เมษายน 27, 2024

    ส่งท้ายปีกับ “อคายนัม สมุดวาดฝัน” การออกเดินทางบนรถบรรทุกโรงละครเคลื่อนที่ 24 จุดหมายที่ปลายฝัน

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    เมื่อทีชต้องออกเดินทางตามหาความฝันตามคำสั่งของคุณปู่ ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความฝันคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน แต่เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้ง่ายขึ้น คุณปู่ได้มอบสมุดวิเศษ ‘อคายนัม’ สมุดที่จะดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้ออกมาเป็นจริงได้ ถ้าเราวาดความฝันของเราลงไป ทีชจะหาความฝันของตนเองเจอหรือไม่”

    ส่งท้ายปี 2566 ด้วย ละครเวทีเคลื่อนที่ว่าด้วยเรื่องราวของการตามหาความฝัน โดยคณะละคร Part Time Theatre จับมือสร้างสรรค์ผลงานกับ Glom Dream Wagon จนเกิดเป็น อคายนัม : สมุดวาดฝัน ที่นอกจากการเล่าเรื่องการเดินทางตามหาความฝันแล้ว ยังบ้าพลังอย่างมากกับการเดินทางแสดงละครกว่า 24 พื้นที่ ทั่วเชียงใหม่ ทั้ง อำเภอดอยเต่า อำเภอฮอด อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่วาง อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอสะเมิง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2566 – 18 มกราคม 2567 โดยโรงละครจะขับเคลื่อนโดยรถบรรทุก ที่เมื่อจอดนิ่งอยู่กับที่ โลกในจิตนาการก็จะค่อย ๆ เปิดออก

    ก่อนที่จะเริ่มออกเดินทาง Part Time Theatre ชวนพวกเรา Lanner ไปดู อคายนัม : สมุดวาดฝัน รอบพิเศษในงานมหกรรมนิทานสร้างเมือง จัดโดยโครงการเชียงใหม่อ่าน เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพ ข้างสวนสัตว์เชียงใหม่ ในบรรยากาศที่อบอุ่น เต็มไปด้วยเด็ก ๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง ก่อนที่โลกในจิตนาการจะค่อย ๆ เปิดขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เด็ก ๆ ต่างเข้าจับจองพื้นที่นั่งเพื่อเฝ้าดูว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อรถบรรทุกค่อย ๆ วิวัฒนาการตัวเองกลายเป็นโลกใบใหม่ ตัวละครต่างตบเท้าเข้ามาสร้างสีสัน 45 นาที หลังจากนั้นก็ต่างอบอวลไปด้วยมวลของความรู้สึกสุข สนุก ระทึกใจ พร้อมด้วยเสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ ที่ก้องอยู่

    หลังการแสดงจบลง ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้น คณะละครร่วมสิบชีวิตจะต้องออกเดินทาง เราเลยชวน ปิงปอง-พลัฏฐ์ ศิริพัฒนกุลขจร ผู้กำกับ และ 2 นักแสดง อาตัน-อาตัน อาแว  และ ออย-ขวัญเรือน โลหากาศ มาพูดคุยก่อนการเดินทางถึงที่มาที่ไปในการทำโปรเจกต์บ้าพลังในครั้งนี้ รวมไปถึงเรื่องที่ท้าทายคนทำงานละครอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแปลงรถบรรทุกให้กลายเป็นโรงละคร

    ไปมายังไงถึงได้ทำอคายนัม สมุดวาดฝัน

    (อาตัน-อาตัน อาแว)

    อาตัน : ต้องนับย้อนไปตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว เรามีโอกาสทำงานกับ Glom Immersive Theatre ตอนนั้นเราทำละคร Immersive ชื่อ Wake Up Hanuman พอทำงานเสร็จพวกเราก็รู้จัก สนิทสนมกัน ทาง Glom ก็ถามว่าเราสนใจอะไร แล้วเราเคยทำงานกับเด็ก เลยสนใจทำต่อ อย่างปีที่แล้วเราทำงานกับ เด็ก ๆ ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ ด้วย เขาก็เห็นว่าเราทำงานกับเด็กเป็น บวกกับตัวเราเองก็เคยทำงานอบรมให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับน้ำท่วม ดินถล่ม ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ เขาก็เลยเสนอว่าให้เราหาสิ่งที่เราชอบมาผนวกไหม มันก็เลยเป็นการตั้งเป้าว่า 1.เราอยากทำงานกับเด็ก 2.ต้องเป็นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เด็กในเมือง

    ก็เลยเสนอโปรเจกต์นี้ไป เราเห็นว่าคนในเมืองเข้าถึงสื่อที่เป็นงานละคร งาน Performance หรือละครเวทีต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า คนที่อยู่นอกเมืองเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้ดูบ่อย ๆ เราเลยอยากทำละครในพื้นที่นอกเมือง ให้เขาได้สัมผัสกับงานแบบนี้ดูบ้าง ก็เลยเกิด Glom Dream Wagon อคายนัม สมุดวาดฝัน

    ปิงปอง : เสริมอีกนิด เอาจริงพวกเราเริ่มเตรียมกันมาตั้งแต่ปีแล้ว ตอนแรกวางแผนว่าจะออกเดินทางตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 นี่แหละ ไม่คิดว่าจะมาจัดช่วงปลายปีแบบนี้เลย แต่ก็ห่วงสภาพอากาศที่เป็นฤดูฝน เลยตัดสินใจเลื่อนมาปลายปี เหมือนเป็นการส่งความสุขให้กับเด็ก ๆ 

    ไอเดียที่ว่าด้วยการตามหาความฝันมันมาจากไหน?

    (ปิงปอง-พลัฏฐ์ ศิริพัฒนกุลขจร)

    ปิงปอง : มันเริ่มมาจากงานก่อนๆ  ที่เราไปทำงานกับเด็ก พอได้คลุกคลีมันเห็นว่าเด็ก ๆ มีความฝันที่ยิ่งใหญ่มากเลย ประเด็นเรื่องความฝันมันเลยผูกพัน ทำงานกับเรามาก ๆ แล้วพอเรามาทบทวนย้อนมองตัวเอง มันเหมือนเราเจอกับความฝันของตัวเองช้าไป เราเพิ่งมาเจอกับมันจริง ๆ ก็ช่วงมหา’ลัย ปี 4 แล้วกว่าจะมารู้จริง ๆ ว่าชอบอะไร เราก็รู้สึกว่าถ้าเด็ก ๆ  เขาได้เจอความฝันเร็วขึ้น มีสิ่งที่ไปกระตุ้น เขาก็น่าจะไปถึงการค้นหาตัวเอง ค้นหาความฝันได้เร็วขึ้น เราว่าเด็ก ๆ มีมุมมองที่น่าสนใจ มีความไร้เดียงสา ความคิดที่พอเราเป็นผู้ใหญ่มันจะต้องผ่านการกลั่นกรองนู่นนี่นั่น ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่พอเป็นเด็กๆ เขากล้าเล่นกล้าทำ

    อาตัน : เราเจอความฝันช้าไป ถ้าย้อนกลับไปตอนเรียนมันจะมีการเลือกสายวิชา เราก็เพิ่งมารู้ตัวว่าเราชอบทำละคร ก็ช่วงมหาวิทยาลัยปี 3 แล้ว เรารู้สึกว่ามันก็น่าจะดีถ้าเราได้เจอความฝันเร็วกว่านี้ แต่ถึงเจอช้าไปก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ แต่รู้เร็วมันก็ตั้งหลักได้เร็ว

    ออย : มันจะเป็นประเด็นทำนองว่า ‘ความฝัน-ความชอบ’ กับ ‘อาชีพ-หน้าที่’  บางคนที่ไม่ได้มีความฝันก็ต้องไปถามพ่อแม่อีก อย่างเราก็ไปถามพ่อว่า “อยากให้หนูเป็นอะไร” ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่าเราชอบการร้องเพลง ชอบศิลปะ แต่มันมีความสับสนว่าโตขึ้นเราจะเป็นอะไรล่ะ?

    (ออย-ขวัญเรือน โลหากาศ)

    ซึ่งอคายนัม สมุดวาดฝัน ก็จะมีการพูดถึงประเด็นนี้อยู่ ว่าจริง ๆ แล้วความฝันกับหน้าที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน การที่มีอาชีพหนึ่งที่คุณทำได้ดี ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นความฝันของคุณ ปัจจุบันคนป่วยเป็นซึมเศร้ากันเยอะมาก จากการพูดคุยและประสบการณ์ของตัวเองส่วนใหญ่มาจากการที่เราไม่เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงว่าเราต้องการอะไรกันแน่ แถมสังคมก็มาบอกว่าเราควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ มาบิดเบือนความต้องการ และความสุขในชีวิตของเราไปอีก เราก็มาคุยกับทีมว่าเราทำละครที่สื่อสารประเด็นนี้ก็ดีนะ เผื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาในสังคมในระยะยาว 

    เราอาจจะใช้ชีวิตมาทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกเอง ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ แต่บางคนใช้ชีวิตมาถึงอายุ 30-40 แล้วเพิ่งมาตระหนักรู้ตัวเอง เรารู้สึกว่าถ้ามันปลูกฝังได้ตั้งแต่ต้น รู้ตั้งแต่เด็กเลย มันอาจจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้

    อาจช่วยลดปัญหาจากการที่เด็ก ‘ก้าวพลาด’ ว่างั้นได้ไหม

    ปิงปอง : เราคิดว่าเป็นไปได้ หวังว่าละครเรื่องนี้จะไปสะกิดใจบางอย่างได้ จริง ๆ ตอนที่ใช้กระบวนการละครเพื่อทำหนังสั้นกับเด็ก ๆ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 เด็ก ๆ เขาชอบนะ พอจบกันไปแล้ว ผ่านมาหนึ่งปีแล้ว ก็ยังมีเด็กๆ ที่เคยทำละครกับเราติดต่อกลับมาว่าอยากช่วยงานละครเรา มันก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ดีที่เราได้เห็นการเติบโตอีกทิศทางหนึ่งของชีวิตเด็ก ๆ

    การพัฒนาบทของอคายนัม สมุดวาดฝัน มันมีความยากง่ายยังไงบ้าง

    ปิงปอง : ต้องบอกว่าในทีม Part Time Theatre จะมีคนที่ถนัดไม่เหมือนกัน อย่าง ต้อง-ษมาพงศ์ เครืออยู่ ก็ชอบการเขียนบท เราก็โยนโจทย์ว่าเราอยากพูดเรื่องความฝัน ต้องเขาก็เป็นคนเขียนบทเก่งอยู่ละเชื่อมือได้ แต่เขาชอบเขียนละครออกมาเป็นเชิงสัญญะเข้าถึงยากนิดนึง แต่พอมาเขียนละครเด็กปุ๊บ มันกลับลึกเกิน(ฮา) ก็คุยกันอยู่นาน สรุปคือมันยากไปสำหรับเด็ก ต้องรื้อโครงเรื่องใหม่หมด ย้ำว่าใหม่หมด และเก็บไว้แค่ประเด็นความฝัน

    น่าจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดแล้ว?

    ทุกคน : ยัง!

    แล้วการเดินทางไปเล่นใน 24 พื้นที่ ภายในเวลาเกือบ 1 เดือน ทำไมต้องเลือกเป็น 24 พื้นที่ ไม่ใช่ 1 อำเภอ 1 พื้นที่?

    อาตัน : พื้นที่ที่เราเลือกอย่างแรกคือต้องมีถนนเพราะเราใช้รถบรรทุก เลยยังมีบางพื้นที่ที่เราไปไม่ถึงจริง ๆ เราต้องดูเส้นทางที่รถบรรทุก ของเราเข้าถึงได้ง่าย และหาข้อมูลว่าพื้นที่ไหนน่าสนใจบ้าง อย่างปีนี้นำร่องเราก็ขอลองดูประมาณนี้ก่อน และเราก็อยากไปแสดงที่โรงเรียน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุด ทีแรกโจทย์ของเราก็วางไว้ว่าไปถึงปุ๊บก็เล่นได้เลย แต่จากการลงพื้นที่จริงก็พบว่ามันยากมาที่จู่ ๆ เด็กมาดูละครเลย การประสานงานมันยังยากอยู่ วิธีที่ง่ายที่สุดคือติดต่อกับทางโรงเรียนโดยตรงไปเลย

    แล้วเรื่องที่ท้าทายที่สุดเลยคืออะไร?

    ปิงปอง : จากปกติทำเป็นเวทีที่ตั้งอยู่กับที่ คราวนี้ละครมันอยู่บนรถ มันต่างกันมากเลยนะ แถมโจทย์คือทำยังไงให้เด็กอยู่กับตัวละครตลอดเวลา ก็ต้องให้ตัวละครเข้าไปเล่นกับเด็ก ๆ ให้เด็ก ๆ มีสมาธิจดจ่อตลอดเวลา มันเป็นความท้าทายที่แค่คิดก็ท้าทายแล้ว อีกเรื่องคือเรื่องรถบรรทุก ที่ถามว่ายากที่สุดก็เรื่องนี้แหละ

    อาตัน : คือพวกเราไม่มีความรู้ในการซื้อรถบรรทุกเลย พวกเราเรียนละครมา แต่ต้องไปซื้อรถ 6 ล้อ (ฮา) เราเคยเห็นแค่มันผ่านหน้าบ้าน อยู่บนถนน แต่พอไปดูจริง ๆ เออมันมีหลายขนาด แต่ละขนาดก็ไม่เหมือนกัน แถมยังมีหลายยี่ห้ออีก พอซื้อมาก็ต้องออกแบบให้เป็นเวทีอีก เป็นเรื่องที่วิศวกรรมมาก ก็เลยทำแบบเริ่มจาก 0 แต่ทาง Glom ก็หาคนมาช่วย Prove ว่าแบบที่เราต้องการ รถมันสามารถรับน้ำหนักได้ไหม แต่สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องรถบรรทุกเลยอย่างพวกเรามันก็ยาก ต้องออกแบบให้มันเดินทางได้ ต้องหาคนขับ ต้องหาอู่ที่ตรงความต้องการ เข้าใจงานเรา มีฟังค์ชั่นนู่นนี่สำหรับการแสดง แบบว่าเปลี่ยนฉากได้ มีลูกเล่นที่หลากหลาย คือมันยากมาก ไอ้ที่คิดไว้ว่าจะเปิดฉากมาแล้วทำโน่นนี่นั่นได้สารพัดนึกนี่ทำไม่ได้เลย ข้อจำกัดเยอะมาก ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ทั้งหมด ขนาดตอนไปคุยกับช่างที่จะช่วยทำกลไกในฉากละคร เขาก็บอกเลยว่านี่ก็เคยทำครั้งแรกเหมือนกัน!

    ออย : ในความท้าทายมันก็มีเรื่องที่ประทับใจอยู่ด้วยนะ เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้ทำงานกับน้อง ๆ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็ได้น้อง ๆ มาช่วย เราก็รู้จักผ่านการติดต่อผ่านพี่คนหนึ่งมา แล้วเขาก็ติดต่อน้อง ๆ กลุ่มนี้มา

    อย่างที่บอกว่างานมันไม่เป็นไปตามที่คิดเยอะมาก น้อง ๆ ก็เข้ามาช่วย เหมือนเข้ามาช่วยชีวิต และอีกฝ่ายที่อยากพูดถึงคือคนแต่งเพลงเราได้ บุ๊ค-วีรภัทร บุญมา มาร่วมก็เป็นสิ่งที่ดีมาก จากบทละครที่ดีอยู่แล้วบวกกับเพลงที่เข้ามาเสริม ทำให้ละครเรื่องนี้มีความหมายมากขึ้น ใจฟู

    จบอคายนัม : สมุดวาดฝัน แล้วรถคันนี้จะเดินทางไปไหนกันต่อ

    อาตัน : จะมีการเอาไปพัฒนาต่อ ทาง Glom ก็แง้ม ๆ ถามเราว่าอยากทำต่อไหม เราก็ต้องลองดูก่อน หรืออาจจะพัฒนาเป็น Theater Truck ในเชียงใหม่ไปเลย จอดตรงไหนก็เล่นได้ เหมือนกับ Food Truck ที่ส่งเสริมงานศิลปะ หรือโปรดักชั่นอื่น ๆ หากมีแผนแล้วอยากใช้รถก็เอามาติดต่อเอาไปใช้ได้เหมือนกัน

    ปิงปอง : อีกแง่หนึ่ง เราคิดถึงเรื่องของการส่งเสริมระบบนิเวศของละครเวที หรือละครโรงเล็กด้วย มันควรเกิดการรับรู้มากขึ้น เวลามีน้อง ๆ มาถามว่าเราทำงานอะไร พอเราตอบทำงานละครเวที ก็จะงงว่ามันคืออะไร เราเลยรู้สึกว่าอย่างน้อย ๆ ก็ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ว่ามีคนทำงานแบบนี้อยู่

    ถ้าเทียบอย่างภาคอีสานก็จะมีวงหมอลำใหญ่ ๆ ที่มีสปอนเซอร์ใหญ่ ๆ เข้าไปสนับสนุน นักร้องหรือตำแหน่งอะไรก็ตาม เขาก็เกิดรายได้ มันเป้นอาชีพ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก เราก็คิดว่ามันก็น่าจะมีแบบนี้เกิดขึ้นบ้างในวงการละครเวทีก็น่าจะดี เพราะในโปรดักชั่นหนึ่งก็ไม่ได้มีแค่นักแสดง แค่ผู้กำกับ หรือแค่คนเขียนบท เพียงเท่านั้น มันมีอีกหลายหน้าที่ที่สำคัญ

    แล้วมันจะนำพาเราไปสู่ความฝันอื่น ๆ อีกยังไงบ้าง

    ออย : ถ้าความฝันใหญ่ของเรา เราวาดหวังว่าถ้ามีเด็กที่ดูละครของเราแล้วรู้จักตัวเองมันคงจะดีมาก ๆ  ผ่านไปสัก 20-30 ปี แล้วเขาเดินตามความฝันความต้องการของเขาไป มีความสุขกับชีวิต ก็คงรู้สึกว่าเกิดมาไม่เสียเปล่าแล้ว

    แต่ถ้าเป็นความฝันของตัวเองที่เล็กลงมาหน่อย ก็คงเป็นการทำให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะ ได้เข้าถึง โดยมีเราไปเสิร์ฟ ให้มันเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด อันนี้เป็นฝันส่วนตัวของเรา

    อาตัน : เราก็คาดหวังให้คนดูสนุกกับการแสดงของเรา นอกจากเราจะไปเติมความฝันให้เขาแล้ว เราก็อยากให้เด็ก ๆ ได้เติมความฝันของตัวเอง นอกจากเด็ก ๆ จะได้เติมความฝันของตัวเอง เราก็ได้เติมความฝันของเราด้วย ได้เห็นเด็ก ๆ มีความสุข เราก็ดีใจ สังคมน่าจะดี น่าอยู่ขึ้น

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...