เมษายน 27, 2024

    ประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จี้นายกฯ ชะลอลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนแม่น้ำโขงในลาว

    Share

    27 ตุลาคม 2565

    เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จี้นายกฯ ชะลอลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนแม่น้ำโขงในลาว ชี้ อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน-เป็นภาระผู้บริโภค ด้านกลุ่มรักษ์เชียงของเดินสายลงพื้นที่พบภาคประชาชนร่วมกับผช.รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมจี้นายกฯ ติดตามตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่ยูเนสโกเป็นห่วงโครงการเขื่อนหลวงพระบางส่งผลกระทบเมืองมรดกโลก

    23 ตุลาคม 2565 นส.ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เผยว่าได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องขอให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง เนื่องจากทราบว่าร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการเขื่อนปากแบง อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจลงนาม ซึ่งการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว มาจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นั้นอาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อันเนื่องจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำด้วยเขื่อน บนแม่น้ำโขงโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากพอ ขณะเดียวกันพลังงานไฟฟ้าสํารองของประเทศไทยก็สูงเกิน 50% และอาจเป็นภาระทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค

    ทางด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีและในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องขอให้ติดตามตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนและแผ่นดินริมแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ซึ่งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ที่มีการวางแผนจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ในสปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทย ณ บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปประมาณ 97 กิโลเมตร

    “แม้ว่าการพัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง จะเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 แล้ว แต่ยังขาดความสมบูรณ์ของข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบข้ามแดน” นายนิวัฒน์ระบุ

    นายนิวัฒน์กล่าวต่อว่า สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้เผยแพร่เอกสาร โดยมีสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหน้าที่ตัวแทนฝ่ายไทย ซึ่งปรากฎว่ามีข้อมูลที่ชัดเจนถึงสภาวะน้ำเท้อ (Back Water Effect) จากเขื่อนปากแบง ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ซึ่งแสดงขอบเขตของอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบงจะล้ำเข้ามาในแม่น้ำโขงที่เป็นชายแดนประเทศไทย – สปป.ลาว กว่า 10 กิโลเมตร จะก่อให้เกิดผลกระทบที่ชัดเจนต่อการแบ่งเขตแดนธรรมชาติในแม่น้ำ และจากการตรวจสอบสภาพในแม่น้ำโขงยังทำให้เห็นถึงผลกระทบต่อการเสียดินแดนของประเทศไทยด้วย

    “กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้รับฟังประชาชนในพื้นที่ และติดตามการวิเคราะห์เบื้องต้นในผลกระทบข้ามแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง จึงมีความกังวลต่อการสูญเสียพื้นที่หรือดินแดนฝั่งไทย โดยเฉพาะบริเวณแก่งผาได และแก่งก้อนคำ บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ที่เป็นพื้นที่ประมง พื้นที่จัดกิจกรรมงานประเพณีชุมชน และพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดเชียงราย และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชุมชน พื้นที่ดังกล่าวจะต้องสูญเสียไป หากระดับน้ำยกตัวขึ้นเนื่องจากการกักน้ำของเขื่อนปากแบง จึงอยากให้ดำเนินการตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวม”นายนิวัฒน์กล่าว

    นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ดร.จุง เอช. แพค รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการทวิภาคี และนางลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่ ได้เดินทางพบกับชาวบ้าน ภาคประชาสังคม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งตนได้แสดงจุดยืนเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งและการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง โดยได้พูดคุยกันถึงสิ่งที่เราจะทำ

    “สิ่งที่สำคัญที่สุด ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า วิธีคิดเก่าๆ การกระทำเก่าๆ การขับเคลื่อนแบบเก่า ๆ เราจะต้องทบทวน ถ้ายังคิดแบบเดิมทั้งภาครัฐ และคนที่มีส่วนร่วมต่าง ๆ แม่น้ำโขงคงไม่เหลือแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเรื่องแม่น้ำโขงจะต้องคิดใหม่ การต่อสู้มา 20 กว่าปีเห็นชัดเจนว่าผู้คนผ่านไปหลายรุ่นแล้ว วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว

    ขณะเดียวกันเว็บไซต์ของยูเนสโก ได้มีการเผยแพร่รายงานมรดกโลกเมืองหลวงพระบาง REPORT ON THE JOINT WORLD HERITAGE CENTRE/ICOMOS MISSION TO THE “TOWN OF LUANG PRABANG” (Lao PDR) มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ว่าการสร้างเขื่อนเหนือน้ำ และท้ายน้ำ ของเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง จะทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อม และมีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของเขื่อน ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนเพื่อลดผลกระทบต่อคุณค่าสากลที่โดดเด่นของมรดกโลก (Outstanding Universal Value-OUV) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

    “ปริมาณตะกอนที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ ปริมาณปลาและสัตว์น้ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งการลดลงของปลาแม่น้ำโขงเป็นประเด็นหลักที่มีความเป็นห่วง เนื่องจากอาหารจากปลา และไก (สาหร่ายแม่น้ำโขง) เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเฉพาะตัวของเมืองหลวงพระบาง ทักษะแบบดั้งเดิมและความรู้ของหลวงพระบางพึ่งพิงระบบนิเวศแม่น้ำโขงและผลผลิตจากแม่น้ำ” รายงานระบุ

    รายงานของยูเนสโกระบุในข้อแนะนำว่า การศึกษาก่อนหน้านี้และรายงานผลกระทบต่อมรดกโลก (HIA) ไม่ได้ให้การวิเคราะห์ที่น่าพอใจและการพิสูจน์ที่ชัดเจนและแน่นอนว่าโครงการเขื่อนพลวงพระบาง จะไม่ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อคุณค่าสากลที่โดดเด่นของมรดกโลก (OUV) ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้แนวทางป้องกันไว้ก่อน และมีข้อเสนอให้ย้ายที่ตั้งโครงการเขื่อน (relocate) ไปยังที่ซึ่งจะไม่กระทบต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

    ภาพ : mymekong.org

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...