อไปจนไปสะดุดหลังจากเกิดการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้การดำเนินงานทุกอย่างเป็นอันต้องหยุดชะงัก

หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 แผนดำเนินโครงการทั้งหมดที่พิงคนครวาดฝันหวังจะพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวนั้นก็มลายลง การเปลี่ยนขั้วการเมืองครั้งนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อการจะอยู่หรือไปของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร

อาจารย์ณัฐกรกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “แน่นอน เมื่อเกิดรัฐประหารก็เกิดคำถามตามมาถึงความจำเป็นของการตั้งพิงคนครอีก ในที่สุด ต้นปี 2562 ในช่วงปลายของรัฐบาล คสช.จึงตัดสินใจยุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร โดยให้โอนกิจการของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปเป็นขององค์การสวนสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาไปเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)) เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562 แต่หัวเด็ดตีนขาด องค์การสวนสัตว์ก็ไม่พร้อมรับโอน เพราะจะไปสร้างภาระอันเนื่องมาจากปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ และด้วยวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานที่แตกต่างกันเป็นอันมาก หนำซ้ำไนท์ซาฟารียังขาดทุนมาตลอด”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอให้จัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) โดยมอบหมายสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ คราวนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีถูกจับแยกออกมาอย่างเป็นเอกเทศ

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความไร้เอกภาพและการขาดความต่อเนื่องทางการเมืองของไทยส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการบริหารจัดการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ทำให้เกิดภาวะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่รู้จบ ท่ามกลางเหตุผลอันหลายหลาก ไม่ว่าเพื่อลบล้างมรดกทักษิณ หรือตอกย้ำผลงานของเขา เทียบไม่ได้เลยกับการใช้งบประมาณในการจัดการเพื่อเปลี่ยนองค์กรแต่ละครั้ง รวมไปถึงเหล่าพนักงานที่ต้องอยู่บนความไม่มั่นคงจากนโยบายแบบชักเข้าชักออก

Timeline เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อดีตของการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

พ.ศ. 2546 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ได้รับการก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 

พ.ศ. 2548 ประกาศพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และพื้นที่เชื่อมโยง (11 มีนาคม 2548) ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ในท้องที่ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ และ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีขนาดพื้นที่ 1.311 ตารางกิโลเมตร นับเป็นเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลำดับที่ 2 (สพพ.2) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ธีมปาร์คเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้อนุรักษ์ธรรมชาติและความบันเทิง” ตามแนวคิดของทักษิณที่จะสร้างสวนสัตว์กลางคืนขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่เมื่อปี 2545 โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบในระยะเตรียมการ

รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์

พ.ศ. 2550 หลังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองห้วงปลายปี 2549 รัฐบาลให้ความสนใจเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเป็นพิเศษ โดยมีหลายข้อเสนอ เช่น ควรแยกการบริหารจัดการออกจาก อพท. บ้างเสนอให้จัดตั้งในรูปบริษัทเอกชนที่รัฐถือหุ้น 100% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้างเสนอให้โอนกิจการไปอยู่กับองค์การสวนสัตว์ (อสส.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็เป็นเพียงแนวคิดที่ดำเนินการไม่สำเร็จ พร้อมสั่งการให้ยุติโครงการเกี่ยวเนื่องกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีทั้งหมดที่ริเริ่มโดยรัฐบาลชุดก่อน ห้ามไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม ให้ใช้พื้นที่เท่าที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิกถอนพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยบางส่วน ทั้งนี้ให้ทาง อพท.ใช้พื้นที่เท่าที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ศึกษาหาแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีให้เหมาะสม โดยมีแนวคิดที่จะควบรวมโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเข้ากับองค์การสวนสัตว์อีกครั้ง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พ.ศ. 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจควบรวมและโอนกิจการเฉพาะโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจาก อพท. และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ จากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้มาอยู่ภายใต้องค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นใหม่ ชื่อ “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร” (สพค.) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556

รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

พ.ศ. 2560 รัฐบาลเริ่มทบทวนความจำเป็นในการมีอยู่ขององค์การมหาชนต่าง ๆ พิงคนครเป็นหนึ่งในองค์กรที่ถูกเพ่งเล็ง 

พ.ศ. 2562 ในที่สุด รัฐบาล คสช.ก็ได้ตัดสินใจยุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร โดยให้โอนกิจการของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปเป็นขององค์การสวนสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาไปเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)) เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2562 ทว่าองค์การสวนสัตว์ไม่พร้อมรับโอน เพราะพิจารณาว่าทำให้เกิดภาระอันเนื่องมาจากปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ และด้วยวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานที่แตกต่างกันเป็นอันมาก 

พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ให้จัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) โดยมอบหมายสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นี่อาจจะเป็นการรื้อมรดกทักษิณที่รัฐบาลหลายชุดรวมไปถึงรัฐบาลล่าสุดพยายามทำและสามารถทำได้ หรือการหาผลประโยชน์จากการมีอำนาจของคนบางกลุ่มเพื่อที่จะสามารถอยู่ในองค์กรนั้น คำถามคือได้อะไรจากเกมการเมืองนี้ คำตอบคือไม่ได้อะไรเลย 

อ้างอิง

https://mgronline.com/daily/detail/9560000102297

https://prachatai.com/journal/2014/04/52780

https://prachatai.com/journal/2014/05/53020

https://prachatai.com/journal/2014/07/54527

https://mgronline.com/local/detail/9560000094670

https://mgronline.com/local/detail/9560000110562

https://d.dailynews.co.th/politics/685703/?fbclid=IwAR2JuXsEWrGjNcPSQjuKsEz1fBFdyB3LYizYNiiX2lWxOMIVr-6rOc-h6P0

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65574

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง