พฤษภาคม 20, 2024

    “พญามังราย” ถูกลดยศเป็น “พ่อขุนเม็งราย” เพราะระบอบอาณานิคมกรุงเทพ

    Share

    เรื่อง: พริษฐ์ ชิวารักษ์

    ภาพ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

    อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันในวงวิชาการมาประมาณ 150 รอบแล้ว ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นรณรงค์ทางสังคมก็หลายครั้ง แต่ในเมื่อยังไม่เป็นที่เห็นต้องกันทั้งหมดในสังคมวงกว้าง ก็คงต้องหยิบยกมาพูดเป็นรอบที่ 151 152 153… ต่อไป

    ทุกคนที่พอทราบประวัติศาสตร์ล้านนามาบ้างจะทราบดีว่าเมืองเชียงรายและเมืองเชียงใหม่นั้นถูกสถาปนาขึ้นโดยกษัตริย์ล้านนาองค์หนึ่งชื่อ “พญามังราย” ซึ่งกษัตริย์ผู้นี้ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นกษัตริย์องค์แรกในแผ่นดินล้านนา เพราะพญามังรายนั้นก็สืบสายวงศ์กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงลาวและเมืองเงินยางมาตั้งแต่ “ลวจังกราช” หรือลาวจง แต่บรรดากษัตริย์ก่อนพญามังรายนั้นเป็นเพียงกษัตริย์รายย่อยที่ครองแว่นแคว้นเล็ก ๆ พญามังรายเป็นกษัตริย์องค์แรกที่สถาปนาความเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ในล้านนาจนกลายเป็นภาพจำของผู้คนมาจนปัจจุบัน ทำนองเดียวกับที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ได้รับการยอมรับว่าเป็นปฐมกษัตริย์อยุธยา ไม่ได้แปลว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่งมีพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์องค์แรก ก่อนหน้านั้นก็มีท้าวเล็กพระยาน้อยมากมาย แต่พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์องค์แรกที่สถาปนาอาณาจักรที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 

    พญามังรายเป็นกษัตริย์ที่อยู่ในความทรงจำของชาวล้านนามาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังที่ใน โคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ. …….. ก็กล่าวถึงว่าเป็นอารักษ์หลวงที่ปกปักรักษาเมืองเชียงใหม่ นามของพระองค์จึงปรากฏในเอกสารและจารึกหลายแห่งด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในระยะ 80-90 ปีให้หลังมานี้ สังคมไทย (รวมถึงคนล้านนาจำนวนมาก) กลับจดจำกษัตริย์องค์ดังกล่าวภายใต้นาม “พ่อขุนเม็งราย” ซึ่งเป็นนามที่ “แปลกปลอม” จากทุกหลักฐานและบริบททางประวัติศาสตร์ของล้านนา กล่าวคือ เป็นนามที่เพิ่งปรากฏขึ้นใหม่หลังจากล้านนาถูกผนวกกลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ไม่พบในจารึกและเอกสารดั้งเดิมของล้านนา ทั้งยังขัดต่อจารีตและขนบธรรมเนียมการปกครองของล้านนาอีกด้วย เพราะล้านนาไม่เคยมีการเฉลิมตำแหน่งกษัตริย์ด้วยยศ “พ่อขุน” แต่อย่างใด ในช่วงสามสิบปีให้หลังมานี้ จึงมีกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนนามพระองค์ทั้งในสถานที่และเอกสารทางราชการจาก “พ่อขุนเม็งราย” เป็น “พญามังราย” ให้ถูกต้องอยู่เนือง ๆ ตลอดสามสิบปีให้หลังมานี้ จนถึงขั้นมีการล่ารายชื่อยื่นต่อหน่วยงานราชการก็เคยเกิดขึ้น

    ก่อนที่จะออกความเห็นได้ว่าสมควรจะเปลี่ยนแปลงนามของปฐมกษัตริย์ล้านนาองค์นี้หรือไม่ อาจต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ชื่อ “มังราย” และ “เม็งราย” ต่างกันอย่างไร ยศ “พญา” และ “พ่อขุน” ต่างกันอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงชื่อและยศที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ภายใต้บริบทอะไร

    ในส่วนของชื่อนั้น หลักฐานล้านนาแทบทั้งหมดล้วนบันทึกชื่อของพญามังรายว่า “มังราย” ตรงกันทั้งสิ้น แต่ก็มิใช่ว่า “มังราย” จะเป็นชื่อตัวของกษัตริย์ล้านนาองค์นี้เสียทีเดียว เพราะคำว่า “มัง” ในชื่อ “มังราย” นี้ แท้จริงแล้วเป็นยศที่ใช้เรียกกษัตริย์ในช่วงแรกเริ่มของการสถาปนาอาณาจักรล้านนา บางท่านก็ว่ามาจากภาษาพม่าคือคำว่า “มิน” นิยมถอดมาเป็นภาษาไทยว่ามัง เช่น มังตรา มังระ มังลอก มังฆ้อง ฯลฯ แปลว่า กษัตริย์ แต่บางท่านก็ว่ามาจากคำว่า “สมัง” ที่แปลว่าขุนหรือท้าว เป็นยศผู้นำของลัวะซึ่งเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมก่อนที่กลุ่มคนพูดภาษาไทจะอพยพเข้ามาในล้านนา ผู้เขียนคิดว่าน่ารับฟังทั้งสองแนวคิด เพราะในทางหนึ่ง สังคมล้านนาได้รับอิทธิพลทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมจากพม่าโดยเฉพาะพุกามมาไม่น้อย ในความตอนหนึ่งของ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ยังเชื่อมโยงปฐมบทการสร้างบ้านแปลงเมืองในล้านนาเข้ากับพระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม ดังนั้น ล้านนาอาจจะได้คติเรื่องกษัตริย์ รวมถึงยศถาบรรดาศักดิ์แบบพม่ามาใช้ด้วยเช่นกัน ในอีกทางหนึ่ง พญามังรายก็ดูจะมีความใกล้ชิดกับชาวลัวะมาก ขุนนางที่พญามังรายเลือกใช้หลายคนก็เป็นชาวมิลักขุหรือชาวลัวะ และขุนนางชาวลัวะเหล่านี้ก็ได้รับความไว้วางใจให้ไปครอบครองเมืองสำคัญ ๆ แม้แต่หริภุญชัยซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่พญามังรายพิชิตมาได้ การมอบเมืองใหญ่ให้ขุนนางลัวะเป็นการแสดงถึงสายสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างสูงที่ชาวลัวะได้รับ ก็อาจเป็นไปได้ว่าพญามังรายจะได้ยศ “มัง” มาจากคติของชาวลัวะด้วยเช่นกัน (แต่ในอีกทางหนึ่ง ชาวลัวะก็อาจเป็นฝ่ายรับเอาคำว่า “มัง” จากยศของพญามังรายมาก็ได้เช่นกัน)

    ในเรื่องว่า “มัง” เป็นยศหรือเป็นชื่อ ดร.เพ็ญสุภา สุคตะ เคยให้ความเห็นไว้อีกสำนวนหนึ่งว่าคำว่า “มัง”เป็นส่วนหนึ่งของชื่อพญามังรายอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ โดยอ้างอิงตามตำนานการผูกชื่อพญามังรายว่ามาจากชื่อของ “ฤๅษีปัทมังกร” ผู้เป็นอาจารย์ของบิดา กับชื่อของอัยกา (ตา) คือ “ท้าวรุ่งแก่นชาย” และชนนี (แม่) คือ “นางเทพคำขร่าย” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้สูงที่ตำนานนี้จะแต่งขึ้นมาภายหลัง เช่นเดียวกับตำนานอธิบายชื่อส่วนมากในล้านนา ลักษณะของตำนานอธิบายชื่อประเภทนี้เรียกว่ารากศัพท์พื้นบ้าน (folk etymology) คือการแต่งนิทานหรือตำนานอธิบายชื่อต่าง ๆ ให้โลดโผน เพื่อง่ายแก่การจดจำ แต่ไม่อาจถือเป็นแก่นสารทางประวัติศาสตร์ได้

    ดังนั้น แท้จริงแล้ว พญามังรายมีชื่อตัวว่า “ราย” สั้น สอดคล้องกับความนิยมของคนยุคนั้นที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์หรือสามัญชนต่างนิยมใช้ชื่อพยางค์เดียว แต่คนรุ่นหลังพญามังรายมักจดจำชื่อของพระองค์ไปพร้อมกับยศ “มัง” ด้วย ชะรอยจะเป็นเพราะยศ “มัง” จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในเวลาต่อมา เหมือนจะมีเพียง “มังคราม” หรือ “พญาไชยสงคราม” (ชื่อเดิมว่า “ขุนคราม”) โอรสที่ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพญามังรายเท่านั้นที่ใช้ยศ “มัง” เหมือน “พญามังราย” กษัตริย์ที่มีประวัติโดดเด่นและใช้ยศ “มัง” จึงมีเพียงพญามังรายองค์เดียวเท่านั้น จนคนรุ่นหลังที่ทอดทิ้งยศ “มัง” ไปแล้วเข้าใจว่าคำว่า “มัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อพญามังราย และด้วยเหตุว่าพญามังรายมีชื่อตัวว่า “ราย” นี้เอง เมืองที่พญามังรายก่อตั้งจึงมีชื่อว่า “เชียงราย” ก็คือเมืองใหญ่หรือ “เชียง” ที่ก่อตั้งโดยกษัตริย์ชื่อ “ราย” นั่นเอง ถึงอย่างไรเสีย คำว่า “มัง” ในที่นี้เดิมเป็น “ยศ” ที่ต่อมาถูกรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชื่อโดยสมบูรณ์ 

    นามของพญามังรายปรากฏการเปลี่ยนแปรไปเล็กน้อยในช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อเชียงใหม่ในอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าแล้ว ในจารึกฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ 1 หรือจารึก ชม.54 เนื้อความในจารึกกล่าวถึง “เจ้าทัพไชยสังรามจ่าบ้าน” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นขุนนางชาวมอญคนหนึ่ง รับราชการกับพระเจ้าบุเรงนองอยู่ในเมืองเชียงใหม่หลังเชียงใหม่ตกเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของพระเจ้าบุเรงนองแล้ว ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง ตั้งชื่อว่า “พระพุทธเมืองรายเจ้า” คือนำชื่อของพญามังรายมาตั้งเป็นชื่อของพระพุทธรูป ชะรอยว่าจะทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพญามังรายผู้เป็นอารักษ์เมืองเชียงใหม่ที่เพิ่งถูกกองทัพพม่าพิชิตไป สังเกตว่าในที่นี้ พญาไชยสังรามจ่าบ้านไม่ใช้คำว่า “มัง” ซึ่งเป็นยศสำหรับกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์พม่าเรียกพญามังราย แต่กลับเลี่ยงไปใช้คำว่า “เมือง” แทน เป็นไปได้ว่าเป็นการเรียกให้สอดคล้องกับยศ “พระเมือง” ที่ใช้เฉลิมยศกษัตริย์ล้านนาช่วงราชวงศ์มังรายตอนปลายอย่างลำลอง เช่น พระเมืองยอด พระเมืองแก้ว พระเมืองอ้าย เป็นต้น หรืออาจเป็นเพียงการสะกดเพี้ยนตามสำเนียงมอญหรือพม่าก็ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ขุนนางชาวมอญผู้นี้ไม่ใช้คำว่า “มัง” เรียกพญามังราย ทั้งที่ชาวล้านนาก็ยังเรียกพญามังรายว่า “มังราย” สืบมา แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธไม่นับพญามังรายเป็น “มัง” องค์หนึ่งตามระบบศักดินาของพม่า อาจเพราะเห็นว่าพญามังรายเป็น “ท้าวต่างแดน” ของอาณาจักรซึ่งมีสถานะเป็นประเทศราช ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเชื้อพระวงศ์พม่า จึงจงใจเลี่ยงคำว่า “มัง” ซึ่งอาจสงวนไว้กับเชื้อพระวงศ์พม่าเท่านั้น

    พญามังรายมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เม็งราย” ครั้งแรก มิใช่โดยคนล้านนา แต่โดยปลายปากกาของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ข้าหลวงที่รัฐบาลกรุงเทพ ฯ ยุคอาณานิคมส่งมาประจำการที่ศาลต่างประเทศ ณ นครเชียงใหม่ และเป็นผู้แต่ง พงศาวดารโยนก ซึ่งถือกันว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่เรียบเรียงประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างครบถ้วนตามกระบวนวิธีการทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตก พระยาประชากิจกรจักรมีหน้าที่ทางราชการดูแลกิจการตุลาการที่เกี่ยวข้องกับพลเมืองและคนในบังคับของชาติตะวันตกที่เกิดขึ้นในล้านนา คล้ายกับศาลกงสุลในกรุงเทพ ฯ และยังมีหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลสยามประจำล้านนา จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมภารกิจอย่างที่ช่วยปูทางให้รัฐบาลสยามสามารถเข้ามาปกครองล้านนาได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาต่อมา เช่น การออกสำรวจประชากรและพื้นที่เพื่อปักปันเขตแดน นอกจากนี้ พงศาวดารโยนก เองยังเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลสยาม จึงถือได้ว่าพระยาประชากิจกรจักรเป็นตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการสถาปนาการปกครองระบบอาณานิคมของสยามเหนือล้านนา

    ใน พงศาวดารโยนก พระยาประชากิจกรจักรออกนามพญามังรายว่า “เม็งราย” แทบจะทั้งเล่ม มีเพียงช่วงท้ายหนังสือเท่านั้นที่กล่าวถึงชื่อ “มังราย” อยู่สองคำ แสดงให้เห็นว่าพระยาประชากิจกรจักรก็รู้จักชื่อ “มังราย” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวล้านนานิยมใช้อยู่เหมือนกัน เนื่องจากพระยาประชากิจกรจักรไม่ได้ระบุชัดว่าอ้างอิงข้อมูลจากต้นฉบับเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใดบ้าง และคงจะเป็นเรื่องยากที่จะหาสำเนาเอกสารที่พระยาประชากิจกรจักรใช้ให้ครบถ้วน จึงยากแก่การคาดเดาว่าเพราะเหตุใด พระยาประชากิจกรจักรจึงเรียกพญามังรายว่า “เม็งราย” เรื่องนี้ ดร.เพ็ญสุภา เคยวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นกุศโลบายยุคอาณานิคมที่ต้องการเลี่ยงการใช้ยศ “มัง” ที่เหมือนกับกษัตริย์พม่าเพื่อไม่ให้อังกฤษสามารถอ้างสิทธิเหนือล้านนาได้ ผู้เขียนเห็นว่าชุดวิเคราะห์นี้ติดกรอบมุมมองแบบราชาชาตินิยมอยู่มาก ทั้งยังไม่สอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ เพราะอังกฤษไม่ได้มีความสนใจเข้าครอบครองล้านนาโดยตรง ในทางตรงกันข้าม กลับสนับสนุนให้รัฐบาลกรุงเทพ ฯ เข้าไปปกครองล้านนาโดยตรงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินกิจการพาณิชย์ในล้านนา อีกทั้งอังกฤษยังไม่สู้นิยมอ้างสิทธิเหนือดินแดนผ่านประวัติศาสตร์ การเข้าครอบครองดินแดนที่สยามเคยมีอิทธิพลมาก่อนของอังกฤษนั้นมักเกิดจากการ “ขาย” หรือ “ยกให้” ของเจ้าผู้ปกครองเดิมมากกว่า จึงเป็นไปได้มากว่าพระยาประชากิจกรจักรจะไปเจอต้นฉบับที่ใช้คำว่า “เม็งราย” หรือเป็นการเพี้ยนตามความเคยชิน เหมือนกับที่เจ้าอาณานิคมกรุงเทพ ฯ เคยทำคำว่า “ล้านนา” เพี้ยนเป็น “ลานนา” ก่อนหน้านี้

    กระนั้น พระยาประชากิจกรจักรก็ยังยอมรับว่าพญามังรายมียศเป็น “พญา” หรือ “พระยา” มิใช่ “พ่อขุน” แบบที่นิยมเรียกในระยะหลัง ๆ ยศ “พ่อขุน” ที่นิยมใช้คู่กับชื่อ “เม็งราย” นี้เพิ่งเริ่มปรากฏสู่สาธารณะเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) มือเขียนโฆษณาชวนเชื่อคู่ใจของหลวงพิบูลสงครามหรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขียนบทละครเวทีปลุกใจแนวอิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งชื่อ มหาเทวี ออกแสดงในปี 2481 ในบทละครเรื่องนั้น มีเพลงประกอบละครท่อนหนึ่ง ร้องว่า

    “พิงคนคร สมนามกร นครเชียงใหม่ เขตไทยขยาย พ่อขุนเม็งราย มาสร้างขึ้นไว้ พ่อขุนรามคำแหง ช่วยดัดแปลง รูปเมืองให้ใหม่….”

    ด้วยเหตุว่าละครเวทีแทบทุกเรื่องของหลวงวิจิตรวาทการต่างได้รับความนิยม นาม “พ่อขุนเม็งราย” จึงเป็นนามที่ติดตลาดอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นที่แม้แต่หน่วยราชการก็รับนามนี้ไว้ใช้ด้วย ดังที่ในปี 2505 จังหวัดเชียงรายได้จัดทำเหรียญที่ระลึกชุดหนึ่ง ใช้ชื่อว่า “เหรียญพ่อขุนเมงราย” (ไม่มีไม้ไต่คู้) ต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์พญามังรายที่ห้าแยกกลางตัวเมืองเชียงราย ที่ฐานอนุสาวรีย์ก็ยังจารึกชื่อของพญามังรายว่า “พ่อขุนเมงรายมหาราช” และยังเรียกบริเวณห้าแยกที่สร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวกันติดปากว่า “ห้าแยกพ่อขุน” ชาวเชียงรายจำนวนมากจึงรู้สึกผูกพันกับนาม “พ่อขุนเม็งราย” ด้วยความเข้าใจผิดของหน่วยราชการดังที่กล่าวมา

    ส่วนทางเชียงใหม่นั้น ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ (ซึ่งรวมถึงพญามังราย) ไว้กลางเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2527 ณ ขณะนั้น วงวิชาการล้านนาศึกษากำลังอยู่ในช่วงคึกคัก และมีผู้รู้จำนวนมากทักท้วงว่านาม “พ่อขุนเม็งราย” (รวมถึงพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา) เป็นนามที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นามที่สลักไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์จึงใช้คำว่า “พญา” เป็นยศของพญามังรายและพญางำเมือง กระทั่งนามของพ่อขุนรามคำแหงก็สลักว่า “พญาร่วง” ซึ่งเป็นนามที่ชาวล้านนาใช้เรียกกษัตริย์สุโขทัยองค์นี้ โดยระบุนาม “พ่อขุนรามคำแหง” ไว้เพิ่มเติมในวงเล็บ ชาวเชียงใหม่จึงผูกพันกับคำว่า “พญา” มากกว่าชาวเชียงราย แม้นาม “เม็งราย” จะยังปรากฏให้เห็นอยู่บ้างประปราย

    ว่าด้วยคำว่า “พญา” นั้น จะสะกดว่าพญา พระญา หรือพระยาก็ได้ มีความหมายไม่ต่างกัน เพราะต่างก็ออกเสียงเหมือนกันในภาษาล้านนา บ้างเฉลิมยศให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเป็นเจ้าพญา เจ้าพระยา หรือพระยาหลวงก็ไม่ถือว่าผิดแบบแผนแต่ประการใด อันที่จริง ยศ “พญา” นี้ก็เคยเป็นยศของกษัตริย์สยามด้วย ดังที่ปรากฏนาม “พญาลิไท” ครองอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ยศเฟ้อ” หรือมีการคิดค้นยศที่สูงกว่าพญาไปเรื่อย ๆ จนยศพญามิได้ใช้เป็นยศกษัตริย์อีกต่อไป อันที่จริง ในล้านนาก็เกิดปรากฏการณ์ยศเฟ้อเหมือนกัน โดยตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา เริ่มมีการเฉลิมยศกษัตริย์ล้านนาเป็น “สมเด็จ” และเรียกอย่างลำลองว่าพระเจ้า พระเป็นเจ้า หรือพระเมือง ส่วนยศพญาค่อย ๆ กลายเป็นยศของขุนนางผู้ใหญ่ดังปรากฏในช่วงรัชสมัยของพระอุปโย กระทั่งตกต่ำลงเป็นยศของกำนันผู้ใหญ่บ้านในยุคของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ หรือเมื่อร้อยกว่าปีมานี้

    เช่นนั้นแล้ว ยศ “พญา” กับ “พ่อขุน” แตกต่างกันไฉน เหตุใดผู้รู้ทั้งหลายจึงต้องคัดค้านนาม “พ่อขุนเม็งราย” หลายต่อหลายครั้ง ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ ?

    ประการแรก “พ่อขุน” เป็นยศที่ใช้นำหน้ากษัตริย์ของอาณาจักรสุโขทัยระยะหนึ่ง โดยยศจริง ๆ คงจะเป็น “ขุน” ส่วนคำว่า “พ่อ” นั้นเป็นสรรพนามที่ใช้แสดงความยกย่อง เข้าใจว่าครั้งหนึ่ง ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาก็คงจะเคยใช้ยศนี้อยู่เหมือนกัน ดังที่เหลือคำว่า “ขุนหลวง” ใช้เรียกกษัตริย์อย่างลำลองมาจนระยะหลัง อย่างไรก็ตาม ทางล้านนาไม่เคยเรียกกษัตริย์ของตนด้วยยศดังกล่าว การใช้คำว่า “พ่อขุน” เรียกกษัตริย์ล้านนาจึงเป็นการใช้วัฒนธรรมแบบผิดฝาผิดตัว หรือกล่าวให้แรงขึ้นมาอีกนิด คือการนำวัฒนธรรมไทยสยามมายัดใส่ประวัติศาสตร์ล้านนา และอาจถือว่าเป็นการละลายวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นส่วนเดียวกับสยาม ซึ่งเป็นนโยบายอาณานิคมที่กรุงเทพ ฯ ปฏิบัติต่อล้านนาตั้งแต่เมื่อศตวรรษก่อนมาจนปัจจุบัน

    ประการที่สอง การแต่งตั้งยศใหม่ให้ “พญามังราย” กลายเป็น “พ่อขุน” นั้น มาพร้อมกับการสร้างความเข้าใจว่า “พญามังราย” เป็นสหายสนิทชิดเชื้อกันกับ “พ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ทั้งที่บันทึกทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ระบุว่าพญามังรายและพ่อขุนรามคำแหง (รวมถึงพญางำเมือง) เป็นสหายรักกันอย่างลึกซึ้ง ยังระบุด้วยซ้ำว่ามิตรภาพระหว่างสามกษัตริย์ดังกล่าวเกิดจากเหตุการณ์อลวนที่พ่อขุนรามคำแหงทำชู้กับมเหสีของพญางำเมือง พญางำเมืองจึงต้องไปเชิญพญามังรายผู้เป็นญาติห่าง ๆ มาตัดสินคดีความให้เท่านั้น หรือกล่าวอย่างวิเคราะห์วิพากษ์สักหน่อยคือเพราะกษัตริย์ทั้งสามมีภัยคุกคามร่วมคือมองโกลที่กำลังบุกเข้ามณฑลยูนนาน สังเกตว่าหลังจากพญามังรายและลูกหลานสามารถจัดความสัมพันธ์กับมองโกลได้แล้ว พันธมิตรสามกษัตริย์ก็เสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว การชูเรื่องราวมิตรภาพของทั้งสามกษัตริย์ เป็นส่วนหนึ่งแนวคิด “ชาตินิยมแบบพ่อขุน” หรือแผนการดำเนินงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยที่ชูบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของล้านนา เฉพาะในมิติที่เป็นมิตรกับกษัตริย์ในประวัติศาสตร์สยาม เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างล้านนาและอำนาจรัฐศูนย์กลาง เข้าใจว่าด้วยแผนการดำเนินยุทธศาสตร์ชาตินิยมแบบพ่อขุนนี่เอง หน่วยงานรัฐจึงถูกอกถูกใจยศ “พ่อขุน” มากกว่า “พญา” เพราะการทำให้พญามังรายกลายเป็นพ่อขุนนั้น เป็นการทำให้พญามังราย “ดูเหมือน ๆ” กับพ่อขุนรามคำแหง และเป็นการตอกย้ำว่าทั้งพญามังรายกับพ่อขุนรามคำแหง (อันหมายถึงล้านนากับสยาม) ใกล้ชิดกันมาแต่ต้น

    ประการสุดท้ายซึ่งอาจจะรุนแรงที่สุด ในภาษาล้านนา ขุนเป็นยศที่มีสถานะต่ำกว่าพญามาก ในตำนานล้านนามีกษัตริย์ที่มียศนำหน้าว่าขุนอยู่บ้าง เช่น ขุนเจือง หรือขุนเมือง แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่ายศ “ลาว” เช่น ลาวจง ลาวเก้า ลาวช้าง ฯลฯ แต่ทั้งยศ “ขุน” และ “ลาว” ต่างเป็นยศของกษัตริย์พื้นบ้านที่มีฐานะเป็นเจ้าเมือง เป็นกษัตริย์ชนเผ่า (tribal king) หรือเป็นกษัตริย์เล็ก ๆ (petty kings) เท่านั้น แต่พญาเป็นยศสำหรับกษัตริย์ระดับ “มหาราชา” หรือกษัตริย์ที่มีสถานะสูงส่ง มีอาณาเขตกว้างขวาง และที่สำคัญคือผ่านพิธีราชาภิเษกอย่างถูกต้องแล้ว จึงมีสถานะและอำนาจสูงกว่ากษัตริย์พื้นบ้านทั่ว ๆ ไปที่ยังเป็นเพียง “ขุน” หรือ “ลาว” ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าพญามังรายได้รับการราชาภิเษกโดย “พญาแก่นพงศา” พญามังรายจึงมีศักดิ์และสิทธิ์เป็น “พญา” โดยสมบูรณ์ ส่วนคำว่า “ขุน” นั้น ในสมัยพญามังรายได้ลดความหมายลงเป็นเพียงขุนนางไปแล้ว บ้างใช้เรียกขุนนางที่พญามังรายแต่งตั้ง ดังที่ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าเมื่อพญามังรายตีเมืองต่าง ๆ ได้แล้วก็มอบเมืองเหล่านั้นให้ “ลูกขุน” ได้ปกครอง พญามังรายยังมีขุนนางชั้นขุนในราชสำนักอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ขุนอ่องและขุนไสเรียง นอกจากนี้ โอรสของพญามังรายที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ยังมียศเป็น “ขุน” อีกด้วย เช่น ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ การเรียกชื่อ “พ่อขุนเม็งราย” จึงเป็นเสมือนการลดยศของพญามังรายจาก “พญา” เป็น “ขุน” และอาจเป็นการลดทอนเกียรติภูมิของพญามังรายโดยไม่ได้ตั้งใจ

    เนื่องจากไม่เคยมีผู้ใดไปสัมภาษณ์พระยาประชากิจกรจักรว่าเหตุใดจึงเปลี่ยนชื่อพญามังรายเป็นเม็งราย และไม่เคยมีใครไปสัมภาษณ์หลวงวิจิตรวาทการด้วยว่าคิดอะไรอยู่ตอนปรับยศพญามังรายให้เป็นพ่อขุน แต่การที่ความคิดเห็นของทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจากกรุงเทพ ฯ สามารถมีอิทธิพลถึงขนาดบิดเบือนข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของล้านนาได้ ก็สะท้อนพลังอำนาจของระบอบอาณานิคมกรุงเทพที่สามารถครอบงำความคิดและความรู้ว่าด้วยล้านนาได้เช่นกัน  

    การเปลี่ยนชื่อและลดยศของพญามังรายที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้อำนาจอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมกรุงเทพ ฯ ในการแก้ประวัติศาสตร์ของชาวล้านนาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต สิ่งที่เคยเกิดไปแล้วย่อมไม่อาจลบล้างได้ แต่สำหรับปัจจุบันและอนาคตนั้น ชาวล้านนาจะเลือกจดจำกษัตริย์ล้านนาองค์นี้ด้วยนามใด จะใช้นาม “พญามังราย” ซึ่งเป็นนามที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นนามที่บรรพชนชาวล้านนาใช้มาตั้งแต่ต้น หรือจะใช้นาม “พ่อขุนเม็งราย” ซึ่งเป็นนามที่เจ้าอาณานิคมกรุงเทพ ฯ กำหนดให้ต่อไปนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ชาวล้านนาจะต้องเลือกเอง


    หมายเหตุ

    ผู้เขียนขอขอบคุณคุณนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ ที่ได้ชี้ชวนให้ผู้เขียนได้อ่านจารึกฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ ซึ่งนำมาสู่การเขียนบทความนี้


    เอกสารอ้างอิง

    • คณะอนุกรรมการสอบและชําระตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี. (เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538)
    • ทิว วิชัยขัทคะ, พญามังรายหรือพ่อขุนเมงราย อย่างไรจึงจะถูกต้อง. (ม.ป.ป.) เชียงใหม่: ทิพย์เนตร.
    • ประชากิจกรจักร, พระยา, พงศาวดารโยนก (พระนคร: ศิลปะบรรณาคาร, 2507)
    • เพ็ญสุภา สุคตะ, “750 ปี พระญามังรายหรือพ่อขุนเม็งราย” ใน ประชาไท. (2555) https://prachatai.com/journal/2012/08/42261
    • ภิญญพันธุ์ พจนลาวัณย์, ล้านนาที่เพิ่งสร้าง ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม. (2566) กรุงเทพ: เคล็ดไทย.
    • อภิชิต ศิริชัย. พระนามกษัตริย์จาก “พรญามังราย” ถึง “พ่อขุนเม็งราย” ในปัจจุบัน. (2565)  https://www.chiangraifocus.com/5425/ 

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...