เมษายน 29, 2024

    มอบป่าไม้เร่งหาแนวทางเยียวยา ‘แสงเดือน’ เหยื่อทวงคืนผืนป่า จ.ลำปาง​

    Share

    22 มิถุนายน 2565

    เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ​

    ภาพ: พชร คำชำนาญ​

    รองอธิบดีอุทยานฯ มอบหมายป่าไม้ลำปางหาแนวทางเยียวยา ‘แสงเดือน ตินยอด’ เหยื่อทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก จ.ลำปาง หลังทำกินไม่ได้ 8 ปี หนี้สินอื้อ เจ้าตัวเผยเป็นโรคซึมเศร้า​

    21 มิถุนายน 2565 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาค การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมอาลัมภางค์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง ที่เกิดจากการผลักดันของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาคดีทวงคืนผืนป่ากรณี ‘แสงเดือน ตินยอด’ หรือชื่อปัจจุบัน ‘วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง’ หญิงวัย 55 ปี จากชุมชนบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง หลังถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561 บนพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา​

    แสงเดือนกล่าวว่า หลังจากสูญเสียที่ทำกินต้องไปรับจ้างกรีดยางหาเลี้ยงชีพ จากเดิมที่เคยได้รับการสนับสนุนให้จากรัฐให้ปลูกยางพารา โดยก่อนหน้านั้นตนได้กู้เงินนอกระบบมาลงทุน ภายหลังไม่สามารถทำกินได้ทำให้ต้องเป็นหนี้ประมาณ 3.7 แสน และต้องกู้เงินซื้อหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นศาลอุทธรณ์ประมาณ 4.7 ​ หมื่นบาท พร้อมทั้งเผยว่าขณะนี้เป็นโรคซึมเศร้า และมองว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติเสมือนไม่ใช่คนไทย​

    “วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ตอนนี้เป็นซึมเศร้าแล้ว อายุป่านนี้ยังไม่มีที่ทำกินแบบถาวร มันลำบากใจที่ต้องไปอาศัยเขา อยากจะให้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับเราบ้าง อยากอยู่แบบมีความสุข ไม่อยากอยู่แบบนี้ ทำอะไรก็ไม่ได้ มันติดคดีอยู่ อยากให้หน่วยงานช่วยเหลือ ตอนนี้ลำบาก เงินทอง หนี้สินตั้งแต่ตอนปลูกยาง จะได้กรีดอยู่แล้วต้องมาล้มยางตัวเองแบบน้ำตาไหลไปด้วย ล้มยางไปด้วย ถ้าไม่ล้มจะโดนคดี เราก็ต้องตัดยางตัวเอง มันอัดอั้น รู้สึกชีวิตไม่ดีเลย เหมือนคนต่างประเทศ เหมือนต่างด้าวมาอาศัยเขาอยู่เลย” แสงเดือนกล่าว​

    วิศรุต ศรีจันทร์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เสนอว่าแม้คดีความจะอยู่ในชั้นศาลฎีกา และหน่วยงานอ้างว่าไม่สามารถก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ก็ควรมีแนวทางเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากนโยบายของรัฐ โดยเสนอให้ต้องเยียวยาทั้งค่าเสียโอกาสจากการทำกินในสวนยางพารา ค่าเสียหายที่เกิดจากการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนให้แสงเดือนสามารถกลับเข้าไปทำกินบนที่ดินเดิมได้​

    ต่อมา สิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะประธานที่ประชุม กล่าวว่าที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีหลักเกณฑ์สำหรับการเยียวยาผลกระทบแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) หาหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผลกระทบแก่แสงเดือน แล้วหารือกับพีมูฟ ส่วนกรณีที่ดินทำกินให้ผ่อนผันให้สามารถเข้าไปทำกินได้ในระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา​

    ข้อมูลจากพีมูฟ กรณีแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นตั้งแต่ชุมชนบ้านแม่กวักถูกประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ทับที่ทำกิน หลังจากนั้นกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก.1 หลังจากนั้นได้มีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ขณะที่ก็ยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือนออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ได้นรับการประกันตัวออกมา และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา​

    Related

    Lanner Joy : การเดินทางของซุปเปอร์ฮีโร่ Healthtech สตาร์ทอัพสัญชาติเชียงใหม่ กับการรักษาโรคไมเกรนด้วยจิตวิญญาณนวัตกร

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปในย่านศิริมังคลาจารย์ นอกจากคาเฟ่ในตรอกซอกซอยที่หลบซ่อนจากความวุ่นวายในโซนนิมมานฯ หากสังเกตดี ๆ ย่านแห่งนี้เป็นฐานทัพของบริษัทสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย  ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตรในหัวมุมด้านทิศตะวันตกของคูเมืองเชียงใหม่ จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางสุขภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนมากมาย และในพื้นที่เล็ก...

    เปิดแคมเปญ ‘คนเหนือต้องได้ตรวจปอด’ ดันคนภาคเหนือ ต้องได้รับการคัดกรองมะเร็งปอด ตามระบบหลักประกันสุขภาพ

    สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, และวาระเชียงใหม่ ขอเชิญทุกท่าน ร่วมลงชื่อ "ผลักดัน" ให้คนเหนือในพื้นที่เสี่ยงสูงจากผลกระทบปัญหาฝุ่นควัน ได้รับ "การคัดกรองมะเร็งปอด"...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...