พฤษภาคม 21, 2024

    ประวัติศาสตร์สังคมพหุวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่เมืองและชานเมืองเชียงใหม่: หม้อหลอมรวมใบใหญ่ในกระแสธารทุนนิยม การพัฒนาเมืองและผู้คนที่หลากหลาย

    Share

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

    ความนำ

    “เชียงใหม่” ดินแดนที่ใครๆ ต่างก็มีความฝันใฝ่อยากใคร่มาอยู่เหย้า เมืองที่มีรากเหง้าและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่สืบต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ในอดีตเชียงใหม่เคยมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม การค้าในภาคพื้นทวีป ทั้งยังมีความมั่นคงทางการเมืองซึ่งมีฐานะเป็นรัฐอิสระที่สร้างและแผ่ขยายชุมชนทางการเมืองในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาอย่างแข็งขัน (โดยเฉพาะช่วงรัฐจารีตยุคราชวงศ์มังราย) พญามังรายปฐมกษัตริย์ของเมืองแห่งนี้ได้เลือกชัยภูมิที่มีความเหมาะสมอันเป็นอาณาบริเวณใกล้เคียงอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มระหว่างเทือกเขาผีปันน้ำอยู่ด้านทิศตะวันออกและเทือกเขาถนนธงชัยอยู่ด้านทิศตะวันตกโดยมีแม่น้ำแม่ปิง (รวมทั้งแม่น้ำสาขา ได้แก่ น้ำแม่แตงและน้ำแม่กวง) เงื่อนไขและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อการสร้างระบบชลประทานแบบเหมืองฝายที่หล่อเลี้ยงสังคมเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพในพื้นที่ที่เรียกว่าแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน และพื้นที่ใกล้เคียงอาณาบริเวณแถบนี้มาอย่างยาวนาน (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2549 : 3-5)  

    (ภาพ พญาเม็งราย)

    ผู้เขียนขอนำเสนอข้อเขียนที่สะท้อนประเด็นประวัติศาสตร์สังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเชียงใหม่และส่วนขยายจากพื้นที่ของเมืองออกสู่พื้นที่ชานเมืองภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงยุคสมัยได้สร้างผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่เหย้าเฝ้าอาศัยเป็นในพื้นที่ทางสังคมดังกล่าวซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นสร้างหม้อหลอมรวมทางสังคมวัฒนธรรมที่มีพลวัตซี่งสามารถพัดพาเอาผู้คนหลากหลายชาติพันธ์ให้เข้ามาสู่พื้นที่แห่งนั้นอีกด้วย เมืองเชียงใหม่ได้ให้ภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามานี้ได้ดีที่สุดจากจุดเริ่มต้นที่ว่า ……เราต้องเข้าใจว่าล้านนาเชียงใหม่ไม่ได้มีแค่คนเมือง…….

    ย้อนเชียงใหม่ในอดีต : รากฐานของการเป็นสังคมหม้อหลอมรวมทางวัฒนธรรม

    (ภาพ พญากาวิละ)

    เอกสารตำนานพื้นเมืองและงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาและล้านนาคดีต่างก็ได้ระบุถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาสู่พื้นที่แอ่งเชียงใหม่-ลำพูนว่าเกิดขึ้นเรื่อยมาอย่างเป็นพลวัต ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำสงครามระหว่างแว่นแคว้นของบรรดารัฐจารีตน้อยใหญ่ การเสาะแสวงหาพื้นที่ทำกินเพาะปลูกที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีกว่าเดิมและการเข้ามาค้าขายเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเป็นสามปัจจัยอย่างน้อยที่ทำให้อาณาบริเวณแถบนี้มีพัฒนาการทางสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลายทางชาติพันธ์และวัฒนธรรมขณะที่การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนครั้งยิ่งใหญ่ในฐานะเชลยสงครามที่น่าสนใจ กล่าวคือ การกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่างๆให้เข้ามาเป็นกำลังพลในช่วงการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามาเป็นเวลากว่าสองศตวรรษในช่วงยุคธนบุรีและยุคต้นรัตนโกสินทร์โดยนักประวัติศาสตร์ได้เรียกยุคสมัยดังกล่าวนี้ว่าเป็น “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” อันเป็นสำนวนที่นักวิชาการชั้นหลังเรียกขานยุคสมัยแห่งการฟื้นบ้านฟื้นเมืองของพญากาวิละและเครือข่ายญาติวงศ์พงศา “ทิพย์จักร” แห่งนครลำปางที่ยอมสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้ชายคาอำนาจใหม่ของกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งได้มีการกวาดต้อนเอาผู้คนหลายหลากชาติพันธ์จำนวนมากซึ่งเดิมทีได้หลบลี้หนีภัยสงครามเข้าสู่เขตป่าเขาให้กลับคืนเข้ามาสู่เมือง ตลอดจน มีการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเล็กเมืองน้อยได้แก่ กลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงจากกลุ่มหัวเมืองยางแดงในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินกลุ่มชาติพันธ์ไทใหญ่ในหัวเมืองของแคว้นฉาน ตลอดจน กลุ่มชาติพันธ์ไทลื้อและไทขึน จากบางหัวเมืองในแคว้นสิบสองปันนาให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยในฐานะพลเมืองของเชียงใหม่ในฐานะแรงงาน ข้าทาส หรือช่างฝีมือที่ถูกเกณฑ์ให้มาตั้งรกรากถิ่นฐานในบริเวณรายรอบเมืองเชียงใหม่ (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2546; วราภรณ์  เรืองศรี, 2550 ; สรัสวดี อ๋องสกุล, 2561) ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีฝีมือด้านงานหัตถศิลป์ซึ่งตั้งถิ่นฐานในหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านนันทาราม เป็นชุมชนที่ผู้คนยุคบุกเบิกของชุมชนได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองเชียงตุงซึ่งพวกเขานี้มีความชำนาญด้านการทำเครื่องเขินที่เป็นงานหัตถศิลป์ของชาวไทเขิน หรือชุมชนบ้านวัวลาย เป็นชุมชนที่ผู้คนยุคบุกเบิกของชุมชนได้อพยพโยกย้ายมาจากเมืองปั่นซึ่งพวกเขานี้ มีความชำนาญด้านการทำเครื่องเขิน เป็นต้น (สมโชติ อ๋องสกุล, 2558)

    ผู้คนกลุ่มชาติพันธ์อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกเกณฑ์ให้ไปตั้งรกรากถิ่นฐานยังอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวงหลาย ๆ พื้นที่หลักฐานส่วนใหญ่แล้วพบว่าการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนนั้นมักจะย้ายไปมาเป็นกลุ่มก้อนและเกิดการรวมกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันภายหลัง อันเป็นผลมาจากระบบวัฒนธรรมอันแน่นเหนียวที่คอยโยงใยยึดเหนี่ยวผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดีดังจะเห็นได้จากลักษณะการอยู่ร่วมกันจะยังคงชื่อชุมชนหรือเมืองเดิมตามที่บรรพบุรุษของตนนั้นเคยอยู่แต่เดิมซึ่งยังคงปรากฏชื่อเรียกให้เห็นในหลายพื้นที่ของอำเภอปริมณฑลรอบๆเมืองเชียงใหม่ เช่น บ้านเมืองวะและบ้านเมืองเล็นในพื้นที่อำเภอสันทรายบ้านพยากและบ้านเมืองลวงในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด  บ้านหลวยในพื้นที่อำเภอแม่ออนและอำเภอสันกำแพง เป็นต้น ซึ่งผู้คนกลุ่มดังกล่าวนี้ได้มีการนำเอาภูมิปัญญาด้านระบบเหมืองฝายและการทำนามาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าวจนกระทั่งมีการสะสมทุนที่มีลักษณะคลี่คลายจากชุมชนแบบเกษตรกรรมมาสู่เกษตรอุตสาหกรรมจนมีลักษณะกลายเป็นเมือง (Urbanization) ในห้วงเวลาต่อมามากขึ้น (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2546 ; 2552)

    ราวต้นศตวรรษที่ 20 ล้านนาใต้ร่มชายคาสยามซึ่งมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางถูกผนวกควบรวมอย่างถาวรจริงจังเข้าเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันกับราชอาณาจักรสยามซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับการแผ่ขยายอำนาจของชาติเจ้าอาณานิคมและการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมระบบโลกที่คืบคลานเข้าสู่ภูมิภาคที่นำมาซึ่งความต้องการด้านกำลังคนเพื่อเป็นแรงงานในหลาย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีผลให้เกิดการดึงดูดกลุ่มคนชาติพันธุ์ ต่าง ๆ ให้เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่เมืองเชียงใหม่มากขึ้น เช่น กลุ่มคนที่เป็นพ่อค้าและลูกหาบกุลีที่ต้อนคาราวานสัตว์ต่างเพื่อขนส่งซื้อขายสินค้าในการค้าทางไกลซึ่งต้องอาศัยแรงงานชาติพันธ์ฮ่อและไทใหญ่ กลุ่มคนที่ใช้แรงงานในกิจการสัมปทานป่าไม้สักของบริษัทบริติช อินเดีย (ชาติพันธ์ขมุ) ตลอดจน กลุ่มคนชาติพันธ์บนพื้นที่สูงที่มีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มคนพื้นราบ สิ่งเหล่านี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านของเมืองเชียงใหม่จากสังคมเกษตรกรรมที่ทำการผลิตแบบเก่าเพื่อการยังชีพไปสู่การผลิตแบบใหม่เพื่อการค้ามากยิ่งขึ้น (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2552) ความต้องการแรงงานก่อให้เกิดการดูดซับรับเอาผู้คนชาติพันธ์ที่หลากหลาย เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ ขมุ พม่า รวมถึงฝรั่งชาติตะวันตก ซึ่งผู้คนที่กล่าวมานี้ส่วนหนึ่งมีสถานะเป็นคนในบังคับอาณานิคมอังกฤษให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ย่านประตูช้างเผือกและย่านช้างม่อย ตลอดจนพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิงช่วงตัวเมือง โดยส่วนหนึ่งต่างอาศัยอยู่ร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนเจ้าถิ่นดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในเขตเมือง อาทิ ชุมชนวัดเกต ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่สะท้อนถึงความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจการค้าในห้วงรอยต่อของการควบรวมสยาม-ล้านนา (Sethakul, 1989) พื้นที่ชุมชนดังกล่าวยังปรากฏพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือศาสนสถานของศาสนาต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธ์ในพื้นที่หลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดป่าเป้าและวัดกู่เต้าชุมชนชาติพันธ์ไทใหญ่และปะโอ วัดทรายมูลของชุมชนชาวพม่า ศาสนสถานของชาวซิกข์และมัสยิดของชาวมุสลิม ตลอดจนโบสถ์คริสต์และสถานศึกษาที่ดำเนินการโดยบาทหลวงมิชชันนารีอย่างโรงเรียนดาราวิทยาลัยและโรงเรียนชายวังสิงห์คำหรือปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยในเวลาต่อมา 

    ย้อนเชียงใหม่เมื่อตะวา : เชียงใหม่ในกระแสธารทุนนิยมและวาทกรรมการพัฒนาเมือง

    (ภาพ แยกแจ่งหัวรินด้านนอก ไปทางถนนห้วยแก้ว ช่วงปี 2530 โดย บุญเสริม สาตราภัย)

    แม้อดีตอันใกล้ของเมืองเชียงใหม่เพียงไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้า สามารถทำความเข้าใจได้จากปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมไทยในภาพรวมที่มีการเติบโตครั้งใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษ (ปี 2530-2534) แม้มีการชะลอตัวลงบ้างในช่วงกลางทศวรรษด้วยสาเหตุจากวิกฤตการณ์การรัฐประหารในปี 2534 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ก็กลับฟื้นฟูขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ งานของธเนศวร์ เจริญเมือง (2540 : 62-80) กล่าวถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในพื้นที่ภาคเหนือและเมืองเชียงใหม่ว่าเป็น ผลที่เกิดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 – 7 (ช่วงปี 2520 – 2539) จึงนำมาสู่นโยบายการพัฒนาเมืองหลักและเมืองรองของของรัฐบาลที่มีต่อบางจังหวัดในส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับความเจริญทุกๆด้านที่กระจุกตัวในกรุงเทพฯให้สามารถกระจายออกไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดังที่กล่าวมาเสนอแนวทางหลักในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การบริการ ตลอดจนการคมนาคมขนส่งทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้งยังได้มีการขยายพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม (เชียงใหม่-ลำพูน) เพื่อเน้นแปรรูปวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีมากขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520

    เงื่อนไขที่กล่าวมานี้ มีผลให้เมืองและชานเมืองเชียงใหม่กลายมาเป็นพื้นที่ปลายทาง (Destination) ซึ่งดึงดูด (Pull) ผู้คนจากถิ่นที่ต่าง ๆ ให้อพยพย้ายเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสในการแสวงหางานทำที่ดีกว่า (Better Job Opportunity) ตลอดจนค่าจ้างและความทันสมัยของพื้นที่ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุซึ่งผลัก (Push) ผู้คนให้ย้ายถิ่นออกจากที่อยู่เดิมหรือพื้นที่ต้นทาง (Origin) เนื่องจากความล้มเหลวในการประกอบอาชีพจึงทำให้ต้องย้ายออกจากชนบทเข้าสู่เมืองและชานเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ความครุกรุ่นของสภาวการณ์การเมืองและความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารกับชนกลุ่มน้อยและภัยสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ราวทศวรรษ 1960-1980 ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักให้ผู้คนจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นฐานจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์เข้ามาอาศัยในพื้นที่เมืองและชานเมืองเชียงใหม่ในห้วงเวลาดังกล่าวอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง (ปานแพร เชาวน์ประยูร, 2553 ; นงเยาว์ เนาวรัตน์ และชญานิศวร์ ยิ้มสวัสดิ์, 2560) 

    เพียงไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้า ข้อเสนอทางวิชาการของดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ (2539) ที่เปรียบเป็นดังเช่นดั่งสัญญาณเตือนที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ โดยดวงจันทร์ได้มีการนำเสนอแนวคิดเอกนครระดับภาค (Regional primate city) เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ในช่วงปี 2537-2538 ที่ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งปวงของภาคเหนือ ทั้งมิติเศรษฐกิจ หน่วยงานราชการ การท่องเที่ยวและการบริการ การศึกษา การพาณิชย์ การเงินและการธนาคาร การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนเป็นศูนย์กลางทางด้านกีฬาเมื่อมีโครงการสร้างสนามขนาดใหญ่ในระดับชาติและนานาชาติสำหรับใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ในปี 2538 นั้น การดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้มีขึ้นควบคู่กันกับวาระการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชน์เมืองเชียงใหม่ซึ่งมีอายุครบ 700 ปีและการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีหรือปีกาญจนาภิเษกช่วง2538-2539 จึงทำให้ภาครัฐถือเอาวาระโอกาสดังกล่าวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาตามเข้ามาภายหลัง อาทิ การขยายถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำพูน รวมถึงการขยายและปรับปรุงสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ฯลฯ การพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ของเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ2530 นำไปสู่การขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ที่มีการกระจายรายได้ผ่านเม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงสู่พื้นที่ของเมืองที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของห้างร้าน อาคาร สถานที่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการผุดขึ้นมาของธุรกิจภาคบริการที่ตามมาด้วยความต้องการนำเข้าแรงงานในธุรกิจภาคบริการต่างๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมายทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้ง การขยายตัวของสถานศึกษาและสถานการรักษาพยาบาลของเอกชน โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดนี้สร้างการดึงดูดผู้คนที่เป็นกำลังแรงงานต่างถิ่นให้อพยพเข้าสู่พื้นที่เมืองเชียงใหม่เพื่อขายแรงงานกรรมกรรับเหมาก่อสร้างและแรงงานในภาคบริการ  รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวแทบทั้งหมดได้กระจุกตัวกันอยู่เพียงภายในพื้นที่เมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นหนุนเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพการใช้พื้นที่เมืองเชียงใหม่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งเป็นการทำให้เมืองเชียงใหม่ขยายตัวกลายเป็นเมืองโตเดี่ยวมากยิ่งขึ้น  (สมโชติ อ๋องสกุล, 2549)

    การพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ของเมืองเชียงใหม่ซึ่งได้มีมาอย่างต่อเนื่องจึงได้นำไปสู่การกระจายรายได้ผ่านเม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงสู่พื้นที่ของเมือง ขณะเดียวกันบริเวณชานเมืองในหลายพื้นที่ยังได้รับอานิสงค์จากความเจริญเติบโตที่ก่อให้เกิดพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจภาคบริการเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งโรงแรม ร้านอาหารและอาคารสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการขยายตัวของสถานศึกษา ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยได้ย้ายแผนกมัธยมจากเดิมที่ถนนเจริญประเทศในเขตเมืองไปตั้งใหม่ยังถนนมหิดลช่วงต้นทศวรรษ 2530s หรือโรงเรียนวชิรวิทย์ที่เดิมตั้งอยู่บนพื้นที่ถนนช้างคลานในเขตเมืองได้ย้ายไปตั้งในย่านตำบลหนองป่าครั้งอันเป็นพื้นที่ใกล้ชานเมืองช่วงทศวรรษที่ 2540s โดยช่วงเวลาต่อมาก็ได้มีการเกิดขึ้นของสถานศึกษาเอกชนขนาดใหญ่ในพื้นที่ชานเมืองซึ่งมีแนวโน้มในบริการทางการศึกษาแก่บุตรหลานผู้มีฐานะอันจะกินในพื้นที่ชานเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ยังมีสถานพยาบาลของเอกชน (อย่างเช่นโรงพยาบาลเทพปัญญา โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของถนนวงแหวนเพื่อรองรับการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้คนแถบชายขอบรายรอบเมืองอีกด้วย 

    จากพื้นที่เมืองสู่พื้นที่ชานเมือง : ชายขอบและรอบนอกของหม้อหลอมรวมทางวัฒนธรรม

    (ภาพ บ้านจัดสรรบริเวณชานเมือง ที่มา โครงการ บ้านปวริศา สันทรายหลวง)

    ความเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลังทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา มีผลทำให้ “ความเป็นเมืองเชียงใหม่” ได้กระจายออกมาสู่พื้นที่รอบนอกข้ามพื้นที่อำเภอปริมณฑลโดยรอบของอำเภอเมืองมากยิ่งขึ้น ทางทิศตะวันออกความเป็นเมืองได้ขยายตัวไปตามแนวถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงรายถัดต่อจากพื้นที่อำเภอสันทรายข้ามไปยังพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด และตามแนวถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง-แม่ออนข้ามไปยังพื้นที่อำเภอสันกำแพง ส่วนทางด้านทิศใต้ความเป็นเมืองได้ขยายตัวไปตามแนวถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ถัดต่อจากพื้นที่อำเภอหางดงข้ามไปยังพื้นที่บางส่วนของอำเภอสันป่าตองและอำเภอแม่วางซึ่งการขยายตัวตามแนวถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปางถัดต่อจากพื้นที่อำเภอสารภีนั้น ได้ทำให้อาณาบริเวณความเป็นเมืองมีการเชื่อมต่อไปจนถึงเขตอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สำหรับทางด้านทิศเหนือความเป็นเมืองนั้นได้ขยายตัวไปตามแนวถนนสายเชียงใหม่-แม่ริม-ฝาง และถนนสายเชียงใหม่-แม่โจ้-พร้าวถัดต่อจากพื้นที่อำเภอแม่ริมข้ามไปยังพื้นที่บางส่วนของ อำเภอแม่แตง 

    ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนขยายจากอำเภอปริมณฑลของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ล้วนมีการปรับตัวตั้งรับและตอบโต้กับความเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของการปกครองส่วนท้องถิ่นและระบบเศรษฐกิจจากตัวเมืองเชียงใหม่ หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2540 ซึ่งเน้นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเองยกสถานะจากตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และขึ้นเป็นเทศบาลตำบลและเทศบาลเมืองตลอดแนวถนนสายต่างๆที่กระจายตัวออกจากศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ในแต่ละทิศทางที่มีระยะสั้นยาวแตกต่างกันนั้นเป็นอาณาบริเวณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลตั้งอยู่เรียงรายสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นเมืองเพื่อขยายตัวจากศูนย์กลางออกไปสู่พื้นที่สุดขอบความเจริญของเมือง (นงเยาว์ เนาวรัตน์และคณะ, 2562)

    นอกจากนี้ การขยายอาณาบริเวณความเจริญของเมืองไปสู่พื้นที่ชานเมืองยังทำให้เมืองเชียงใหม่ช่วงทศวรรษ 2530 กลายเป็นยุคทองของภาคธุรกิจและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลทำให้ราคาที่ดินในเขตเมืองสูงขึ้นหลายเท่าตัว ผู้คนส่วนหนึ่งซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิม อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง เชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเมืองเมืองเก่าชั้นในและพื้นที่รายรอบส่วนหนึ่งได้ขายที่ดินหรือบ้านพักอาศัยในราคาสูงให้กับนักธุรกิจต่างถิ่นแล้วหลบลี้หนีความวุ่นวายในย่านเมืองออกสู่พื้นที่ชานเมืองมากขึ้นสอดคล้องกับงานของ Tubtim (2015) ที่ฉายให้เห็นภาพการเคลื่อนย้ายของผู้คนในระดับชนชั้นกลางออกจากเขตเมืองเพื่อแสวงหาความแตกต่างจากการใช้ชีวิตในเมืองซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ยังสามารถได้รับประโยชน์จากเมืองทั้งเรื่องโอกาสการทํางาน ขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สามารถมีบรรยากาศการใช้ชีวิตแบบอยูในชนบทด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ชานเมืองเพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายเสมือนอยู่ในเมืองซึ่งอาศัยการเดินทางผ่านถนนต่อเชื่อมพื้นที่จากชานเมืองเข้าไปสู่พื้นที่ใจกลางเมือง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่ได้กล่าวมายังได้ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ชานเมืองที่เปลี่ยนจากพื้นดินเกษตรกรรมชนบทไปสู่พื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจด้าน อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น ทำให้ความเติบโตด้านเศรษฐกิจและการขยับขยายอาณาบริเวณความเป็นเมืองเชียงใหม่จากพื้นที่เมืองไปสู่พื้นที่ชานเมืองนั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างการดูดซับผู้คนที่มากหน้าหลายตาจากต่างถิ่น โดยผู้คนเหล่านี้ มีความหลากหลายทางชนชั้น ค่านิยม การประกอบอาชีพ ตลอดจนมีระดับความเข้าใจต่อพื้นที่และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน โดยรูปแบบของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำงานแบบชั่วคราวตามฤดูกาลซึ่งมีลักษณะอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบถาวรก็คือการนำพาเอาครอบครัวและผู้ติดตามมาอยู่อาศัยลงหลักปักฐานในพื้นที่ชานเมืองเชียงใหม่ หรือเป็นไปในลักษณะของการอพยพเคลื่อนย้ายแบบไม่ถาวรนั่นคือมีการเดินทางกลับไปกลับมา

    สำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าสู่พื้นที่ของเมืองและชานเมืองเชียงใหม่นี้ ล้วนมีเป้าหมายในการเสาะแสวงหางานทำและโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยผู้คนกลุ่มดังกล่าวเหล่า มีสถานะทางเศรษฐกิจในระดับที่รองลงมาจากชนชั้นกลางที่อพยพออกจากเมืองมาสู่พื้นที่ชานเมือง หากแต่เป็นคนที่มาจากพื้นที่อื่นๆ เช่นจากพื้นที่ชนบทห่างไกล พื้นที่ต่างจังหวัดหรือต่างภูมิภาค ตลอดจนมีผู้คนชาติพันธ์บนพื้นที่สูงซึ่งได้อพยพมาขายแรงงานในพื้นที่ ชานเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต ว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีสถานะความมั่นคงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนดังกล่าวสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นแรงงานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่หรือกลายมาเป็นผู้ประกอบการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วยลำแข้งของพวกเขาเอง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ว่านี้มีทั้งในรูปแบบการเปิดร้านค้าขนาดย่อย การเปิดร้านอาหารและงานบริการเพื่อรองรับผู้คนที่เป็นแรงงานรับจ้างในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายซึ่งได้อพยพเข้ามาสู่พื้นที่ชานเมืองนี้ในจำนวนที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้คนซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาสู่พื้นที่ชานเมืองเชียงใหม่ก็มีความหลากหลายในเชิงเหตุผลทั้งในด้านรูปแบบการใช้ชีวิต จำนวนค่าครองชีพอย่างเช่นค่าเช่าหอพักหรือที่พักในพื้นที่นอกเมืองซึ่งมีราคาถูกมากกว่าหอพักหรือที่พักในพื้นที่เมือง ขณะเดียวกันพื้นที่ชานเมืองก็ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและในบางกรณีก็มีการจ้างงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใกล้เมืองเชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในลักษณะของผู้คนข้ามประเทศและภาวะข้ามชาติเข้ามาพำนักอาศัยทั้งในแคมป์ที่พักแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะชาวไทใหญ่ในพื้นที่โครงการบ้านจัดสรรตามบริเวณเมืองเชียงใหม่ และก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เช่าที่พำนักอาศัยในลักษณะของหอเช่าที่มีราคาถูกหรือห้องพักที่สามารถอยู่อาศัยกันได้ในระดับครอบครัว นอกจากนี้พื้นที่ชุมชนชานเมืองนี้มีความใกล้ชิดติดต่อกลับเขตเมืองโดยมีทั้งความสะดวกสะบายและมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งนี้ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ต่อการดารงชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ชานเมืองซึ่งมีการเติบโตและขยายตัวสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของอำเภออื่นๆ รอบตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่ปลายทางที่สร้าง “ปัจจัยดึงดูด”แรงงานข้ามถิ่นฐานหรือแรงงานไร้สัญชาติจากประเทศเมียนมาให้อพยพเดินทาง เข้ามาพำนักอาศัยเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวในพื้นที่ชานเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จุดสนใจประการสำคัญที่มีต่อผู้อพยพข้ามประเทศหรือภาวะข้ามถิ่นฐานมาสู่เมืองเชียงใหม่ส่วนหนึ่งคือพวกเขาส่วนหนึ่งมีความสามารถในการขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นไปถึงขั้นสามารถซื้อหาที่พักอาศัยได้โดยที่ไม่สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้พวกเขาส่วนหนึ่งใช้วิธีการไว้วางใจให้นายจ้างเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแทน ขณะที่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งสามารถที่จะขยับสถานะทางเศรษฐกิจขึ้นไป พวกเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาสในการทำงานในประเทศไทยมาเป็นเวลานานตลอดจนมีเครือข่ายทางสังคมและเพื่อนฝูงคนรู้จักเพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน ตลอดจนการที่พวกเขาเหล่านี้สามารถส่งเสียให้ให้บุตรหลานของพวกเขาสามารถเข้าเรียนโรงเรียนในพื้นที่ตัวเมืองได้หรือโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ชานเมืองได้เฉกเช่นคนไทยชนชั้นกลางอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน

    เชียงใหม่ในบทสรุป : ก้าวให้ไกลเพื่อไปสู่อนาคต

    (ภาพ: ทิวทัศน์บริเวณถนนห้วยแก้ว ปี 2565 ที่มา wikipedia)

    ความเป็นเมืองเชียงใหม่ที่ได้มีการเจริญเติบโตและขยับขยายพื้นที่อาณาบริเวณของความเป็นเมืองจากพื้นที่ชั้นใน (Inner city) ให้ขยายตัวออกไปสู่พื้นที่ชั้นนอก (Outer city) จากเขตพื้นที่ของอำเภอเมืองไปสู่อำเภอปริมณฑลโดยรอบได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ชี้ให้เห็นว่าอาณาบริเวณดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นใจกลางของลุ่มน้ำแม่ปิงนั้นมีลักษณะเป็นหม้อหลอมรวม (Melting Pot) ทางภาษา เชื้อชาติและวัฒนธรรมของผู้คนซึ่งดำรงคงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนี้อย่างหลากหลายนับตั้งแต่อดีตซึ่งที่ผ่านมาสังคมล้านนามีการผสมผสานทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นกับแทบทุกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่หรือกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่เดิมซึ่งต่างก็มีระบบวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์และสังคมของตน แต่เมื่อผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งจะเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม เกิดการยอมรับและเพื่อลดความขัดแย้งกับเจ้าของถิ่นเดิมที่ตนได้ย้ายเข้ามา แต่ก็ยังมีการคงไว้ซึ่งรูปแบบวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การอยู่รวมกลุ่มและความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ตลอดจนการพึ่งพิงทางจิตวิญญาณและความเชื่อดั้งเดิมที่ยังคงค้างไว้ในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองและชานเมืองเชียงใหม่ 

    ทั้งนี้ การย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาสู่พื้นที่ชานเมืองเชียงใหม่จึงประกอบไปด้วยความคาดหวังต่อชีวิตที่ดีกว่าชีวิตในถิ่นที่อยู่เดิมของผู้อพยพย้ายถิ่นเหล่านั้น ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อให้เกิดการหารายได้มากขึ้น ขณะที่มุมมองในระดับนโยบายหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่สถาบันทางการเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ชานเมืองได้เอื้อให้เกิดการดึงดูดของผู้คนสู่พื้นที่ชานเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น กฎหมายการใช้ที่ดิน นโยบายส่งเสริมบ้านจัดสรรและการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ชานเมือง การที่รัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพผ่านการสร้างความเชื่อมโยงทางการคมนาคมขนส่งหลักๆ เช่น การขยายถนนทางหลวง ถนนวงแหวน เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการก่อสร้างหรือการพัฒนาถนนขึ้นในพื้นที่ชานเมือง ด้วยเหตุนี้ ถนนจึงเป็นปัจจัยชี้นำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในพื้นที่ชานเมืองเชียงใหม่ให้มีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าของผู้คนในพื้นที่ชานเมืองเชียงใหม่ว่าถ้าหากพื้นที่ใดพร้อมไปด้วยความสะดวกทางด้านไฟฟ้า น้ำประปา บริเวณดังกล่าวจัดเป็นความเจริญของพื้นที่เมือง รวมไปถึง บริการทางด้านสาธารณูปการจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการพัฒนา ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง เกิดการดึงดูดผู้คนที่มีรายได้เข้าไปอาศัยอยู่มากยิ่งขึ้น

    บทสรุปนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดการมองภาพไกลในอนาคตต่อเมืองเชียงใหม่ในฐานะหม้อหลอมรวมของความหลากหลากที่ดำเนินอยู่ภายใต้กระแสธารของทุนนิยมที่พัดพามาให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางของห้างร้าน เศรษฐกิจภาคบริการ สถานบันเทิง ตลอดจนเป็นแหล่งชุมชนวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์งานดนตรี ภาพยนตร์ ละคร เพลง เป็นต้น สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ล้วนอยู่ภายใต้ข้อท้าทายของการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีขึ้นอย่างหนักหน่วงเพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางการเมืองที่มีฐานในการกระจายอำนาจด้านเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เมืองและความเป็นเมืองเกิดความเจริญเติบโตและขยายอาณาบริเวณมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายอพยพถิ่นฐานเข้ามาสู่พื้นที่ชานเมืองผู้คน สมาชิกของชุมชนหรือหมู่บ้านชานเมืองเชียงใหม่จึงมีลักษณะที่เป็นพลวัตมีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีการผลิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ชานเมืองจึงกลายมาเป็นชุมทาง (Junction) การใช้ชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายซึ่งอพยพโยกย้ายข้ามถิ่นฐานไปซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการสูญสลายและเกิดการตัดขาดความเป็นชุมชนหมู่บ้านดั้งเดิม แม้ว่าพื้นที่ชานเมืองอาจเป็นพื้นที่เชื่อมต่อการเดินทางผ่านการมีทางแยก ทางลอด หรือทางยกระดับขนาดใหญ่บนท้องถนน แต่โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คนทั่วไปอาจเป็นสิ่งที่มีผลกระทบและสร้างความเป็นอื่นต่อทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมืองและชานเมืองจึงเป็นพื้นที่ในการปะทะผสานระหว่างผู้คนเจ้าถิ่นและผู้คนต่างถิ่นเคลื่อนย้ายไหวเวียนเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น“พรมแดนทางชาติพันธ์” (Ethnic Border) และ “พรมแดนทางวัฒนธรรม” (Cultural Border) ในพื้นที่แห่งนี้ให้มีการปะทะผสานกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งยังแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากับภาวะความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาวะข้ามวัฒนธรรมและความเป็นอื่นต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ความเป็นอื่นเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและรุ่มรวย ทั้งยังเป็นต้นธารในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

    เอกสารอ้างอิง

    • ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์.( 2539). เชียงใหม่: เอกนครระดับภาค. ปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 2 โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
    • ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2540). การปกครองเมืองในสังคมไทย: กรณีเชียงใหม่เจ็ดศตวรรษ. เชียงใหม่: โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • นงเยาว์ เนาวรัตน์ และชญานิศวร์ ยิ้มสวัสดิ์. (2560). สิทธิไร้ตัวตน การศึกษาของเด็กข้ามชาติไทใหญ่ในโรงเรียนไทย. เชียงใหม่ : รายงานการวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุนจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 
    • นงเยาว์ เนาวรัตน์ และคณะ. (2562).  การพัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายขอบ (รายงานโครงการวิจัยเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ). เชียงใหม่: ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • ปานแพร เชาวน์ประยูร. (2553). “ทวิอัตลักษณ์ : การต่อสู้และการปรับตัวของชาวไทใหญ่พลัดถิ่น ในจังหวัดเชียงใหม่”. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่30 (1) : หน้า 41-68.
    • รัตนาพร เศรษฐกุล. (2546). หนึ่งศตวรรษเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์     
    • รัตนาพร เศรษฐกุล. (2552). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม.
    • วราภรณ์ เรืองศรี .(2550). การค้ากับเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในล้านนาก่อนการ สถาปนาระบบเทศาภิบาล  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
    • วราภรณ์ เรืองศรี .(2557). คาราวานและพ่อค้าทางไกล : การก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทย และดินแดนตอนในของเอเชียตะยันออกเฉียงใต้.เชียงใหม่ : ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • สรัสวดี อ๋องสกุล.(2561). ประวัติศาสตร์ล้านนา ฉบับสมบูรณ์.กรุงเทพฯ:อมรินทร์. 
    • สมโชติ อ๋องสกุล. (2549). การสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในเชียงใหม่. ใน จักรวาลวิทยา. บรรณาธิการโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา. กรุงเทพมหานคร: มติชน: 38-76. 
    • สมโชติ อ๋องสกุล. (2558). ชุมชนช่างในเวียงเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน . เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์.
    • Sethakul, R (1989). Political, Social, and Economic Changes in the Northern States of Thailand Resulting from the Chiang Mai Treaties of 1874 and 1883. Doctor of Philosophy Dissertation, Department of History. Northern Illinois University,
    • Tubtim, T. (2014). Rural crossroads: class and migration in peri-urban Chiang Mai. Chiang Mai: Thesis (Doctor of Philosophy (Social Science)) Chiang Mai University

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...